Roojai

บีบแตรไม่มีกาลเทศะ ระวังโดนจับปรับ ทำผิดกฎหมายไม่รู้ตัว!

มารยาทในการบีบแตรรถ | ประกันรถ | รู้ใจ

เชื่อหรือไม่ว่าบางครั้ง เหตุวิวาทบนท้องถนนเกิดขึ้นจากเรื่องเล็ก ๆ แค่การบีบแตร แม้ว่าการ ใช้แตรบนท้องถนนจะช่วยลดอุบัติเหตุได้เป็นอย่างดี แต่บางครั้งการใช้สัญญาณเสียงดังกล่าวแบบไม่มีกาลเทศะ นอกจากจะเป็นชนวนที่ทำให้เกิดปัญหาตามมา อย่างที่ใครเขาว่าไว้ “คนไทยอ่อนไหวกับเสียงแตรรถ” แล้ว ยังเสี่ยงผิดกฎหมายด้วยหากใช้ไม่ถูกเวลา ตามไปทำความเข้าใจเพิ่มเติมก่อนโดนค่าปรับกฎหมายจราจรกันเลย

สนใจอ่านแค่บางเรื่อง ก็เลือกได้เลย!

บีบแตรไม่มีกาลเทศะ ผิดกฎหมายยังไง?

สำหรับคนที่กำลังสงสัยว่า กับแค่การบีบแตรบนท้องถนนมันผิดกฎหมายจริง ๆ เหรอ ตอบตรงนี้เลยว่าผิดจริง โดยเป็นข้อกฎหมายที่ถูกเขียนกำกับเอาไว้ใน พ.ร.บ.จราจรทางบก พ.ศ. 2522 ที่คนใช้รถใช้ถนนรู้จักกันเป็นอย่างดี และเพื่อให้เห็นภาพมากขึ้น รู้ใจได้ลิสต์รายละเอียดเพิ่มเติมมาให้ ดังนี้

1. ระยะที่ควรได้ยินเสียงบีบแตร

ว่าด้วยกฎหมายจราจร หรือ พ.ร.บ.จราจรทางบก พ.ศ. 2522 มาตรา 12 ระบุว่า “เสียงแตรรถยนต์หรือรถมอเตอร์ไซค์ ต้องได้ยินในระยะที่ ‘ไม่น้อยกว่า’ 60 เมตร หากฝ่าฝืนมีโทษปรับ 2,000 บาท” หมายความว่าหากใช้งานแตรรถยนต์เสีย ไม่ดัง หรือเสื่อมสภาพ จะถือว่าผิดกฎหมายจราจร

2. บีบแตรสามช่า-บีบลากยาว

การบีบแตรเป็นจังหวะสามช่าที่เห็นกันบ่อย ๆ ในโลกออนไลน์ รวมถึงการบีบแตรรถยนต์ลากยาว หรือส่งสัญญาณเสียงเกินกว่าเหตุที่จำเป็น ถือว่าผิดกฎหมายจราจร พ.ร.บ.จราจรทางบก พ.ศ. 2522 มาตรา 14 ที่กำหนดไว้ว่า “การใช้เสียงสัญญาณควรใช้ในเวลาที่มีเหตุจำเป็น หรือป้องกันอุบัติเหตุเท่านั้น ใช้เสียงซ้ำ ๆ มากเกินไปไม่ได้ หากฝ่าฝืนมีโทษปรับ 500 บาท”

ซึ่งคนไทยหลาย ๆ คนมักคุ้นชินกับการบีบแตรทักทายเพื่อน คนรู้จัก อยากเตือน หรือแม้กระทั่งใช้เสียงแตรรถยนต์แทนเสียงด่า ซึ่งถือเป็นการใช้สัญญาณเสียงพร่ำเพรื่อ ที่เสี่ยงต่อการทำผิดกฎหมาย และเสี่ยงต่อการต้องควักเงินจ่ายค่าปรับตามไปด้วย เพราะฉะนั้นอยากใช้สัญญาณเสียงเพื่อเตือนจริง ๆ ก็ควรศึกษาสถานการณ์ในการใช้แตรก่อน

สถานการณ์ที่ควรบีบแตรรถยนต์ | ประกันรถ | รู้ใจ

สถานการณ์แบบไหนที่ควรบีบแตร?

หากกำลังสงสัยว่าควรบีบแตรรถยนต์แบบไหน ถึงจะไม่ผิดกฎหมาย ไม่โดนค่าปรับ บอกไว้ตรงนี้เลยว่า การบีบแตรควรใช้เพื่อเป็นสัญญาณเตือนก่อนเกิดอุบัติเหตุเท่านั้น โดยสถานการณ์ที่ ‘ควร’ บีบแตร มีดังนี้

