ปัจจุบันการเดินทางไปไหนมาไหนในกรุงเทพฯ หรือชานเมือง แทบทุกคนที่มีรถล้วนหลีกหนีการจราจรที่ติดขัดคับคั่งบนถนนหนทางปกติไปใช้ ‘ทางด่วน’ เพื่อหวังจะช่วยย่นเวลาไปถึงจุดหมายปลายทางได้รวดเร็วขึ้น (แม้ว่าจะช่วยไม่ได้มากก็ตาม) ซึ่งปัจจุบันทางพิเศษก็มีส่วนต่อขยายเพิ่มขึ้นมากมาย และคุณๆ เคยสังเกตไหมว่าเส้นทางที่คุณต้องเสียเงินใช้บริการเหล่านี้มีกี่สายและเส้นไหนมีชื่อว่าอะไรบ้าง วันนี้ทีมงาน Roojai.com ได้จัดทำข้อมูลมาให้รับทราบกันครับ
ทางพิเศษเฉลิมมหานคร หรือทางด่วนขั้นที่ 1 เป็นทางพิเศษสายแรกของประเทศไทย มีระยะทางทั้งสิ้น 27.1 กิโลเมตร
มีจำนวน 3 เส้นทาง จุดเริ่มต้นทางฝั่งทิศเหนือ ทิศตะวันออก และทิศตะวันตก เชื่อมต่อกันที่ทางแยกต่างระดับท่าเรือ ระยะทางรวม 27.1 กิโลเมตร ประกอบด้วย สายดินแดง–ท่าเรือ, สายบางนา–ท่าเรือ และสายดาวคะนอง–ท่าเรือ
สายดินแดง–ท่าเรือ ระยะทาง 8.9 กิโลเมตร เริ่มจากปลายถนนวิภาวดีรังสิต มุ่งไปทางทิศใต้ ผ่านทางแยกต่างระดับมักกะสัน ผ่านถนนสุขุมวิท ช่วงนี้เป็นทางยกระดับและเป็นทางราบตั้งแต่ถนนสุขุมวิทถึงถนนพระรามที่ 4 และเป็นทางยกระดับอีกครั้งในช่วงถนนพระรามที่ 4 ถึงทางแยกต่างระดับท่าเรือ เชื่อมต่อกับทางพิเศษสายดาวคะนอง–ท่าเรือ มีด่านเก็บค่าผ่านทางจำนวน 6 ด่านคือ ด่านดินแดง, ด่านเพชรบุรี, ด่านสุขุมวิท, ด่านพระรามสี่ 1, ด่านเลียบแม่น้ำ และด่านท่าเรือ 1
สายบางนา–ท่าเรือ ระยะทาง 7.9 กิโลเมตร เริ่มจากปลายทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 34 บริเวณทางแยกต่างระดับบางนา แล้วมุ่งไปทางทิศตะวันตก ผ่านจุดตัดทางพิเศษฉลองรัชที่ทางแยกต่างระดับสุขุมวิท ช่วงนี้เป็นทางราบและเป็นทางยกระดับตั้งแต่ทางแยกต่างระดับสุขุมวิท 50 ถึงทางแยกต่างระดับท่าเรือ มีด่านเก็บค่าผ่านทางจำนวน 4 ด่านคือ ด่านท่าเรือ 2, ด่านอาจณรงค์, ด่านสุขุมวิท 62 และด่านบางนา
สายดาวคะนอง–ท่าเรือ ระยะทาง 10.3 กิโลเมตร แนวสายทางเริ่มจากทางแยกต่างระดับท่าเรือ ผ่านทางแยกต่างระดับบางโคล่ ข้ามแม่น้ำเจ้าพระยาที่สะพานพระราม 9 ช่วงนี้เป็นทางยกระดับ ขึ้นสะพานพระราม 9 และสิ้นสุดที่ถนนพระรามที่ 2 มีด่านเก็บค่าผ่านทางจำนวน 5 ด่านคือ ด่านสาธุประดิษฐ์ 1, ด่านสาธุประดิษฐ์ 2, ด่านพระราม 3, ด่านสุขสวัสดิ์ และด่านดาวคะนอง
