เคยสงสัยมั้ย? “ทำไมราคาน้ำมันรถถึงแพงขึ้นทุกวัน” เป็นเพราะไทยอ้างอิงราคาน้ำมันรถยนต์จากสิงคโปร์ใช่มั้ย? หรือมีเพราะปัจจัยด้านอื่น ๆ ประกอบ แล้วถ้ากำหนดราคาเองจะเป็นไปได้หรือเปล่า เพื่อช่วยให้ราคาน้ำมันหน้าปั๊มถูกลงกว่านี้ ไม่ใช่อัปเดตราคาทีแต่ละวันคนใช้รถอย่างเรา ๆ ต้องใจตุ้ม ๆ ต่อม ๆ ว่าจะแพงขึ้นเท่าไร หากคุณเป็นหนึ่งคนที่กำลังสงสัยในเรื่องนี้ ไปกระจ่างในคำตอบกันเลยดีกว่า
สนใจอ่านแค่บางเรื่อง ก็เลือกได้เลย!
- เรื่องที่ควรรู้เกี่ยวกับ ราคาน้ำมันล่าสุด
- ราคาน้ำมันรถของไทย มีค่าใช้จ่ายอะไรรวมอยู่บ้าง?
- ทำไมไทยต้องอ้างอิงราคาน้ำมันรถจากสิงคโปร์?
- ไทยสามารถกำหนดราคาน้ำมันรถเองได้หรือไม่?
- เทคนิคขับรถประหยัดน้ำมัน ช่วยลดค่าใช้จ่าย
เรื่องที่ควรรู้เกี่ยวกับ ราคาน้ำมันล่าสุด
ก่อนอื่นอยากให้ทำความเข้าใจก่อนว่า ‘ราคาน้ำมันดิบ’ กับ ‘ราคาน้ำมันขายปลีกในประเทศ’ ไม่เหมือนกัน เพราะน้ำมันดิบเปรียบเหมือนวัตถุดิบขั้นต้น ซึ่งต้องนำเข้ามาแล้วเข้าโรงกลั่น เพื่อกลั่นออกมาเป็นน้ำมันที่เราเติมกัน ก็จะเป็นราคาขายปลีกในประเทศซึ่งเป็นสินค้าขั้นสุดท้าย
และเหตุผลที่ทำให้ ‘ราคาน้ำมันรถ’ แพงอยู่ตลอด อาจมีลงมาบ้างนิดหน่อย แต่ก็กลับพุ่งสูงขึ้นในวันต่อมา เป็นเพราะกว่าจะถึงขั้นตอนสุดท้าย ย่อมมีค่าดำเนินการต่าง ๆ มากมาย เมื่อต้นทุนยังคงสูงอยู่ ทำให้ราคาหน้าปั๊มไม่สามารถปรับลงตามเท่ากับราคาน้ำมันดิบได้นั่นเอง
ราคาน้ำมันรถของไทย มีค่าใช้จ่ายอะไรรวมอยู่บ้าง?