  • ควรใช้สัญญาณแตรรถยนต์เมื่อขับผ่านบริเวณทางโค้งหักศอก หรือทางโค้งที่มองไม่เห็นรถที่วิ่งสวน บริเวณที่มีมุมอับสายตาเสี่ยงต่อการเกิดอุบัติเหตุ
  • ใช้สัญญาณเสียงด้วยการบีบแตรแบบสั้น ๆ และเบา ๆ เพื่อให้สัญญาณเตือนแบบทั่วไป เช่น ต้องการแซงรถคันหน้าที่กำลังถอยหลังมาใกล้
  • ใช้สัญญาณแตรรถยนต์ค่อนข้างดังและยาว เพื่อเป็นการให้สัญญาณแบบตั้งใจ เช่น เจอรถเปลี่ยนเลนเข้ามาในเลนของเราแบบกะทันหัน โดยไม่เปิดไฟเลี้ยว การบีบแตรลักษณะนี้ จะถือเป็นการเตือนอีกฝ่ายให้รู้ตัวว่าอาจจะเกิดอุบัติเหตุได้
  • ควรหลีกเลี่ยงการบีบแตรครั้งเดียวยาว ๆ เพราะอาจทำให้เพื่อนร่วมทางตกใจ รวมถึงเสียงแตรอาจก่อให้เกิดอุบัติเหตุรถชน ไปจนถึงเหตุทะเลาะวิวาทตามมาได้

ทั้งนี้ ควรเคารพสถานที่ที่มี ‘ป้ายงดใช้เสียง’ เช่น โรงเรียน, โรงพยาบาล, วัด หรือเขตพระราชฐาน เพื่อไม่ให้เสียงแตรรถยนต์ ไปรบกวนในเขตดังกล่าว หากฝ่าฝืนจะมีบทลงโทษปรับตามมาตรา 148 โดยมีโทษปรับไม่เกิน 500 บาทนั่นเอง

สถานที่ที่ไม่ควรบีบแตรรถยนต์ | ประกันรถ | รู้ใจ

การเคารพกฎหมายจราจรด้วยการบีบแตรอย่างมีมารยาท นอกจากจะช่วยลดความขัดแย้งที่อาจเกิดขึ้นบนท้องถนนได้แล้ว ยังช่วยลดอุบัติเหตุที่อาจเกิดจากความไม่ระมัดระวังได้ดีอีกด้วย แต่ถ้าอยากได้ความอุ่นใจที่มากกว่า การมีประกันรถยนต์ที่ให้ความคุ้มครองครอบคลุมก็เป็นหนึ่งใน ‘ตัวเลือก’ ที่ดี แต่ถ้าไม่รู้ว่าจะเลือกแผนไหน บริษัทใด หรืออยากเปรียบเทียบราคาก่อนตัดสินใจ สามารถเข้ามาเช็ครายละเอียดต่าง ๆ กับ ‘รู้ใจ’ ได้ตลอด 24 ชั่วโมง

เปลี่ยนเสียงแตร ผิดกฎหมายจราจรหรือไม่?

บางคนหันมาปรับเปลี่ยนเสียงแตรรถยนต์ให้ดังกังวาน เพื่อเรียกความสนใจ รวมถึงทำการแต่งเสียงแตรใหม่ให้กลายเป็นเสียงไซเรนฉุกเฉิน เสียงวี๊หว่อคล้ายกับรถตำรวจ บอกไว้เลยว่าแบบนี้ผิดกฎหมายตาม พ.ร.บ.จราจรทางบก พ.ศ. 2522 มาตรา 13 ที่กำหนดไว้ว่า “ห้ามใช้เสียงไซเรน เสียงนกหวีด เสียงที่แตกพร่า หรือเสียงหลายเสียงที่ผสมกัน และมีความดังมากเกินไป” หากฝ่าฝืนมีโทษปรับไม่เกิน 1,000 บาท เนื่องจากเสียงต่าง ๆ ที่ยกตัวอย่างไปข้างต้น จะใช้ได้เฉพาะกับรถในราชการ รถพยาบาล รถฉุกเฉิน หรือรถตำรวจเท่านั้น เพื่อป้องกันความสับสนในช่วงเวลาเร่งด่วน หรือพูดง่าย ๆ ว่าต้องใช้เสียงแตรที่มากับรถเท่านั้น

ทำผิดกฎหมายจราจร จ่ายค่าปรับออนไลน์ได้ไหม?

ในกรณีที่ทำผิดกฎหมายจราจร และพบว่า ‘ใบสั่ง’ ได้มาจ่อถึงประตูหน้าบ้านแล้ว แต่ตัวคุณเองกลับไม่สะดวกไปจ่ายค่าปรับ สามารถเช็คผ่านช่องทางออนไลน์ได้ โดยมีวิธีการเช็คและจ่ายค่าปรับออนไลน์ดังนี้

วิธีเช็คใบสั่งจราจรทางออนไลน์

ปัจจุบันการเช็คใบสั่งสามารถทำได้สะดวกสบายมากขึ้น นอกจากนี้ยังรวมถึงกรณีที่ใบสั่งที่ได้รับมากับมือชำรุด หรือเสียหายจนไม่สามารถจ่ายค่าปรับได้ ก็สามารถเช็คผ่าน “เว็บไซต์ e-Ticket ใบสั่งจราจรออนไลน์สำหรับประชาชน” ได้เช่นกัน โดยมีขั้นตอนดังต่อไปนี้