ทางพิเศษศรีรัช หรือทางด่วนขั้นที่ 2 มีระยะทางรวม 38.4 กิโลเมตร แบ่งออกเป็น 4 ส่วน
ส่วน A ระยะทาง 12.4 กิโลเมตร เริ่มต้นที่ถนนรัชดาภิเษกผ่านบริเวณทางแยกต่างระดับพญาไท (โรงกรองน้ำสามเสน) สิ้นสุดแนวสายทางที่ถนนพระราม 9 เป็นทางยกระดับขนาด 6 ช่องจราจรตลอดเส้นทาง
ส่วน B ระยะทาง 9.4 กิโลเมตร มีแนวเชื่อมต่อกับส่วน A ที่บริเวณทางแยกต่างระดับพญาไท แนวสายทางมุ่งไปทางทิศใต้ ผ่านถนนศรีอยุธยา เชื่อมต่อกับทางพิเศษเฉลิมมหานครที่บริเวณต่างระดับบางโคล่ เป็นทางยกระดับขนาด 6 ช่องจราจร
ส่วน C ระยะทาง 8 กิโลเมตร เป็นทางพิเศษเขตนอกเมือง โดยเชื่อมต่อกับส่วน A บริเวณถนนรัชดาภิเษก ผ่านถนนประชาชื่น มุ่งไปทางทิศเหนือ สิ้นสุดที่ถนนแจ้งวัฒนะ และเชื่อมต่อกับทางพิเศษอุดรรัถยา เป็นทางยกระดับขนาด 6 ช่องจราจรตลอดเส้นทาง
ส่วน D ระยะทาง 8.6 กิโลเมตร เป็นทางพิเศษเขตนอกเมือง เชื่อมต่อกับส่วน A โดยเริ่มจากถนนพระราม 9 ไปทางทิศตะวันออก ตัดกับทางพิเศษเฉลิมมหานครที่ทางแยกต่างระดับมักกะสัน ตัดกับทางพิเศษฉลองรัชที่ทางแยกต่างระดับพระราม 9 และสิ้นสุดที่ถนนศรีนครินทร์ บริเวณทางแยกต่างระดับศรีนครินทร์ และเชื่อมต่อกับทางหลวงพิเศษหมายเลข 7 เป็นทางยกระดับขนาด 6 ช่องจราจรตลอดเส้นทาง มีด่านเก็บค่าผ่านทางรวมจำนวน 29 ด่าน
ทางพิเศษฉลองรัช ทางด่วนสายรามอินทรา–อาจณรงค์ และทางด่วนสายรามอินทรา–วงแหวนรอบนอก มีระยะทางทั้งสิ้น 28.2 กิโลเมตร มีด่านเก็บค่าผ่านทางรวมทั้งสิ้น 14 ด่าน
สายรามอินทรา–วงแหวนรอบนอก จุดเริ่มต้นจากถนนกาญจนาภิเษก ด้านตะวันออก บริเวณทิศใต้ของทางแยกต่างระดับลำลูกกา มุ่งไปทางทิศตะวันตกเฉียงใต้ ยกระดับข้ามถนนสุขาภิบาล 5 และยกระดับข้ามโครงการก่อสร้างถนนเชื่อมถนนสุขาภิบาล 5–ถนนนิมิตใหม่ จนถึงถนนรามอินทราบริเวณกิโลเมตรที่ 5.5 เรียกถนนในช่วงนี้ว่า ‘ทางพิเศษสายรามอินทรา–วงแหวนรอบนอกกรุงเทพมหานคร’ เป็นส่วนต่อขยายของทางพิเศษฉลองรัชทางด้านเหนือ มีระยะทาง 9.5 กิโลเมตร มีด่านเก็บค่าผ่านทางรวมจำนวน 4 ด่าน
