หลาย ๆ คนคงเคยใช้บริการแอปพลิเคชั่นเดลิเวอรี ในการสั่งอาหาร ส่งของ หรือเดินทางไปไหนมาไหน ซึ่งบริการนี้จะขาดอาชีพไรเดอร์ไปไม่ได้ ไม่ว่าจะเป็นไรเดอร์ส่งอาหาร ไรเดอร์ส่งของ รับ-ส่งคน บทความนี้จะพาเจาะลึกการทำงานไรเดอร์ส่งอาหาร ทั้งรายได้ ต้นทุนที่ต้องจ่าย รวมถึงความเสี่ยงด้านสุขภาพและอุบัติเหตุ มาดูกันว่าคุ้มค่าหรือไม่ ขับไรเดอร์ปี 2567 คุ้มค่าหรือเปล่า? ติดตามไปด้วยกันเลย
สนใจอ่านแค่บางเรื่อง ก็เลือกได้เลย!
- อาชีพไรเดอร์ คืออะไร?
- อาชีพไรเดอร์ส่งอาหารปี 2567 ต้องมีต้นทุนเท่าไหร่?
- ไรเดอร์ส่งอาหารแต่ละแอป รายได้เท่าไหร่?
- รู้มั้ย? อาชีพไรเดอร์เสี่ยงปัญหาสุขภาพอะไรบ้าง?
- ทำไมคนถึงทำอาชีพไรเดอร์?
อาชีพไรเดอร์ คืออะไร?
อาชีพไรเดอร์ คืออาชีพอะไร? คำว่าไรเดอร์ (Rider) เป็นคำเรียกพนักงานที่ทำหน้าที่ส่งคน อาหาร หรือสินค้า ตามคำสั่งซื้อของลูกค้าผ่านแอปพลิเคชั่นเดลิเวอร์รีต่าง ๆ เช่น Grab, Foodpanda, Robinhood, Lineman เป็นต้น งานไรเดอร์นี้ได้รับความนิยมมากขึ้นในช่วงการแพร่ระบาดของโควิด-19 เพราะผู้คนเริ่มหันมาสั่งอาหารและสินค้าผ่านแอปพลิเคชั่นมากขึ้น โดยไรเดอร์มักจะมีการทำงานที่ยืดหยุ่น แต่หากต้องการรายได้ที่ดีก็ต้องทำงานติดต่อกันนานขึ้นอยู่กับความขยันและจำนวนงานที่ได้รับ
อาชีพไรเดอร์ส่งอาหารปี 2567 ต้องมีต้นทุนเท่าไหร่?
เมื่อเรารู้แล้วว่าไรเดอร์ คืออาชีพอะไร ต่อมาคือการทำไรเดอร์นอกจากรถมอเตอร์ไซค์ของเราแล้ว ยังต้องมีต้นทุนอะไรบ้าง และงานไรเดอร์ปี 2567 รายได้ดีมั้ย ในเรื่องนี้คุณอนุกูล ราชกุณา ผู้ประสานงานเครือข่ายสหภาพไรเดอร์ ได้กล่าวว่า “อาชีพไรเดอร์ในช่วงสถานการณ์โควิดที่ผ่านมา ถือเป็นอาชีพที่สร้างรายได้ให้กับหลายคน แต่พอนานเข้าผู้ประกอบการแอปพลิเคชั่น มีการปรับเปลี่ยนการจ่ายงาน และค่าจัดส่งในแต่ละรอบ จนทำให้ไรเดอร์หลายคนต้องไปหางานอื่นทำแทน เนื่องจากไม่คุ้มกับความเสี่ยงที่เกิดขึ้น” และจากการจากการเก็บรวบรวมข้อมูลของคุณอนุกูลพบว่า
- ต้นทุนค่าแรกเข้า – ต้นทุนของไรเดอร์ส่งอาหารมีอะไรบ้างสำหรับการสมัครครั้งแรก โดยการทำงานไรเดอร์มีต้นทุนอยู่ที่ประมาณ 4,000 บาท ซึ่งรวมถึงค่ากระเป๋า เสื้อ รวมไม่เกิน 2,000 บาท (ขึ้นอยู่กับแต่ละแอป) และหมวกกันน็อกคุณภาพดี ไม่เกิน 2,000 บาท (ขึ้นอยู่กับความตระหนักถึงความปลอดภัยและความจำเป็นของไรเดอร์แต่ละคน)
- ค่าน้ำมัน – น้ำมันที่ใช้เฉลี่ยต่อวันอยู่ที่ 200-400 บาท ขึ้นอยู่กับชั่วโมงการทำงาน โดยอาชีพไรเดอร์ต้องทำงาน ประมาณวันละ 8 ชั่วโมงขึ้นไปถึงจะคุ้มค่า
- รายได้วิ่งงานต่อวัน – สำหรับไรเดอร์ในเขตกรุงเทพฯ ต้องทำให้ได้ประมาณ 1,000 บาท และในต่างจังหวัดอยู่ที่ประมาณ 500 บาท ถึงคุ้มค่า
(ที่มา: thairath.co.th)
ไรเดอร์ส่งอาหารแต่ละแอป รายได้เท่าไหร่?