ในส่วนของ “ราคาน้ำมันหน้าปั๊ม” ของแต่ละประเทศล้วนแตกต่างกัน ขึ้นอยู่กับ ‘โครงสร้างราคา’ ที่ภาครัฐเป็นผู้กำหนด ซึ่งของประเทศไทยก็มีโครงสร้างดังต่อไปนี้
1. ราคาหน้าโรงกลั่น (EX-REFIN)
เป็นราคาน้ำมันสำเร็จรูปคิดจากน้ำมันดิบที่รวมต้นทุนการกลั่น ซึ่งราคาหน้าโรงกลั่นของประเทศไทย จะอ้างอิงตามราคาน้ำมันสำเร็จรูปตลาดสิงคโปร์ โดยส่วนที่เป็นราคาน้ำมันดิบจะอ้างอิงตามตลาดดูไบ ปัจจัยดังกล่าวสะท้อนให้เห็นว่า “ราคาน้ำมันดิบ และราคาน้ำมันสำเร็จรูปเป็นปัจจัยที่ส่งผลต่อราคาน้ำมันทุกปั๊ม”
2. ภาษีสรรพสามิต (EXCISE TAX)
เนื่องจากน้ำมันส่งผลกระทบต่อสังคมและสิ่งแวดล้อม จึงจำเป็นต้องมีการจัดเก็บภาษีสรรพสามิตตามแนวปฏิบัติสากล
3. ภาษีเทศบาล (M.TAX)
การเก็บภาษีเทศบาล เพื่อบำรุงพื้นที่ที่โรงกลั่นตั้งอยู่
4. เงินเข้ากองทุนน้ำมัน (OIL FUND)
กองทุนน้ำมันมีหน้าที่ ‘พยุงราคาน้ำมันรถ’ ให้ไม่ผันผวนมากเกินไป หากน้ำมันแพงก็จะนำเงินจากกองทุนไปอุดหนุนไม่ให้ราคาสูง แต่ถ้าน้ำมันถูกลงก็จะเก็บเงินเข้ากองทุน ซึ่งจะเห็นได้ว่าเงินเข้ากองทุนน้ำมัน ‘อาจ’ มีผลต่อความเคลื่อนไหวของราคาน้ำมันแต่ละปั๊ม (ราคาขายปลีก)
5. เงินเข้ากองทุนอนุรักษ์พลังงาน (CONSV.FUND)
เพื่อใช้รักษาสิ่งแวดล้อม ส่งเสริมและสนับสนุนการใช้ “พลังงานทดแทน” และเพิ่มประสิทธิภาพการใช้พลังงานทางเลือกมากขึ้น
6. ภาษีมูลค่าเพิ่ม 7% (VAT)
การเก็บภาษีมูลค่าเพิ่ม (VAT) 7% เป็นภาษีที่ต้องเสียเช่นเดียวกับสินค้าอื่น ๆ
7. ค่าการตลาด (MARKETING MARGIN)
หรือค่าโฆษณา ค่าจ้างพนักงาน ค่าจัดการคลังน้ำมัน ค่าขนส่ง รวมถึงค่าใช้จ่ายในการดำเนินธุรกิจทั้งหมด
ทำไมไทยต้องอ้างอิงราคาน้ำมันรถจากสิงคโปร์?
แม้สิงคโปร์จะเป็นประเทศเล็ก ๆ และไม่มีปริมาณสำรองน้ำมันดิบในประเทศเลย แต่ได้มีการนำเข้าน้ำมันดิบเข้ามากลั่นเป็นน้ำมันสำเร็จรูป แล้วส่งออกไปขายแทน จน “สิงคโปร์เป็นประเทศผู้ส่งออกน้ำมันสำเร็จรูปรายใหญ่ที่สุดในทวีปเอเชีย”
โดยในปี ค.ศ.2020 สิงคโปร์มีมูลค่าส่งออกน้ำมันสำเร็จรูปมากถึง 972,000 ล้านบาท จัดอยู่ในอันดับที่ 4 ของโลก เป็นรองเพียงแค่ประเทศสหรัฐอเมริกา รัสเซีย และเนเธอร์แลนด์เท่านั้น ปัจจุบันสิงคโปร์มีกำลังกลั่นของโรงงานรวมกว่า 1.5 ล้านบาร์เรลต่อวัน ซึ่ง ‘มากกว่า’ กำลังการกลั่นรวมทั้งหมดของประเทศไทยที่ 1.2 ล้านบาร์เรลต่อวัน
นอกจากนี้ประเทศสิงคโปร์ยังมีโรงกลั่นขนาดใหญ่หลัก ๆ อยู่ 3 แห่ง ดังนี้
- โรงกลั่นของ ExxonMobil มีกำลังการกลั่น 605,000 บาร์เรลต่อวัน
- โรงกลั่นของ Royal Dutch Shell มีกำลังการกลั่น 500,000 บาร์เรลต่อวัน
- โรงกลั่นของ Singapore Refining มีกำลังการกลั่น 290,000 บาร์เรลต่อวัน
เมื่อเป็นแบบนี้แล้วทำให้ปัจจุบันประเทศสิงคโปร์กลายเป็น “ตลาดที่มีบริษัทและผู้ค้าน้ำมันจำนวนมากกว่า 300 ราย” รวมถึงมีการตกลงซื้อขายน้ำมันปริมาณมหาศาล ทำให้ไม่มีผู้ซื้อหรือผู้ขายรายใดรายหนึ่ง สามารถเข้ามาแทรกแซงหรือมีอิทธิพลเหนือราคาตลาดได้
ไทยสามารถกำหนดราคาน้ำมันรถเองได้หรือไม่?