สายรามอินทรา–อาจณรงค์ ระยะทาง 18.7 กิโลเมตร มีเส้นทางเริ่มจากถนนรามอินทรา จากนั้นเส้นทางมุ่งไปทางทิศใต้ ข้ามถนนลาดพร้าว ถนนประชาอุทิศ ถนนพระราม 9 แล้วไปทางทิศตะวันออกเฉียงใต้ ตัดกับทางพิเศษศรีรัช ส่วน D พร้อมกับข้ามถนนรามคำแหง และถนนพัฒนาการ แล้วเลียบแนวคลองตันข้ามถนนสุขุมวิททางด้านตะวันออกของสะพานพระโขนง ไปบรรจบกับทางพิเศษเฉลิมมหานคร สายบางนา–ท่าเรือ ที่บริเวณอาจณรงค์ (ปลายซอยสุขุมวิท 50) มีด่านเก็บค่าผ่านทางรวมจำนวน 10 ด่าน
ทางพิเศษบูรพาวิถี หรือทางด่วน 4 มีจุดเริ่มต้นที่เขตบางนา กรุงเทพมหานคร สิ้นสุดที่จังหวัดชลบุรี ระยะทางทั้งสิ้น 55 กิโลเมตร เป็นทางยกระดับขนาด 6 ช่องจราจรซ้อนอยู่บนทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 34 เป็นทางพิเศษสายเดียวที่มีการยกเว้นค่าผ่านทางในช่วงเทศกาลวันหยุดยาว ได้แก่ เทศกาลปีใหม่ และเทศกาลสงกรานต์ ทางพิเศษบูรพาวิถีเป็นทางพิเศษสายแรกที่ใช้ระบบปิดหรือระบบเก็บเงินตามระยะทาง กล่าวคือ เวลารถที่จะขึ้นทางออกต้องรับบัตรที่ด่านทางเข้า และเวลารถที่จะลงทางด่วนต้องคืนบัตรและจ่ายเงินที่ด่านทางออก
ทางพิเศษอุดรรัถยา หรือ ทางด่วนสายบางปะอิน–ปากเกร็ด มีระยะทางรวม 32 กิโลเมตร มีเส้นทางเชื่อมต่อมาจากทางพิเศษศรีรัชส่วน C บริเวณจุดตัดกับถนนแจ้งวัฒนะ ในอำเภอปากเกร็ด จังหวัดนนทบุรี เป็นทางยกระดับมุ่งไปทางทิศเหนือ ผ่านเมืองทองธานี จากนั้นเข้าสู่อำเภอเมืองปทุมธานี จังหวัดปทุมธานี ตัดกับทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 346 แล้วข้ามคลองเชียงราก ก่อนที่ลดระดับเป็นทางราบมีรั้วกั้นตลอด จากนั้นเข้าสู่อำเภอสามโคกตัดกับทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 3214 ซึ่งบริเวณนี้จะมีเส้นทางแยกไปทางทิศตะวันออกเพื่อต่อเชื่อมกับถนนทางเข้ามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ศูนย์รังสิต หลังจากนี้ เส้นทางจะโค้งไปทางทิศตะวันตกเฉียงเหนือเข้าสู่อำเภอบางไทร จังหวัดพระนครศรีอยุธยา ข้ามทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 347 แล้วไปสิ้นสุดบริเวณกิโลเมตรที่ 79 ของถนนกาญจนาภิเษก
ทางพิเศษสาย S1 หรือ ทางด่วนขั้นที่ 3 สายใต้ ตอน S1 มีจุดเริ่มต้นจากปลายทางพิเศษฉลองรัช ซ้อนทับไปตามแนวทางพิเศษเฉลิมมหานครเดิม เชื่อมต่อกับทางพิเศษบูรพาวิถี ระยะทาง 4.7 กิโลเมตร มีด่านเก็บค่าผ่านทางพิเศษจำนวน 1 ด่านคือ ด่านบางจากซึ่งเป็นด่านของทางพิเศษเฉลิมมหานคร
