Roojai

เติมความสะดวกด้วยบัตร Easy Pass และ M-Pass Thailand

เติมความสะดวกด้วยบัตร Easy Pass และ M-Pass

ชีวิตอันรีบเร่งกับการจราจรที่ติดขัดเหมือนจะเป็นของคู่กันกับคนไทยมาช้านาน การเดินทางไปยังจุดหมายที่สะดวกรวดเร็วจึงเป็นสิ่งที่หลายคนต้องการ และการใช้ทางด่วนพิเศษเพื่อหนีรถติด นับเป็นอีกทางเลือกที่ดีที่สุดสำหรับผู้ใช้รถอย่างเราๆ

แต่บางครั้งทางด่วนอาจไม่ด่วนอย่าใจคิดโดยเฉพาะในชั่วโมงเร่งด่วน ที่นอกจากรถจะเยอะแล้ว ยังต้องมาเสียเวลาต่อแถวรอจ่ายค่าผ่านทางยาวเหยียดหน้าด่านเก็บเงิน การเลือกใช้บริการ Easy Pass และ M-Pass จะช่วยอำนวยความสะดวก และเพิ่มทางเลือกใหม่ สำหรับผู้ใช้บริการทางด่วนและทางหลวงพิเศษระหว่างเมืองหรือมอเตอร์เวย์

ซึ่งล่าสุดทั้งสองหน่วยงานคือการทางพิเศษแห่งประเทศไทย (กทพ.) และกรมทางหลวง (ทล.) ได้จับมือที่จะให้ผู้ใช้บัตรทั้ง 2 ระบบได้รับความสะดวกยิ่งขึ้น สามารถใช้บัตรเดียวชำระค่าผ่านทาง ทั้งทางด่วนและมอเตอร์เวย์ ด้วยการทำข้อตกลงความร่วมมือศึกษาระบบบริหารบัตร M-Pass และบัตร Easy Pass ภายใต้ระบบเก็บค่าผ่านทางพิเศษอัตโนมัติ (Electronic Toll Collection System: ETC) ที่นำมาใช้ในการแก้ปัญหารถติดบริเวณหน้าด่าน โดยผู้ใช้บริการสามารถขับรถผ่านช่องทางพิเศษที่มีป้ายแสดงคำว่า Easy Pass และ M-Pass ได้ทันที

วิธีสมัครใช้บริการ

บัตร Easy Pass สามารถสมัครใช้บริการผ่านช่องทางต่างๆ ดังนี้

– อาคารด่านเก็บค่าผ่านทางทุกแห่งทุกวัน เวลา 05.00 – 22.00 น.ยกเว้นทางพิเศษอุดรรัถยา และทางพิเศษศรีรัช- วงแหวนรอบนอกกรุงเทพมหานคร

– ศูนย์บริการที่เดียวเบ็ดเสร็จ (One Stop Service) ของการทางพิเศษแห่งประเทศไทยซึ่งตั้งอยู่ที่สำนักงานใหญ่ ถ.พหลโยธิน แขวงเสนานิคม เขตจตุจักร กทม. วันจันทร์ – ศุกร์ เวลา 08.30-15.30 น. (เว้นวันหยุดนักขัตฤกษ์)

– ศูนย์บริการลูกค้าบัตรอัตโนมัติ (Easy Pass Fast Service) ณ สถานีบริการน้ำมัน ปตท. บางนา (ขาออก) วันจันทร์-เสาร์ เวลา 09.30-15.30 น. (เว้นวันหยุดนักขัตฤกษ์)

– ศูนย์บริการ (Customer Service) บริษัท ทางด่วนและรถไฟฟ้ากรุงเทพ จำกัด (มหาชน) ถ. อโศก-ดินแดง แขวงบางกะปิ เขตห้วยขวาง กทม. วันจันทร์ – ศุกร์ เวลา 09.00-17.00 น. (เว้นวันหยุดนักขัตฤกษ์)

บัตร M-PASS สามารถสมัครใช้บริการผ่านช่องทางต่างๆ ดังนี้

– สาขาของธนาคารกรุงไทยกว่า 54 แห่ง ตามสายทางมอเตอร์เวย์

– KTB Mobile Unit ที่ด่านทับช้าง 2 บนมอเตอร์เวย์สาย 9 ฝั่งขาออกไปบางปะอิน

– KTB Mobile Unit ที่ Service Area บนมอเตอร์เวย์สาย 7 ฝั่งขาออกไปชลบุรี

– สมัครผ่านทางบริการ KTB netbank (Websiteหรือ Application) ของธนาคารกรุงไทย โดยจะจัดส่งทางไปรษณีย์กลับไปยังผู้ขอใช้บริการภายใน 2 สัปดาห์