ด้วยความที่ประเทศไทยใช้การค้าขายน้ำมันด้วยระบบเสรี หากกำหนดราคาน้ำมันที่หน้าโรงกลั่นเอง อาจทำให้เกิดปัญหาต่าง ๆ ตามมาได้ ดังนี้
1. กรณีที่รัฐบาลกำหนดราคาต่ำกว่าสิงคโปร์
โรงกลั่นจะส่งออกน้ำมันไปขายที่ประเทศสิงคโปร์ เนื่องจากได้ราคาที่สูงกว่า หรือผู้ค้าน้ำมันก็จะซื้อน้ำมันจากโรงกลั่นไทย ไปขายต่อในประเทศสิงคโปร์ ซึ่งอาจทำให้เกิดปัญหาน้ำมันขาดแคลนในประเทศได้
2. กรณีที่รัฐบาลกำหนดราคาสูงกว่าสิงคโปร์
ผู้ค้าน้ำมันในประเทศก็จะไม่ซื้อน้ำมันจากโรงกลั่น และหันมา ‘นำเข้า’ น้ำมันสำเร็จรูปจากสิงคโปร์แทน แบบนี้จะทำให้ประเทศไทยสูญเสียเงินตราต่างประเทศ จากการนำเข้าน้ำมันสำเร็จรูปโดยไม่จำเป็น
นอกจากนี้อาจส่งผลให้โรงกลั่นขาดรายได้ รวมถึงขาดกำไรที่จะนำไปพัฒนา ลงทุน และจ้างงานภายในประเทศ แน่นอนว่ามันจะส่งผลเสียต่อเศรษฐกิจในภาพรวมเช่นกัน
ทั้งหมดนี้จึงตอบคำถามได้ว่า “ประเทศไทยไม่สามารถกำหนดราคาเองได้” ด้วยเหตุผลที่ว่าน้ำมันเป็นสินค้าโภคภัณฑ์ ในตลาดที่มีความเสรีอย่างประเทศไทย หากขายในราคาที่ต่างกันจะทำให้เกิดช่องโหว่ในการเก็งกำไรของผู้ค้า ที่สามารถเข้าถึงได้หลากหลายตลาด รวมถึงทำให้เกิดปัญหาตามมาอีกมากมาย
เมื่อเรื่องกำหนดราคาน้ำมันเป็นปัจจัยภายนอกที่กำหนดไม่ได้ในมือคุณ เลือกจัดการด้วยตัวเองผ่านการใช้รถให้ประหยัดน้ำมันขึ้นน่าจะง่ายกว่า รวมไปถึงการซื้อประกันรถยนต์ติดไว้เพื่อลดภาระค่าใช้จ่ายเมื่อเกิดอุบัติเหตุ หมดห่วงเรื่องค่าใช้จ่ายเมื่อเกิดเหตุไม่คาดฝัน แล้วเก็บเงินส่วนหนึ่งไว้เติมน้ำมัน รวมไปถึงใช้เติมเต็มความสุขของเราได้อย่างสบายใจ
เทคนิคขับรถประหยัดน้ำมัน ช่วยลดค่าใช้จ่าย
เมื่อคำนวณน้ำมันรถในแต่ละเดือน น้ำตาแทบตก บอกเลยว่าเป็นค่าใช้จ่ายไม่น้อยเลย ตกต้องเสียเงินไปกับราคาน้ำมันรถเดือนละ 4,000 – 10,000 บาท มาดูวิธีขับรถให้ประหยัดน้ำมัน ทำได้ด้วยการปรับพฤติกรรมการขับขี่และการดูแลรักษารถยนต์ ดังนี้
- ขับรถประหยัดน้ำมันด้วยการปรับพฤติกรรมการขับขี่
- ไม่ออกรถกระชาก แต่ค่อย ๆ เหยียบคันเร่งอย่างนุ่มนวล
