Roojai

เทคนิคการขับรถขึ้นลงเขา

เทคนิคการขับรถขึ้นลงเขา

หนึ่งในแหล่งท่องเที่ยวยอดฮิต ก็ต้องมีการขึ้นเขา หรือเส้นทางที่เราจะไปนั้นมีการต้องขับรถขึ้นลงเขา การขับรถขึ้นลงเขา ซึ่งอาจเกิดอุบัติเหตุได้ แม้กระทั่งการตกเขาก็มีด้วยกันหลากหลายสาเหตุ ไม่ว่าจะเป็นคนขับไม่ชินเส้นทาง สภาพรถไม่พร้อมกับการเดินทางกับสภาพเส้นทางดังกล่าว  รวมถึงผู้ขับขี่ขาดความรู้ความชำนาญกับการใช้รถโดยเฉพาะกับระบบเกียร์

กับสภาพเส้นทางที่มีสภาพแบบขึ้นเขาลงเขา ต้องขึ้นเนินลงเนินนั้น ระบบเกียร์นั้นมีความสำคัญเป็นอย่างยิ่ง ถ้าผู้ขับขี่ใช้เกียร์ไม่เหมาะสม ก็สามารถทำให้ระบบของรถยนต์นั้นเกิดความเสียหายจนไม่สามารถเดินทางต่อได้ จนไปถึงเกิดอุบัติเหตุขึ้นได้ โดยจะแบ่งตามประเภทของเกียร์รถยนต์

เกียร์ Manual หรือเกียร์ธรรมดา

เกียร์ Manual หรือเกียร์ธรรมดา

การขับรถเกียร์ Manual หรือเกียร์ธรรมดา กับสภาพเส้นทางขึ้นลงเขานั้น เป็นสิ่งที่หลายคนนั้นหวาดกลัวเป็นอย่างยิ่ง โดยเฉพาะพวกบรรดามือใหม่ แค่รถติดคาทางขึ้นสะพานก็นั่งเหงื่อออก กลัวรถไหล กลัวออกรถแล้วดับ แต่ความจริงแล้วไม่น่ากลัวอย่างที่คิด ถ้ามีความคุ้นเคยกับระบบเกียร์ของรถที่ขับอยู่เป็นประจำ

การขึ้นเขาหรือขึ้นเนิน ก่อนอื่นผู้ขับขี่จะต้องคาดการณ์กับเส้นทางข้างหน้าถึงความชัน ถ้าไม่ชันมาก ในรถรุ่นใหม่ๆ ที่มีแรงบิดสูงในรอบต่ำ ส่วนมากจะเป็นรถเครื่องยนต์ดีเซล สามารถกดคันเร่งส่งขึ้นไปได้ โดยไม่ต้องเปลี่ยนเกียร์ โดยให้ฟังจากเสียงเครื่องยนต์ หรือความเร็วที่ลดลง ให้เปลี่ยนเกียร์ลดลงมาจากเกียร์ที่ใช้อยู่ แต่ถ้าวิ่งขึ้นไปแล้ว ความเร็วลดลงเหมือนเครื่องยนต์ไม่มีกำลัง เครื่องยนต์สั่นเหมือนเครื่องจะน็อคหรือดับ ให้รีบเหยียบคลัตช์แล้วเปลี่ยนเกียร์ลงมาต่ำมากๆ ที่เกียร์ 1 หรือ 2 ขึ้นอยู่กับความลาดชัน

เทคนิคการขับรถขึ้นเขา ขับรถลงเขา (3) | บทความรู้ใจ ประกันรถยนต์ออนไลน์

กรณีที่มีเหตุต้องหยุดรถในระหว่างขึ้นเนิน ถ้าไม่มั่นใจเมื่อต้องออกรถ กลัวรถไหลในจังหวะที่จะคลายคลัตช์ออกมา ให้ฝึกใช้เบรกมือช่วยในการออกตัว คือดึงเบรกมือ เหยียบคลัตช์ เข้าเกียร์ 1 กดคันเร่งเล็กน้อย ค่อยคลายเท้าออกจากคลัตช์ จังหวะที่คลัตช์จับตัวกับชุดเกียร์ ให้ปลดเบรกมือลง ผู้ขับขี่สามารถลองฝึกสร้างความคุ้นเคยดูได้ เมื่อเราขับรถในเวลาปกติ

ในสภาพเส้นทางที่เราไม่คุ้นเคย หรือไม่เคยเดินทางผ่านมาก่อน ผู้ขับขี่ต้องสังเกตจากป้ายจราจรข้างทาง ที่จะมีป้ายเตือนถึงความลาดชันของเส้นทางที่เราจะขับรถผ่านไป

