“ใบขับขี่สากล” ถือเป็นเอกสารที่ผู้ครอบครองสามารถขับรถได้หลายประเทศ แต่สำหรับชาวต่างชาติที่ต้องการขับรถในประเทศไทย ไม่ว่าจะมาท่องเที่ยวหรือพำนักเพียงชั่วคราว “ไม่จำเป็น” ต้องใช้ใบขับขี่สากลแต่อย่างใด อย่างไรก็ตาม เป็นสิทธิ์สำหรับชาวต่างชาติในกลุ่มประเทศ AEC เท่านั้น เพียงแค่แสดงใบอนุญาตขับขี่จากประเทศต้นทางก็จะสามารถขับรถในประเทศไทยได้แล้ว
แต่ในกรณีชาวต่างชาติที่อยู่ในประเทศไทยเป็นเวลานาน ไม่ว่าจะด้วยเหตุผลใด ๆ ก็ตาม เช่น มีถิ่นที่อยู่ ทำงานในไทย จำเป็นจะต้องมีใบขับขี่ที่ถูกต้อง จะมีรายละเอียดหรือเงื่อนไขอื่น ๆ เพิ่มเติมอย่างไร ? รู้ใจได้รวบรวมมาให้คุณได้ทำความเข้าใจเพิ่มเติมแล้ว ไปติดตามพร้อม ๆ กันเลย
ในปัจจุบันมี ชาวต่างชาติขับรถในไทย มากน้อยแค่ไหน ?
สำหรับชาวต่างชาติที่ “มีสิทธิ์” เข้ามาขอรับใบขับขี่ในประเทศไทยในปัจจุบัน จะแบ่งออกเป็น 2 กลุ่มหลัก ๆ ดังนี้
- กลุ่มที่อาศัยอยู่ในประเทศไทยเป็นเวลานาน เช่น มีครอบครัวในไทย ประกอบอาชีพในไทย
- กลุ่มที่มีใบอนุญาตมาจากประเทศของตัวเอง แล้วนำมาขอเทียบเป็นใบอนุญาตขับรถในไทย (หากเป็นใบอนุญาตขับรถอินเตอร์เนชั่นแนลลายเส้น สามารถขับรถในไทยได้ทันที)
เงื่อนไขหรือคุณสมบัติของชาวต่างชาติที่ต้องการขับรถในไทย
ก่อนที่จะไปทำความเข้าใจในส่วนของเอกสาร หรือขั้นตอนต่าง ๆ เรามาดูคุณสมบัติแรกกันก่อนดีกว่าว่า คุณเป็นชาวต่างชาติที่มีคุณสมบัติครบถ้วน ตรงตามที่กรมขนส่งกำหนดหรือไม่ เพื่อไม่ให้เป็นการเสียเวลา โดยคุณสมบัติหรือเงื่อนไขแรก มีดังนี้
- มีอายุไม่ต่ำกว่า 18 ปีบริบูรณ์
- ไม่เป็นผู้มีร่างกายบกพร่อง เช่น ตาบอดสี ตาบอด หรือหูหนวก
- ต้องเป็นชาวต่างชาติที่เข้ามาอยู่อาศัยหรือทำงานเท่านั้น หากเข้ามาท่องเที่ยวหรือแค่ผ่านราชอาณาจักร จะไม่สามารถยื่นขอได้
ชาวต่างชาติต้องการ “ขับรถในไทย” ต้องทำอย่างไรบ้าง ?
