ในยุคโซเชี่ยล เน็ทเวิล์ค กำลังครองเมือง และบรรดากล้องติดหน้ารถกำลังเป็นที่นิยม เราถึงได้เห็นพฤติกรรมการขับรถยนต์ของคนไทยแบบแปลกๆ กันเต็มหน้าจอคอม หรือมือถือกันแทบทุกวัน ตั้งแต่อุบัติเหตุ ไปจนถึงการขับแบบผิดกฎจราจร ลามไปถึงมีเรื่องมีราวชกต่อยกันกลางถนน หนักหน่อยก็คว้าปืนมายิงกันก็มี
จากเมื่อก่อน เหตุการณ์แบบนี้ไม่ค่อยได้เห็นกันหนาตาแบบนี้ เกิดเหตุอะไรที่เกี่ยวกับการขับรถยนต์ทั้งอุบัติ หรือการทำผิดกฎหมายจราจรก็หายกันไป ด้วยเหตุดังกล่าวข้างต้น ทำให้ทุกวันนี้คิดจะทำอะไรต้องระวังเป็นพิเศษ ไม่เช่นนั้นคุณจะกลายเป็นหนึ่งในตัวแสดงของโลกโซเชี่ยล เน็ทเวิล์ค หรือช่วงข่าวในรายการทีวีก็เป็นได้
ถ้าให้มาวิเคราะห์กัน สาเหตุหลักๆ เหตุการณ์แบบนี้มันเกิดขึ้นได้จากหนึ่ง การขับรถยนต์แบบไม่เคารพกฎหมายจราจร ทั้งที่รู้หรือไม่รู้ (คือทำจนชินเป็นนิสัย คิดว่าไม่ผิด) กับทำแบบบันดาลโทสะ คือควบคุมอารมณ์ไม่อยู่ กลุ่มพวกนี้น่ากลัวมาก แต่ว่าไปแล้วทั้งสองกลุ่มน่ากลัวไม่แพ้กัน ตั้งแต่เสียเวลารอเคลมประกัน รถยนต์ได้รับความเสียหาย ไปจนถึงเสียชีวิตกันเลยทีเดียว
แต่รู้หรือไม่ว่า ด้วยเหตุผลอะไรก็ตาม สาเหตุหลักมันเกิดจากเรื่องของความไม่รู้ และไม่ปฏิบัติตามกฎจราจร ยกตัวอย่างที่เห็นกันอยู่ประจำ กรณีของเส้นทึบ แบ่งเส้นจราจรก่อนถึงแยกไฟแดง หรือเส้นทึบก่อนขึ้นสะพานลอยข้ามแยก จะมีพวกชอบลักไก่ เข้ามาเบียด ทั้งที่กฎหมายกำหนดห้ามเปลี่ยนช่องการเดินรถในบริเวณเส้นทึบ และเมื่อไม่ยอมกัน คันนี้ก็ว่าฉันมาถูก อุตส่าห์วิ่งต่อคิดรอมาตั้งนาน อีกคนก็คิดว่าขอไปหน่อยนะ แตะเบรกเปิดช่องให้นิดหนึ่ง มันจะเสียเวลาอะไรกันมากมาย เมื่อไม่ยอมกันกดแตรไล่กันไปกันมา เจอกลุ่มที่ไม่สามารถควบคุมอารมณ์ไว้ไม่อยู่ อุบัติเหตุจึงเกิดตามมา หนักหน่อยก็ลงรถมาชกตีกัน ถึงขั้นใช้อาวุธมาทำร้ายกันมีให้เห็นกันบ่อยๆ
ขอยกอีกหนึ่งตัวอย่าง ที่ผู้ขับรถยนต์จะพบกันบ่อยมาก “รถช้าชอบวิ่งขวา” ทั้งที่กฎหมายกำหนดไว้ว่า รถยนต์จะต้องวิ่งขอบทางด้านซ้าย จะวิ่งขวาได้ในกรณีที่จะแซงคันหน้า หรือตามถนนไฮเวย์ อย่างมอเตอร์เวย์ จะมีป้ายจราจรกำหนดไว้ว่า “รถช้าให้ชิดซ้าย” แต่เมื่อคุณไม่ชิดซ้าย แต่วิ่งอยู่เลนขวาสุด คันอื่นต้องแซงจากด้านซ้ายขึ้นมา บางทีด้วยความเร็วที่แตกต่างกันมาก จะหวะคันที่แซงซ้ายขึ้นมา เพื่อขึ้นหน้าคุณจะดูเหมือนกับการ”ปาดหน้า” ตามภาษาคนขับรถยนต์บ้านเราชอบใช้กัน ถ้าคนไม่ติดใจเอาความก็จบกันไป แต่ถ้าเป็นคนที่รู้กฎหมายจราจร จะพยายามเพื่อที่เปลี่ยนช่องจราจรกลับมาอยู่เลนซ้ายแทน
ทั้งสองตัวที่อย่างยกมานั้น ผมจะเน้นไปที่ในเรื่องของการใช้อารมณ์ กับการนำข้อปฏิบัติของกฎหมายจราจรมาใช้ แต่ถ้ามาถามถึง “อารมณ์” กับ”น้ำใจ” ในการขับรถยนต์มันเกี่ยวกันอย่างไร
“อารมณ์” คือความรู้สึก ที่มีขึ้นมีลง มีทั้งดีและไม่ดี แต่ในที่นี้ผมจะใช้คำว่า “อารมณ์” คือความรู้สึกที่ไม่ดี อารมณ์โกรธ อารมณ์แบบต้องเอาคืน
“น้ำใจ” คือการให้ รวมถึงการให้อภัยด้วย
เมื่อนำมารวมกันจะสรุปได้ว่า คนที่ขับรถถ้ามี”น้ำใจ” จะไม่มี”อารมณ์” (โมโห โกรธ) ในการขับรถจนทำให้เหตุบานปลายไปเป็นเรื่องราวใหญ่โต
กลับกันคนขับรถยนต์ที่มีแต่”อารมณ์” (โมโห โกรธ) จะเป็นคนที่ขับรถไม่มี”น้ำใจ” อันนี้ไม่ต้องขยายความกันมาก คงเข้าใจกันอยู่
ดังนั้นการขับรถให้ปลอดภัยทั้งตัวคุณเอง และเพื่อนร่วมถนนนั้น คุณต้องเป็นคนมี”น้ำใจ” หนักนิดเบาหน่อยให้อภัยซึ่งกันและกัน อย่าพยายามใช้หรือต้องเก็บกด สะกดอารมณ์ตลอดเวลาเมื่อนั่งอยู่หลังพวงมาลัย
แต่ที่สำคัญที่สุด ถ้าคนขับรถยนต์ทุกคัน ยึดมั่นและปฏิบัติตามกฎจราจร ปัญหาอุบัติเหตุ และการกระทบกระทั่งกันบนท้องถนนในเมืองไทยก็จะลดน้อยลงอย่างแน่นอน .