คนส่วนใหญ่มักถือเอาความสะดวกส่วนตัวเป็นที่ตั้งในหลาย ๆ บริบท ไม่ผิดถ้าเป็นเพราะเคยชิน แต่กับเรื่องการขับขี่อาจต้อง “ฝืน” สักหน่อย เพราะการถอดรองเท้าขับรถอาจเป็นการมองข้ามเรื่องความปลอดภัย และรู้หรือไม่ว่าจริง ๆ แล้วอาจเป็นเรื่องผิดกฎหมายด้วย ผิดยังไง ไม่ปลอดภัยยังไง บทความนี้จับประเด็นที่น่าสนใจ พร้อมบอกต่อวิธีเลือกรองเท้าขับรถมาให้แล้ว
สนใจอ่านแค่บางเรื่อง ก็เลือกได้เลย!
- ใส่รองเท้า vs ถอดรองเท้าขับรถ แบบไหนปลอดภัยกว่า?
- ถอดรองเท้าขับรถผิดกฎหมายมั้ย?
- ถอดรองเท้าขับรถ อันตรายยังไงบ้าง?
- เลือกรองเท้าขับรถแบบไหนสบาย และปลอดภัยที่สุด?
- รองเท้าแบบไหนที่ควรเลี่ยงขณะขับรถยนต์?
ใส่รองเท้า vs ถอดรองเท้าขับรถ แบบไหนปลอดภัยกว่า?
หนึ่งในปัญหาโลกแตกที่เป็นประเด็นถกเถียงกันอยู่เรื่อยมา ระหว่างใส่รองเท้า vs ถอดรองเท้าขับรถ แบบไหนปลอดภัยกว่า อ้างอิงผลสำรวจจาก Confused พบว่า 40% ของผู้หญิงขับรถโดยสวมรองเท้าส้นสูง, 39% สวมรองเท้าแตะ และ 24% นิยมขับรถด้วยเท้าเปล่า นอกจากนี้ 16% ยอมรับว่าขับรถโดยสวมรองเท้าแตะในบ้าน ในขณะที่มีเพียง 34% เท่านั้นที่กล่าวว่าพวกเขาขับรถด้วยรองเท้าที่เหมาะสมเท่ากับว่าตัวเลขของผู้หญิงที่สวมรองเท้าขับรถมีเกินครึ่ง ซึ่งถือเป็นตัวเลขที่น่าสนใจ เนื่องจากผู้เชี่ยวชาญการขับรถแนะนำว่าการใส่รองเท้าขับรถ ถือเป็นเรื่องที่ถูกต้อง และปลอดภัยมากกว่าการใช้เท้าเปล่าในการขับรถ
ถอดรองเท้าขับรถผิดกฎหมายมั้ย?
อีกหนึ่งประเด็นที่หลายคนสงสัยมากที่สุด คือ ถอดรองเท้าขณะขับรถมันผิดกฎหมายจริงเหรอ? คำตอบคือ “ผิดจริง” แต่บังคับใช้กับผู้ขับขี่รถรับจ้าง รถสาธารณะเท่านั้น ซึ่งเป็นไปตาม พ.ร.บ.ขนส่งทางบก มาตรา 102(1) และกฎกระทรวง พ.ศ.2555 ระบุไว้ว่า…
“ผู้ขับขี่รถรับจ้าง รถสาธารณะ รวมไปถึงรถแท็กซี่ รถจักรยานยนต์สาธารณะ หรือรถนำเที่ยว ฯลฯ ขณะขับรถรับจ้างและรถสาธารณะ ผู้ขับขี่ต้องแต่งกายให้สุภาพเรียบร้อยรัดกุม และสวมใส่รองเท้าหุ้มส้น หรือหุ้มข้อ” หากฝ่าฝืนจะถูกระวางโทษปรับไม่เกิน 5,000 บาท ตามมาตรา 127
สำหรับประชาชนธรรมดาที่ไม่ได้ขับรถรับจ้างหรือรถสาธารณะ การถอดรองเท้าขับรถไม่ถือว่าผิดกฎหมาย แต่อาจทำให้ได้รับบาดเจ็บหรือเป็นสาเหตุการเกิดอุบัติเหตุตามมาได้ ดังนั้นเพื่อความปลอดภัยและลดความเสี่ยงที่อาจเกิดขึ้น แนะนำให้เลือกรองเท้าขับรถที่เหมาะสม เพื่อขจัดปัญหาที่อาจเกิดขึ้นให้สิ้นซาก
ถอดรองเท้าขับรถ อันตรายยังไงบ้าง?
