Roojai

วางแผนซื้อรถใหม่ให้ลูก ควรซื้อตอนไหน-เรื่องที่ควรระวัง!

เรื่องที่ควรรู้ก่อนวางแผนซื้อรถใหม่ให้ลูก | ประกันรถ | รู้ใจ

ปฏิเสธไม่ได้ว่า การเดินทางในประเทศไทยยังมีความไม่สะดวกสบาย โดยเฉพาะในต่างจังหวัด หลายคนจึงอยากให้ลูกขับรถ เพราะการมีรถส่วนตัวจะช่วยให้มีอิสระและเพิ่มความสะดวกสบายในการเดินทางมากขึ้น แต่ไม่ว่าจะซื้อรถใหม่หรือหาซื้อรถมือสองให้ลูกขับเมื่อไหร่จึงจะเหมาะสม? มีปัจจัยอะไรบ้างที่ควรพิจารณาก่อนตัดสินใจ? สิ่งที่ต้องเตรียมพร้อม รวมถึงสิ่งที่ควรระวัง ในบทความนี้เราจะมาไขข้อข้องใจเหล่านี้ให้คุณพ่อคุณแม่ได้ทราบกัน

สนใจอ่านแค่บางเรื่อง ก็เลือกได้เลย!

ลูกอายุเท่าไหร่ ถึงขี่มอเตอร์ไซค์ – ขับรถยนต์ได้?

สำหรับคำตอบ เราต้องมาเข้าใจเรื่องกฎหมายกันก่อน การขับขี่รถเราต้องสอบใบขับขี่ สำหรับรถยนต์ไม่ว่าจะขับรถเกียร์ออโต้หรือเกียร์ธรรมดา สามารถทำใบอนุญาตขับขี่ได้เมื่ออายุไม่ต่ำกว่า 18 ปีบริบูรณ์ และสำหรับรถมอเตอร์ไซค์ สามารถทำใบขับขี่มอเตอร์ไซค์ส่วนบุคคลได้ตั้งแต่อายุ 15 ปีบริบูรณ์  โดยมีขนาดความจุกระบอกสูบไม่เกิน 110 ซีซี ดังนั้นหากลูกของคุณอายุต่ำกว่าเกณฑ์ที่สามารถทำใบขับขี่ได้ ก็ยังไม่ควรให้ขับรถ

อายุเท่าไหร่ที่สามารถทำใบขับขี่ได้ | ประกันรถ | รู้ใจ

ซื้อรถคันแรกให้ลูก ควรเลือกรถแบบไหน?

เมื่อลูกอายุถึงเกณฑ์ที่สามารถทำใบขับขี่ได้ ก่อนการเตรียมความพร้อมในเรื่องอื่น ๆ ก่อนอื่นเลยคือต้องมีรถยนต์ แล้วเราจะเลือกรถแบบไหนให้กับลูกดี ลองใช้ 4 ข้อนี้มาช่วยในการพิจารณารถที่ตอบโจทย์

  1. ความปลอดภัยเป็นเรื่องที่สำคัญที่สุด โดยควรเลือกรถที่มีระบบความปลอดภัยที่ดี เช่น ระบบเบรก ABS, ถุงลมนิรภัย, และระบบควบคุมเสถียรภาพการขับขี่
  2. เลือกรถประหยัดน้ำมัน รถที่ประหยัดน้ำมันจะช่วยลดค่าใช้จ่ายในระยะยาว เช่น รถยนต์แบบ Eco Car หรือรถยนต์ไฟฟ้าอาจเป็นตัวเลือกที่ดี
  3. เลือกจากการใช้งาน ต้องดูสถานที่ที่ลูกจะใช้งานรถบ่อย ๆ เช่น ขับในเมือง รถขนาดเล็กหรือขนาดกลางจะเหมาะกว่า และยังหาที่จอดง่าย เช่น Honda Civic หรือ Toyota Yaris
  4. เลือกจากความคุ้มค่า เลือกรถที่มีราคาสมเหตุสมผล ไม่ต้องซ่อมบ่อย และมีศูนย์บริการอยู่ใกล้ ๆ

เมื่อจะให้ลูกขับรถต้องเตรียมพร้อมอะไรบ้าง?

