หนึ่งในเหตุการณ์ที่ไม่มีใครอยากให้เกิด แต่สามารถเกิดขึ้นได้ แถมเกิดขึ้นอยู่ทุกวัน คือ ขึ้นทางด่วนไม่มีเงินสดหรือมีเงินสดไม่พอจ่าย ไม่ว่าจะด้วยเหตุผลลืมกระเป๋าสตางค์ ลืมกดเงินสด หรือใด ๆ ที่เชื่อว่าทุกคนที่ใช้รถย่อมไม่อยากเจอ
- ขึ้นทางด่วนไม่มีเงินสดจะมีโทษหรือไม่?
- หากเกิน 7 วันแล้วยังไม่จ่ายค่าทางด่วนจะเกิดอะไรขึ้น?
- หากไม่จ่ายค่าทางด่วนมีโทษยังไง?
- จ่ายค่าทางด่วนด้วยบัตรเครดิต/เดบิตได้มั้ย?
- โอนจ่ายค่าทางด่วนผ่านแอพได้มั้ย?
- ขึ้นทางด่วนฟรีได้มั้ย?
- จ่ายค่าทางด่วนออนไลน์สะดวกผ่าน M-Flow, M-Pass และ Easy Pass
- รู้มั้ย? รถชนบนทางด่วนประกันขึ้นไปเคลียร์ไม่ได้
- Q&A คำถามที่พบบ่อยเมื่อใช้ทางด่วน
หลายคนที่ยังไม่เคยเจอเหตุการณ์นี้ คงสงสัยอยู่ไม่น้อยว่าจะต้องทำยังไง แก้ปัญหาแบบไหน และจะโดนค่าปรับอะไรหรือไม่ ถ้าอย่างนั้นตามรู้ใจไปทำความเข้าใจกันเลย
ขึ้นทางด่วนไม่มีเงินสดจะมีโทษหรือไม่?
สำหรับคนที่ขึ้นทางด่วนแล้วปรากฏว่าไม่มีเงินสด หรือมีเงินไม่พอที่จะจ่ายค่าทางด่วน อย่าเพิ่งตกใจหรือรีบถอยรถลงทางด่วนเด็ดขาด เพราะนอกจากอันตรายแล้ว ยังไม่ใช่วิธีแก้ปัญหาที่ดีอีกด้วย เพราะตามปกติแล้วเมื่อเกิดเหตุการณ์นี้ขึ้น ทางพนักงานประจำด่านจะทำการบันทึกรายละเอียดต่าง ๆ เช่น ทะเบียนรถ ยี่ห้อรถ รวมถึงวันและเวลาที่เข้าใช้บริการเอาไว้
เพื่อให้คุณนำเงินมาชำระที่ด่านทางด่วนเดิม “ภายใน 7 วัน” นับตั้งแต่วันที่ไม่ได้ชำระค่าผ่านทาง โดยจะไม่มีการเก็บค่าปรับ หรือเก็บค่าใช้จ่ายใด ๆ เพิ่มเติมแม้แต่สตางค์เดียว เว้นแต่! คุณจะเบี้ยวค่าผ่านทางเกินจำนวนวันที่กำหนด
หากเกิน 7 วันแล้วยังไม่จ่ายค่าทางด่วนจะเกิดอะไรขึ้น?
กรณีที่ทางพนักงานประจำด่านจดรายละเอียดต่าง ๆ ไปแล้ว และเวลาก็ล่วงเลยเกิน 7 วันตามที่กำหนด โดยที่คุณไม่ว่าง ลืม หรือตั้งใจไม่ไปจ่ายค่าผ่านทาง จะมีจดหมายแจ้งเตือนส่งไปที่บ้านของคุณ เพื่อให้คุณดำเนินการชำระค่าผ่านทางที่ด่านใดก็ได้ ภายในระยะเวลา 30 วัน หรือตามที่จดหมายระบุ ไม่อย่างนั้นจะถูกดำเนินคดีตามกฎหมายต่อไป
หากไม่จ่ายค่าทางด่วนมีโทษยังไง?