เอกสารที่ใช้สมัคร

บุคคลธรรมดา

  1. สำเนาบัตรประจำตัวประชาชน/รับรองสำเนาถูกต้อง
  2. หมายเลขโทรศัพท์ที่ติดต่อได้

นิติบุคคล

  1. สำเนาบัตรประจำตัวประชาชนกรรมการอย่างน้อย 1 ท่าน/รับรองสำเนาถูกต้อง
  2. สำเนาหนังสือรับรองการจดทะเบียนบริษัท (ไม่เกิน 6 เดือน)
  3. สำเนาหนังสือ ภพ.20
  4. หมายเลขโทรศัพท์ที่ติดต่อได้

ผู้ที่จะใช้บริการจะต้องเปิดบัญชีและเติมเงินเพื่อเป็นเงินสำรองค่าผ่านทางล่วงหน้าครั้งแรกขั้นต่ำ 1,000 บาทขึ้นไป โดยไม่เก็บค่าประกันความเสียหายของบัตร ซึ่งได้ยกเลิกไปตั้งแต่ปี 2555 แล้ว

easy pass m-pass

วิธีการใช้งาน

สำหรับวิธีการใช้งานนั้นทั้ง Easy Pass และ M-Pass เมื่อผู้ใช้บริการได้ลงทะเบียนใช้งานเป็นที่เรียบร้อยก็จะได้รับ Tag หรือตัวเครื่องสำหรับใช้ติดที่กระจกหน้ารถ และบัตร Smart Card ไว้สำหรับเติมเงินเข้าบัญชี จากนั้นก็นำเจ้าตัวเครื่องมาติดที่กระจกหน้ารถโดยดูตำแหน่งได้จากคู่มือที่ให้มา ส่วนบัตรก็เก็บไว้สำหรับเติมเงินครั้งต่อไป จากนั้นก็สามารถใช้งานช่องทางอัตโนมัติได้แล้ว ซึ่งจะมีโลโก้ Easy Pass และ M-Pass ในช่องทางที่มีลายสีฟ้าบนพื้นถนนเป็นจุดสังเกตุ

ซึ่งเมื่อขับรถผ่านระบบจะทำการสื่อสารระหว่างบัตรกับเสาอากาศในช่องเก็บค่าผ่านทางอัตโนมัติเพื่ออ่านค่าพร้อมตัดยอดเงินในบัญชีของผู้ใช้บริการตามอัตราค่าผ่านทาง ณ ด่านฯ นั้น ๆ พร้อมแสดงยอดเงินคงเหลือในบัญชีบนจอดิจิตอลตรงช่วงทางออกให้เราได้รู้และเตรียมเติมเงินเผื่อไว้สำหรับการเดินทางครั้งต่อๆ ไป

สามารถใช้งานที่ไหนได้บ้าง

ตั้งแต่วันที่ 1 พฤศจิกายน 2559 ผู้ใช้บริการทั้งบัตร Easy Pass และ M-Pass สามารถใช้งานได้ทั้งทางพิเศษและมอเตอร์เวย์โดยด้วยการใช้บัตรเพียงใบเดียวได้ครอบคลุมทุกสาย

ทางพิเศษของการทางพิเศษแห่งประเทศไทยทุกสายทาง

– ทางพิเศษเฉลิมมหานคร

– ทางพิเศษฉลองรัช

– ทางพิเศษเฉลิมมหานคร

– ทางพิเศษศรีรัช

– ทางพิเศษบูรพาวิถี

– ทางพิเศษกาญจนาภิเษก (บางพลี-สุขสวัสดิ์)

– ทางพิเศษศรีรัช-วงแหวนรอบนอกกรุงเทพมหานคร

ทางหลวงพิเศษของกรมทางหลวง

– ทางหลวงพิเศษระหว่างเมืองหมายเลข 7 (ช่วงกรุงเทพฯ-ชลบุรี)

– ทางหลวงพิเศษระหว่างเมืองหมายเลข 9 (ช่วงบางปะอิน – บางพลี)

โดยรูปแบบในการเก็บค่าผ่านทางพิเศษซึ่งแบ่งออกเป็น 2 ระบบ คือ ระบบเปิดและระบบปิด โดยระบบเปิด คือ การเก็บเงินอัตราเดียวที่ด่านทางเข้า และระบบปิด คือ การเก็บเงินตามระยะทางที่ด่านขาออก โดยการเก็บเงินนี้จะไม่ใช้พนักงานเก็บค่าผ่านทางพิเศษ

วิธีการเติมเงิน

สำหรับการเติมเงินสำรองเข้าบัตรนั้นมีหลากหลายช่องทางให้เลือกเติมได้ตามสะดวก ทั้งที่ศูนย์บริการ, ธนาคาร หรืออินเตอร์เน็ต เป็นต้น