กรณีลงเขาหรือลงเนินในรถเกียร์ธรรมดานั้น จะใช้เทคนิคเอนจิ้นเบรกช่วย แทนการใช้เบรกเพื่อควบคุมความเร็วในการลงเนิน เพราะเมื่อใช้เบรกมากๆ เป็นระยะทางไกลๆ หรือนานๆ ระบบเบรกจะร้อน จะทำให้เบรกเฟด จนเบรกไม่อยู่ หรือเบรกแตกตามประสาชาวบ้าน จะทำให้เกิดอันตรายได้ ให้ใช้เกียร์ช่วย โดยเปลี่ยนเกียร์ต่ำลง ใช้เบรกช่วยได้เป็นบางช่วง จนความเร็วนั้นเหมาะสมในการควบคุมรถได้อย่างปลอดภัย

เกียร์ Automatic หรือเกียร์ออโต้

เกียร์ Automatic หรือเกียร์ออโต้

ในรถยนต์ที่ใช้เกียร์ Automatic หรือเกียร์ออโต้ เป็นเกียร์ที่ใช้ง่ายสะดวกสบาย แต่กับสภาพเส้นทางขึ้นลงเขานั้น ถ้าใช้ไม่เป็นสามารถเกิดความเสียหาย หรืออุบัติเหตุได้เช่นกัน โดยเฉพาะผู้ขับขี่หลายคนไม่เข้าใจการทำงาน และสัญลักษณ์ที่แป้นเกียร์นั้นคืออะไร รู้เพียงแต่ว่า เข้าตำแหน่ง D ก็ขับไปได้แล้ว แต่ 2 3 L S รวมถึงที่มีตำแหน่ง + – นั้นหมายถึงอะไร

ในกรณีที่ขึ้นเขาหรือเนิน อย่างที่กล่าวไว้เกียร์ออโต้นั้นสะดวกสบาย จะมีเซ็นเซอร์วัดความลาดเอียงโดยจะเปลี่ยนเกียร์ให้เองโดยอัตโนมัติ เมื่อใช้รอบเครื่องที่ไม่สัมพันธ์กับความเร็ว แต่ทางขึ้นเนินที่ชันมากๆ รถอาจจะตอบสนองไม่ทันที โดยเฉพาะรถรุ่นเก่าๆ ให้ผู้ขับขี่ต้องเลื่อนตำแหน่งเกียร์ช่วย โดยเปลี่ยนมาที่ 2 หรือ 3 แล้วแต่ระบบเกียร์ แต่ในรถที่มีโหมด Manual ให้ผลักคันเกียร์มาที่โหมด Manual แล้วดึงมาที่ตำแหน่ง – เปลี่ยนใช้เกียร์ที่เหมาะสม

เทคนิคการขับรถขึ้นเขา ขับรถลงเขา (5) | บทความรู้ใจ ประกันรถยนต์ออนไลน์

เมื่อต้องลงเขาหรือเนินสำหรับรถเกียร์ออโต้นั้น เกียร์สามารถเปลี่ยนให้อัตโนมัติเช่นกัน แต่ในบางครั้ง เมื่อผู้ขับขี่ดูว่ารถยนต์วิ่งเร็วจนเกินไป ก็ต้องใช้เทคนิคเอนจิ้นเบรกเช่นเดียวกัน อย่าใช้การเลียเบรกเพื่อควบคุมความเร็ว จะทำให้เบรกร้อนจนเบรกแตกได้เช่นเดียวกัน ให้เปลี่ยนตำแหน่งคันเกียร์มาที่ 2 หรือ 3 และถ้าชันมากๆ อาจจะต้องใช้ที่ L และรถที่โหมด Manual ผลักคันเกียร์ที่โหมด Manual แล้วดึงเกียร์ในตำแหน่ง – ลดเกียร์ลง จนความเร็วเหมาะสมในการควบคุมรถ และเมื่อเข้าสู่เส้นทางปกติ อย่าลืมปรับคันเกียร์มาที่ตำแหน่ง D เหมือนเดิม การใช้เกียร์ต่ำขับไปนานๆ จะทำให้ชุดเกียร์สะสมความร้อนสร้างความเสียหายกับระบบได้

ข้อควรระวังเมื่อต้องจอดรถบนที่ลาดชัน ทั้งขึ้น หรือลง ที่ข้างทางเป็นเขา และอีกฝั่งเป็นเหว เมื่อจอดรถแล้วให้หักพวงมาลัยมาฝั่งตรงกันข้ามกับเหว หรือหักพวงมาลัยเข้าเขานั่นเอง ทั้งขาขึ้นและขาลงเนิน เผื่อผู้ขับขี่เผลอเลอรถจะได้ไม่ไหลตกเหวไป

ฝากกันไว้ลองฝึกและศึกษาสร้างความคุ้นเคยกับระบบเกียร์ของรถคุณ ก่อนเดินทางก็ควรศึกษาเส้นทางล่วงหน้า ตรวจสอบเช็คสภาพรถก่อนเดินทางทุกครั้ง