สำหรับบุคคลต่างด้าวหรือชาวต่างชาติในประเทศไทย ที่ต้องการทำใบขับขี่ต่างชาติเพื่อใช้ในประเทศไทย ทางกรมการขนส่งทางบกแจ้งว่า “จำเป็นต้องมีใบอนุญาตขับขี่” ในส่วนนี้ได้ทำการปรับปรุงระเบียบเกี่ยวกับการออกใบอนุญาตขับรถให้กับบุคคลต่างด้าวเพิ่มอีก 10 กลุ่ม จากเดิม 4 กลุ่ม รวมเป็นทั้งหมด 14 กลุ่ม ที่สามารถขอรับใบอนุญาตขับขี่ได้ โดยทั้ง 14 กลุ่มข้างต้น จะต้องไปขอที่ “สำนักงานขนส่งจังหวัด” โดยจะต้องเป็นชาวต่างชาติที่เข้าเมืองอย่าง “ถูกต้องตามกฎหมาย” เท่านั้น
เอกสารที่ต้องใช้และขั้นตอนขอใบอนุญาตขับขี่
ในส่วนของเอกสารที่ชาวต่างชาติต้องใช้ในการขอใบอนุญาตขับขี่ จะเหมือนกับเอกสารที่คนไทยใช้ทำทุกประการ แต่จะมีส่วนที่เพิ่มเข้ามา ดังนี้
- พาสปอร์ตสำหรับชาวต่างชาติที่เข้ามาอยู่อาศัยหรือทำงาน (Work Permit) เท่านั้น ไม่ใช่เข้ามาท่องเที่ยวหรือสำหรับผ่านราชอาณาจักร
- พาสปอร์ตต้องไม่หมดอายุ และออกก่อนวันยื่นคำขอไม่เกิน 1 ปี
- มีใบรับรองแพทย์ว่าไม่มีโรคประจำตัว ที่อาจจะเป็นอันตรายต่อการขับรถ
- หนังสือเดินทางและภาพถ่ายหน้าตรง 2 รูป แบบไม่สวมหมวกและแว่นตา
สำหรับผู้ที่สามารถใช้ใบขับขี่ของประเทศอื่นที่เคยออกให้ มา “ยื่นสอบประกอบเพิ่มเติม” เพื่อรับสิทธิ์ยกเว้นการทดสอบบางประการ มีดังนี้
- ใบอนุญาตเป็นผู้ขับรถตามกฎหมายว่าด้วยการขนส่งทางบก ที่ยังไม่หมดอายุ พร้อมด้วยภาพถ่าย
- ใบอนุญาตขับรถตามความตกลงระหว่างประเทศที่ประเทศไทยเป็นภาคี ยังไม่หมดอายุ พร้อมด้วยภาพถ่าย
- ใบอนุญาตขับรถประเภทเดียวกันกับที่ขอรับใบอนุญาต โดยรัฐบาลประเทศอื่นออกให้และยังไม่หมดอายุ พร้อมด้วยภาพถ่าย
หากพูดถึง “ขั้นตอนการสอบ” ก็จะเหมือนกับคนไทยทุกอย่าง ยกเว้นการเข้าฟังอบรม เพราะเจ้าหน้าที่จะให้หนังสือมาอ่านแทน โดยข้อสอบก็จะมีหลายภาษา เช่น จีน เยอรมัน อังกฤษ ฝรั่งเศส เป็นต้น และจะต้องเข้ารับการสอบข้อเขียน 1 วัน เมื่อผ่านก็ต้องไปสอบปฏิบัติอีก 1 วัน หากสอบผ่านก็จะได้รับใบขับขี่ชั่วคราวเป็นเวลา 1 ปี
ชาวต่างชาติซื้อรถในไทย ได้หรือไม่ ?