พอพูดถึงเรื่องรายได้ หลายคนอาจสงสัยว่าไรเดอร์ค่ายไหนดีสุด? บทความนี้จะพาเจาะลึกรายได้ไรเดอร์คร่าว ๆ ว่าแอปไรเดอร์แต่ละเจ้าให้เรทราคาเท่าไหร่ แต่ต้องบอกก่อนว่าอาจมีการเปลี่ยนแปลงเรทราคาไปตามเงื่อนไขของบริษัทนั้น ๆ อาชีพไรเดอร์มีรายได้ ดังนี้
1. ไลน์แมนไรเดอร์ (Line man)
สำหรับไลน์แมนไรเดอร์ การคำนวณรายได้ไรเดอร์ส่งอาหารต่อเที่ยวจะแบ่งตามพื้นที่ โดยตัวอย่างพื้นที่กทม. แบ่งออกเป็น 4 รูปแบบ ได้แก่
- เขตพื้นที่ธุรกิจสีแดง เช่น บางรัก ห้วยขวาง คลองเตย ฯลฯ ได้ค่ารอบเริ่มต้น 43 บาท
- พื้นที่รอบนอก (สีเหลือง) ในกรุงเทพฯ ได้ค่ารอบเริ่มต้น 38 บาท
- พื้นที่ปริมณฑล (สีเขียว) เริ่มต้น 37 บาท และ
- พื้นที่เขตสมุทรสาคร (สีเทา) เริ่มต้น 35 บาท
นอกจากนี้ไลน์แมนไรเดอร์ ยังมีรายได้ในส่วนของค่าตอบแทนอื่น ๆ คือ
- ค่าตอบแทนเพิ่มเติมสำหรับงานพ่วงในทุกพื้นที่ที่ 15 บาท
- โบนัสพิเศษขึ้นอยู่กับช่วงเวลา (สูงสุด) 12 บาท
2. ฟู้ดแพนด้าไรเดอร์ (FoodPanda)
รายได้ไรเดอร์ส่งอาหารของฟู้ดแพนด้า จะคิดตามระดับของฟู้ดแพนด้าไรเดอร์ มี 1-6 ระดับ เรียกว่า “แบตช์” (Batch) โดยแบตช์ที่ 1 (ระดับที่ 1) จะได้ค่ารอบมากที่สุด
- ฟู้ดแพนด้าไรเดอร์ระดับแรกค่ารอบเริ่มต้น 39-40 บาทต่องาน
- สำหรับต่างจังหวัดบางพื้นที่ค่ารอบเริ่มต้น 21 บาท
- ต่างจังหวัดห่างไกลค่ารอบเริ่มต้น 17 บาท
3. โรบินฮู้ดไรเดอร์ (Robinhood)
สำหรับรายได้ไรเดอร์ส่งอาหารของโรบินฮู้ด ค่ารอบในกรุงเทพฯ เริ่มต้น 39 บาทต่องาน ค่ารอบในต่างจังหวัดเริ่มต้นที่ 28 บาทต่องาน รายได้เฉลี่ยจะอยู่ที่ประมาณ 25,000 – 35,000 บาทต่อเดือน โดยมีการตัดรอบทุก 6 โมงเย็น คนขับจะได้รับเงินในเวลา 4 ทุ่มของทุกวัน และไม่มีการหักเปอร์เซ็นต์รายได้ อีกข้อดีคือไรเดอร์ไม่ต้องใช้เงินสดออกค่าอาหารไปก่อน และไม่ต้องเก็บจากลูกค้าด้วย
แต่สำหรับใครที่สนใจเป็นไรเดอร์ส่งอาหารของ Robinhood ควรรู้! เมื่อวันที่ 25 มิ.ย. 2567 บริษัท เอสซีบี เอกซ์ จำกัด (มหาชน) ได้แจ้งยุติการให้บริการของแอปพลิเคชั่น Robinhood จากนั้นในวันที่ 30 ก.ค. 2567 ก็ได้ออกมาแจ้งเลื่อนการยุติการให้บริการส่งอาหารของแอปพลิเคชั่น Robinhood ออกไป เนื่องจากบริษัทอยู่ในระหว่างการพิจารณาข้อเสนอเข้าซื้อกิจการทั้งหมดจากผู้ที่สนใจซึ่งมีจำนวนมากกว่าที่คาดไว้ ดังนั้นสำหรับคนที่สนใจเป็นไรเดอร์ของ Robinhood อาจต้องมีการติดตามข่าวสารของแอปพลิเคชั่นอย่างใกล้ชิด (ที่มา: thaipbs.or.th)