หากยังนึกภาพไม่ออกว่าการถอดรองเท้าขับรถจะทำให้เกิดอันตราย หรือเกิดอุบัติเหตุรถชนได้ยังไงบ้าง รู้ใจได้ลิสต์อันตรายที่อาจเกิดขึ้นมาให้เรียบร้อยแล้ว ตามไปดูกันเลย
1. เท้าลื่น
หากคุณเป็นคนที่เหงื่อออกเยอะ การขับรถนาน ๆ เดินทางไกล หรือแม้กระทั่งอยู่ในสถานการณ์ที่มีความกดดันสูง อาจทำให้ร่างกายเกิดความเครียดจนหลั่งเหงื่อออกมามากกว่าปกติได้ ถ้าไม่ได้ใส่รองเท้าป้องกันไว้ เท้าอาจลื่นและทำให้เหยียบคันเร่งหรือเบรคพลาดได้
2. รองเท้ากลิ้งไปขัดใต้เบรค
ไม่ใส่รองเท้าขับรถ ไม่อันตรายเท่าการไม่ใส่แล้วยังถอดรองเท้าทิ้งไว้ไม่ไกลจากคันเร่งและเบรค เพราะรองเท้าอาจกลิ้งไปขัดกับใต้แป้นเบรค ทำให้เหยียบเบรคไม่ถนัด หรือส่วนใดส่วนหนึ่งของรองเท้าพาดขึ้นไปอยู่บนแป้นคันเร่ง เมื่อถึงเวลาเหยียบเบรคหรือเหยียบคันเร่งก็จะถูกกดไปพร้อมกันด้วย ทำให้ไม่สามารถหยุดรถได้ทัน เสี่ยงต่อการเกิดอุบัติเหตุรถชนตามมา
3. การบาดเจ็บของเท้า
ไม่ว่าจะเหยียบเบรคหรือคันเร่ง หากใช้กล้ามเนื้อส่วนเดิมซ้ำ ๆ เป็นเวลานาน อาจเกิดอาการเกร็งเท้าจนเป็นตะคริวได้ โดยเฉพาะคนที่ขับรถเกียร์ออโต้ ซึ่งส่วนใหญ่จะใช้เท้าขวาในการขับขี่ นอกจากนี้ยังอาจทำให้เกิดพังผืดหรือส้นเท้าอักเสบได้
ทั้งหมดนี้คืออันตรายที่นอกจากจะก่อให้เกิดอุบัติเหตุบนท้องถนนแล้ว ยังอาจทำให้เท้าและข้อเท้าบาดเจ็บได้อีกด้วย จึงเป็นผลที่ผู้ขับขี่ทุกคนควรใส่รองเท้าขับรถอยู่เสมอ และนอกจากเลือกรองเท้าขับรถอย่างเหมาะสม เพื่อลดโอกาสประสบอุบัติเหตุแล้ว การซื้อประกันรถยนต์ที่ตอบโจทย์เพื่อลดความเสี่ยงทางการเงินในวันที่เกิดเหตุไม่คาดฝัน ก็จะเป็นส่วนช่วยแบ่งเบาภาระค่าใช้จ่ายของคุณอีกด้วย
เลือกรองเท้าขับรถแบบไหนสบาย และปลอดภัยที่สุด?
