การขับรถในต่างประเทศ ไม่ว่าจะไปขับรถเที่ยว ทำงาน หรือใช้ชีวิตในประเทศนั้น ๆ คุณจำเป็นต้องมีใบขับขี่สากลหรือใบอนุญาติขับรถระหว่างประเทศ ที่สามารถทำได้ในประเทศไทยกับกรมการขนส่งทางบกได้เลย และสำหรับใครที่กำลังอยากไปโรดทริปที่ต่างประเทศ อย่าลืมวางแผนระยะเวลาในการใช้งานของใบขับขี่รถยนต์ โดยรู้ใจได้รวบรวมรายละเอียดที่น่าสนใจ พร้อมตอบคำถาม ทั้งใบขับขี่สากล ออนไลน์ได้มั้ย ทำที่ไหน และรายละเอียดอื่น ๆ คือ
- ใบขับขี่สากลคืออะไร?
- อายุการใช้งานและประเทศที่สามารถใช้ได้
- ทำใบขับขี่สากลที่ไหน?
- วิธีจองคิวทำใบขับขี่สากล
- ใบขับขี่สากล เอกสารที่ต้องใช้มีอะไรบ้าง?
- ขั้นตอนการทำใบขับขี่สากล
- ทำใบขับขี่สากลมีค่าใช้จ่ายเท่าไหร่?
- ใบขับขี่ไทย ใช้ได้กี่ประเทศ?
ก่อนอื่นเราต้องต้องทำความเข้าใจก่อนว่า “ใบขับขี่สากล ไม่ใช่บัตรสมาร์ทการ์ด” เหมือนที่ใช้ในใบขับขี่ของไทย แต่หน้าตาจะเหมือนหนังสือเดินทางที่ระบุข้อมูลผู้ขับขี่ มีรูปของผู้ถือบัตร คำแปลหลายภาษาและรวมถึงประวัติและสถิติสำคัญในการขับขี่ใช้รถบนถนนในประเทศต่าง ๆ อีกด้วย
ใบขับขี่สากลคืออะไร?
ใบขับขี่สากล หรือชื่ออย่างเป็นทางการคือ “ใบขับขี่ระหว่างประเทศ (International Driving Permit หรือ IDP)” เป็นเอกสารที่ใช้ในการยืนยันตัวตน เพื่อให้คุณสามารถขับขี่รถในต่างประเทศ หรือดินแดนอื่นที่ไม่ใช่ประเทศบ้านเกิด การทำใบขับขี่สากลก็เพื่อการขับรถท่องเที่ยว ทำงาน หรือไปเรียนในต่างประเทศอย่างถูกต้องตามกฎหมายนั่นเอง
อายุการใช้งานและประเทศที่สามารถใช้ได้
อายุของใบขับขี่สากลจะขึ้นอยู่กับประเภทใบขับขี่สากลที่เราทำ โดยจะแบ่งเป็น 2 แบบคือ อายุ 1 ปี และอายุ 3 ปี ซึ่งมีข้อแตกต่างกันที่จำนวนประเทศและภาคีอนุสัญญาที่ประเทศไทยได้เข้าร่วม มีรายละเอียดแตกต่างกันดังนี้
- ใบขับขี่อายุ 1 ปี ใช้ได้ 101 ประเทศทั่วโลก
ใบขับขี่นี้เป็นใบอนุญาตขับระหว่างประเทศตามอนุสัญญาเจนีวา 1949 ซึ่งมีอายุ 1 ปี นำไปใช้ได้ใน 101 ประเทศทั่วโลก เช่น เกาหลีใต้ ญี่ปุ่น ออสเตรเลีย สหรัฐอเมริกา เป็นต้น - ใบขับขี่อายุ 3 ปี ใช้ได้ 84 ประเทศทั่วโลก
เป็นใบอนุญาตขับขี่ระหว่างประเทศตามอนุสัญญาเวียนนา 1968 มีอายุ 3 ปี นับตั้งแต่วันออกใบอนุญาต หรือไม่เกินกว่าอายุของใบอนุญาตขับรถภายในประเทศที่ผู้ถือมีอยู่ นำไปใช้ได้ใน 84 ประเทศทั่วโลก เช่น เยอรมนี ลัตเวีย บราซิล สวิตเซอร์แลนด์ เป็นต้น
ดังนั้นก่อนการทำใบขับขี่สากล อย่าลืมเช็คก่อนว่าเราจะนำไปใช้ที่ประเทศไหนบ้าง และมีอายุการใช้งานเท่าไหร่ หรือสามารถแจ้งรายชื่อประเทศที่ต้องการนำไปใช้กับเจ้าหน้าที่ เพื่อตรวจสอบ และออกใบอนุญาตขับรถระหว่างประเทศให้ได้อย่างถูกต้อง
ใบขับขี่สากลทำที่ไหน?
