การดูแลรักษารถยนต์คู่ใจให้อยู่กับเราไปนาน ๆ ไม่ใช่เรื่องง่าย ดังนั้นคุณควรรู้จักการดูแลเครื่องยนต์อย่างถูกต้องและจะต้องทำให้เป็นนิสัย เพื่อยืดอายุการใช้งานให้ยาวนานยิ่งขึ้น ซึ่งจะมีวิธีอะไรบ้าง รู้ใจรวบรวมมาให้เรียบร้อยแล้ว ไปทำความเข้าใจและลงมือดูแลรักษาเครื่องยนต์ไปพร้อม ๆ กับเราได้เลย
- ดูแลหม้อน้ำเป็นประจำ
- เปลี่ยนสายพานทุก 50,000 กิโลเมตร
- เช็คแผ่นกรองอากาศเครื่องยนต์
- อย่าปล่อยให้น้ำมันเครื่องแห้ง
- ขั้วแบตเตอรี่ต้องไม่มีคราบขี้เกลือ
- หมั่นสังเกตหัวเทียนให้ดี
เครื่องยนต์เป็นหัวใจสำคัญของรถยนต์ก็ว่าได้ หากคุณปล่อยปละละเลย ไม่ดูแลรักษา อาจทำให้เครื่องยนต์สึกหรอ เสื่อมสภาพ และเสียหายในที่สุด บอกเลยว่าคุณจะต้องปาดเหงื่อแน่ ๆ เพราะ ค่าใช้จ่ายในการซ่อมสูงกว่าชิ้นส่วนอื่น ๆ มาก ดังนั้นเราไปดู 6 วิธีดูแลเครื่องยนต์พร้อม ๆ กันเลยดีกว่า
1. ดูแลหม้อน้ำเป็นประจำ
หม้อน้ำมีหน้าที่ระบายความร้อนเครื่องยนต์ ส่วนพัดลมหม้อน้ำมีหน้าที่ช่วยระบายความร้อนของหม้อน้ำอีกที ดังนั้นควรเช็คถังพักหม้อน้ำเป็นประจำ ว่าอยู่ระหว่างเกณฑ์สูง-ต่ำที่กำหนดไว้หรือไม่ และการที่น้ำหมดจนต้องเติมน้ำบ่อย ๆ ไม่ใช่เรื่องดีอย่างที่คิด เพราะหมายความว่า หม้อน้ำรั่ว หรือฝาหม้อน้ำมีปัญหา
นอกจากนี้ไม่ควรเติมน้ำในถังพักหม้อน้ำจนเต็ม เพราะต้องเผื่อพื้นที่ให้น้ำขยายตัวเมื่อเกิดความร้อนด้วย และไม่ควรเปิดเช็คตอนเครื่องร้อนจัด โดยเฉพาะตอนที่เพิ่งจอด เนื่องจากน้ำร้อนอาจพุ่งมาโดนได้
2. เปลี่ยนสายพานทุก 50,000 กิโลเมตร
การตรวจเช็คสายพานสามารถทำได้ง่าย ๆ ด้วยตัวเอง โดยใช้นิ้วมือกดสายพานเบา ๆ หากไม่ผิดปกติใด ๆ สายพานจะไม่เปื่อย ไม่แตกลายงา แต่หากพบความผิดปกติควรเปลี่ยนสายพานทันที เพราะถ้าปล่อยไว้จนเสื่อมสภาพบอกเลยว่างานเข้าแน่นอน ซึ่งตามปกติแล้วสายพานจะมีอายุการใช้งานราว 50,000 กิโลเมตร หรือระยะ 2-3 ปี ก็ควรเปลี่ยนใหม่
3. เช็คแผ่นกรองอากาศเครื่องยนต์
แผ่นกรองอากาศเครื่องยนต์ มักเป็นสิ่งที่หลายคนมองข้ามอยู่บ่อย ๆ หากแผ่นกรองอุดตันหรือสึกหรอ จะไม่สามารถทำงานได้อย่างเต็มประสิทธิภาพ ทำให้เกิดผลเสียต่อสมรรถนะการทำงานของเครื่องยนต์ วิธีการสังเกตง่าย ๆ คือ หากไส้กรองดำ อุดตัน หรือสึกหรอ จะทำให้รถยนต์เร่งเครื่องไม่ขึ้น และน้ำมันเครื่องปนเปื้อน กรณีที่ยังสามารถทำความสะอาดได้ ให้นำมาเคาะ เป่าลมเบา ๆ เพื่อป้องกันแผ่นรองขาดหรือปริ แต่ถ้าหากดำเกินไป การเปลี่ยนใหม่อาจเป็นตัวเลือกที่ดีกว่า