ถ้าคุณกำลังสงสัยว่าจริง ๆ แล้วควรใส่รองเท้าแบบไหนขับรถเพื่อความปลอดภัยและลดเกิดอุบัติเหตุบนท้องถนน มาดูรองเท้าที่เหมาะสม ดังนี้
1. รองเท้าลำลอง
เมื่อพูดถึงรองเท้าลำลองหลายคนอาจนึกภาพยังรองเท้าใส่สบาย ๆ หรือบางคนอาจตีความว่ามันคือรองเท้าแตะ แต่จริง ๆ แล้วเราหมายถึงรองเท้าหนังหรือหนังสังเคราะห์ ซึ่งมีความยืดหยุ่นค่อนข้างสูง ที่สำคัญยังช่วยป้องกันเท้าจากอาการบาดเจ็บจากการขับขี่ได้ดีอีกด้วย
2. รองเท้าผ้าใบ
หรือรองเท้ากีฬา ถือเป็นหนึ่งในตัวเลือกแรก ๆ ที่น่าสนใจ เพราะมันสามารถรองรับสรีระของเท้าได้เป็นอย่างดี แต่ต้องระวังเรื่องเชือกรองเท้าเอาไว้หน่อย ผูกให้รัดกุม เพียงเท่านี้ก็ช่วยลดแรงกระแทกระหว่างข้อเท้าและคันเร่งได้แล้ว
3. รองเท้าคัทชู
ในวันที่ต้องออกไปทำงานหรือไปทำธุระสำคัญ แต่ไม่อยากเปลี่ยนรองเท้าหลายคู่ รองเท้าคัทชูเป็นอีกหนึ่งตัวเลือกสำหรับรองเท้าใส่ขับรถยนต์ที่น่าสนใจมากทีเดียว เพราะนอกจากจะดูสุภาพ เรียบร้อยแล้ว ยังให้ความปลอดภัยได้ดีอีกด้วย ทั้งนี้พื้นรองเท้าจะต้องไม่เป็นเหล็กหรือทรงบู้ท หากเป็นคัทชูของสาว ๆ ก็จะต้องไม่สูงจนเกินไป
4. รองเท้าปรับสรีระ
หลายคนอาจคิดไม่ถึงว่า “ความสูง” ของเท้าส่งผลต่อทัศนวิสัยในการมองเห็นระนาบตรง ดังนั้นคนที่มีภาวะเท้า 2 ข้างไม่เท่ากันมาตั้งแต่กำเนิด การเลือกสวมรองเท้าปรับสรีระตามคำแนะนำของแพทย์ จะช่วยให้ขับขี่บนท้องถนนได้ถนัด และปลอดภัยมากกว่า
รองเท้าแบบไหนที่ควรเลี่ยงขณะขับรถยนต์?
หากต้องการเลี่ยงสาเหตุการเกิดอุบัติเหตุบนท้องถนน นอกจากจะต้องไม่ถอดรองเท้าขับรถและเลือกรองเท้าใส่ขับรถยนต์อย่างเหมาะสมแล้ว ยังต้องรู้ด้วยว่ารองเท้าขับรถแบบไหนที่ควรเลี่ยง ซึ่งหลัก ๆ แล้วมีทั้งหมด 4 แบบ ดังนี้
- รองเท้าเปียก เนื่องจากจะทำให้เสียการควบคุม
- รองเท้าส้นสูง เพราะจะทำให้การเหยียบเบรกหรือคันเร่งได้ไม่เต็มแรง
- รองเท้าพื้นหนาหรือส้นตึก เพราะจะทำให้ไม่สะดวกต่อการขยับเท้า
- รองเท้าที่ดอกยางหมด เพราะจะทำให้ลื่นจนเสียการควบคุม
นอกจากนี้ยังควรระวังเรื่องการถอดรองเท้าใกล้กับคันเร่งหรือเบรค รวมถึงสิ่งของต่าง ๆ ที่อาจกลิ้งมาขัดเบรค ขัดคันเร่ง ซึ่งเป็นสาเหตุของการเกิดอุบัติเหตุด้วยเช่นกัน
สำหรับคนที่ไม่อยากใส่รองเท้าคู่สวย คู่โปรดขับรถ เพราะกลัวว่ารอยพับกวนใจ การเตรียมรองเท้าใส่ขับรถยนต์โดยเฉพาะเอาไว้ก็เป็นหนึ่งในตัวเลือกที่ดี แต่เพื่อความปลอดภัยลดสาเหตุการเกิดอุบัติเหตุ ควรเก็บไว้ด้านหลังหรือกระโปรงท้ายรถ เพื่อป้องกันรองเท้าขัดใต้คันเร่งหรือเบรค
สามารถติดตามข่าวสาร สาระความรู้เกี่ยวกับสุขภาพ รถยนต์ มอเตอร์ไซค์ รวมถึงประกันภัยออนไลน์ต่าง ๆ จากรู้ใจได้ที่ Facebook Page: Roojai หรือคลิกที่นี่เพื่อเพิ่มเราเป็นเพื่อนใน LINE ได้เลย (Official Line ID: @roojai)
คำจำกัดความ
รถสาธารณะ | ยานพาหนะที่ให้บริการขนส่งผู้โดยสารที่สามารถใช้ได้โดยสาธารณชนทั่วไป มีเส้นทางที่แน่นอน และมีจุดขึ้น-ลงรถที่กำหนดไว้ตามตารางเวลา เช่น รถประจำทาง รถสองแถว |
รองเท้าปรับสรีระ | รองเท้าที่ออกแบบมาเพื่อรองรับและปรับสรีระของเท้าให้เหมาะสมกับการเดินหรือยืนเป็นเวลานาน รวมถึงคนที่มีรูปเท้าผิดปกติ ช่วยลดอาการปวดเมื่อยและป้องกันปัญหาสุขภาพเท้า เช่น ปวดส้นเท้า ปวดฝ่าเท้า หรือปวดข้อเท้า |