Roojai

ต้องขับรถเร็วเท่าไหร่ ถึงจะไม่โดนตำรวจจับ

ขับรถเร็วแค่ไหน ถึงรอด ไม่โดนใบสั่งความเร็ว

บรรดาผู้ขับขี่เท้าหนักทั้งหลายคงเคยโดนความไฮเทคของตำรวจทางหลวงกันมาบ้างแล้ว มีจดหมายแนบรูปถ่ายบอกรายละเอียดให้ไปชำระค่าปรับเนื่องจากใช้ความเร็วเกินกฎหมายกำหนด และหลายคนก็ยังสงสัยกันว่า ตกลงให้ขับใช้ความเร็วกันเท่าไร ถึงจะถูกกฎหมาย

อ่านเพิ่มเติม: 5 กฎจราจรที่คนขับรถมักฝ่าฝืนมากที่สุด

มาดูข้อกฎหมายที่บัญญัติไว้อย่างละเอียดกันเลย

ในเรื่องของกฎหมายเกี่ยวกับการใช้ความเร็วของรถในการขับขี่รถนั้น มีกฎหมายกำหนดไว้ดังนี้ กฎกระทรวง ฉบับที่ 6 ประกอบกับ ฉบับที่ 10 ซึ่งออกตามความใน พ.ร.บ.จราจรทางบก พ.ศ. 2522 กำหนดไว้ว่า

ข้อ 1 ในกรณีปกติ ให้กำหนดความเร็วสำหรับรถ ดังต่อไปนี้

(1) สำหรับรถบรรทุกที่มีน้ำหนักรถรวมทั้งน้ำหนักบรรทุกเกิน 1,200 กิโลกรัม หรือรถบรรทุกคนโดยสาร ให้ขับในเขตกรุงเทพมหานคร เขตเมืองพัทยา หรือเขตเทศบาล ไม่เกินชั่วโมงละ 60 กิโลเมตร หรือนอกเขตดังกล่าวให้ขับไม่เกินชั่วโมงละ 80 กิโลเมตร

(2) สำหรับรถยนต์อื่นนอกจากรถที่ระบุไว้ใน (1) ขณะที่ลากจูงรถพ่วง รถยนต์บรรทุกที่มีน้ำหนักรวมทั้งน้ำหนักบรรทุกเกิน 1,200 กิโลกรัม หรือรถยนต์สามล้อ ให้ขับในเขตกรุงเทพมหานคร เขตเมืองพัทยา หรือเขตเทศบาล ไม่เกินชั่วโมงละ 45 กิโลเมตร หรือนอกเขตดังกล่าวให้ขับไม่เกินชั่วโมงละ 60 กิโลเมตร

(3) สำหรับรถยนต์อื่นที่นอกจากระบุไว้ใน (1) หรือ (2) หรือรถจักรยานยนต์ให้ขับในเขตกรุงเทพมหานคร เขตเมืองพัทยา หรือเขตเทศบาล ไม่เกินชั่วโมงละ 80 กิโลเมตร หรือนอกเขตดังกล่าวให้ขับไม่เกินชั่วโมงละ 90 กิโลเมตร

ข้อ 2 ในเขตทางที่มีเครื่องหมายจราจรแสดงว่าเป็นเขตอันตรายหรือ เขตให้ขับรถช้าๆ ให้ลดความเร็วลงและเพิ่มความระมัดระวังขึ้นตามสมควร ข้อ 3 ในกรณีที่มีเครื่องหมายจราจรกำหนดอัตราความเร็วต่ำกว่าที่กำหนดในข้อ 1 ให้ขับไม่เกินอัตราความเร็วที่กำหนดไว้นั้น

สำหรับกฎหมายเกี่ยวกับความเร็วบนทางหลวงนั้น มีกฎหมายกำหนดไว้ใน กฎกระทรวง ฉบับที่ 2 ออกตามความในพระราชบัญญัติทางหลวง พ.ศ. 2535 โดยสรุปได้ว่า ข้อ 2 อัตราความเร็วของยานพาหนะบนทางหลวงชนบทมีดังต่อไปนี้

(1) รถยนต์หรือรถจักรยานยนต์ ให้ใช้ความเร็วไม่เกินชั่วโมงละ 90 กิโลเมตร

(2) รถยนต์ขณะที่ลากจูงรถพ่วง หรือรถสามล้อ ให้ใช้ความเร็วไม่เกินชั่วโมงละ 60 กิโลเมตร

