เชื่อแน่ว่าหนึ่งเรื่องที่ทำให้บรรดาคนมีรถทั้งหลายต้องพากันปวดหัวกันอยู่เสมอนั่นคือ การต่อภาษีรถยนต์ ที่เวียนมาบรรจบครบอีกหนึ่งรอบ เพราะไหนจะต้องวิ่งหาเงินมาจัดการ อีกทั้งเอกสารต่าง ๆ นานาที่ต้องเตรียมไป แล้วพอไปถึง อ้าว! ปีนี้ทำไมต้องจ่ายภาษีรถยนต์แพงขึ้น? แถมทำไมยังต้องบังคับซื้อประกันภัยรถยนต์เพิ่มเติมอีก
นานาปัญหาสารพันเกี่ยวกับการต่อภาษีรถยนต์ วันนี้ รู้ใจมีคำตอบมาให้สำหรับทุกคน รับรองว่าหลังจากนี้ จะไม่มีวันงงกับขั้นตอนและวิธีการต่อภาษีรถยนต์ประจำปีของคุณอีกต่อไปอย่างแน่นอน ตามไปดูกันได้เลย
ภาษีรถยนต์ คืออะไร? มาทำความรู้จักไปพร้อม ๆ กันดีกว่า
ภาษีรถยนต์ คืออะไร? ทำไมเป็นเจ้าของรถแท้ ๆ แต่ยังต้องจ่ายภาษีรถยนต์อีก? พ.ร.บ. ที่เรียกกันอยู่คือการจ่ายภาษีรถยนต์หรือไม่? คำถามมากมายที่แม้แต่คนขับรถมาจะสิบปีอาจยังยืนงงอยู่หน้ากรมการขนส่งทางบก เพราะไม่รู้ว่าตัวเองต้องทำเรื่องต่อภาษีรถยนต์แบบไหน เพื่อความกระจ่าง ไปดูคำแนะนำการต่อภาษีรถยนต์พร้อม ๆ กับเราได้เลย
แรกเริ่ม! ต้องทำความเข้าใจให้ถูกต้องกันก่อนว่า ภาษีรถยนต์นั้นคืออะไร? ภาษีรถยนต์นั้น ถ้าจะว่ากันง่าย ๆ นั่นคือเจ้าป้ายวงกลมนั่นเอง ที่ในตอนนี้กลายเป็นป้ายสี่เหลี่ยมไปแล้ว โดยเจ้าป้ายกระดาษเล็ก ๆ นี้มีความสำคัญร่วมกันกับทะเบียนรถยนต์ที่ติดรถเราอยู่ เปรียบเสมือนตัวแทนชื่อรถของเราในการเดินทาง เมื่อใดก็ตามที่เกิดเหตุก็สามารถตรวจสอบได้ผ่านทางป้ายทะเบียนรถนั่นเอง
ในแต่ละปี ผู้ที่เป็นเจ้าของรถยนต์ รวมไปถึงรถทุกประเภทจะต้อง จ่ายภาษีรถยนต์ หรือ ป้ายวงกลมอันใหม่นั่นเอง ถ้าคุณไม่ต่อภาษีรถยนต์ ยังคงใช้รถต่อไปทั้งที่ภาษีขาด อาจถูกปรับทำให้เสียเวลาและเสียเงินเพิ่มจากค่าปรับโดยใช้เหตุ หากขาดการต่อภาษีรถยนต์และถูกจับนั้น ค่าปรับจะอยู่ตั้งแต่ 400-1,000 บาท เลยทีเดียว
ข้อเน้นย้ำสำคัญที่คุณห้ามลืมสำหรับการต่อภาษีรถยนต์
สำหรับการต่อภาษีรถยนต์มีกฎระเบียบอยู่พอสมควร ดังนั้นควรศึกษาและทำความเข้าใจเกี่ยวกับห้วงเวลาสำหรับการต่อภาษีรถยนต์ให้ดี รวมไปถึงเงื่อนไขพิเศษต่าง ๆ ที่มีอยู่เพื่อจะได้ไม่พลาดในการคิดคำนวณค่าใช้จ่าย ซึ่งเงื่อนไขต่าง ๆ สำหรับการต่อภาษีรถยนต์มีดังนี้
- การต่อภาษีรถยนต์ในแต่ละครั้งจะต้องทำการต่อในปีที่ภาษีจะหมดอายุ คุณสามารถต่อภาษีรถยนต์ได้ก่อนวันที่ภาษีจะหมดอายุล่วงหน้า 90 วัน หรือ 3 เดือนนั่นเอง ดังนั้นคุณจึงมีเวลาวางแผนอยู่พอสมควรสำหรับการจัดสรรงบประมาณเพื่อการต่อภาษีรถยนต์นั่นเอง