ถนนกาญจนาภิเษกหรือวงแหวนรอบนอกกรุงเทพมหานคร ทางส่วนใหญ่เป็นทางหลวงพิเศษหมายเลข 9 เป็นถนนสายสำคัญที่มีเส้นทางเชื่อมต่อกันเป็นวงแหวนล้อมรอบตัวเมืองกรุงเทพมหานคร จังหวัดนนทบุรี ปทุมธานี และสมุทรปราการ รวมถึงผ่านจังหวัดพระนครศรีอยุธยาด้วย มีระยะทางรวม 168 กิโลเมตร ถนนกาญจนาภิเษก ด้านตะวันออก (บางปะอิน–บางพลี) ชนิดแบบเก็บค่าผ่านทาง ระยะทาง 63 กิโลเมตร สัญลักษณ์ทางหลวงแสดงด้วยป้ายหมายเลข 9 พื้นหลังสีน้ำเงิน
ทางพิเศษกาญจนาภิเษก (บางพลี-สุขสวัสดิ์) มีแนวสายทางเชื่อมต่อกับถนนกาญจนาภิเษกด้านใต้ (ช่วงถนนพระรามที่ 2 ถึงถนนสุขสวัสดิ์) ทางพิเศษเริ่มต้นจากถนนสุขสวัสดิ์ บริเวณอำเภอพระประแดงข้ามแม่น้ำเจ้าพระยาไปทางทิศตะวันออกผ่านถนนสุขุมวิท ถนนศรีนครินทร์ และถนนเทพารักษ์ ไปบรรจบกับถนนเทพรัตน บริเวณอำเภอบางพลี ระยะทาง 22.5 กิโลเมตร เปิดให้บริการโดยจัดเก็บค่าผ่านทาง
ทางพิเศษสายนี้มีการก่อสร้างสะพานแขวนข้ามแม่น้ำเจ้าพระยาเพิ่มเติมอีก 1 แห่ง ที่ตำบลบางจาก อำเภอพระประแดง จังหวัดสมุทรปราการ โดยพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวพระราชทานนามสะพานแห่งนี้ว่า “สะพานกาญจนาภิเษก” พร้อมด้วยระบบเก็บค่าผ่านทางและระบบควบคุมความปลอดภัยด้านการจราจร รวมจำนวน 29 ด่าน
ทางยกระดับอุตราภิมุข หรือโทลล์เวย์ โดยมีการแบ่งการบริหารจัดการทางยกระดับเป็น 2 ส่วน คือ ทางยกระดับดินแดง–ดอนเมือง เป็นส่วนหนึ่งของทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 31 และเป็นทางหลวงสัมปทาน และส่วนทางยกระดับอนุสรณ์สถาน−รังสิต เป็นส่วนหนึ่งของทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 1 ทางยกระดับอุตราภิมุขมีแนวสายทางเริ่มจากบริเวณเขตดินแดง กรุงเทพมหานคร แล้วสิ้นสุดเส้นทางที่อำเภอคลองหลวง จังหวัดปทุมธานี รวมระยะทาง 28.224 กิโลเมตร
สุดท้ายก็อย่าลืมเพิ่มความอุ่นใจในการเดินทาง ด้วยประกันรถที่รู้ใจคุณที่สุด กับ Roojai.com ประกันรถออนไลน์ พร้อมบริการคุณตลอดเวลา เช็คเบี้ยออนไลน์ได้ราคาทันทีผ่านเว็บไซต์ กับราคาที่แฟร์กว่า คำนวณตามลักษณะการขับขี่ของคุณโดยเฉพาะ สามารถเคลมสบายผ่านแอป การันตีมาไวใน 30 นาที ผ่อนเบาๆ ดอกเบี้ย 0% นานสูงสุดถึง 10 งวด ไม่บล็อควงเงินบัตรเครดิต หรือเลือกผ่อนผ่านบัตรเดบิตได้ พร้อมบริการช่วยเหลือฉุกเฉินกรณีรถเสียกลางทางตลอด 24 ชั่วโมง