หากเกิน 7 วันแล้วยังไม่จ่าย จนเกิน 30 วันก็ยังไม่จ่ายอีก ทีนี้ ‘ทางด่วน’ ไม่ปล่อยเฉยแน่ เพราะมองว่าคุณมีเจตนาที่จะไม่จ่าย ดังนั้นคุณจะต้องโดนโทษปรับตามกฎหมาย โดยแบ่งออกเป็น 3 กรณีหลัก ๆ ดังนี้
- ค้างชำระทางด่วนในความดูแลของทางการพิเศษแห่งประเทศไทย (EXAT) มีโทษปรับตาม พรบ.การทางพิเศษแห่งประเทศไทย พ.ศ. 2550 มาตรา 63 จำนวน 2,000 บาท ฐานหลีกเลี่ยงไม่ชำระค่าผ่านทาง
- ค้างชำระทางหลวงพิเศษระหว่างเมือง (มอเตอร์เวย์) ภายใต้การดูแลของกรมทางหลวง จะมีโทษปรับตาม พรบ.กำหนดค่าธรรมเนียมการใช้ยานยนต์บนทางหลวงและสะพาน 2497 มาตรา 7 สูงสุดไม่เกิน 10 เท่าของค่าผ่านทาง
- ค้างชำระทางด่วนสัมปทาน ดอนเมืองโทลล์เวย์ จะมีโทษปรับตาม พรบ.ทางหลวงสัมปทาน 2542 มาตรา 33 สูงสุดไม่เกิน 10 เท่าของค่าผ่านทาง
จ่ายค่าทางด่วนด้วยบัตรเครดิต/เดบิตได้มั้ย?
หากไม่ได้พกเงินสดแต่มีบัตรเครดิตหรือบัตรเดบิต ปัจจุบันสามารถจ่ายได้เฉพาะ 5 สายทางเท่านั้น ได้แก่
- ทางพิเศษเฉลิมมหานคร (ทางด่วนขั้นที่ 1)
- ทางพิเศษศรีรัช (ทางด่วนขั้นที่ 2)
- ทางพิเศษสายศรีรัช-วงแหวนรอบนอก
- ทางพิเศษอุดรรัถยา (บางปะอิน-ปากเกร็ด)
- ทางพิเศษกาญจนาภิเษก (วงแหวนใต้)
แต่บัตรเครดิตหรือบัตรเดบิตที่ใช้จะต้องเป็นบัตรเครดิต VISA Paywave และ Mastercard Paypass เท่านั้น นอกจากนี้ยังต้องมีสัญลักษณ์ Contactless หรือสัญลักษณ์คลื่น WIFI บริเวณด้านขวาของบัตร
โอนจ่ายค่าทางด่วนผ่านแอพได้มั้ย?
หลังจากเห็นว่าสามารถจ่ายค่าทางด่วนด้วยบัตรเครดิต/เดบิตได้แล้ว หลายคนยังคงสงสัยต่อว่า สามารถโอน/สแกนจ่ายได้หรือไม่ ตอบตรงนี้เลยว่าปัจจุบันยังไม่มีบริการสแกนหรือโอนจ่ายค่าทางด่วนผ่านแอพธนาคารอย่างเป็นทางการเพราะอาจทำให้เกิดความล่าช้าได้ในแถวการเดินรถ แต่ยังไงไม่ต้องกังวล เพราะสามารถจ่ายเงินย้อนหลังได้ตามที่เราแจ้งไปแล้วตั้งแต่ต้น
ขึ้นทางด่วนฟรีได้มั้ย?
โดยทั่วไปแล้วการขึ้นทางด่วนต้องมีค่าใช้จ่ายในการผ่านทาง เพื่อให้นำเงินที่ได้ไปบริหารจัดการพัฒนา ปรับปรุงทางด่วน แต่ในโอกาสพิเศษ ตัวอย่างเช่น วันหยุดยาว อย่างวันสงกรานต์ วันปีใหม่ วันมาฆบูชา วันจักรี ก็อาจมีการยกเว้นค่าธรรมเนียม เปิดให้ขึ้นทางด่วนฟรี แต่อย่าลืมเช็คและวางแผนก่อนออกเดินทาง เพราะบางครั้งอาจไม่ได้ยกเว้นค่าธรรมเนียมทุกเส้นทาง
จ่ายค่าทางด่วนออนไลน์สะดวกผ่าน M-Flow, M-Pass และ Easy Pass
แน่นอนว่าปัญหาไม่มีเงินสดหรือเงินสดไม่พอจ่ายค่าทางด่วนจะหมดไป หากเราจ่ายค่าทางด่วนออนไลน์ได้ โดยการใช้ M-Flow, M-Pass และ Easy Pass โดยข้อแตกต่างคือ