- ในกรณีที่คุณต่อภาษีรถยนต์ล่าช้าเกินกว่ากำหนด ไม่ว่าจะเป็น 1 วันขึ้นไป ทางกฎหมายระบุว่าเป็นการขาดการต่อภาษีรถยนต์ โดยนับเวลาตั้งแต่ 1–3 ปี จะต้องเสียค่าปรับร้อยละ 1 ต่อเดือน หมายความว่ายิ่งช้า ค่าปรับยิ่งเพิ่ม
- ในกรณีที่ขาดการต่อภาษีรถยนต์มากกว่า 3 ปี ขึ้นไป ถือว่าป้ายทะเบียนนั้น ๆ ถูกยกเลิกไปในทันที หากต้องการต่อภาษีรถยนต์ใหม่จะต้องนำป้ายทะเบียนเดิมไปคืนให้กับกรมการขนส่งทางบก พร้อมชำระค่าปรับจึงสามารถรับป้ายทะเบียนรถใหม่ไปได้
- สำหรับการต่อทะเบียนรถทุกครั้ง สำหรับรถยนต์ที่มีอายุไม่ถึง 5 ปี ไม่จำเป็นต้องตรวจสภาพ แต่ถ้ามีอายุมากกว่า 5 ปีขึ้นไป จะต้องเข้ารับการตรวจสภาพเสียก่อน จึงจะต่อภาษีรถยนต์ได้
- คุณจะต้องต่อ พ.ร.บ. หรือ ประกันภัยภาคบังคับสำหรับการขับขี่รถยนต์ก่อน จึงจะสามารถทำการต่อภาษีรถยนต์ได้
ที่ว่ามา คือเงื่อนไขเพิ่มเติมอื่น ๆ ก่อนการต่อภาษีรถยนต์ที่คุณต้องใส่ใจ เพราะการไม่อ่านเงื่อนไขให้รอบคอบอาจทำให้คุณต้องจ่ายค่าปรับ หรือเสียเวลาในการเข้าสู่ขั้นตอนในการเสียภาษีนั่นเอง ดังนั้น ใช้ข้อมูลเหล่านี้เป็นตัวตรวจสอบว่ารถของคุณเข้าเงื่อนไขต่าง ๆ ตามข้างต้นหรือไม่ ถ้าเข้าข่ายก็ต้องทำตามคำแนะนำและข้อกำหนดต่าง ๆ ในทันที
อัตราภาษีรถยนต์ คิดยังไง?
อีกหนึ่งเรื่องปวดหัวสำหรับการพารถคันเก่งของคุณไปต่อภาษีรถยนต์ นั่นคือ รถของคุณต้องจ่ายภาษีรถยนต์เท่าไหร่? เจ้าของรถควรรู้เป็นข้อมูลพื้นฐานเอาไว้จะได้ไม่พลาดในการเตรียมเงินสำหรับการจ่ายภาษีรถยนต์นั่นเอง
สำหรับอัตราภาษีรถยนต์นั้น จะคิดเหมารวมกันแบ่งตามรูปแบบการใช้งานของรถประเภทต่าง ๆ เช่น รถใช้งานทั่วไป รถสาธารณะ หรือ รถที่ใช้ในเชิงพาณิชย์ จะมีอัตราการจ่ายภาษีรถยนต์ที่แตกต่างกัน รวมไปถึงขนาดของเครื่องยนต์ (ตามปริมาตร ซี.ซี.) จะมีผลต่อการคิดคำนวณอัตราภาษีรถยนต์อยู่ด้วย แต่อัตราภาษีรถยนต์โดยมาตรฐานจะคิดจากอัตราค่ากระบอกสูบ โดยมีการคำนวณดังนี้
- ความจุกระบอกสูบ 600 ซี.ซี. แรก อัตราอยู่ที่ ซี.ซี. ละ 0.50 บาท
- ความจุกระบอกสูบตั้งแต่ 601 – 1,800 ซี.ซี. อัตราอยู่ที่ ซี.ซี. ละ 1.50 บาท
- ความจุกระบอกสูบ เกินกว่า 1,800 ซี.ซี. อัตราอยู่ที่ ซี.ซี. ละ 4.00 บาท
วิธีการคำนวณภาษีรถยนต์ หากรถมีขนาด 3,000 ซี.ซี.