สำหรับคนที่คิดจะทำใบขับขี่สากล แต่ยังไม่ชัวร์ว่าสามารถทำที่ไหนได้บ้าง รู้ใจลิสต์มาให้เรียบร้อยแล้ว ซึ่งสามารถขอรับบริการได้ตามสถานที่ต่อไปนี้ได้เลย
- ในพื้นที่ กทม. สามารถรับบริการได้ที่สำนักงานขนส่งกรุงเทพมหานคร พื้นที่ 1-5
- นอกพื้นที่ กทม. สามารถรับบริการได้ที่สำนักงานขนส่งทุกแห่งทั่วประเทศ
โดยสำนักงานขนส่งฯ จะเปิดให้บริการตั้งแต่ เวลา 08.00 น. – 15.30 น. ทุกวันจันทร์-ศุกร์ สามารถติดต่อสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ เบอร์โทรศัพท์ 1584
วิธีจองคิวทำใบขับขี่สากล
ปัจจุบันการขอใบขับขี่สากล ออนไลน์ ยังไม่สามารถทำได้ แต่สามารถจองคิวเพื่อทำใบขับขี่สากลได้ที่แอปพลิเคชัน DLT Smart Queue (สามารถดาวน์โหลดและติดตั้งได้ทั้งระบบปฏิบัติการ iOS และ Android) โดยแอปพลิเคชั่นนี้ยังสามารถจองคิวต่อใบขับขี่ จองคิวจ่ายภาษีรถอีกด้วย หรือเว็บไซต์ DLT Smart Queue โดยมีขั้นตอนดังต่อไปนี้
- ลงทะเบียน/เข้าสู่ระบบด้วยเลขบัตรประชาชน
- เลือกสถานที่ที่สะดวกเข้าไปทำใบขับขี่
- เลือกประเภทบริการ โดยคลิกที่ “งานใบอนุญาต”
- เลือกประเภทใบอนุญาตขับรถ คลิก “ใบอนุญาตขับรถส่วนบุคคล”
- เลือกประเภทการบริการส่วนใบอนุญาตขับรถส่วนบุคคล คลิก “ใบอนุญาตขับรถระหว่างประเทศ”
- เลือกประเภทยานพาหนะ สามารถเลือกตามยานพาหนะที่จะใช้ได้เลย
- เลือกประเภทงานที่ต้องใช้ คลิก “ใบอนุญาตส่วนบุคคล: ใบอนุญาตขับรถระหว่างประเทศ”
- เลือกวันและเวลาที่จะเข้าไปใช้บริการ สามารถเลือกวันและเวลาที่คุณสะดวกได้เลย โดยจะต้องเลือกเฉพาะวันและเวลาที่ยังว่างอยู่ (สังเกตจากวันและเวลาที่เป็นสีเขียว)
- ยืนยันการจองคิว หากข้อมูลที่แสดงบนหน้าจอถูกต้องตามที่เลือกไว้ ให้กด “ยืนยันการจอง” ได้เลย หากไม่ถูกต้องสามารถกดย้อนกลับเพื่อแก้ไขได้
ใบขับขี่สากล เอกสารที่ต้องใช้มีอะไรบ้าง?