  1. ลงทะเบียนผู้ใช้งานเว็บไซต์ โดยใช้หมายเลขบัตรประชาชน/หมายเลขใบขับขี่ หรือหมายเลขทะเบียนรถ
  2. ดำเนินการเข้าสู่ระบบด้วยหมายเลขบัตรประชาชน และรหัสผ่านที่ตั้งไว้
  3. ค้นหาใบสั่งด้วยการระบุวันที่กระทำผิด จากนั้นเลือกปุ่ม “ค้นหา” (สามารถกรองข้อมูลด้วยเลขทะเบียนรถ หรือหมายเลขใบสั่งได้)
  4. หน้าจอจะปรากฏรายการใบสั่งที่เคยได้รับ โดยสามารถดูรายละเอียดของแต่ละฉบับได้ (กรณีได้รับใบสั่งมากกว่า 1 คัน จะปรากฏรายการทั้งหมดภายใต้ชื่อผู้ครองรถคนเดียวกัน)
  5. จากนั้นสามารถดำเนินการจ่ายค่าปรับออนไลน์ได้เลย
ปรับเปลี่ยนเสียงแตร ให้ดังขึ้นหรือเสียงแปลกๆ ผิดกฎหมายจราจร มีโทษปรับ | ประกันรถ | รู้ใจ

จ่ายค่าปรับออนไลน์มีช่องทางไหนบ้าง?

สำหรับช่องทางในการจ่ายค่าปรับออนไลน์ ในปัจจุบันมีทั้งหมด 4 ช่องทาง โดยมีรายละเอียดดังต่อไปนี้

จ่ายผ่านแอปพลิเคชัน Mobile Banking

  1. สแกน QR Code ท้ายใบสั่งออนไลน์ผ่าน Mobile Banking ที่ผู้ขับใช้บริการอยู่
  2. จะขึ้นชื่อ ‘ผู้รับโอน’ เป็น “สำนักงานตำรวจแห่งชาติ พร้อมค่าปรับจราจร” เท่านั้น
  3. ยอดค่าปรับจะขึ้นตรงตามใบสั่งที่ได้รับ
  4. จากนั้นกด ‘ชำระเงิน’ ได้เลย

จ่ายผ่านแอปพลิเคชัน Krungthai NEXT

  1. เข้าแอปพลิเคชัน Krungthai NEXT ไปที่เมนู “จ่ายบิล”
  2. เลือกรายการ “สำนักงานตำรวจแห่งชาติ – ค่าปรับจราจร” ในหมวดหน่วยงานราชการ
  3. กรอกเลขที่ใบสั่ง 13 หลัก และเลขบัตรประชาชนของผู้กระทำผิด
  4. กดตรวจสอบยอด หากข้อมูลถูกต้องจะปรากฏยอดค่าปรับที่ต้องชำระ จ่ายค่าปรับก็เป็นอันเสร็จสิ้น

จ่ายผ่านแอปพลิเคชัน เป๋าตัง

  1. เข้าแอปพลิเคชันเป๋าตัง จากนั้นเลือก G-Wallet
  2. เลือก “จ่ายบิล”
  3. เลือก “ค่าปรับจราจร”
  4. ระบุ “เลขที่ใบสั่ง และเลขบัตรประชาชน”
  5. ระบุ “จำนวนเงินค่าปรับ”
  6. ตรวจสอบข้อมูล และกด “ยืนยันการจ่ายบิล”

จ่ายผ่านแอปพลิเคชัน KHUB DEE

  1. เข้าแอปพลิเคชัน KHUB DEE ลงทะเบียนและลงชื่อเข้าใช้
  2. กรอกข้อมูลให้เรียบร้อย จากนั้นกด “ตรวจสอบใบสั่ง”
  3. ชำระค่าปรับผ่านทาง QR Code ได้ทันที

จะเห็นได้ว่าการใช้แตรรถยนต์มีความสำคัญมาก ๆ เพราะช่วยลดโอกาสเกิดอุบัติเหตุบนท้องถนนได้เป็นอย่างดี แต่ไม่ว่ายังไงก็ตามควรบีบแตรอย่างมีมารยาท เพราะไม่อย่างนั้นอาจกลายเป็นทำผิดกฎหมาย โดนโทษปรับส่งตรงถึงหน้าบ้านแบบไม่รู้ตัวได้

สามารถติดตามข่าวสาร สาระความรู้เกี่ยวกับสุขภาพ รถยนต์ มอเตอร์ไซค์ รวมถึงประกันภัยออนไลน์ต่าง ๆ จากรู้ใจได้ที่ Facebook Page: Roojai หรือคลิกที่นี่เพื่อเพิ่มเราเป็นเพื่อนใน LINE ได้เลย (Official Line ID: @roojai)

คำจำกัดความ

โค้งหักศอก ทางโค้งที่ค่อนข้างแคบไปจนถึงเกือบเป็นมุมเหลี่ยม
เขตพระราชฐาน อาณาบริเวณที่ประทับของพระมหากษัตริย์