การเคลมประกันคืออะไร?

กรมธรรม์คืออะไร

การเคลมประกันคืออะไร?

การเคลมประกัน คือ คำร้องขออย่างเป็นทางการที่คุณในฐานะผู้ถือกรมธรรม์ยื่นต่อผู้ให้บริการประกันภัยเพื่อขอค่าชดเชยสำหรับความสูญเสียหรือความเสียหายที่ครอบคลุมตามกรมธรรม์ของคุณ นอกจากนี้ยังมีความเสียหายต่อทรัพย์สินหรือการบาดเจ็บทางร่างกาย การเคลมประกันอาจรวมถึงการเคลมความรับผิด ซึ่งผู้เอาประกันภัยอาจต้องรับผิดชอบต่อการก่อให้เกิดอันตรายต่อผู้อื่น

การเคลมประกันคืออะไร? ทำไมถึงสำคัญ

ทำไมต้องเคลมประกัน?

การเคลมประกันมีวัตถุประสงค์เพื่อช่วยให้คุณได้รับการชดเชยทางการเงินจากบริษัทประกัน และคุ้มครองความสูญเสียทางการเงินของคุณหากเกิดอุบัติเหตุ ไม่ว่าจะเป็นอุบัติเหตุทางรถยนต์ ความเสียหายต่อทรัพย์สิน ค่ารักษาพยาบาล หรือเหตุการณ์อื่น ๆ ที่ได้รับความคุ้มครองตามกรมธรรม์

ผู้รับประกันภัยของคุณควรให้ค่าชดเชยที่เหมาะสมและตามระยะเวลาสำหรับทุกค่าใช้จ่ายที่ประกันคุ้มครอง ทั้งค่าซ่อมแซมหรือค่าเสียหาย

การเคลมประกันมีกี่ประเภท?

ประเภทของการเคลมประกันจะขึ้นอยู่กับลักษณะของอุบัติเหตุและความคุ้มครองประกันภัยของคุณ

  • การเคลมประกันรถยนต์เคลมประกันรถยนต์ - การเคลมประกันนี้เกี่ยวข้องกับอุบัติเหตุหรือความเสียหายต่อรถยนต์ของคุณ รวมถึงการซ่อมแซมรถ รถยนต์เสียหายสิ้นเชิง ความรับผิดต่อบุคคลภายนอกสำหรับการบาดเจ็บทางร่างกายหรือความเสียหายต่อทรัพย์สินที่เกิดกับผู้อื่น หรือการเคลมความคุ้มครองค่ารักษาพยาบาลที่เป็นผลจากอุบัติเหตุทางรถยนต์
  • การเคลมประกันสุขภาพ - การเคลมประกันสุขภาพเป็นการยื่นเคลมค่ารักษาพยาบาลสำหรับการรักษา ที่เกี่ยวเนื่องกับอุบัติเหตุ ความคุ้มครองตามกรมธรรม์โรคร้ายแรงและโรคมะเร็ง รวมถึงค่าใช้จ่ายในการนอนโรงพยาบาล ค่าผ่าตัด ค่ายาตามแพทย์สั่ง และค่าใช้จ่ายอื่น ๆ ที่เกี่ยวกับการรักษาพยาบาล
  • การเคลมประกันทรัพย์สิน - การประกันภัยทรัพย์สินครอบคลุมความสูญเสียที่เกี่ยวข้องกับที่อยู่อาศัยหรือทรัพย์สินเชิงพาณิชย์ คุณสามารถเคลมประกันสำหรับความเสียหายที่เกิดจากเหตุการณ์ต่าง ๆ เช่น ไฟไหม้ การโจรกรรม การจลาจล ภัยธรรมชาติ หรืออุบัติเหตุอื่น ๆ ที่ครอบคลุมตามกรมธรรม์ประกันทรัพย์สินของคุณ
  • การเคลมประกันชีวิต - โดยทั่วไปการเคลมประกันชีวิต ผู้รับผลประโยชน์จะเป็นผู้ยื่นเคลมประกันหลังจากผู้ถือกรมธรรม์เสียชีวิต เพื่อรับเงินผลประโยชน์กรณีเสียชีวิตตามที่ระบุไว้ในกรมธรรม์
  • การเคลมประกันความรับผิด - การเคลมประกันความรับผิดเกิดขึ้นเมื่อคุณมีหน้าที่รับผิดชอบตามกฎหมาย เมื่อคุณก่อให้เกิดอันตรายหรือการบาดเจ็บต่อบุคคลอื่นหรือทรัพย์สินของพวกเขา การเคลมเหล่านี้อาจรวมถึงการบาดเจ็บจากการลื่นหรือหกล้มในสถานที่เอาประกันภัย ความรับผิดต่อผลิตภัณฑ์ ความรับผิดต่อความประมาทเลินเล่อในวิชาชีพ หรือความรับผิดต่อการหมิ่นประมาท
  • การเคลมประกันการเดินทาง - การเคลมประกันการเดินทางครอบคลุมความสูญเสียทางการเงินจากเหตุการณ์ไม่คาดฝันระหว่างการเดินทาง เช่น อุบัติเหตุส่วนบุคคล รวมถึงการถูกยกเลิกการเดินทาง สัมภาระสูญหาย และค่ารักษาพยาบาล