สำหรับชาวต่างชาติที่มาลงหลักปักฐานอยู่ในประเทศไทย และมีความประสงค์ที่จะ “ถือครองกรรมสิทธิ์รถยนต์” สามารถทำได้ เพียงเตรียมเอกสารดังต่อไปนี้
กรณีเป็นชาวต่างชาติ
- วีซ่า ประเภทคนอยู่ชั่วคราว (Non-Immigrant Visa)
- หนังสือเดินทาง
- ใบอนุญาตทำงาน (Work Permit) / หนังสือรับรองถิ่นที่อยู่ / หนังสือสำคัญถิ่นที่อยู่
กรณีเป็นคนต่างด้าว หรือแรงงานต่างด้าวหลบหนีเข้าเมือง (พม่า ลาว และกัมพูชา)
- หลักฐานแสดงตนที่ทางราชการออกให้ เช่น บัตรประจำตัวคนที่ไม่มีสัญชาติไทย ใบอนุญาตทำงาน ใบสำคัญประจำตัวคนต่างด้าว เป็นต้น
- หลักฐานแสดงถิ่นที่อยู่ที่ทางราชการออกให้ เช่น ใบสำคัญถิ่นที่อยู่ (ท.ร. 14) ทะเบียนบ้าน (ท.ร. 13) ทะเบียนประวัติ และทะเบียนประวัติแรงงานต่างด้าวหลบหนีเข้าเมือง สัญชาติพม่า ลาว กัมพูชา (ท.ร.38/1)
เอกสารและหลักฐานที่ใช้ในการ “จดทะเบียนรถ”
- หนังสือแจ้งจำหน่ายรถ
- หนังสือรับรองหลักฐานการส่งบัญชีรับและจำหน่ายรถ
- หลักฐานการได้มาของรถ เช่น ใบกำกับภาษี ใบเสร็จรับเงิน สัญญาเช่าซื้อ เป็นต้น
- หลักฐานการทำประกันภัยตาม พ.ร.บ.คุ้มครองผู้ประสบภัยจากรถ พ.ศ.2535
กรณีเจ้าของรถเป็นชาวต่างชาติ
- ภาพถ่ายหนังสือเดินทางที่ได้รับการตรวจสอบลงตราวีซ่าถูกต้องตามกฎหมาย
- หนังสือรับรองถิ่นที่อยู่ หรือหนังสือรับรองทำงานจากสถานทูต กรมการกงสุล กองตรวจคนเข้าเมือง กรมการจัดหางาน หน่วยราชการอื่น ๆ หรือองค์การระหว่างประเทศ
- หนังสือมอบอำนาจ (กรณีที่เจ้าของรถไม่สะดวกไปดำเนินการ) ติดอากรแสตมป์ 10 บาท พร้อมสำเนาบัตรประจำตัวประชาชนผู้รับมอบอำนาจ
ชาวต่างชาติสามารถทำ “ประกันภัยรถยนต์” ได้หรือไม่ ?
เมื่อมีรถแล้วแน่นอนว่าต้องมีความอุ่นใจตามมาด้วย โดยเฉพาะในเรื่องของ “ความคุ้มครองจากบริษัทประกันภัย” สำหรับคำถามที่ว่าชาวต่างชาติสามารถทำประกันรถยนต์ได้หรือไม่ ? คำตอบคือ… สามารถทำได้เหมือนกับคนไทยทั่วไปทุกประการ เพียงแต่จะแตกต่างกันในส่วนของการยื่นหลักฐานและเอกสารเท่านั้น โดยมีรายละเอียดดังนี้
- สำเนาใบขับขี่รถยนต์ประเภทส่วนบุคคล
- สำเนาใบรับรองการทำงานจากบริษัทที่ทำงาน
- สำเนา Work Permit ใบอนุญาตทำงาน
- สำเนาหนังสือเดินทางต่างประเทศ
- สำเนาคู่มือรถยนต์ (เล่มสีฟ้า) หน้าปัจจุบัน
- สำหรับกรมธรรม์เดิม (ถ้ามี)
- อื่น ๆ ขึ้นอยู่กับบริษัท หรือโบรกเกอร์ประกันภัยร้องขอเพิ่ม
เพียงแค่ทำการยื่นเอกสารให้ครบถ้วน ถูกต้อง และชัดเจน ชาวต่างชาติก็สามารถทำประกันภัยรถยนต์ได้ตามต้องการแล้ว อย่าได้คิดกังวลว่าจะทำไม่ได้ เพียงเพราะเป็นชาวต่างชาติ หรืออย่าคิดที่จะไม่ทำประกันรถยนต์เด็ดขาด เพราะอุบัติเหตุเกิดขึ้นได้ตลอดเวลา การซื้อประกันรถยนต์ก็ถือเป็นอีกหนึ่งตัวเลือก ที่ช่วยเพิ่มความอุ่นใจได้ตลอดการเดินทาง
หลาย ๆ บริษัทประกันภัยได้เพิ่มความสะดวกให้แก่ชาวต่างชาติมากขึ้น เช่น รู้ใจ ประกันออนไลน์ ได้เปิดให้บริการทำประกันรถยนต์สำหรับชาวจีนที่อาศัยอยู่ในประเทศไทยโดยเฉพาะ มีพนักงานให้บริการสายภาษาจีน อำนวยความสะดวกให้ครบทุกขั้นตอน หรือจะซื้อง่าย ๆ ผ่านเว็บไซต์ภาษาจีนของรู้ใจก็ได้เช่นกัน
ชาวต่างชาติที่ต้องการ “เช่ารถขับในไทย” ต้องทำอย่างไรบ้าง ?
