เชื่อว่าหลายคนคงเกิดคำถามมากมาย เกี่ยวกับการตรวจสภาพรถยนต์กับ ตรอ. ไม่ว่าจะเป็นทำไมต้องตรวจสภาพรถยนต์ก่อนต่อภาษีรถ รวมถึง ตรวจสภาพรถ ตรอ. ทําอะไรบ้าง เพื่อให้คุณเข้าใจรายละเอียดต่าง ๆ มากขึ้น
- ตรอ.คืออะไร?
- รถอายุกี่ปีถึงควรตรวจสภาพรถยนต์
- ตรวจสภาพรถ ตรอ. ตรวจอะไรบ้าง?
- ตรวจสภาพรถยนต์ต้องใช้เอกสารอะไรบ้าง?
- ค่าตรวจสภาพรถที่ตรอ. ราคาเท่าไหร่?
- รถแบบไหนที่ไม่สามารถตรวจสภาพกับตรอ.?
- ตรวจสภาพรถยนต์ไม่ผ่าน ต้องทำยังไงต่อ?
- วิธีค้นหาตรอ. ใกล้ฉัน
- ไม่ต่อภาษีรถยนต์ได้มั้ย?
รู้ใจได้รวบรวมข้อมูลที่น่าสนใจ และเป็นประโยชน์ต่อตัวคุณและรถยนต์คู่ใจมาให้เรียบร้อยแล้ว จะมีรายละเอียดเป็นอย่างไร รวมถึงเป็นประโยชน์จริงหรือไม่ ไปดูพร้อม ๆ กับเรา รู้ใจได้เลย
ตรอ.คืออะไร?
ก่อนอื่นต้องทำอธิบายก่อนว่า ตรอ. ย่อมาจากคำว่า “สถานตรวจสภาพรถเอกชน” เปิดให้ผู้ใช้รถยนต์หรือรถมอเตอร์ไซค์เข้ามาตรวจสภาพก่อนที่จะนำไปต่อภาษีรถ กรณีที่ไม่สะดวกเดินทางไปตรวจสภาพรถที่กรมขนส่งทางบก เช่น คนที่บ้านไกล ไม่สะดวกขับรถระยะทางไกล สามารถนำรถไปตรวจสภาพที่ ตรอ. ได้เลย เพราะที่นี่ได้รับอนุญาตจากกรมขนส่งทางบกแล้ว
นอกจากนี้ ตรอ.ยังมีหน้าที่ในการตรวจรับรอง ว่ายานพาหนะที่ใช้นั้น มีความปลอดภัย รวมถึงมีสภาพพร้อมใช้งาน เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดอุบัติเหตุบนท้องถนนได้ ตามพระราชบัญญัติของกรมการขนส่งทางบก พ.ศ.2522 และตามพระราชบัญญัติรถยนต์ พ.ศ.2522 ที่ระบุเอาไว้ว่า “รถที่จะนำมาใช้ในการขนส่งหรือนำจดทะเบียน ต้องมีสภาพมั่นคง แข็งแรง และเครื่องอุปกรณ์ส่วนควบของรถถูกต้องตามที่กำหนดไว้ในกฎกระทรวงฯ” การตรวจสภาพรถยนต์จึงมีความจำเป็นมาก ๆ
อายุรถกี่ปีถึงควรตรวจสภาพรถยนต์
สำหรับ “อายุรถ” ที่จำเป็นต้องเริ่มตรวจสุขภาพแบ่งออกเป็น 2 ประเภท คือ รถยนต์ที่มีอายุการใช้งานครบ 7 ปี และรถจักรยานยนต์ที่มีอายุการใช้งานครบ 5 ปี สิ่งที่ควรทำคือการนำรถไปตรวจสภาพกับตรอ. ให้เรียบร้อยก่อนต่อภาษีรถประจำปี รายละเอียดเกี่ยวกับประเภทรถมีดังต่อไปนี้
- รถยนต์นั่งส่วนบุคคลไม่เกิน 7 คน ที่มีอายุการใช้งานครบ 7 ปีขึ้นไป
- รถยนต์นั่งส่วนบุคคลเกิน 7 คน ที่มีอายุการใช้งานครบ 7 ปีขึ้นไป
- รถยนต์บรรทุกส่วนบุคคลที่มีอายุการใช้งานครบ 7 ปีขึ้นไป
- รถจักรยานยนต์ที่มีอายุการใช้งานครบ 5 ปีขึ้นไป
สำหรับวิธีการนับอายุของรถก่อนนำมาตรวจสภาพ ตามหลักการแล้วจะนับตั้งแต่วันที่จดทะเบียนครั้งแรก จนถึงวันที่สิ้นสุดอายุภาษีประจำปี เช่น หากรถยนต์มีการจดทะเบียนปี พ.ศ.2564 จะต้องเริ่มตรวจสภาพรถ ตรอ. ในปี พ.ศ. 2571 เป็นต้น เพราะการต่อภาษีรถยนต์ เกิน 7 ปี อายุของรถแบบนี้ต้องตรวจสภาพก่อน โดยสามารถนำรถไปตรวจสภาพล่วงหน้าได้ไม่เกิน 3 เดือน ก่อนวันหมดอายุภาษีประจำปี
ตรวจสภาพรถ ตรอ. ตรวจอะไรบ้าง?