เรียนรู้จากผู้เชี่ยวชาญด้านประกันภัยว่าการเคลมประกันคืออะไร?

วิธีเคลมประกัน

ในการเคลมประกัน ไม่ว่าจะเป็นค่ารักษาพยาบาลความเสียหายต่อรถยนต์ที่เกิดอุบัติเหตุหรือความเสียหายต่อทรัพย์สิน การทำความเข้าใจขั้นตอนการเคลมเป็นสิ่งที่จำเป็น โดยจะมีขั้นตอนในการเคลมดังนี้

  • ขั้นตอนที่ 1 - ตรวจสอบกรมธรรม์ประกัน จำนวนทุนประกันภัย ค่าเสียหายส่วนแรกการชำระแบบจ่ายครั้งเดียวหรือรายงวด และข้อกำหนดเฉพาะหรือข้อยกเว้นใด ๆ ที่เกี่ยวข้องกับประเภทของการเคลมประกันที่คุณต้องการยื่น และตรวจสอบช่วงเวลาในการยื่นเคลมประกันต่อผู้ให้บริการประกันภัยของคุณ
  • ขั้นตอนที่ 2 - รวบรวมข้อมูลและหลักฐานที่เกี่ยวข้องกับอุบัติเหตุทั้งหมด คุณอาจรวบรวมรูปถ่าย วิดีโอ บันทึกประจำวันตำรวจ เวชระเบียน และใบแจ้งหนี้ค่ารักษาพยาบาล ยิ่งหลักฐานของคุณละเอียดและมีการจัดการที่เป็นระบบมากเท่าไหร่ การเคลมประกันของคุณก็จะยิ่งเป็นไปได้มากขึ้นเท่านั้น
  • ขั้นตอนที่ 3 - ติดต่อผู้ให้บริการประกันภัยของคุณโดยเร็วที่สุดหลังจากเกิดอุบัติเหตุ ให้ข้อมูลที่ถูกต้อง ได้แก่ วัน เวลา สถานที่เกิดเหตุ และรายละเอียดอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง ปฏิบัติตามคำแนะนำของกระบวนการเคลม
  • ขั้นตอนที่ 4 - กรอกแบบฟอร์มการเคลม หรือเคลมออนไลน์ทางวิดีโอคอลผ่านแอปพลิเคชั่นจากผู้ให้บริการประกันของคุณ โดยให้ข้อมูลที่ถูกร้องขอทั้งหมด อย่างซื่อสัตย์และโปร่งใสในขณะที่อธิบายเหตุการณ์และความเสียหายหรือรายละเอียดผู้บาดเจ็บ
  • ขั้นตอนที่ 5 - แนบเอกสารที่เกี่ยวข้องทั้งหมดไปกับแบบฟอร์มเคลมประกันของคุณ ซึ่งอาจรวมถึงใบเสร็จรับเงิน ใบเสนอราคาค่าซ่อม ใบแจ้งหนี้ หรือเวชระเบียน ทำสำเนาเอกสารทั้งหมดสำรองไว้และติดตามทุกขั้นตอนกับผู้ให้บริการประกันของคุณ
  • ขั้นตอนที่ 6 - ให้ความร่วมมือกับผู้พิจารณาและตรวจสอบค่าสินไหมทดแทน หากพวกเขาได้รับมอบหมายให้ตรวจสอบการเคลมประกัน ให้ข้อมูลเพิ่มเติมที่พวกเขาต้องการในทันที ตอบคำถามตามความเป็นจริงและให้หลักฐานเพิ่มเติมหากพวกเขาร้องขอ
  • ขั้นตอนที่ 7 - ติดตามการเคลมประกันและติดต่อกับผู้ให้บริการประกันภัยของคุณเสมอตลอดกระบวนการเคลม คุณควรติดตามความคืบหน้าและสอบถามหากบริษัทประกันต้องการข้อมูลจากคุณ
  • ขั้นตอนที่ 8 - ตรวจสอบข้อตกลงการเคลมประกันเมื่อการเคลมของคุณได้รับการดำเนินการ ให้คุณประเมินว่าข้อตกลงครอบคลุมความสูญเสีย ความเสียหาย หรือค่ารักษาพยาบาลเพียงพอหรือไม่ เจรจากับผู้ให้บริการประกันภัยของคุณหรือขอคำแนะนำจากผู้เชี่ยวชาญเพื่อให้แน่ใจว่าได้ข้อตกลงที่ยุติธรรม

