เลือกใช้น้ำมันเครื่องแบบไหนสำหรับรถยนต์เราดี? เป็นคำถามที่ได้เห็นได้ยินบ่อยไม่ว่าจะผ่านมากี่ยุคกี่สมัย ส่วนใหญ่มักพบได้จากผู้ใช้รถมือใหม่ กลุ่มคนที่ไม่ค่อยมีเวลาดูแลรักษารถ หรือคุณสุภาพสตรีที่ขับอย่างเดียว และมักเปลี่ยนตามแนะนำเบื้องต้นจากช่างตามศูนย์ ซึ่งบางครั้งก็ใช่ว่าจะทั้งถูกต้องตรงตามสเปกรถทุกครั้งไป แต่จะดีแค่ไหนหากเจ้าของรถสนใจศึกษาหาข้อมูลด้วยตนเองประดับเป็นความรู้ เพื่อช่วยให้คุณสามารถเลือกซื้อน้ำมันเครื่องรถได้เองอย่างถูกต้อง เหมาะสมกับเครื่องยนต์และประเภทรถ
เคยรู้ไหมว่าน้ำมันเครื่องมีหน้าที่มากมายกว่าที่คิด หลักๆ นอกจากเป็นสารหล่อลื่นที่ช่วยปกป้องเครื่องยนต์ไม่ให้พังเสียหาย โดยการสร้างชั้นฟิล์มเพื่อลดแรงเสียดทานบนพื้นผิวของชิ้นส่วนต่างๆ ในเครื่องยนต์แล้ว ก็ยังช่วยระบายความร้อน อีกทั้งยังป้องกันการเกิดคราบเขม่าและการสะสมของสิ่งสกปรกจากการเผาไหม้ นอกจากนี้น้ำมันเครื่องก็ยังช่วยป้องกันการเกิดคราบตะกอนยางเหนียว และลดกรดที่ทำให้เกิดการกัดกร่อนเครื่องยนต์ รวมถึงเป็นเสมือนซีลเพื่อรักษากำลังอัดในกระบอกสูบ
น้ำมันเครื่องที่ใช้กันมากในปัจจุบันเป็นแบบ ‘เกรดรวม’ เพราะด้วยคุณสมบัติสามารถเปลี่ยนแปลงค่าความหนืดได้ โดยช่วงอุณหภูมิสูงจะมีความใส และเมื่ออุณหภูมิต่ำลงก็ยังสามารถคงความข้นใสเอาไว้ได้ เรียกได้ว่ามีช่วงอุณหภูมิการใช้งานที่กว้างขึ้น เพื่อให้เหมาะสมกับการเลือกใช้ทุกอุณหภูมิ โดยระบุเป็น 2 ตัวเลข มีอักษร W เป็นตัวคั่นกลาง เช่น SAE 20W50 หรือ API 15W40 (SAE-SOCIETY OF AUTOMOTIVE ENGINEERS มาตรฐานของสมาคมวิศวกรรมยานยนต์ , API-AMERICAN PETROLEUM INSTITUTE มาตรฐานของสถาบันปิโตรเลียมอเมริกัน)
ตัวเลขบนฉลากน้ำมันเครื่องบอกอะไรบ้าง หากสังเกตก็จะพบตัวเลข 2 ชุดคั่นกลางด้วยอักษร W ซึ่งช่างหรือคนขายมักบอกว่าคือ เบอร์น้ำมันเครื่อง ซึ่งจริงแล้วตัวเลขเหล่านี้คือ ค่าความหนืดและคุณสมบัติน้ำมันเครื่อง
ตัวเลขข้างหน้าตามด้วย W หมายถึง ค่าที่น้ำมันเครื่องจะสามารถคงความข้นใสไว้ได้ถึงช่วงอุณหภูมินั้นๆ โดยไม่เป็นไข (วัดตั้งแต่อุณหภูมิ 20 องศาเซลเซียส ต่ำลงจนถึงจุดเยือกแข็งตั้งแต่ 0 องศาเซลเซียสจนถึง -30 องศาเซสเซียส) เช่น 0W คงความข้นใสไว้ได้ต่ำกว่า -30 องศาเซลเซียส, 5W คงความข้นใสไว้ได้ถึง -30 องศาเซลเซียส, 10Wสามารถคงความข้นใสไว้ได้ถึง -20 องศาเซลเซียส เป็นต้น
ส่วนอักษร W ก็ย่อมาจาก Winter มีความหมายถึง ความต้านทานการเป็นไข ส่วนตัวเลขชุดหลังเป็นเกรดความหนืด เช่น 30, 40, 50, 60 (วัดที่อุณหภูมิ 100 องศาเซลเซียส) ตัวเลขยิ่งสูงหมายความว่า น้ำมันยังสามารถคงความข้นหนืด และมีความหนาของฟิล์มน้ำมันที่ให้การหล่อลื่นและปกป้องได้ในอุณหภูมิสูง ยกตัวอย่างการอ่านค่าบนฉลากน้ำมันเครื่อง SAE 20W-50 หมายความว่า ในอุณหภูมิ -25 องศาเซลเซียส น้ำมันจะมีค่าความหนืดอยู่ที่ เบอร์ 20 แต่เมื่ออุณหภูมิสูงถึง 100 องศาเซลเซียส จะเปลี่ยนค่าความหนืดเป็น เบอร์ 50