4. แกร็บฟู้ดไรเดอร์ (GrabFood)
สำหรับแกร็บฟู้ด GrabFood เป็นบริการที่มีชื่อเสียงและมีผู้ใช้งานเยอะ โดยแกร็บฟู้ด ไรเดอร์จะถูกเรียกว่า “พาร์ตเนอร์” รายได้ไรเดอร์ส่งอาหารต่อเที่ยว ดังนี้
- ค่ารอบเริ่มต้น 28 บาทต่องานในพื้นที่กรุงเทพฯ และปริมณฑล
- ค่ารอบเริ่มต้น 28-21-17 บาทในพื้นที่ต่างจังหวัดจนถึงจังหวัดห่างไกล
โดยพาร์ตเนอร์อาจได้รายได้เพิ่มเติมในกรณีที่รออาหารช้า และทางบริษัทได้ยกเลิกการหักค่าคอมมิชชันออกไป
รู้มั้ย? อาชีพไรเดอร์เสี่ยงปัญหาสุขภาพอะไรบ้าง?
อาชีพไรเดอร์ส่งอาหาร ไรเดอร์ส่งของ หรือส่งคนไม่ได้เสี่ยงแค่อุบัติเหตุ! แต่ไรเดอร์จะมีความเสี่ยงทั้งต่ออุบัติเหตุ สุขภาพกาย และสุขภาพจิต โดยเกิดจากการทำงานที่ยาวนาน บางคนต้องทำ 8-12 ชั่วโมง รวมไปถึงความเร่งรีบในการทำงาน สภาพแวดล้อมอย่างการจราจร ไปจนถึงปัญหากับร้านอาหารและลูกค้า การต้องเผชิญกับแรงกดดันเหล่านี้ ทำให้ไรเดอร์มีความเสี่ยงต่อสุขภาพดังนี้
- ปัญหาสุขภาพร่างกาย เช่น ปวดหลัง ปวดเอว ปวดข้อมือ จากการขับขี่รถเป็นเวลานาน รวมไปถึงโรคประจำตัวด้วย
- ปัญหาสุขภาพจิตจากความเครียดระหว่างทำงาน ทั้งกับลูกค้า ร้านค้า และสภาพอากาศ
- ปัญหาความเสี่ยงจากการเกิดอุบัติเหตุบนท้องถนน เนื่องจากต้องแข่งกับเวลาในการส่งของ
งานไรเดอร์ต้องทำงานบนความกดดัน ความเร่งรีบ ซึ่งเพิ่มความเสี่ยงเกิดอุบัติเหตุมากขึ้น โดยอาชีพไรเดอร์เสี่ยงอุบัติเหตุจากรถมอเตอร์ไซค์ที่ทำให้มีโอกาสบาดเจ็บรุนแรงมากกว่ารถยนต์ ในส่วนของค่ารักษาพยาบาล แม้จะสามารถเบิกจากพ.ร.บ. ได้ตามที่จ่ายจริงเบื้องต้นไม่เกิน 30,000 บาท แต่ก็อาจยังไม่ครอบคลุม การทำประกันอุบัติเหตุเพิ่มก็เป็นอีกทางเลือก เพราะนอกจากค่ารักษาพยาบาลแล้ว ยังเลือกค่าชดเชยรายวันได้ด้วย ประกันอุบัติเหตุที่รู้ใจ เริ่มต้นแค่ 61 บาท/ปี ปรับแผนความคุ้มครองได้ เลือกขยายความคุ้มครองจากการโดยสารหรือขับขี่รถจักรยานยนต์เพิ่มเติมได้อีกด้วย
ทำไมคนถึงทำอาชีพไรเดอร์?