บริษัทประกันภัยดำเนินการเคลมอย่างไร?

หลังจากที่คุณกรอกข้อมูลและส่งเรื่องการเคลมประกันแล้ว ระยะเวลาหลังการยื่นเคลมจะเริ่มขึ้น โดยปกติจะมีขั้นตอนเหล่านี้:

  1. รับเรื่องเคลม: เมื่อคุณแจ้งเคลมประกันแล้ว ผู้ให้บริการประกันภัยจะบันทึกการรับแจ้งอุบัติเหตุ โดยจะแจ้งหมายเลขรับแจ้งอุบัติเหตุและมอบหมายผู้เชี่ยวชาญการเคลมดูแลการเคลมของคุณ
  2. การตรวจสอบอุบัติเหตุ: ผู้ให้บริการประกันของคุณจะเริ่มการตรวจสอบเบื้องต้นเพื่อประเมินความถูกต้องของการเคลมประกันของคุณ ผู้ให้บริการประกันภัยอาจขอข้อมูลเพิ่มเติม เช่น บันทึกประจำวันตำรวจ รูปถ่าย หรือเวชระเบียน กรณีมีผู้บาดเจ็บ นอกจากนี้ผู้เจรจาตกลงค่าสินไหมทดแทนจากบริษัทประกันของคุณ อาจตรวจสอบความเสียหาย ประเมินอาการบาดเจ็บ หรือตรวจสอบประวัติการรักษาพยาบาลที่ผ่านมาของคุณ โดยขึ้นอยู่กับลักษณะของการเคลมประกันของคุณ
  3. ประเมินความคุ้มครอง: บริษัทประกันจะตรวจสอบกรมธรรม์เพื่อพิจารณาความคุ้มครองสูงสุดไม่เกินทุนประกัน ค่าเสียหายส่วนแรก และข้อยกเว้นที่เกี่ยวข้อง พวกเขาจะประเมินว่ากรมธรรม์ของคุณครอบคลุมการเคลมที่คุณส่งมาหรือไม่ และประเมินค่าสินไหมทดแทนของคุณ
  4. การตั้งเบิกค่าสินไหมทดแทน: เมื่อการตรวจสอบเสร็จสิ้น ผู้ให้บริการประกันภัยจะนำเสนอเพื่อพิจารณาเกี่ยวกับการเคลมของคุณ หากได้รับการอนุมัติ พวกเขาจะแจ้งผลการพิจารณาตามการประเมินความเสียหายหรือการบาดเจ็บ หากมีการเจรจาต่อรอง คุณอาจต้องส่งเอกสารเพิ่มเติม เช่น เอกสารเกี่ยวกับการประมาณการซ่อม หรือเอกสารเกี่ยวกับการประเมินค่ารักษาพยาบาล เพื่อประกอบการเจรจายุติค่าสินไหมทดแทนอีกครั้ง
  5. วิธีการชดใช้ค่าสินไหม: ผู้ให้บริการประกันภัยจะดำเนินการนำเสนอการจ่ายเงินคืนค่าสินไหมทดแทน เมื่อคุณตกลงยอมรับจำนวนเงินชดใช้ที่ตกลงกัน ระยะเวลาจ่ายเงินคืนเป็นไปตามข้อกำหนดที่กำหนดไว้ในกรมธรรม์ประกันภัยของคุณ
  6. การซ่อมแซมรถหรือการชดใช้ค่ารักษาพยาบาล: หากการเคลมประกันของคุณเกี่ยวข้องกับความเสียหายของรถยนต์ ผู้ให้บริการประกันภัยจะแนะนำทางเลือกในการซ่อมหรือแนะนำอู่ซ่อมรถในเครือข่าย ในกรณีของการประกันสุขภาพ ผู้ให้บริการประกันอาจแนะนำสถานพยาบาลในเครือข่ายในการใช้สิทธิ์เคลมตรง หรือดำเนินการชำระค่าใช้จ่ายการรักษาพยาบาลให้โรงพยาบาลที่ทำการรักษาคุณโดยตรงตามความคุ้มครองแผนประกันสุขภาพของคุณ
  7. ปิดการเคลม: หลังจากยุติข้อตกลงชดใช้ การซ่อมแซมรถยนต์หรือการรักษาพยาบาลเสร็จสิ้น การเคลมประกันของคุณจะเปลี่ยนสถานะเป็นปิดเคลม และบันทึกไว้เป็นประวัติเคลมต่อไป

