Roojai

รู้ไว้! เปิดไฟตัดหมอกพร่ำเพรื่ออาจโดนจับได้ แล้วต้องเปิดตอนไหนบ้าง

บ่อยครั้งที่ขับรถไปบนท้องถนนช่วงเวลาค่ำคืน เชื่อว่าหลาย ๆ คนอาจเคยเห็นรถบางคันเปิดไฟตัดหมอกทั้งด้านหน้ารถและท้ายรถผ่านตาอยู่บ้าง แน่นอนก็มีคำถามคาใจที่เรา ๆ ท่าน ๆ สงสัยว่าเค้าเปิดทำไม ทั้งที่ทัศนวิสัยก็ไม่ถึงขั้นกับเลวร้ายเลยสักนิด แต่ถ้าเกิดฝนตกหนักหรือหมอกลงหนาจนไม่มองเห็นทางก็ยังพอเข้าใจได้ ส่วนเหตุผลที่เปิดส่วนใหญ่ก็อยู่ 2 ประการหลัก ๆ คือ เผลอเปิดไว้แล้วไม่รู้ตัวว่าไฟตัดหมอกรถตัวเองเปิดอยู่ กับเปิดเพราะคิดว่าเท่ แถมบางคนที่รถตัวเองไม่มีก็ไปติดเพิ่มภายหลังเพราะคิดเป็นแฟชั่นที่ฮิตกันประมาณว่าของมันต้องมี แต่บอกเลยครับว่าในสถานการณ์ปกติ การเปิดไฟตัดหมอกนั้นเสี่ยงต่อการเกิดอุบัติเหตุอย่างยิ่ง กับลำแสงที่ไปสาดส่องแยงตากับเพื่อนร่วมถนนหนทาง ไม่ว่าจะทั้งรถคันนำหน้า คันตามหลังหรือคันที่สวนทางมา ที่สำคัญยังผิกฎหมายด้วยซ้ำถ้าเปิดโดยไม่เกิดสถานการณ์ที่จำเป็น

ปัจจุบันรถใหม่ ๆ ส่วนใหญ่มีไฟตัดหมอกมีติดตั้งมาให้เป็นอุปกรณ์มาตรฐานจากโรงงานผลิตแทบจะทุกรุ่น ส่วนใหญ่จะเป็นรุ่นท็อปหรือรุ่นกลาง ส่วนรุ่นล่างสุดที่ไม่มีมาให้ เจ้าของรถบางคนก็อาจไปติดเพิ่มเติมเองภายหลัง เพราะราคาก็ไม่ได้แพงมากนักเมื่อเทียบกับเมื่อหลายสิบปีก่อนหลักพันก็ซื้อหาได้ ซึ่งในอดีตไฟตัดหมอกจะติดตั้งมาให้กับรถที่จำหน่ายในแถบประเทศที่มีภูมิประเทศเป็นภูเขาสูง อากาศหนาว หรือประเทศที่เป็นเกาะล้อมรอบด้วยน้ำทำให้มีฝนตกบ่อยตลอดทั้งปี บรรยากาศที่ขมุกขมัวหรือมีหมอกเป็นส่วนมาก ดังนั้นเพื่อความปลอดภัยสูงสุดในการใช้ยานพาหนะจึงมีการคิดค้นไฟตัดหมอกขึ้นมา

คุณสมบัติของไฟตัดหมอกคือใช้หลอดไฟที่ให้ความสว่างสูง ส่วนมากเป็นสปอตไลท์ ส่องในระนาบขนานกับพื้นถนนหรือตกพื้นในระยะไกล ดังนั้นความสว่างจึงมีมากและส่องได้ไกลกว่า โดยเฉพาะในยามที่ฝนตกหนักหรือหมอกลงจัด ในขณะที่หลอดไฟหน้า ในสภาวะปกติถ้าเปิดใช้ในขณะที่หมอกจัด มุมที่เอียงลงต่ำทำให้เกิดมุมสะท้อนกลับสู่สายตาของผู้ขับขี่  จึงทำให้แสงที่ส่องผ่านไปมีน้อยหรือมองเห็นแค่ในระยะไม่เกิน 10-15 เมตรเท่านั้น อีกทั้งยังแสบตาเพราะแสงที่สะท้อนกลับ ส่วนไฟตัดหมอกที่ส่องแบบขนานพื้นนั้น จึงไม่สะท้อนมายังห้องโดยสาร เพราะสามารถทะลุทะลวงได้มาก ที่สำคัญการสะท้อนกลับมาในมุมที่ไม่กระทบผู้ขับขี่ ทำให้มองเห็นได้ในระยะมากกว่า 30-80 เมตร

ที่ผ่าน ๆ มาหน่วยงานภาครัฐและเอกชนต่างพยายามช่วยกันรณรงค์เรื่องการใช้ไฟตัดหมอกให้ถูกสถานการณ์ถูกช่วงเวลา โดยกรณีที่จำเป็นต้องเปิดไฟตัดหมอกก็มีดังนี้ คือ ช่วงฝนตกปรอย ๆ หรือตกหนัก ไฟตัดหมอกจะมีประโยชน์มาก แม้จะเป็นช่วงกลางวันก็ตามเพราะมันสามารถช่วยให้รถที่สวนมามองเห็นไฟตัดหมอกอย่างชัดเจน เมื่อขึ้นภูเขาสูงหรือยอดเขา โดยเฉพาะช่วงหน้าหนาวทั้งตอนเช้าและตอนกลางคืน เนื่องจากที่ราบสูงจะมีหมอกมากกว่าปกติ หรือในช่วงกลางคืนหลังฝนหยุดตกหรือถนนยังเปียกอยู่ ซึ่งไฟตัดหมอกจะช่วยให้ทัศนะวิสัยในการขับขี่ดีขึ้น หรือในกรณีมีหมอกหรือควันเกิดขึ้นบนท้องถนนที่บดบังทัศนวิสัยในการมองเห็นได้น้อยกว่า 50 เมตร