(3) รถบรรทุกที่มีน้ำหนักรวมทั้งน้ำหนักบรรทุกเกิน 1,200 กิโลกรัม ไม่ว่าจะลากจูงรถพ่วงด้วยหรือไม่ก็ตาม หรือรถบรรทุกคนโดยสาร ให้ใช้ความเร็วไม่เกินชั่วโมงละ 80 กิโลเมตร

กฎกระทรวง ฉบับที่ 3 กำหนดไว้ว่า ข้อ 2 ให้กำหนดอัตราความเร็วของยานพาหนะบนทางหลวงพิเศษหมายเลข 7 ทางสาย กรุงเทพมหานคร-เมืองพัทยา และทางหลวงพิเศษหมายเลข 9 (ถนนกาญจนาภิเษก) ทางสายถนนวงแหวนรอบนอกกรุงเทพมหานคร ดังต่อไปนี้

(1) รถบรรทุกที่มีน้ำหนักรถรวมทั้งน้ำหนักบรรทุกไม่เกิน 1,200 กิโลกรัม หรือรถบรรทุกคนโดยสาร ให้ใช้ความเร็วไม่เกินชั่วโมงละ 100 กิโลเมตร

(2) รถบรรทุกอื่นนอกจากรถที่ระบุไว้ใน (1) รวมทั้งรถบรรทุกหรือรถยนต์ขณะที่ลากจูงรถพ่วง ให้ใช้ความเร็วไม่เกินชั่วโมงละ 80 กิโลเมตร

(3) รถยนต์อื่นนอกจากรถที่ระบุไว้ใน (1) หรือ (2) ให้ใช้ความเร็วไม่เกินชั่วโมงละ 120 กิโลเมตร

ถ้าจะเอาแบบสรุปให้ใกล้ตัวเข้าหน่อยก็คือ อัตราความเร็วตาม พ.ร.บ.จราจรทางบก ระบุไว้ว่า รถยนต์หรือรถจักรยานยนต์ สามารถใช้ความเร็วในเขตกรุงเทพมหานคร เขตเมืองพัทยา หรือเขตเทศบาล ไม่เกิน 80 กิโลเมตรต่อชั่วโมง หรือนอกเขตดังกล่าวให้ขับไม่เกิน 90 กิโลเมตรต่อชั่วโมง นอกจากนี้ ยังมีพ.ร.บ.ทางหลวง อีกหนึ่งฉบับ ที่กำหนดให้รถยนต์และรถมอเตอร์ไซค์ สามารถใช้ความเร็วบนทางหลวงชนบทได้ไม่เกิน 90 กม./ชม. ขณะที่ทางหลวงพิเศษหมายเลข 7 (มอเตอร์เวย์กรุงเทพ-ชลบุรี) และทางหลวงพิเศษหมายเลข 9 (ถนนกาญจนาภิเษก) ให้ใช้ความเร็วได้ไม่เกิน 120 กม./ชม.

โดยส่วนใหญ่แล้วที่โดนกันประจำจะอยู่ที่ พ.ร.บ.ทางหลวง ต้องทำความเข้าใจกันให้ดี อย่างทางหลวงชนบท คือ ทางหลวงนอกเขตเทศบาล และเขตสุขาภิบาล ที่องค์การบริหารส่วนจังหวัด องค์การบริหารส่วนตำบล กรมทางหลวงชนบท และหน่วยงานอื่น ๆ เป็นผู้ดำเนินการก่อสร้างขยาย บูรณะและบำรุงรักษาและได้ลงทะเบียนไว้เป็นทางหลวงชนบท ซึ่งก็คือทางเชื่อมระหว่างอำเภอ หรือจังหวัดเป็นต้น ซึ่งกฎหมายกำหนดไว้แค่ 90 กม./ชม.เท่านั้น ส่วนทางหลวงพิเศษ 2 เส้นที่กล่าวไว้ข้างต้น คือความเร็วที่ใช้ได้ไม่เกิน 120 กม./ชม.

แต่มีข้อควรระวัง ทั้งทางหลวงชนบท และทางหลวงพิเศษ ผู้ขับขี่จะต้องมั่นสังเกตบางครั้งจะมีป้ายบังคับให้ลดความเร็ว หรือใช้ความเร็วตามที่ป้ายบังคับกำหนดไว้ ในกรณีที่เข้าเขตชุมชน หรือจุดที่มีทางร่วม ทางแยก ต้องระวังกันให้ดี

ปฎิบัติตามกฎหมายกำหนดอย่างเคร่งครัดกันจะได้เดินทางกันอย่างปลอดภัย และไม่ต้องเสียเวลา เสียเงินไปจ่ายค่าปรับกันอีกด้วย
(ข้อมูลจาก http://www.trafficpolice.go.th)