ทำไมการเคลมจึงถูกปฏิเสธ?

การเคลมประกันอาจถูกปฏิเสธด้วยเหตุผลหลายข้อ การพิจารณาเคลมจะเป็นไปตามความคุ้มครองภายใต้เงื่อนไขความคุ้มครองของกรมธรรม์นั้น โดยทั่วไปมีเหตุผลบางข้อที่ทำให้การเคลมถูกปฏิเสธ เช่น

  • ไม่อยู่ในเงื่อนไขที่กรมธรรม์ให้ความคุ้มครอง - การเคลมอาจถูกปฏิเสธหากคุณพยายามยื่นเคลมสำหรับเหตุการณ์ที่กรมธรรม์ประกันภัยไม่คุ้มครอง คุณต้องตรวจสอบและทำความเข้าใจข้อกำหนด เงื่อนไข และข้อยกเว้นของกรมธรรม์ประกันภัยอย่างละเอียดเพื่อให้แน่ใจว่าคุณปฏิบัติตามข้อกำหนดการเคลม
  • ข้อยกเว้นความคุ้มครองตามกรมธรรม์ - กรมธรรม์ประกันภัยมักจะมีรายการข้อยกเว้นเฉพาะ ซึ่งสรุปสถานการณ์ ความเจ็บป่วย หรือเหตุการณ์ที่ไม่คุ้มครอง หากการเคลมของคุณอยู่ภายใต้ข้อยกเว้นเหล่านี้อาจถูกปฏิเสธการเคลม ตัวอย่างเช่น หากคุณเมาแล้วขับ และเกิดอุบัติเหตุทางรถยนต์ เป็นไปได้มากว่าประกันรถยนต์ของคุณจะไม่คุ้มครองการเคลมนี้
  • การปกปิดข้อมูล - ผู้ถือกรมธรรม์ต้องให้ข้อมูลที่ถูกต้องและครบถ้วนเกี่ยวกับตนเองและรายการความคุ้มครองเมื่อสมัครทำประกันภัย หากพบว่าคุณไม่ได้เปิดเผยข้อมูลที่เกี่ยวข้องหรือให้ข้อมูลเท็จ ผู้ให้บริการประกันภัยอาจปฏิเสธการเคลม
  • การไม่ชำระเบี้ยประกัน - หากคุณไม่ชำระเบี้ยประกันตามกำหนดเวลาหรือปล่อยให้กรมธรรม์ขาดอายุ ผู้รับประกันภัยอาจปฏิเสธการเคลมของคุณ สิ่งสำคัญคือต้องทำให้กรมธรรม์ยังมีความคุ้มครอง โดยการชำระเบี้ยประกันตามกำหนด
  • การรายงานล่าช้า - นโยบายการประกันภัยมักกำหนดให้มีการรายงานอุบัติเหตุโดยทันที และหากคุณไม่รายงานเหตุการณ์ภายในระยะเวลาที่กำหนด ผู้ให้บริการอาจให้คุณชี้แจงถึงเหตุผลความจำเป็นในการล่าช้า เพื่อประกอบการพิจารณาสินไหมทดแทน
  • หลักฐานไม่เพียงพอ - การเคลมประกันอาจถูกปฏิเสธหากมีหลักฐานไม่เพียงพอ คุณต้องจัดเตรียมเอกสารที่จำเป็นทั้งหมด เช่น บันทึกประจำวันตำรวจ เวชระเบียน หรือหลักฐานการเป็นผู้ครอบครองรถ เพื่อประกอบการพิจารณาการเคลมของคุณ
  • การฉ้อฉลประกันภัย - บริษัทประกันภัยจะตรวจสอบการเคลมอย่างถี่ถ้วน การเคลมของคุณอาจถูกปฏิเสธหากมีหลักฐานเกี่ยวกับการฉ้อฉลหรือการบิดเบือนความจริงโดยเจตนา