- Easy Pass และ M-Pass สามารถขับเข้าช่อง Easy Pass ได้ทันทีไม่ต้องจ่ายเงินสด แต่ต้องมีเงินสำรองไว้ในบัตร Easy Pass และ M-Pass ก่อน
- M-Flow คือ ระบบการจัดเก็บค่าธรรมเนียมอัตโนมัติ โดยที่ไม่มีไม้กั้น หรือเปิดให้วิ่งผ่านเลยแล้วมาเรียกเก็บค่าธรรมเนียมทีหลัง ซื้อจะสะดวกกว่าเพราะไม่มีไม้มากั้นทำให้ไม่ต้องลดความเร็ว สามารถเลือกวิธีจ่ายค่าทางด่วน M flow เป็นรายครั้งหรือรายเดือนผ่านเครดิต เดบิตหรือผ่านบัญชีธนาคารได้เลย
จะเห็นได้ว่าการมีบริการที่สามารถทำออนไลน์ได้ อย่างเช่น จ่ายค่าทางด่วนออนไลน์ ทำให้เราสะดวกสบายขึ้นเมื่อใช้ทางด่วน และประกันรถยนต์ที่รู้ใจ ก็มีบริการออนไลน์ ตั้งแต่การซื้อ การตรวจสภาพรถ จนไปถึงการเคลม สามารถทำง่าย ๆ ผ่านออนไลน์ได้ทั้งหมด แถมลดสูงสุด 30% เช็คราคาออนไลน์ไม่ต้องใส่ข้อมูลติดต่อ พร้อมสิทธิพิเศษมากมายผ่าน Roojai Moblie App
รู้มั้ย? รถชนบนทางด่วนประกันขึ้นไปเคลียร์ไม่ได้
นอกจากเรื่องของการจ่ายค่าทางด่วนแล้ว เรื่องที่ควรรู้คือเรื่องของการเกิดอุบัติเหตุบนทางด่วนซึ่งเป็นเรื่องที่มีโอกาสเกิดขึ้นได้เช่นกัน การรู้วิธีรับมือจึงเป็นเรื่องที่สำคัญ โดยหากเกิดรถชนบนทางด่วน ประกันรถยนต์ไม่สามารถขึ้นทางด่วนไปเคลียร์ได้ สิ่งที่คุณควรทำคือ
- เมื่อชนหรือรถเสียให้เปิดไฟฉุกเฉิน
- จากนั้นให้พยายามประคองรถเข้าข้างทาง
- ห้ามลงจากรถเด็ดขาด และคาดสายเบลท์ไว้ตลอด
- โทรขอความช่วยเหลือสายตรงทางด่วน 1543 จะมีเจ้าหน้าที่ทางด่วนมาช่วยเหลือ
- นัดสถานที่และเวลาเคลมกับประกันรถยนต์ เจ้าหน้าที่จะช่วยคุณลงจากทางด่วนไปยังที่นัดหมาย
Q&A คำถามที่พบบ่อยเมื่อใช้ทางด่วน
ขับรถบนทางด่วนให้ปลอดภัยได้ยังไง?
ทางด่วนคือหนึ่งในเส้นทางพิเศษ ที่ช่วยเพิ่มความรวดเร็วในการเดินทาง ดังนั้นหลายคันจึงมักใช้ความเร็วค่อนข้างสูง ทำให้เกิดอุบัติเหตุบนทางด่วนได้ง่าย เราจึงรวบรวมทริคขับรถบนทางด่วนให้ปลอดภัย ห่างไกลจากความเสี่ยงมาให้คุณทำความเข้าใจ ดังนี้
- วางแผนและศึกษาสภาพเส้นทางก่อนออกเดินทางทุกครั้ง โดยเฉพาะจุดขึ้นและลงทางด่วน เพื่อป้องกันอุบัติเหตุจากความไม่ชำนาญเส้นทางหรือเลยทางออก
- จดจำหมายเลขโทรศัพท์ฉุกเฉิน สำหรับติดต่อขอความช่วยเหลือเมื่อเกิดเหตุการณ์ไม่คาดฝัน ไม่ว่าจะเป็นเกิดอุบัติเหตุ หรือรถเสียขณะใช้ทางด่วน
- เพิ่มความระมัดระวังในการใช้ทางด่วนให้มากกว่าปกติ โดยเฉพาะทางขึ้นและลงทางด่วน ทางเบี่ยง ทางแยกรูปตัว Y เนื่องจากเป็นหนึ่งในจุดเสี่ยงที่เกิดอุบัติเหตุบ่อยครั้ง