กรณีที่คุณจะต้องนำรถยนต์ไปตรวจสภาพก่อนตรวจภาษีประจำปีเป็นครั้งแรก อาจสงสัยว่า ตรอ. จะตรวจอะไรบ้าง? เราลิสต์มาให้คุณแล้ว
- ตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูลรถ เช่น หมายเลขตัวรถ ลักษณะรถ เลขเครื่องยนต์ แผ่นป้ายทะเบียน เป็นต้น
- ตรวจสอบระบบภายใน เช่น ระบบรองรับน้ำหนัก ระบบเชื้อเพลิง ระบบบังคับเลี้ยว
- ตรวจสอบสภาพตัวรถ เช่น อุปกรณ์เกี่ยวกับความปลอดภัย พวงมาลัย ที่ปัดน้ำฝน สี ตัวถัง
- ตรวจสอบวัดโคมไฟน้า ทิศทางการเบี่ยงเบนของแสง และวัดค่าความเข้มของแสง
- ทดสอบประสิทธิภาพการเบรค ด้วยการตรวจสอบอุปกรณ์ทุกชิ้นว่าอยู่ในภาพที่พร้อมใช้งานหรือไม่
- รถยนต์เครื่องดีเซลต้องตรวจควันดำ โดยระบบการกรองต้องไม่เกินร้อยละ 50 และระบบความทึบแสงต้องไม่เกินร้อยละ 45
- ตรวจสอบวัดก๊าซคาร์บอนมอนอกไซด์ และก๊าซไฮโดรคาร์บอนของรถยนต์ส่วนบุคคลไม่เกิน 7 ที่นั่ง
- ตรวจวัดเสียงรถ (ต้องดังไม่เกิน 100 เดซิเบล)
ตรวจสภาพรถยนต์ต้องใช้เอกสารอะไรบ้าง?
การนำรถยนต์ไปตรวจสภาพที่ ตรอ. ทุกครั้ง จำเป็นจะต้องเตรียมเอกสารให้ครบถ้วน เพื่อความรวดเร็วในการใช้บริการ โดยสิ่งที่จำเป็นต้องเตรียมให้พร้อมมีดังนี้
- รถยนต์คันที่จะตรวจสภาพ
- เอกสารเล่มทะเบียนรถ (ทะเบียนรถยนต์เล่มสีน้ำเงิน, ทะเบียนรถมอเตอร์ไซค์เล่มสีเขียว) หรือใช้สำเนาทะเบียนรถแทนได้
ค่าตรวจสภาพรถที่ตรอ. ราคาเท่าไหร่?
ในส่วนของค่าตรวจสภาพรถยนต์ ราคาจะแบ่งออกตามประเภทรถ ดังนี้
- รถจักรยานยนต์ คันละ 60 บาท
- รถยนต์ที่มีน้ำหนักรถเปล่าไม่เกิน 1,600 กิโลกรัม คันละ 150 บาท
- รถยนต์ที่มีน้ำหนักรถเปล่าเกิน 1,600 กิโลกรัม คันละ 250 บาท
รถแบบไหนที่ไม่สามารถตรวจสภาพกับตรอ.?
แม้ว่า ตรอ. จะได้รับอนุญาตจากกรมขนส่งทางบก ให้สามารถตรวจสภาพรถก่อนต่อภาษีรถได้ก็ตาม แต่ในบางกรณี เช่น ลักษณะรถบางประเภท ที่จะต้องไปตรวจสภาพรถยนต์ที่กรมการขนส่งทางบกเท่านั้น ลักษณะรถที่ว่ามีรายละเอียดดังนี้
- รถที่ทำการเปลี่ยนสีตัวถัง เปลี่ยนแปลงตัวรถ หรือส่วนใดส่วนหนึ่ง จนไม่เหลือรายละเอียดที่ระบุเอาไว้ในคู่มือทะเบียนรถ เช่น การเปลี่ยนชนิดน้ำมันเชื้อเพลิง การเปลี่ยนเครื่องยนต์ เป็นต้น
- รถที่เจ้าของแจ้งไม่ใช้ชั่วคราว หรือแจ้งไม่ใช้รถเอาไว้กับกรมการขนส่ง
- รถที่ทำการดัดแปลงสภาพไม่เหมือนตอนที่จดทะเบียนไว้
- รถเก่าที่มีเลขทะเบียนรุ่นเก่า เช่น กท-0001, กทจ-0001 เนื่องจากจะต้องทำการเปลี่ยนเป็นรุ่นใหม่
- รถที่ไม่แสดงเลขตัวรถหรือเลขเครื่องยนต์ ไม่ว่าจะเป็นการขูด ขีด แก้ไข หรือชำรุด จนไม่สามารถตรวจสอบความถูกต้องได้
- ยานพาหนะที่เคยสูญหาย หรือโดนโจรกรรมแล้วได้คืน
- รถที่ขาดการต่อทะเบียนเกิน 1 ปี
หากไม่ต้องการเสียเวลาแนะนำให้ตรวจสอบสภาพรถของตัวเองให้ดี ว่าอยู่ภายใต้เงื่อนไขรถยนต์ที่ไม่สามารถตรวจสภาพที่ ตรอ. และอย่าลืมเตรียมเอกสารที่จำเป็นต้องใช้ไปให้พร้อม
ตรวจสภาพรถยนต์ไม่ผ่าน ต้องทำยังไงต่อ?