- ขับรถด้วยความเร็วคงที่ระหว่าง 80-90 กม./ชม. เพื่อให้เครื่องยนต์เผาผลาญเชื้อเพลิงได้อย่างมีประสิทธิภาพ
- ไม่เบรกรถกะทันหัน ให้ขับด้วยความระมัดระวัง
- ขับรถประหยัดน้ำมันด้วยการดูแลรักษารถยนต์
- ตรวจเช็คลมยางให้อยู่ในระดับที่เหมาะสม
- เปิดแอร์ให้อุณหภูมิพอดี เพื่อลดภาระของคอมเพรสเซอร์
- เช็คเครื่องยนต์สม่ำเสมอ เพื่อให้ทำงานได้อย่างเต็มประสิทธิภาพ
- ขนสัมภาระเท่าที่จำเป็น และจัดวางให้สมดุล
- ดับเครื่องเมื่อจอดรถนานเกิน 5 นาที
- เปลี่ยนถ่ายน้ำมันเครื่องตามระยะที่กำหนด
สรุปคร่าว ๆ ได้ว่าราคาน้ำมันรถที่ผันผวนอย่างหนักในปัจจุบัน เกิดจากการอ้างอิง “ราคากลาง” ของราคาน้ำมันตอนนี้จากประเทศสิงคโปร์ ซึ่งไทยไม่สามารถกำหนดราคาน้ำมันรถยนต์ เพราะอาจทำให้เกิดปัญหาอื่น ๆ ตามมาไม่รู้จบ ดังนั้นสิ่งที่แก้ปัญหาได้ดีที่สุดในตอนนี้ คือการคำนวณน้ำมันก่อนออกเดินทางทุกครั้ง เพียงเท่านี้ก็ช่วยลดเซฟค่าใช้จ่ายได้ในระดับหนึ่งแล้ว
สามารถติดตามข่าวสาร สาระความรู้เกี่ยวกับสุขภาพ รถยนต์ มอเตอร์ไซค์ รวมถึงประกันภัยออนไลน์ต่าง ๆ จากรู้ใจได้ที่ Facebook Page: Roojai หรือคลิกที่นี่เพื่อเพิ่มเราเป็นเพื่อนใน LINE ได้เลย (Official Line ID: @roojai)
คำจำกัดความ
สินค้าขั้นสุดท้าย | สินค้าที่ผู้ ซื้อ ซื้อไปใช้เอง โดยไม่ได้นำไปเพื่อใช้ผลิตต่อไปหรือซื้อไปขาย |
โรงกลั่น | สถานที่ผลิตและจำหน่ายน้ำมันเชื้อเพลิง |
ผันผวน | กลับไปกลับมา, ปั่นป่วน, ไม่แน่นอน |
สินค้าโภคภัณฑ์ | ผลิตภัณฑ์ หรือวัตถุดิบ ที่ถูกนำไปใช้เป็นส่วนประกอบของการผลิตสินค้าหรือบริการต่าง ๆ มีลักษณะจับต้องได้ สามารถซื้อขายได้ มีคุณสมบัติใช้แทนกันได้อย่างสมบูรณ์ (Fungibility) เป็นสินค้าที่มีมาตรฐานเดียวกันทั่วโลก มีความแตกต่างกันเพียงเล็กน้อย แม้จะมาจากผู้ผลิตคนละราย |
บาร์เรล | หน่วยวัดความจุของของเหลว เมื่อใช้กับการวัดปริมาตรน้ำมันปิโตรเลียม 1 บาร์เรล เท่ากับ 36 แกลลอนในประเทศอังกฤษ ส่วนในประเทศสหรัฐอเมริกา 1 บาร์เรล เท่ากับ 42 แกลลอน |