ก่อนซื้อรถให้ลูกขับ ไม่ว่าจะซื้อรถใหม่หรือหาซื้อรถมือสอง มาดูว่าพ่อแม่ต้องเตรียมอะไรบ้าง? ดังนี้

  1. ความพร้อมของลูก – ควรสอนขับรถในสถานที่ปลอดภัยและไม่เดือดร้อนผู้ใช้รถใช้ถนนคนอื่น ๆ รวมถึงสังเกตนิสัยและพฤติกรรมการขับ เช่น ขับรถเร็ว ใจร้อน หรือไม่ หรือให้ลูกเข้าเรียนขับรถกับโรงเรียนสอนขับรถที่ผ่านการรับรอง ซึ่งให้เข้าสอบใบขับขี่ได้เลย
  2. พาลูกไปทำใบขับขี่ – เพื่อแน่ใจว่าลูกของเราเรียนรู้วินัยจราจรและมารยาทบนท้องถนน เช่น การให้ทาง การใช้สัญญาณไฟ และการรักษาระยะห่างจากรถคันหน้า เพื่อการขับขี่ปลอดภัยของผู้ใช้รถใช้ถนนทุกคน
  3. เช็คให้แน่ใจว่ารถอยู่ในสภาพดี เช่น เบรค ยาง และไฟสัญญาณต่าง ๆ ทำงานได้ปกติ
  4. เตรียมอุปกรณ์ฉุกเฉินติดรถ เช่น ยางอะไหล่ แม่แรง สายพ่วงแบตเตอรี่ และชุดปฐมพยาบาล เผื่อเหตุฉุกเฉินบนท้องถนน เพื่อการขับรถปลอดภัยด้วยเช่นกัน
  5. ทำประกันรถยนต์ – เพราะลูกเป็นมือใหม่หัดขับ ประสบการณ์บนท้องถนนยังน้อย และมีความเสี่ยงต่อการเกิดอุบัติเหตุสูง จึงควรเป็นประกันรถยนต์ชั้น 1 ไม่ว่าจะซื้อรถใหม่หรือหาซื้อรถมือสองให้ลูกก็ตาม เพราะการมีประกันชั้น 1 ที่รู้ใจจะมาช่วยซัพพอร์ตค่าใช้จ่าย ทั้งเมื่อชนแบบมีและไม่มีคู่กรณี น้ำท่วม ไฟไหม้รถ ภัยธรรมชาติ รวมถึงการโจรกรรมด้วย
  6. ทำพ.ร.บ.รถยนต์ – เป็นประกันภาคบังคับที่กฎหมายกำหนดให้ยานพาหนะทางบกทุกประเภทที่จดทะเบียนกับกรมการขนส่งทางบกต้องทำ
  7. ต่อภาษีรถให้เรียบร้อย – คงไม่มีใครอยากให้ลูกถูกจับตั้งแต่ครั้งแรก ๆ ที่ออกถนน ดังนั้นทั้งใบขับขี่ พ.ร.บ. และภาษีรถ ควรจัดการให้เรียบร้อยตามกฎหมายก่อนขับรถ

ทำไมต้องทำใบขับขี่?