หากมี “ใบขับขี่สากล” อยู่แล้ว ก็ไม่ใช่ปัญหาอะไร เพราะสำหรับชาวต่างชาติที่ต้องการเช่ารถในช่วงที่มาท่องเที่ยวเพียงชั่วคราว สามารถแสดงใบอนุญาตขับขี่จากประเทศต้นทางได้ทันที แต่จะมีเอกสารที่ต้องยื่นเพื่อทำการเช่ารถ ดังนี้
- บัตรประชาชน
- ใบขับขี่รถยนต์
- ตั๋วเครื่องบินขาไปและขากลับ (ขึ้นอยู่กับผู้ให้บริการเช่ารถแต่ละราย)
สำหรับชาวต่างชาติที่ต้องการเช่ารถในระยะเวลาใดระยะเวลาหนึ่ง จำเป็นจะต้องมีความชำนาญในการขับรถที่ดีเยี่ยม โดยเฉพาะในประเทศที่มีการขับรถพวงมาลัยซ้าย เนื่องจากในประเทศไทยจะเป็นการขับรถแบบพวงมาลัยขวา สาเหตุที่ต้องมีความสามารถในการขับรถพอสมควร ก็เพื่อลดความเสี่ยงที่อาจจะเกิดขึ้นได้ในระดับหนึ่งนั่นเอง
กรณีที่ชาวต่างชาติทำผิดกฎหมายจราจร
หลายคนมักมองว่าชาวต่างชาติจะไม่มีความผิด ไม่ต้องรับโทษ เพราะตำรวจไม่อยากดำเนินการอะไรให้ยุ่งยาก วุ่นวาย แต่ในความเป็นจริงแล้ว กฎหมายจราจร “ทุกประเทศ” หากมีการฝ่าฝืนกระทำความผิดในประเทศใด ก็สมควรได้รับบทลงโทษตามกฎหมายที่ระบุไว้ของประเทศนั้นอย่างเท่าเทียม เพราะฉะนั้นหากชาวต่างชาติที่ขับรถในไทยกระทำความผิด ก็จะต้องได้รับโทษทางกฎหมายของไทยอย่าง “ไม่มีข้อยกเว้น” ใด ๆ นอกจากนี้ยังรวมถึงกฎหมายด้านอื่น ๆ ด้วยเช่นกัน
และทั้งหมดนี้คือรายละเอียดของชาวต่างชาติที่ต้องการขับรถ เช่ารถ ทำประกันรถยนต์ในประเทศไทย ที่เรารวบรวมมาให้คุณได้ทำความเข้าใจในวันนี้ โดยเฉพาะในเรื่องของประกันรถยนต์ ที่ไม่ว่าคุณจะเป็นชาวต่างชาติหรือคนไทยก็ไม่ควรละเลยในส่วนนี้เด็ดขาด เพราะประกันรถยนต์จะช่วยเพิ่มความคุ้มครอง และช่วยให้คุณไม่ต้องปวดหัวกับปัญหาต่าง ๆ ที่อาจจะตามมาในภายหลัง เพราะบริษัทประกันภัยจะรับจบให้หมดภายในเวลาอันรวดเร็ว และรู้ใจ ประกันออนไลน์ ก็ถือเป็นหนึ่งในผู้ให้บริการที่พร้อมมอบกรมธรรม์ที่ดีที่สุดให้คุณ
สามารถติดตามข่าวสาร สาระความรู้เกี่ยวกับสุขภาพ รถยนต์ มอเตอร์ไซค์ รวมถึงประกันภัยออนไลน์ต่าง ๆ จากรู้ใจได้ที่ Facebook Page: Roojai หรือคลิกที่นี่เพื่อเพิ่มเราเป็นเพื่อนใน LINE ได้เลย (Official Line ID: @roojai)