บัตร Easy Pass สามารถเติมเงินได้ที่

– ตู้เก็บค่าผ่านทางพิเศษด้วยเงินสด (Manual Lane) ของทางพิเศษเฉลิมมหานคร ทางพิเศษฉลองรัช และทางพิเศษศรีรัช

– อาคารด่านเก็บค่าผ่านทางพิเศษของทางพิเศษเฉลิมมหานคร ทางพิเศษฉลองรัช ทางพิเศษศรีรัช ทางพิเศษบูรพาวิถี และทางพิเศษกาญจนาภิเษก (บางพลี-สุขสวัสดิ์)

– ศูนย์บริการที่เดียวเบ็ดเสร็จ (One Stop Service Center) อาคาร กทพ. สำนักงานใหญ่ ถนนพหลโยธิน

– ศูนย์บริการลูกค้าของบริษัททางด่วนและรถไฟฟ้ากรุงเทพ จำกัด (มหาชน) ถนนอโศก-ดินแดง

– ศูนย์บริการลูกค้าบัตรอัติโนมัติ (Easy Pass Fast Service) ณ จุดพักรถ สถานีบริการน้ำมัน ปตท. บางนา (ขาออก)

– ธนาคารกรุงไทย จำกัด (มหาชน) ผ่านตู้ ATM, KTB online และ KTBonline@Mobile

– ธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน) ผ่านตู้ ATM, SCB Easy Net และ SCB Mobile Banking

– ธนาคารกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) ผ่านตู้ ATM, Bualuang iBanking และ Bualuang mBanking

– ธนาคารกสิกรไทย จำกัด (มหาชน) ผ่าน K-ATM, K-Mobile Banking

– ธนาคารทหารไทย จำกัด (มหาชน) ผ่านตู้ ATM, Internet Banking

– ธนาคารกรุงศรีอยุธยา จำกัด (มหาชน) ผ่านตู้ ATM, Internet, IVR และ Mobile App

– ธนาคารยูโอบี จำกัด (มหาชน) ผ่าน UOB Personal Internet Banking และ UOB Mobile

– จุดบริการเคาน์เตอร์เซอร์วิส

– บ.อีซี่ ท็อปอัพ จำกัด (ผ่านบัตร VISA)

– ล่าสุดยังสามารถเติมเงินได้ที่ เทสโก้ โลตัส ทุกสาขา

บัตร M-Pass สามารถเติมเงินได้ที่

– สาขาธนาคารกรุงไทยทั่วประเทศกว่า 1,200 แห่ง

– ตู้ ATM ธนาคารกรุงไทย มากกว่า 10,000 ตู้

– KTB Netbank และ KTB Corporate Online

– บริการ KTB Auto Top-up

– KTB Mobile Unit ที่ด่านทับช้าง2 และ service area ขาออกไปชลบุรี

– และช่องทางใหม่ ผ่านตู้บุญเติมหรือบุญเติมเคาน์เตอร์เซอร์วิส เปิดให้บริการแล้ววันนี้ทั่วประเทศ (ยกเว้น ตู้หน้า 7-Eleven, Tesco Lotus และ BTS)

ในการเติมเงินสำรองค่าผ่านทางพิเศษผู้ใช้บริการต้องเติมเงินสำรองค่าผ่านทางพิเศษในอัตราขั้นต่ำ ครั้งละ 500 บาท โดยมีอัตราเพิ่มในแต่ละระดับที่ 500 บาท โดยจำกัดวงเงินสูงสุดต่อครั้งที่ 5,000 บาท และจำกัดวงเงินสำรองค่าผ่านทางพิเศษรวมแล้ว ไม่เกิน 9,999 บาท ต่อบัตร สำหรับ Easy Pass และ 10,000 บาท สำหรับบัตร M-Pass

นอกจากนี้ในส่วนของบัตร M-Pass จะแยกเงินเติมล่วงหน้าเป็น 2 กระเป๋า คือกระเป๋า M-PASS (กระเป๋าค่าผ่านทาง) เพื่อใช้ชำระค่าผ่านทางมอเตอร์เวย์ และ กระเป๋า e-Money (กระเป๋าเงินชำระค่าสินค้าและบริการ) ซึ่งสามารถใช้บัตรทำธุรกรรมทางการเงินผ่านตู้ ATM หรือ ซื้อสินค้าและบริการตามร้านค้าที่รับบัตร VISA ทั่วไปได้อีกด้วย

สำหรับท่านที่ต้องใช้ทางด่วนและมอเตอร์เตอร์เวย์บ่อยๆ รับรองว่าทั้ง 2 บัตรนี้จะช่วยลดเวลาในการเดินทางและทำให้คุณเดินทางถึงจุดหมายได้รวดเร็วยิ่งขึ้นอย่างแน่นอน

ข้อมูลจาก : thaieasypass และ thaim-pass