สาเหตุที่คนขับรถ ไม่ว่าจะมอเตอร์ไซค์หรือรถยนต์ ควรมีใบขับขี่เพราะ

  1. ทำตามกฎหมาย – การไม่มีใบขับขี่หรือใบขับขี่หมดอายุแล้วไปขับรถ ถือเป็นความผิดตามกฎหมาย ต้องเสียค่าปรับ ถูกยึดใบขับขี่ หรือถูกตัดสิทธิในการขับรถชั่วคราวหรือถาวร
  2. เพื่อความปลอดภัยของลูก รวมถึงผู้ใช้รถใช้ถนน – ใบขับขี่เป็นหลักฐานว่าคุณมีความรู้และทักษะในการขับรถปลอดภัย ผ่านการทดสอบจากกรมการขนส่งทางบกมาเรียบร้อยแล้ว
  3. การยืนยันตัวตน – ใบขับขี่สามารถใช้เป็นเอกสารยืนยันตัวตนในหลายสถานการณ์ เช่น อุบัติเหตุ หรือเช่ารถ

ประกันรถคุ้มครองเมื่อเด็กต่ำกว่า 18 ปี ขับรถยนต์มั้ย?

กรณีที่ให้เด็กที่ยังไม่สามารถทำใบขับขี่หรืออายุต่ำกว่า 18 ปีบริบูรณ์ มาขับรถ แล้วเกิดอุบัติเหตุ ประกันรถยนต์จะไม่ให้ความคุ้มครอง พ่อแม่ผู้ปกครองจะต้องรับผิดชอบค่าเสียหายทั้งหมดที่เกิดขึ้น ดังนั้นการรอให้ลูกอายุถึงเกณฑ์ตามที่กำหนดให้ทำใบขับขี่แล้วค่อยสอนขับรถ นอกจากจะเพิ่มความขับขี่ปลอดภัยแล้ว ยังได้รับความคุ้มครองจากประกันภัยอีกด้วย

อายุไม่ถึง 18 ปี ขับรถชนเคลมประกันได้มั้ย | ประกันรถ | รู้ใจ

ลูกขับรถชน ไม่มีใบขับขี่ จะเกิดอะไรขึ้นบ้าง?

การที่เด็กอายุต่ำกว่า 18 ปี ขับรถยนต์ โดยที่ไม่มีใบขับขี่ ถือเป็นเรื่องที่อันตรายมาก ๆ ถ้าหากไม่ชน ไม่ถูกจับ อาจจะไม่มีใครจับได้ แต่จะสามารถทำได้นานแค่ไหน เพราะประสบการณ์และเทคนิคการขับรถน้อย การตัดสินใจยังไม่เท่าผู้ใหญ่ รวมกับความเป็นมือใหม่หัดขับที่ยังไม่เคยผ่านการสอบใบขับขี่ ที่มีทั้งการทดสอบสมรรถภาพร่างกาย เข้ารับการอบรม ทดสอบข้อเขียน และทดสอบขับรถ ทำให้ความเสี่ยงต่ออุบัติเหตุเพิ่มขึ้น ซึ่งนอกจากทรัพย์สินหรือรถยนต์จะเสียหายแล้ว ยังอันตรายต่อชีวิตของตัวเอง รวมทั้งผู้ใช้รถใช้ถนนคนอื่น ๆ ซึ่งหากเกิดอุบัติเหตุขึ้น ผู้ปกครองต้องรับผิดชอบตามกฎหมาย ดังนี้

ในกรณีที่ผู้เยาว์ (บุคคลที่ยังไม่บรรลุนิติภาวะ คือ อายุไม่ถึง 20 ปีบริบูรณ์) ขับรถยนต์ไปชนและก่อให้เกิดความเสียหาย ถือเป็นความผิดทั้งในคดีแพ่งและคดีอาญา โดยผู้เยาว์เองต้องรับผิดชอบในผลของการกระทำละเมิด ขณะเดียวกัน บิดามารดาหรือผู้ดูแลก็ต้องร่วมรับผิดชอบด้วย เว้นแต่จะพิสูจน์ได้ว่าได้ใช้ความระมัดระวังตามสมควรแล้ว