แม้ไรเดอร์จะเป็นอาชีพที่มีความเสี่ยง แต่ก็มีข้อดีหลายข้อที่ทำให้หลายคนเลือกที่จะทำงานนี้ ทั้งอาจทำเป็นงานประจำหรือพาร์ตไทม์ โดยอาชีพไรเดอร์มีข้อดี ดังนี้
- ความยืดหยุ่นในการทำงาน – งานไรเดอร์สามารถเลือกเวลาทำงานได้ตามความสะดวก ไม่ว่าจะเป็นการทำงานเต็มเวลาหรือพาร์ตไทม์
- รายได้ที่ดี – รายได้ไรเดอร์ขึ้นอยู่กับความขยันและจำนวนงานที่รับ
- โบนัสและสิทธิพิเศษ – ไรเดอร์มักจะได้รับโบนัสและสิทธิพิเศษต่าง ๆ เช่น โบนัสจากการวิ่งครบจำนวนรอบที่กำหนด หรือการสะสมแต้มเพื่อรับสิทธิพิเศษ
- ไม่ต้องมีนายจ้าง – อาชีพไรเดอร์เป็นนายตัวเอง สามารถจัดการเวลาทำงานและการพักผ่อนได้ตามต้องการ
- พบปะผู้คนใหม่ ๆ – การขับไรเดอร์ทำให้ได้พบปะผู้คนใหม่ ๆ และสร้างเครือข่ายทางสังคม
จะเห็นได้ว่า รายได้ไรเดอร์ส่งอาหารแต่ละบริษัทมีค่าตอบแทนให้แก่ไรเดอร์/พาร์ตเนอร์แตกต่างกัน รวมถึงมีการแบ่งพื้นที่ธุรกิจที่แตกต่างกัน ซึ่งส่งผลต่อค่าตอบแทนที่ไรเดอร์จะได้รับ นอกจากนั้นงานไรเดอร์ยังมีความเสี่ยงต่อปัญหาสุขภาพทั้งร่างกาย จิตใจ รวมไปถึงอุบัติเหตุ แต่ก็ปฏิเสธไม่ได้ว่าหากขยันทำงานก็ได้รายได้ดีไม่น้อย รวมถึงมีเวลาการทำงานที่ยืดหยุ่นอีกด้วย
สามารถติดตามข่าวสาร สาระความรู้เกี่ยวกับสุขภาพ รถยนต์ มอเตอร์ไซค์ รวมถึงประกันภัยออนไลน์ต่าง ๆ จากรู้ใจได้ที่ Facebook Page: Roojai หรือคลิกที่นี่เพื่อเพิ่มเราเป็นเพื่อนใน LINE ได้เลย (Official Line ID: @roojai)
คำจำกัดความ
พาร์ตเนอร์ | มีหลายความหมาย เช่น หุ้นส่วนทางธุรกิจ คู่สมรส เป็นต้น แต่ในบทความนี้หมายถึง ผู้ร่วมงานกัน ซึ่งใช้เป็นชื่อเรียกไรเดอร์ของแอปพลิเคชั่นแกร็บฟู้ด |
แอปพลิเคชั่นเดลิเวอรี | แอปพลิเคชั่นบนมือถือหรืออุปกรณ์เคลื่อนที่อื่น ๆ ที่ช่วยให้ผู้ใช้งานสามารถสั่งอาหารหรือสินค้า โดยมีบริการจัดส่งถึงที่หมาย ไม่ต้องเดินทางไปที่ร้านเอง |
พาร์ตไทม์ | งานพาร์ตไทม์ (Part-time) คือการทำงานที่มีชั่วโมงการทำงานน้อยกว่างานเต็มเวลา (Full-time) สามารถเลือกทำงานตามเวลาที่สะดวกได้ |