อย่างไรก็ดี ในจังหวะที่รถคันอื่นสวนทางมาควรปิดไฟตัดหมอกทันที ในระยะที่มองเห็นไฟหน้าของรถที่สวนมาได้อย่างชัดเจน ทั้งนี้ก็เพื่อความปลอดภัยของเพื่อนร่วมถนน ซึ่งแน่นอนว่าถ้าใช้ถูกจังหวะถูกช่วงเวลาก็เป็นประโยชน์อย่างมากและช่วยเพิ่มความปลอดภัยในการขับขี่ ในขณะเดียวกันหากเปิดไฟตัดหมอกอย่างพร่ำเพรื่อ ไม่มีมารยาทในการใช้ถนนร่วมกัน ก็สามารถสร้างความรำคาญให้กับผู้ใช้ถนนรายอื่น ๆ  รวมไปยังเพิ่มความเสี่ยงต่อเกิดอุบัติเหตุได้มากกว่าปกติอีกด้วย

การเปิดไฟตัดหมอกพร่ำเพรื่อ ถือเป็นการกระทำที่ผิดกฎหมายและมีโอกาสจับกุมเมื่อเจ้าหน้าที่พบเห็น โดยมีการระบุไว้ชัดเจนตาม พรบ.จราจรทางบก พ.ศ.2522 มาตรา 11 “ในเวลาที่มีแสงสว่างไม่เพียงพอที่จะมองเห็น คน รถ หรือสิ่งกีดขวางในทางได้โดยชัดแจ้งภายในระยะไม่น้อยกว่าหนึ่งร้อยห้าสิบเมตร ผู้ขับขี่ต้องเปิดไฟหรือใช้แสงสว่างตามประเภท ลักษณะ และเงื่อนไขที่กำหนดในกฎกระทรวง โดยตามกฎกระทรวงฉบับที่ 15 (พ.ศ. 2536) ออกตามความในพระราชบัญญัติจราจรทางบก พ.ศ. 2522 อาศัยอำนาจตามความในมาตรา 5 มาตรา 11 และมาตรา 61 แห่งพระราชบัญญัติจราจรทางบก พ.ศ. 2522 รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย ออกกฎกระทรวงไว้ดังต่อไปนี้

ข้อ 1 ให้เพิ่มความต่อไปนี้เป็นวรรคสามของ (1) ในข้อ2 แห่งกฎกระทรวงฉบับที่ 2 (พ.ศ. 2522) ออกตามความในพระราชบัญญัติจราจรทางบก พ.ศ. 2522 “รถคันใดจะมีโคมไฟหน้ารถเพื่อใช้ตัดหมอกก็ได้ โดยติดหน้ารถข้างละหนึ่งดวงอยู่ในระดับเดียวกัน ใช้ไฟแสงขาวหรือแสงเหลืองมีกำลังไฟเท่ากัน ไม่เกินดวงละ 55 วัตต์สูงจากพื้นทางราบไม่เกินกว่าระดับโคมไฟแสงพุ่งไกลและโคมไฟแสงพุ่งต่ำ ศูนย์รวมแสงต้องอยู่ต่ำกว่าแนวขนานกับพื้นทางราบไม่น้อยกว่า 2 องศา หรือ 0.20 เมตร ในระยะ 7.50 เมตรและไม่เฉไปทางขวา”

ข้อ 2 ให้ยกเลิกความใน (ข) ของ (2) ในข้อ2 แห่งกฎกระทรวง ฉบับที่2(พ.ศ. 2522) ออกตามความในพระราชบัญญัติจราจรทางบก พ.ศ. 2522 และให้ใช้ความต่อไปนี้แทน “(ข) โคมไฟหยุด ให้ติดท้ายรถอย่างน้อยข้างละหนึ่งดวง โคมไฟทั้งสองข้างต้องอยู่ในระดับเดียวกัน และจะติดตรงกึ่งกลางด้านท้ายภายในรถเพิ่มอีกหนึ่งดวงก็ได้ ใช้ไฟแสงแดงมีกำลังไฟเท่ากันไม่เกินดวงละ 10 วัตต์ และมีแสงสว่างสามารถมองเห็นได้จากระยะไม่น้อยกว่า 30 เมตร เมื่อใช้ห้ามล้อไฟต้องไม่กระพริบ” ข้อ3 ให้เพิ่มความต่อไปนี้เป็น (3 ทวิ) ของข้อ 13 แห่งกฎกระทรวงฉบับที่2 (พ.ศ. 2522) ออกตามความในพระราชบัญญัติจราจรทางบก พ.ศ. 2522

*(3 ทวิ) ในกรณีที่รถมีโคมไฟเพื่อใช้ตัดหมอก จะเปิดไฟหรือใช้แสงสว่างได้เฉพาะในทางที่จะขับรถผ่านมีหมอก ควัน หรือฝุ่นละอองจนเป็นอุปสรรคอันอาจเกิดอันตรายในขณะขับรถ และเมื่อไม่มีรถอยู่ด้านหน้าหรือสวนมาในระยะของแสงไฟ

อย่างไรก็ดีอย่าลืมเพิ่มความคุ้มครองให้กับรถของคุณมากขึ้นด้วยประกันรถยนต์ออนไลน์ รู้ใจ ที่พร้อมอยู่เคียงข้างคุณเสมอ ด้วยบริการช่วยเหลือฉุกเฉิน 24 ชม. กับโปรโมชั่นดีๆ อีกมากมาย