  • ความรับผิดชอบในคดีแพ่ง – ในคดีแพ่ง ต้องรับผิดชอบชดใช้ค่าสินไหมทดแทนให้กับผู้ที่ได้รับความเสียหายทั้งในชีวิต ร่างกาย และทรัพย์สิน แต่เมื่อเด็กยังเป็นผู้เยาว์ ดังนั้นพ่อแม่หรือผู้ดูแลต้องร่วมรับผิดชอบด้วย เว้นแต่จะพิสูจน์ว่าได้ดูแลอย่างระมัดระวังตามสมควรแล้ว
  • ความรับผิดชอบในคดีอาญา – ในคดีอาญา หากการขับรถของผู้เยาว์ส่งผลให้ผู้อื่นเสียชีวิต อาจมีโทษจำคุกไม่เกิน 10 ปี และปรับไม่เกิน 20,000 บาท เพราะขับรถยนต์ไม่มีใบขับขี่ และขับขี่ด้วยความประมาททำให้คนต้องเสียชีวิต ทั้งนี้ศาลอาจพิจารณาลงโทษ เช่น การว่ากล่าวตักเตือนและห้ามไม่ให้เกิดเหตุการณ์นี้อีกในเวลา 3 ปี หรือส่งเด็กไปอยู่สถานพินิจ แต่หากศาลพิจารณาแล้วสมควรลงโทษไว้ครึ่งหนึ่ง ทีนี้ทั้งตัวเด็กเองและพ่อแม่ต้องได้รับโทษจำคุกเช่นกัน เช่นจำคุก 2 ปีก็จะเหลือ 1 ปี พ่อแม่ถูกจำคุกด้วยไม่เกิน 3 เดือนปรับ 30,000 บาท
อุบัติเหตุที่เกิดขึ้นจริง เมื่อเด็กอายุไม่ถึง 18 ปีขับรถ | ประกันรถ | รู้ใจ

เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นจริงเมื่อให้เด็กขับรถ!

จะเห็นได้ว่าการให้เด็กขับรถ คือ การที่พ่อแม่ หรือผู้ปกครอง ต้องแบกรับความเสี่ยงในการชดใช้ค่าเสียหายต่าง ๆ รวมถึงอาจติดคุกและเสียค่าปรับด้วย และจะยิ่งรุนแรงมากขึ้นหากผู้ใช้รถใช้ถนนคนอื่นที่ทำตามวินัยจราจรอย่างเคร่งครัด ต้องเสียชีวิตลงจากการกระทำที่ประมาทเลินเล่อของเด็ก รวมถึงคุณอาจต้องเสียลูกไปจากอุบัติเหตุด้วย ซึ่งมีข่าวเกิดขึ้นมากมาย ตัวอย่างเช่น

  • เมื่อวันที่ 1 มกราคม 2563 เกิดเหตุการณ์รถกระบะเสียหลักพุ่งชนกำแพงบ้านของชาวบ้านในพื้นที่ ต.ทรายขาว อ.วังสะพุง จ.เลย โดยคนขับรถคือเด็กชายอายุ 12 ปี จะขับไปรับแฟนสาว พอมาถึงที่เกิดเหตุซึ่งเป็นทางโค้งลงเนิน รถเสียหลักพุ่งชนเนินดินข้างทางลอยไปชนกับกำแพงปูน เด็กชายไม่ได้คาดเข็มขัดนิรภัยจึงกระเด็นออกจากตัวรถ บาดเจ็บสาหัส และเสียชีวิตต่อมา (ที่มา: thethaiger.com)
  • เมื่อวันที่ 30 กันยายน 2565 เวลาประมาณ 22.00 น. เยาวชนอายุ 15 ปี ขับรถยนต์ BMW วิ่งมาด้วยความเร็วฝ่าสัญญาณไฟแดงพุ่งเข้าชนรถจักรยานยนต์ของบัณฑิตจบใหม่คณะวิศวกรรมศาสตร์ ม.เทคโนโลยีสุรนารี เสียชีวิต (ที่มา: amarintv.com)
  • เพจเฟซบุ๊ก อยากดังเดี๋ยวจัดให้ รีเทิร์น part 2 ได้โพสต์คลิปพร้อมระบุเหตุการณ์ที่เยาวชนอายุเพียงแค่ 17 ปี นำรถยนต์ของผู้ปกครองออกมาขับด้วยความเร็วจนเป็นเหตุให้พุ่งเข้าชนรถมอเตอร์ไซค์จากด้านหลังเป็นเหตุให้ผู้ขับขี่มอเตอร์ไซค์เสียชีวิตทันที (ที่มา: brighttv.co.th)