เคลมประกันง่าย ๆ ทั้งอุบัติเหตุทางรถยนต์ โรคร้ายแรง โรคมะเร็ง และอีกมากมาย!

ทำไมเบี้ยประกันจึงเพิ่มขึ้นหลังการเคลม?

การเคลมอาจทำให้เบี้ยประกันของคุณเพิ่มขึ้น เนื่องจากตามสถิติแล้ว คุณมีความเสี่ยงสูงต่อการเคลมในอนาคต ยกเว้นว่าคุณไม่ใช่ฝ่ายผิด นอกจากนั้นการเคลมยังส่งผลให้บริษัทประกันมีค่าใช้จ่ายสูงขึ้น ดังนั้นเราขอแนะนำให้คุณรักษาประวัติที่ดีในการเคลม

หลีกเลี่ยงการถูกปฏิเสธการเคลมได้ยังไง?

เพื่อหลีกเลี่ยงการถูกปฏิเสธการเคลมประกัน การศึกษาเงื่อนไขความคุ้มครองตามกรมธรรม์อย่างถี่ถ้วน ให้ข้อมูลที่ถูกต้อง แจ้งเคลมโดยเร็ว ยื่นเอกสารเคลมให้ครบถ้วน และปฏิบัติตามข้อกำหนดและเงื่อนไขของกรมธรรม์ หากการเคลมของคุณถูกปฏิเสธ แต่คุณเชื่อว่าคุณควรได้รับความคุ้มครอง คุณสามารถโต้แย้งผลการพิจารณาหรือขอคำแนะนำจากผู้ให้บริการประกันภัยหรือผู้เชี่ยวชาญด้านกฎหมาย

หากไม่ได้เป็นฝ่ายผิดต้องเคลมประกันรถยนต์มั้ย?

หากคุณประสบอุบัติเหตุโดยที่คุณไม่ได้เป็นฝ่ายผิด ภายใต้ความคุ้มครองของรถยนต์คันเอาประกันภัย ยังคงแนะนำให้แจ้งเคลมประกัน โดยแจ้งข้อมูลที่เกี่ยวข้องกับการเกิดเหตุหรือนำส่งหลักฐานเอกสารต่างๆเพื่อประกอบการเคลม ทั้งรูปถ่าย คำให้การของพยาน และเอกสารอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง เมื่อคุณแจ้งอุบัติเหตุต่อบริษัทประกันของคุณแล้ว หลังจากนั้นจะมีการออกตรวจสอบความเสียหายเพื่อพิสูจน์ความรับผิด หากยืนยันว่าคุณเป็นฝ่ายถูก บริษัทจะดำเนินการเรียกร้องความเสียหายที่ได้ชดใช้ไปคืนจากผู้กระทำละเมิดหรือฝ่ายที่ต้องรับผิดต่ออุบัติเหตุครั้งนี้

การเคลมสามารถยกเลิกได้มั้ย?