การทำใบขับขี่สากล เอกสารที่ต้องใช้มีอะไรบ้าง? เราได้รวบรวมข้อมูลของทั้งกรณีคนไทยและชาวต่างชาติ มาให้คุณได้เตรียมความพร้อม ดังนี้
1. คนไทยทำใบขับขี่สากล
- สำเนาหนังสือเดินทางเล่มที่ใช้ในการเดินทาง (ที่ยังไม่หมดอายุ) หน้าประวัติส่วนตัว และหน้าที่มีการแก้ไขรายการ พร้อมฉบับจริง
- สำเนาบัตรประจำตัวประชาชน พร้อมฉบับจริง
- สำเนาใบขับขี่รถส่วนบุคคลแบบ 5 ปี หรือตลอดชีพ พร้อมฉบับจริง
- รูปถ่ายหน้าตรง ขนาด 2 นิ้ว ไม่นานเกิน 6 เดือน (จำนวน 2 รูป)
- สำเนาหลักฐานการแก้ไขชื่อ-นามสกุล ทะเบียนสมรส หรือใบหย่า
2. ชาวต่างชาติทำใบขับขี่สากล
- เอกสารสำเนาหนังสือเดินทางและวีซ่า พร้อมเอกสารฉบับจริง
- ใบสำคัญถิ่นที่อยู่ที่รับรองโดยผ่านสถานทูตหรือ ตม. ที่เป็นเอกสารฉบับจริง หรือใบอนุญาตทำงาน ใบอนุญาตทำงานอิเล็กทรอนิกส์ ที่ยังไม่หมดอายุ โดยแสดงรายละเอียดที่อยู่ไว้ครบ ทั้งนี้ยังรวมถึงหลักฐานที่แสดงว่าเป็นผู้ได้รับการตรวจลงตราพิเศษที่รับรองโดยสถานทูต สำนักงานตรวจคนเข้าเมือง หน่วยงานภาครัฐ หรือองค์กรระหว่างประเทศ ฉบับจริงและสำเนา
- ใบขับขี่ไทย (5 ปี หรือตลอดชีพ) ฉบับจริงและสำเนา ที่ยังไม่หมดอายุ
- รูปถ่ายขนาด 2 นิ้ว จำนวน 2 รูป ไม่เคลือบมัน (รูปถ่ายไม่เกิน 6 เดือน)
ขั้นตอนการทำใบขับขี่สากล
หลังจากจองคิวผ่านแอปพลิเคชั่นหรือหน้าเว็บไซต์ พร้อมเตรียมเอกสารต่าง ๆ ที่จำเป็นต้องใช้ในการดำเนินการเรียบร้อยแล้ว ให้ดำเนินการตามขั้นตอนต่อไปนี้ได้ทันที
- ยื่นคำขอตรวจสอบหลักฐานที่สำนักงานขนส่งใกล้บ้าน แสดงตนเพื่อยื่นคำขอ ตรวจเอกสารและคุณสมบัติเบื้องต้น/จัดทำคำขอ/ผู้ขอลงนามคำขอ
- ตรวจสอบเอกสารผ่าน ชำระเงิน/ออกใบเสร็จ/จัดทำใบอนุญาต/นายทะเบียนลงนาม/จ่ายใบอนุญาตขับรถ
หลังจากดำเนินการทุกขั้นตอนครบถ้วนแล้ว ก็จะได้รับใบขับขี่สากลเลย นอกจากนี้อย่าลืมศึกษากฎจราจรของประเทศที่ต้องการเดินทางไปให้ดี พร้อมกับเคารพกฎหมายของประเทศนั้น ๆ ด้วย เพื่อป้องกันปัญหาอื่นที่อาจตามมากวนใจคุณในอนาคต
ทำใบขับขี่สากลมีค่าใช้จ่ายเท่าไหร่?
สำหรับค่าธรรมเนียมในการดำเนินการทำใบขับขี่ แยกออกเป็น 2 ส่วน ดังนี้
- ค่าคำขอ 5 บาท
- ใบอนุญาตขับรถระหว่างประเทศ 500 บาท
รวมต้องจ่ายค่าธรรมเนียม 505 บาทในการทำใบขับขี่สากลในแต่ละครั้ง
ใบขับขี่ไทย ใช้ได้กี่ประเทศ?
นอกจากการทำใบขับขี่สากลแล้ว ในบางประเทศใบขับขี่ไทยก็สามารถใช้ได้เช่นกัน สำหรับการขับรถหรือเช่ารถเที่ยว 9 ประเทศ ในกลุ่ม Asean Economics Community (AEC) สามารถขับรถเที่ยวแบบไม่ต้องใช้ใบขับขี่สากล เพราะสามารถใช้ใบขับขี่ของประเทศไทยได้ เนื่องจากเป็น “ข้อตกลงระหว่างประเทศอาเซียน” มีดังนี้
- สปป.ลาว
- เวียดนาม
- กัมพูชา
- พม่า
- มาเลเซีย
- อินโดนีเซีย
- บรูไน
- ฟิลิปปินส์
- สิงคโปร์
นอกจากการทำใบขับขี่สากลแล้ว การศึกษากฎจราจร เส้นทาง และพกใบขับขี่ตลอดเวลาก็เป็นสิ่งสำคัญ ยิ่งเราไปขับรถในประเทศอื่นยิ่งต้องระวัง เพราะอาจมีกฎหมายที่แตกต่างกันออกไป รวมถึงเพื่อลดความยุ่งยากในอนาคตที่อาจเกิดขึ้นได้ในอนาคต
สามารถติดตามข่าวสาร สาระความรู้เกี่ยวกับสุขภาพ รถยนต์ มอเตอร์ไซค์ รวมถึงประกันภัยออนไลน์ต่าง ๆ จากรู้ใจได้ที่ Facebook Page: Roojai หรือคลิกที่นี่เพื่อเพิ่มเราเป็นเพื่อนใน LINE ได้เลย (Official Line ID: @roojai)