4. อย่าปล่อยให้น้ำมันเครื่องแห้ง
การปล่อยให้น้ำมันเครื่องแห้งเกิดขึ้นได้ยากมาก ๆ หากคุณเปลี่ยนถ่ายตามระยะที่กำหนด แต่ถ้าหากเกิดจาก “ความสึกหรอของเครื่องยนต์” ก็อาจทำให้น้ำมันเครื่องแห้งเร็วกว่าปกติ ซึ่งถ้าหากคุณไม่ตรวจเช็ค อาจทำให้เกิดปัญหาต่าง ๆ ตามมาไม่ขาดสาย เช่น น้ำมันเครื่องแห้ง สตาร์ทไม่ติด, เครื่องยนต์มีเสียงดัง, ลูกสูบติด, ชาร์ปเริ่มละลาย ฯลฯ แน่นอนว่าพ่วงมาด้วยค่าใช้จ่ายน่าปวดหัวอย่างแน่นอน
หากตรวจเช็คแล้วพบว่าน้ำมันเครื่องลด ให้เติมน้ำมันเครื่องรถยนต์ให้พอดีตามขีดที่กำหนด รวมถึงเปลี่ยนถ่ายน้ำมันเครื่องเมื่อถึงระยะที่กำหนด นอกจากนี้การเลือกใช้น้ำมันเครื่องที่มีคุณภาพ เป็นการดูแลรักษาเครื่องยนต์ซึ่งช่วยยืดอายุการใช้งานด้วยเช่นกัน ดังนั้นอย่าเห็นแก่ของถูกมากจนเกินไป ถ้าไม่อยากเสียเงินซ่อมหลายจุด
สาเหตุที่ทำให้น้ำมันเครื่องแห้ง มีอะไรบ้าง?
สาเหตุหรือปัจจัยหลักที่ทำให้น้ำมันเครื่องแห้ง มีอยู่ 2 ประเด็นดังนี้
- ปล่อยปละละเลย ไม่ตรวจเช็คน้ำมันเครื่อง หากปล่อยไว้นานจนน้ำมันเครื่องเหนียว ข้น หรือแห้งขอด แนะนำให้ปรับเปลี่ยนพฤติกรรมของคุณโดยด่วน ก่อนที่จะเกิดปัญหาใหญ่ตามมาไม่ขาดสาย ควรตรวจวัดระดับน้ำมันเครื่องว่ายังอยู่ในระดับที่ดีหรือไม่ และควรเปลี่ยนถ่ายน้ำมันเครื่องตามระยะที่กำหนดด้วย
- เสื่อมสภาพตามการใช้งาน ตามปกติแล้วรถยนต์ที่ใช้งานหนัก เดินทางบ่อย หรือใช้งานตลอดเวลา เครื่องยนต์จะถูกใช้งานหนัก และเสื่อมสภาพเร็วกว่ารถทั่ว ๆ ไป ซึ่งเป็นสาเหตุที่ทำให้ชิ้นส่วนเครื่องยนต์บางชิ้นเสื่อมสภาพ สึกหรอ หรือเกิดรอยรั่ว/แตกหนัก จนเป็นเหตุให้น้ำมันเครื่องซึม และมีปรริมาณลดน้อยลงเรื่อย ๆ หากปล่อยไว้นานก็จะทำให้น้ำมันเครื่องแห้งขอด
5. ขั้วแบตเตอรี่ต้องไม่มีคราบขี้เกลือ
หากแบตเตอรี่มีคราบขาว ไม่สะอาด อาจเป็นเพราะว่าขั้วแบตเตอรี่ชำรุด หลวม น้ำกลั่นล้น หรือเกิดจากการขันตัวล็อกขั้วไม่แน่น ฯลฯ ห้ามปล่อยขั้วแบตเตอรี่มีคราบขี้เกลือติดอยู่ทิ้งไว้ ให้ใช้น้ำอุ่นราดบริเวณที่เป็นคราบเลอะ คราบขี้เหลือ โดยจะต้องค่อย ๆ ราดอย่างระมัดระวัง พร้อมกับใช้แปรงสีฟันขัด และใช้ผ้าแห้งเช็ดให้เนียน จนไม่มีคราบใด ๆ หลงเหลืออยู่เลย เพราะไม่งั้นอาจเกิดสนิมได้ จากนั้นให้ทาจาระบีเคลือบ ก็ถือเป็นอันเสร็จเรียบร้อยแล้ว
6. หมั่นสังเกตหัวเทียนให้ดี