- หมั่นสั่งเกตเครื่องหมายจราจรให้ดี ไม่ว่าจะเป็นป้ายบอกทาง ป้ายเตือน ป้ายจำกัดความเร็ว และควรปฏิบัติตามป้ายเหล่านั้นอย่างเคร่งครัด
- ไม่ขับแซงในช่องทางซ้ายหรือไหล่ทาง เนื่องจากจะเป็นการเพิ่มความเสี่ยงต่อการเกิดอุบัติเหตุได้ง่าย
- ใช้ความเร็วตามป้ายจำกัดความเร็วที่กำหนด เพราะรถอาจเกิดอาการเสียหลัก ทำให้พุ่งตกจากทางด่วนได้
- ไม่ขับรถช้าในช่องทางขวา เพราะเป็นช่องทางสำหรับรถที่ใช้ความเร็วสูง
- ไม่เปลี่ยนเลนหรือแซงกระชั้นชิด รวมถึงควรให้สัญญาณไฟล่วงหน้า ไม่ต่ำกว่า 60 เมตร เพื่อส่งสัญญาณเตือนให้รถคันอื่น ๆ เพิ่มความระมัดระวัง
- หากมีความจำเป็นต้องหยุดรถ ควรจอดในจุดพักรถที่กำหนด แต่ถ้าหากรถเสีย ให้จอดบริเวณริมขอบทางด้านซ้าย พร้อมเปิดสัญญาณไฟฉุกเฉิน รวมถึงนำป้ายสามเหลี่ยม วัสดุสะท้อนแสง หรืออื่น ๆ มาวางให้ห่างจากจุดที่จอดรถ ไม่ต่ำกว่า 50 เมตร
- ห้ามใช้โทรศัพท์มือถือหรืออุปกรณ์สื่อสารอื่น ๆ ขณะขับรถ เพราะอาจทำให้เสียสมาธิ และเพิ่มความเสี่ยงต่อการเกิดอุบัติเหตุ
ทางที่ดีที่สุดไม่ควรจอดหรือหยุดรถขณะขับขี่บนทางด่วน เพราะอย่างที่บอกว่ารถแทบทุกคัน มักใช้ความเร็วที่ค่อนข้างสูง เนื่องจากเส้นทางเป็นลักษณะของเส้นทางตรงตลอดทั้งสาย อาจทำให้เกิดอุบัติเหตุได้ง่าย หากโชคร้ายอาจพลิกคว่ำจนรถตกจากทางด่วน ทำให้เกิดเหตุการณ์น่าสลดใจได้อีกด้วย
ขนของขึ้นทางด่วนได้หรือไม่?
หนึ่งในข้อควรรู้ที่ผู้ใช้รถใช้ถนน หรือคนที่ส่งของบ่อย ๆ ต้องทำความเข้าใจให้ดี เพราะถ้าหากบรรทุกของไม่เป็นไปตามเกณฑ์ที่กำหนดขึ้นทางด่วน อาจทำให้โดนจับได้ หากมีความจำเป็นที่จะต้องบรรทุกของหลังกระบะ ให้ปฏิบัติตามหลักเกณฑ์ดังนี้
- ความยาว ด้านหน้ายื่นได้ไม่เกินหน้ารถ ด้านหลังเลยตัวรถได้ไม่เกิน 2.50 เมตร
- ความกว้าง ต้องไม่เกินความกว้างของรถ
- ความสูง บรรทุกของสูงได้ไม่เกิน 3.80 เมตร
กรณีที่ต้องการขนย้ายสิ่งของหรือสัตว์เลี้ยง จำเป็นต้องมีการป้องกันไม่ให้สิ่งของตกหล่น หรือสัตว์เลี้ยงกระโดดลงรถ เพราะอาจสร้างความเดือดร้อนให้กับเพื่อนร่วมทางคนอื่น ๆ จนถึงขั้นเป็นชนวนเหตุที่ทำให้เกิดอุบัติเหตุได้
และข้อควรระวังคือหากรถที่ใช้บรรทุกสิ่งของเป็นรถกระบะแบบคอก เปลือย ไม่ใช่ตู้ทึบ ควรมีผ้าใบปิดให้มิดชิด เพื่อป้องกันสิ่งของตกหล่นระหว่างทาง โดยให้ทำตามกฎหมายกำหนดไว้อย่างถูกต้อง หากฝ่าฝืนจะมีโทษปรับ 1,000 บาท ตามกฎกระทรวงฉบับที่ 4 (พ.ศ. 2522) ตามพระราชบัญญัติv พ.ศ. 2552 มาตรา 5 และมาตรา 18
คนนั่งท้ายกระบะขึ้นทางด่วนได้มั้ย?