ไม่ว่าจะซื้อรถใหม่หรือหาซื้อรถมือสองให้ลูกขับเป็นเรื่องที่ต้องคำนึงถึงความพร้อมของลูก ไม่ว่าจะเป็นด้านอายุ ประสบการณ์การขับขี่ พฤติกรรมการขับขี่ เทคนิคการขับรถ ความรับผิดชอบ รวมถึงความพร้อมทางการเงิน โดยสิ่งสำคัญที่สุดคือ การทำตามกฎหมายและวินัยจราจร โดยที่คนขับรถทุกคนต้องมีใบขับขี่ เพื่อความปลอดภัยบนท้องถนนของผู้ใช้รถใช้ถนนทุกคน

สามารถติดตามข่าวสาร สาระความรู้เกี่ยวกับสุขภาพ รถยนต์ มอเตอร์ไซค์ รวมถึงประกันภัยออนไลน์ต่าง ๆ จากรู้ใจได้ที่ Facebook Page: Roojai หรือคลิที่นี่เพื่อเพิ่มเราเป็นเพื่อนใน LINE ได้เลย (Official Line ID: @roojai)

คำจำกัดความ

ประมาทเลินเล่อ การกระทำที่ขาดความระมัดระวัง หรือการละเลยในสิ่งที่ควรกระทำ ซึ่งอาจทำให้เกิดความเสียหายได้ ตัวอย่างเช่น การขับรถโดยไม่ระมัดระวังจนเกิดอุบัติเหตุ
การโจรกรรม การกระทำที่นำเอาทรัพย์สินของผู้อื่นโดยเจตนา เพื่อยึดทรัพย์สินนั้นมาเป็นของตน โดยที่เจ้าของทรัพย์สินไม่ได้อนุญาตหรือยินยอม สามารถแบ่งออกเป็นหลายประเภท เช่น การลักทรัพย์ การชิงทรัพย์ การปล้นทรัพย์ เป็นต้น
ผู้เยาว์ บุคคลที่ยังไม่บรรลุนิติภาวะ ซึ่งในประเทศไทยหมายถึงบุคคลที่มีอายุไม่ถึง 20 ปีบริบูรณ์
คดีแพ่ง คดีแพ่ง คือ คดีที่เกี่ยวข้องกับข้อพิพาทระหว่างบุคคลหรือองค์กรที่เกี่ยวกับสิทธิและหน้าที่ทางกฎหมายแพ่ง โดยคดีแพ่งไม่มีโทษจำคุกหรือโทษทางอาญา แต่จะมุ่งเน้นไปที่การชดใช้ค่าเสียหายหรือการบังคับให้ทำตามสัญญา ตัวอย่างเช่น คดีกู้ยืมเงิน คดีผิดสัญญา คดีเช่าทรัพย์ คดีมรดก เป็นต้น
คดีอาญา คดีที่เกี่ยวข้องกับการกระทำความผิดที่มีโทษทางอาญา เช่น การฆาตกรรม การลักทรัพย์ การฉ้อโกง หรือการทำร้ายร่างกาย โดยผู้เสียหายมีเจตนาฟ้องร้องเพื่อให้ผู้กระทำผิดได้รับโทษตามกฎหมาย เช่น การจำคุก กักขัง ริบทรัพย์สิน เป็นต้น