ทำไมน้ำมันเครื่องต้องมี ‘ค่าความหนืด’ เหตุผลเพราะค่าความหนืดเป็นตัวชี้วัดความข้นหรือแรงต้านในการไหลของของเหลว ยกตัวอย่าง หากน้ำมันเครื่องมีความข้นหรือหนืดเกินไป ในขณะที่อุณหภูมิของเครื่องยนต์ยังเย็นอยู่ น้ำมันเครื่องก็ไม่สามารถไหลเวียนและให้การหล่อลื่นเครื่องยนต์ได้อย่างมีประสิทธิภาพ ตรงกันข้ามหากน้ำมันเครื่องเหลวเกินไป ในขณะที่อุณหภูมิเครื่องยนต์ร้อน ก็จะไม่สามารถช่วยปกป้องชิ้นส่วนเครื่องยนต์อย่างเหมาะสมได้ ฉะนั้นความหนืดจึงต้องมีความสอดคล้องกับอุณหภูมิแวดล้อมด้วย
น้ำมันเครื่องที่มีจำหน่ายในปัจจุบัน มี 3 ชนิด คือ ธรรมดา, กึ่งสังเคราะห์ และสังเคราะห์ โดยข้อแตกต่างของน้ำมันเครื่องทั้ง 3 ชนิดนี้ คือ โครงสร้างของโมเลกุลในตัวน้ำมันเครื่องที่มีการยึดตัวเกาะกัน โดยการยึดตัวของอะตอมที่ต่างกันทำให้น้ำมันเครื่องสามารถคงความหนืดและลักษณะการเป็นฟิล์มได้นานต่างกัน นอกจากนี้น้ำมันเครื่องสังเคราะห์แท้มีส่วนผสมของสารชนิดพิเศษสมรรถนะสูง 100% ส่วนน้ำมันเครื่องกึ่งสังเคราะห์ มีส่วนผสมของน้ำมันสังเคราะห์ชนิดพิเศษสมรรถนะสูงในสัดส่วนที่น้อยกว่า ผสมรวมกับน้ำมันพื้นฐานทั่วไป จึงทำให้แต่ละประเภทมีระยะเวลาในการเปลี่ยนถ่าย และราคาที่แตกต่างกัน
โดยน้ำมันเครื่องชนิดธรรมดาควรเปลี่ยนที่ประมาณ 5,000 กม. สำหรับชนิดกึ่งสังเคราะห์ประมาณ 7,000-10,000 กม. และชนิดสังเคราะห์ ประมาณ 15,000-20,000 กม.
สรุปแบบเข้าใจง่าย สำหรับการเลือกใช้น้ำมันเครื่องให้ถูกต้องเหมาะสม ควรคำนึงถึงปัจจัยหลายด้าน ทั้งลักษณะการขับใช้งานของแต่ละบุคคล, การเลือกค่าความหนืดให้เหมาะสมกับรถ (ดูได้จากคู่มือประจำรถ), ชนิดของน้ำมัน อย่างไรก็ดีน้ำมันแต่ละชนิดสามารถยึด-ย่นระยะกำหนดการเปลี่ยนถ่ายแบบไม่ต้องตรงตามตัวเลขเป๊ะๆ เสมอไป โดยมีตัวแปรสำคัญคือ ลักษณะการใช้งานและความสมบูรณ์ของเครื่องยนต์ เช่น บางคนอาจขับทางไกล ไม่ต้องเจอรถติดๆ ก็สามารถเปลี่ยนน้ำมันเครื่องตามระยะทางตามชนิดของน้ำมันเครื่องหรือมากกว่านั้นก็ได้ ตรงกันข้ามหากใช้งานในเมือง ต้องเผชิญกับการจราจรติดขัด วิ่งๆ หยุดๆ ก็ควรจะเปลี่ยนเร็วกว่ากำหนด ส่วนการเลือกความหนืดหรือความข้นหนืดของน้ำมันเครื่องให้เหมาะสม ก็ยิ่งช่วยการป้องกันการสึกหรอของชิ้นส่วนได้อย่างมีประสิทธิภาพ
เลือกน้ำมันให้เหมาะกับรถคุณแล้ว อย่าลืมเลือกประกันให้เหมาะกับรถคุณเช่นกัน ให้ Roojai.com เคียงข้างคุณ ด้วยประกันแสนดี การันตีถึงที่เกิดเหตุภายใน 30 นาที ประกันชั้น 1 ผ่อนสบายๆ เริ่มต้นเดือนละ 500 กว่าบาท 0% ยาว 10 เดือน คลิกเช็คเบี้ยเลย! หรือโทรให้เราช่วยที่ 02 582 8888