กรณีที่ไม่ได้บรรทุกสิ่งของหรือสัตว์เลี้ยงไว้ท้ายกระบะขณะขึ้นทางด่วน แต่เป็น ‘คน’ แบบนี้จะเป็นไรมั้ย? ต้องบอกก่อนว่าปัจจุบันมีกฎหมายห้ามนั่งท้ายกระบะอยู่แล้ว ตามข้อบังคับพระราชบัญญัติ พรบ.รถยนต์ พ.ศ. 2522 และ พรบ.จราจรทางบก พ.ศ. 2522 โดยมาตรา 21 ระบุไว้ว่า
“ห้ามใช้รถที่ไม่ตรงตามประเภทที่จดทะเบียนไว้ โดยระบุว่าห้ามใช้รถยนต์บรรทุกส่วนบุคคล ที่มีน้ำหนักรถไม่เกิน 1,600 กิโลกรัม เป็นรถยนต์นั่งส่วนบุคคลเกิน 7 ที่นั่ง หรือใช้รถยนต์นั่งส่วนบุคคลเป็นรถยนต์บรรทุกส่วนบุคคล”
พูดง่าย ๆ คือ ต้องใช้รถให้ตรงตามที่จดทะเบียนไว้ เช่น จดเป็นรถบรรทุก (ป้ายเขียว) จะเอามาบรรทุกคนไม่ได้ และถ้าจดเป็นรถยนต์นั่งเกิน 7 คน (ป้ายน้ำเงิน) โดยที่ทำการต่อเติมหลังคาและมีที่นั่งชัดเจน จะนำมาบรรทุกสิ่งของไม่ได้
กรณีนั่งหลังกระบะขึ้นทางด่วน มีข้อจำกัดเกี่ยวกับการนั่งท้ายรถที่ไม่มีหลังคาปกปิด ว่าห้ามใช้รถกระบะบรรทุกผู้โดยสารขึ้นทางด่วนพิเศษเด็ดขาด รวมถึงรถกระบะที่บรรทุกของมาโดยไม่รัดสิ่งของหรือใช้ผ้าคลุมให้ปลอดภัย เพื่อป้องกันอุบัติเหตุที่อาจเกิดขึ้น แถมยังสร้างความลำบาก เดือดร้อนให้กับเพื่อนร่วมทาง เว้นแต่จะมีโครงหลังคาและจดทะเบียนเป็นรถนั่ง ที่มีการดัดแปลงรถยนต์เพื่อจัดที่นั่งที่ปลอดภัยแล้วเท่านั้น
การใช้ทางด่วนพิเศษ ไม่ว่าจะเป็นทางด่วนสัมปทาน ทางหลวงพิเศษระหว่างเมือง หรือทางด่วนที่กำกับดูแลโดยทางพิเศษแห่งประเทศไทย ควรศึกษาเส้นทางและเตรียมเงินให้พร้อม รวมถึงใช้เส้นทางด่วนพิเศษอย่างระมัดระวัง ปฏิบัติตามกฎจราจรอย่างเคร่งครัด เพื่อป้องกันการเกิดอุบัติเหตุ กรณีที่ลืมพกเงินสดจริง ๆ อย่าลืมจ่ายย้อนหลังกันด้วยล่ะ ไม่อย่างนั้นจดหมายเตือนจะถูกส่งตรงถึงหน้าบ้านคุณ
สามารถติดตามข่าวสาร สาระความรู้เกี่ยวกับสุขภาพ รถยนต์ มอเตอร์ไซค์ รวมถึงประกันภัยออนไลน์ต่าง ๆ จากรู้ใจได้ที่ Facebook Page: Roojai หรือคลิกที่นี่เพื่อเพิ่มเราเป็นเพื่อนใน LINE ได้เลย (Official Line ID: @roojai)
คำจำกัดความ
ไหล่ทาง | ช่องทางฉุกเฉิน ใช้พักรถเมื่อเกิดอุบัติเหตุ เช่น รถเสีย รถชน คนขับหน้ามืดก็อาจจอดงีบได้ |
สัญลักษณ์ Contactless | สัญลักษณ์บนบัตรเครดิตหรือเดบิตที่สามารถแตะบนอุปกรณ์ชำระเงินแบบไร้สัมผัสได้เลย หรือพูดจ่าย ๆ คือ สามารถแตะจ่ายผ่านอุปกรณ์ที่มีสัญลักษณ์ได้เลย ไม่ต้องเซ็นชื่อ |