หัวเทียนหนึ่งในชิ้นส่วนสำคัญของเครื่องยนต์เป็นอุปกรณ์ที่สร้างประกายไฟ ซึ่งประกายไฟดังกล่าวจะเป็นตัวจุดระเบิดในห้องเผาไหม้ โดยจะทำงานร่วมกับน้ำมันและอากาศให้เกิดการระเบิดและการเผาไหม้ เพื่อดันลูกสูบเคลื่อนที่ขึ้น-ลงพร้อมกับสร้างกำลังในการขับเคลื่อนรถ
อาการหัวเทียนบอด อาจเกิดจากบริเวณเขี้ยวหัวเทียนสึกกร่อน มีคราบเขม่าดำและมีคราบน้ำมัน ส่งผลให้การจุดระเบิดไม่สม่ำเสมอ เครื่องยนต์ทำงานไม่เต็มประสิทธิภาพ ส่งผลให้เครื่องยนต์สั่น เร่งไม่ขึ้น เร่งความเร็วแล้วเครื่องดับ เป็นต้น ซึ่งตามปกติแล้ว
- หัวเทียนนิกเกิลแบบธรรมดาจะเปลี่ยนทุก 8,000-20,000 กิโลเมตร
- หัวเทียนแพลตตินั่ม หรืออิริเดียมจะเปลี่ยนทุก 100,000 กิโลเมตร
- รถยนต์ที่ใช้แก๊ส LPG/CNGจะเปลี่ยนทุก 10,000 กิโลเมตร
- ตรวจเช็คสายหัวเทียนทุก 1 ปี หรือ 20,000 กิโลเมตร เพื่อเช็คความผิดปกติที่อาจเกิดขึ้น
นอกจากการตรวจเช็คชิ้นส่วนต่าง ๆ ของเครื่องยนต์อย่างสม่ำเสมอแล้ว การปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการขับรถ ก็ช่วยยืดอายุการใช้งานของเครื่องยนต์ได้เช่นกัน หากคุณยังมีพฤติกรรมเบรคและเร่งความเร็วที่รุนแรง อาจทำให้เครื่องยนต์สึกหรอ และเกิดความเสียหายได้ แนะนำให้ขับลดอย่างนุ่มนวล ไม่กระชากจนเกินไป เพียงเท่านี้ก็ไม่ต้องมานั่งกับปัญหาต่าง ๆ ที่อาจจะเกิดขึ้นตามมา
ทั้งหมดนี้คือวิธีการดูแลเครื่องยนต์และการดูแลรถยนต์ที่คุณควรให้ความใส่ใจมาก ๆ เพราะไม่อย่างนั้นอาจทำให้พบเจอปัญหาต่าง ๆ แบบไม่รู้จบ แถมยังต้องควักเงินจ่ายค่าซ่อม ค่าเปลี่ยนเยอะแยะเต็มไปหมด ถ้าจะให้ดีควรตรวจเช็คตามระยะที่กำหนด รวมถึงตรวจเช็คส่วนอื่น ๆ นอกเหนือจากที่เราบอกต่อไปเมื่อข้างต้นด้วย เพียงเท่านี้เครื่องยนต์ก็จะใหม่และทำงานได้เต็มประสิทธิภาพ
นอกจากการดูแลใส่ใจเครื่องยนต์แล้ว อย่าลืมดูแลรถและตัวคุณในวันที่เกิดเหตุการณ์ไม่คาดฝัน เช่น เกิดอุบัติเหตุรถชน ที่แม้ว่าเราจะขับรถระวังมากแค่ไหนก็ยังมีโอกาสเกิดขึ้นได้อยู่ดี ที่รู้ใจมีประกันรถยนต์ชั้น 1 ที่ช่วยคุณประหยัดถึง 30% ปรับแผนความคุ้มครองได้ตามใจ มีอู่และศูนย์ในเครือทั่วไทย ให้รู้ใจอยู่เคียงข้างเป็นเพื่อนที่พร้อมเดินทางและปกป้องคุณในทุกเส้นทาง
สามารถติดตามข่าวสาร สาระความรู้เกี่ยวกับสุขภาพ รถยนต์ มอเตอร์ไซค์ รวมถึงประกันภัยออนไลน์ต่าง ๆ จากรู้ใจได้ที่ Facebook Page: Roojai หรือคลิกที่นี่เพื่อเพิ่มเราเป็นเพื่อนใน LINE ได้เลย (Official Line ID: @roojai)