กรณีที่การตรวจสภาพรถยนต์ผ่านไปได้ด้วยดี ตรอ. จะดำเนินการออกใบรับรองตามกำหนดกรมการขนส่งทางบก เพื่อให้คุณทำเรื่องต่อภาษีรถยนต์ประจำปีเป็นขั้นตอนต่อไป ซึ่งใบรับรองดังกล่าวมีอายุการใช้งานเพียงแค่ 3 เดือนเท่านั้น แนะนำว่าเมื่อตรวจสภาพรถเสร็จแล้ว ควรทำเรื่องต่อภาษีรถให้เร็วที่สุด เพื่อให้การใช้งานรถบนถนนไม่ต้องเจอปัญหาว่าเป็นรถยังไม่ต่อภาษี
แต่ถ้าหากเป็นกรณีที่ตรวจสภาพรถยนต์ไม่ผ่าน ตรอ.จะดำเนินการแจ้งข้อบกพร่องให้คุณทราบแทน เพื่อที่จะได้นำรถไปแก้ไขแล้วกลับมาตรวจสภาพใหม่อีกครั้ง โดยจะมีระยะเวลาในการแก้ไข 15 วันเท่านั้น ในส่วนของค่าบริการในการตรวจสภาพรถยนต์หลังจากแก้ไขแล้ว จะคิดเพียง 50% จากประเภทรถยนต์ของคุณเท่านั้น
วิธีค้นหาตรอ. ใกล้ฉัน
หากคุณไม่รู้ว่าศูนย์ตรวจสภาพรถใกล้บ้านอยู่ตรงไหน สามารถค้นหาได้อย่างง่ายดาย ด้วยการพิมพ์คำว่า ตรวจสภาพรถยนต์ หรือ ตรอ ใกล้ฉัน หรือ ตรวจสภาพรถ ตรอ ใกล้บ้าน บนเว็บไซต์ เพียงเท่านี้ก็จะปรากฏพิกัดของศูนย์ตรวจสภาพรถในละแวกบ้านมาให้คุณทันที นอกจากนี้ยังมีรายละเอียดอื่น ๆ พ่วงมาด้วย เช่น เวลาเปิดปิด เบอร์โทรศัพท์ รวมถึงแผนที่นำทางที่ช่วยให้คุณเดินทางไปตรวจสภาพรถได้สะดวกสบายมากขึ้น
ไม่ต่อภาษีรถได้มั้ย?
ไม่ว่าคุณจะลืม ละเลย หรือตั้งใจปล่อยให้ภาษีรถยนต์ขาด แน่นอนว่าจะมีผลเสียตามมา คือเรื่อง “ค่าปรับ” ที่คุณจะต้องจ่ายให้กับกรมการขนส่งทางบก ในอัตราเดือนละ 1% จากค่าภาษีรถยนต์ประจำปี กรณีที่เจ้าหน้าที่ตรวจภาษีรถยนต์แล้วพบว่ารถยนต์ขาดภาษี จะมีโทษปรับไม่เกิน 2,000 บาท เว้นแต่กรณีที่ภาษีขาดมากกว่า 3 ปีขึ้นไป รถยนต์ของคุณจะถูกระงับป้ายทะเบียนทันที เพราะฉะนั้นอย่าได้คิดละเลยหรือตั้งใจปล่อยให้ภาษีรถยนต์ขาดเด็ดขาด
สามารถติดตามข่าวสาร สาระความรู้เกี่ยวกับสุขภาพ รถยนต์ มอเตอร์ไซค์ รวมถึงประกันภัยออนไลน์ต่าง ๆ จากรู้ใจได้ที่ Facebook Page: Roojai หรือคลิกที่นี่เพื่อเพิ่มเราเป็นเพื่อนใน LINE ได้เลย (Official Line ID: @roojai)