การเคลมประกันสามารถยกเลิกได้ในบางกรณี อย่างไรก็ตามขึ้นอยู่กับเงื่อนไขกรมธรรม์ของคุณเป็นหลัก สาเหตุที่คุณอาจต้องการยกเลิกการเคลมคือ เมื่อเบี้ยประกันของคุณเพิ่มขึ้นสูงกว่าเงินที่จ่ายจากเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น เมื่อคุณทำผิดพลาดในการส่งเรื่องเคลม หรือให้ข้อมูลที่ไม่ถูกต้อง

เงินเคลมประกันต้องเสียภาษีมั้ย?

การเสียภาษีของการจ่ายค่าสินไหมทดแทนขึ้นอยู่กับการเคลมนั้น ๆ แต่โดยทั่วไปแล้วการจ่ายค่าสินไหมทดแทนไม่ต้องเสียภาษีเนื่องจากเป็นการชดเชยความเสียหายทางการเงิน ตัวอย่างเช่น หากคุณได้รับเงินค่าสินไหมทดแทนจากผู้ให้บริการประกันรถยนต์สำหรับความเสียหายที่เกิดขึ้น โดยทั่วไปแล้วจำนวนเงินดังกล่าวจะไม่ต้องเสียภาษีเงินได้ ในทำนองเดียวกัน เงินประกันชีวิตที่จ่ายให้กับผู้รับผลประโยชน์เมื่อผู้เอาประกันเสียชีวิตนั้นไม่ต้องเสียภาษี

บริษัทประกันนำเงินจากไหนมาจ่ายค่าสินไหมทดแทน?

บริษัทประกันภัยได้รับเงินเพื่อจ่ายค่าสินไหมทดแทนจากแหล่งต่าง ๆ โดยแหล่งรายได้หลักของผู้ให้บริการประกันภัยมาจากเบี้ยประกันที่คุณและผู้ถือกรมธรรม์รายอื่นจ่าย

เคล็ดลับเคลมประกัน

ขั้นตอนและระยะเวลาในการเคลมประกันอาจแตกต่างกันไปตามประเภทของกรมธรรม์และความซับซ้อนในกรณีของคุณ การเคลมจะสำเร็จได้เมื่อคุณ

  • การให้ข้อมูลอย่างเปิดเผยและสุจริตกับผู้ให้บริการประกันภัยของคุณ
  • ทำตามขั้นตอนทั้งหมดตลอดกระบวนการเคลม และอย่าลังเลที่จะขอคำแนะนำจากผู้เชี่ยวชาญหากจำเป็น
  • การไม่พยายามฉ้อฉลประกันภัย ความซื่อสัตย์เป็นสิ่งที่ดีที่สุดสำหรับการเคลมประกันที่ประสบความสำเร็จ

คำจำกัดความ

ผลประโยชน์กรณีเสียชีวิต จำนวนเงินที่จ่ายให้กับผู้รับผลประโยชน์กรณีผู้เอาประกันเสียชีวิต
กรมธรรม์ขาดอายุ การบอกเลิกกรมธรรม์หากคุณไม่ชำระเบี้ยประกันตามเวลาที่กำหนด
ลักษณะของการเคลม ลักษณะของเหตุการณ์ที่นำไปสู่การเรียกร้องค่าสินไหมทดแทน อธิบายถึงความเสียหาย ความสูญเสีย หรือความรับผิด
ระยะเวลาหลังการยื่นเคลม ระยะเวลาหลังจากที่คุณกรอกเอกสารให้สมบูรณ์เพื่อยื่นเคลมประกัน
ผู้กระทำผิด ผู้เป็นฝ่ายผิดและต้องรับผิดชอบในการก่อให้เกิดอุบัติเหตุ ความเสียหาย หรือสูญหาย