- 600 ซี.ซี. แรก = 600×0.50 = 300 บาท
- 601 – 1,800 ซี.ซี. = (1,800 – 600) = 1,200 x 1.50 = 1,800 บาท
- เกินกว่า 1,800 ซี.ซี. = (3,000 – 1,800) = 1,200 x 4.00 = 4,800 บาท
ดังนั้น อัตราภาษีรถยนต์ทั้งหมดจะเป็น 300 + 1,800 + 4,800 = 6,900 บาท นั่นเอง
ค่าใช้จ่ายในส่วนนี้ยังไม่รวมในกรณีของการตรวจสภาพรถ การต่อ พ.ร.บ. ซึ่งจะมีค่าใช้จ่ายเพิ่มขึ้นอีกเพียงเล็กน้อย และนอกจากนั้น หากรถมีอายุเกินกว่า 5 ปีขึ้นไป จะได้รับส่วนลดหย่อนภาษีเพิ่มเติมอีกด้วย
- ปีที่ 6 ร้อยละ 10
- ปีที่ 7 ร้อยละ 20
- ปีที่ 8 ร้อยละ 30
- ปีที่ 9 ร้อยละ 40
- ปีที่ 10 และปีต่อ ๆ ไป ร้อยละ 50
ตัวอย่างเช่น รถคันเดิมที่เราเคยเสียภาษีรถยนต์ทุกปี ปีละ 6,900 บาท ในปีที่หกจะได้รับการลดหย่อนภาษี 10% ดังนั้นในปีที่ 6 คุณจะจ่ายภาษีรถยนต์ในอัตรา 6,900 – (6,900 x 10%) = 6,210 บาท นั่นเอง
ต่อภาษีรถยนต์ ใช้เอกสารอะไรบ้าง?
หลังจากที่เรารู้ถึงเงื่อนไขต่าง ๆ สำหรับการต่อภาษีรถยนต์ และวิธีการคิดคำนวณอัตราภาษีรถยนต์ที่ต้องจ่ายไปแล้ว อีกหนึ่งเรื่องที่มักเป็นปัญหาคือ เอกสารที่ใช้ในการต่อภาษีรถยนต์ที่หลายครั้งต้องพบกับคำว่า “เอกสารไม่ครบ” ทำให้ต้องเสียเวลาในการย้อนกลับมาเสียภาษีอีกครั้ง ซึ่งเอกสารที่คุณต้องเตรียมเอาไว้ให้พร้อมสำหรับการเสียภาษีรถยนต์ มีดังนี้
- คู่มือจดทะเบียนรถฉบับจริงหรือสำเนา
- หลักฐานการทำประกันภัยตามกฎหมายว่าด้วยการคุ้มครองผู้ประสบภัยจากรถ ที่ภาษาของคนรับต่อภาษีรถยนต์เรียกว่า หาง พ.ร.บ.
- ใบรับรองการตรวจสภาพรถยนต์สำหรับรถยนต์ที่มีอายุ 5 ปีขึ้นไป รวมไปถึงรถที่มีการดัดแปลงสภาพ
ต่อภาษีรถยนต์ ได้ที่ไหน?
สำหรับการต่อภาษีรถยนต์นั้นคุณสามารถทำได้ด้วยตัวของคุณเอง หรือเลือกใช้บริการผ่านทางระบบออนไลน์ หรือ ตัวแทนรับต่อภาษีรถยนต์ ซึ่งมีผู้ให้บริการอยู่เป็นจำนวนมาก รู้ใจรวมรายละเอียดมาไว้ให้ ดังนี้
- สำนักงานขนส่งทั่วประเทศ (ไม่ว่ารถนั้นจะจดทะเบียนที่จังหวัดใดก็ตาม)
- ที่ทำการไปรษณีย์
- ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.)
- ห้างสรรพสินค้าที่เข้าร่วมโครงการ “ช้อปให้พอ แล้วต่อภาษี (Shop Thru for Tax)”
- จุดบริการเลื่อนล้อต่อภาษี (Drive Thru for Tax)
- เคาน์เตอร์เซอร์วิสทั่วประเทศ
- การต่อภาษีรถยนต์ออนไลน์
- ขอใช้บริการผ่านสถานที่รับตรวจสภาพรถและต่อภาษีรถยนต์ที่มีอัตราค่าบริการที่ 200-300 บาทต่อคัน
หลังจากนี้เรื่องภาษีรถยนต์จะไม่ใช่เรื่องยากสำหรับคุณอีกต่อไป ต่อภาษีรถยนต์ครั้งหน้า จะเลือกทำด้วยตัวคุณเอง หรือเลือกใช้บริการผ่านตัวแทนการต่อภาษี เช่นที่รู้ใจ เรามีทั้งข้อมูลการต่อภาษีและการทำประกันภัยรถยนต์ที่ครบถ้วน ให้คุณสามารถทำทุกอย่างได้ครบ จบในที่เดียว สามารถซื้อประกันภัยรถยนต์และต่อ พ.ร.บ. เพื่อนำไปใช้ต่อภาษีได้เลย เพราะที่รู้ใจ ประกันออนไลน์ รู้ใจกว่า ประหยัดกว่า เราช่วยให้ประกันภัยเป็นเรื่องง่าย ไม่ซับซ้อน และเชื่อถือได้สำหรับทุกคน
สามารถติดตามข่าวสารและโปรโมชั่นใหม่ ๆ จากรู้ใจได้ทาง FB fan page: Roojai หรือ คลิก add Official Line ของเราไว้ได้เลย