สหประชาชาตินิยามคำว่า “ผู้สูงอายุ” ไว้ว่าบุคคลผู้มีอายุตั้งแต่ 60 ขึ้นไป ซึ่งตรงกับนิยามผู้สูงอายุของไทย ตาม พ.ร.บ. ผู้สูงอายุ พ.ศ. 2546 ซึ่งตามที่เราเข้าใจ ผู้สูงอายุก็คือคนที่อายุ 60 ปีขึ้นไป ไม่ว่าจะยังทำงานหาเงินหรือเกษียณจากการทำงานแล้ว และ สังคมผู้สูงอายุ ก็คือสังคมที่มีปริมาณผู้สูงอายุเริ่มตั้งแต่ 10 คนขึ้นไป ซึ่งทั่วโลกมีแนวโน้มว่าจะเริ่มกลายเป็นประเทศที่มีสังคมผู้สูงอายุหลายประเทศ รวมทั้งในประเทศไทยซึ่งในความเป็นจริงไทยเริ่มเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุมานานแล้ว และกำลังเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุโดยสมบูรณ์
สังคมผู้สูงอายุ เกิดจากอะไร เป็นปัญหาหรือไม่
เมื่อประมาณ 55 – 60 ปีก่อน หลังจากสงครามโลกครั้งที่ 2 แต่ละประเทศสูญเสียประชากรไปเป็นจำนวนมาก จึงเป็นจุดเริ่มต้นของ “ยุค Baby boomers” คือ รัฐบาลสนับสนุนให้แต่ละครอบครัวมีลูกจำนวนมากเพื่อเพิ่มประชากรให้ทันกับการฟื้นฟู และเป็นแรงงานสำคัญในการพัฒนาเศรษฐกิจ คนรุ่นนี้จึงโตมาพร้อมกับความอดทนมุ่งมั่น ทำงานเพื่อสร้างตัว สร้างครอบครัว สร้างความมั่งคั่ง ประชากรโลกเพิ่มจำนวนขึ้นอย่างรวดเร็ว ซึ่งเป็นเรื่องดีกับการผลิตทางเศรษฐศาสตร์ทั้งภาคอุตสาหกรรมและเกษตรกรรม
เมื่อเวลาผ่านไปคนรุ่นใหม่เติบโตขึ้นมาพร้อมกับเทคโนโลยีและสังคมที่เปลี่ยนไป การแต่งงานมีลูก “ลดลง” อย่างเห็นได้ชัด จนคนวัย Baby boomers ถึงวัยเกษียณ ประชากรในวัยแรงงานกลับมีสัดส่วนน้อยลงและเริ่มไม่สัมพันธ์กับวัยเกษียณ จึงกลัวกันว่า ประชากรวัยทำงานจะต้องทำงานหนักขึ้นและสุดท้ายทรัพยากรจะไม่พอเลี้ยงดูประชากรวัยเกษียณที่กำลังเพิ่มขึ้น ซึ่งความจริงแล้วแนวโน้มนี้จะเป็นปัญหาต่อไปหรือไม่ แน่นอนว่าในบางประเทศที่ปรับตัวไม่ทันน่าจะต้องประสบปัญหาแน่นอน แต่กับบางประเทศกำลังเตรียมพร้อมและมีหนทางแก้ไขที่น่าสนใจ
ประเทศไทยอยู่ตรงไหนของสังคมผู้สูงอายุ
ประเทศที่เข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ ถูกแบ่งไว้ 3 ประเภทโดยสหประชาชาติ
- ก้าวเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ (Aging society) เป็นประเทศที่เริ่มจะก้าวเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ คือเริ่มมีคนอายุ 60 ปีขึ้นไปมากกว่า 10%
- สังคมผู้สูงอายุโดยสมบูรณ์ (Aged society) ประเทศที่มีประชากรอายุ 60 ปีขึ้นไปมากกว่า 20%
- สังคมผู้สูงอายุอย่างเต็มที่ (Super-aged society) คือประเทศที่มีประชากรอายุ 65 ปีขึ้นไปมากกว่า 20%
ตอนนี้ประเทศไทยมีประชากรอายุมากว่า 60 ปี เกิน 20% แล้ว ถือว่าเป็นประเทศสังคมผู้สูงอายุโดยสมบูรณ์ และกำลังจะเป็นประเทศสังคมผู้สูงอายุที่มีผลกระทบระดับสุดยอดในอีก 10 ปีข้างหน้า
การปรับตัวสู่การเป็นประเทศสังคมผู้สูงอายุ
ด้วยกลไกทางสังคมและเทดโนโลยี เราไม่สามารถหลีกหนีการเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุได้เลย เพราะเทคโนโลยีการแพทย์ก็ทำให้คนอายุยืนยาวขึ้น ขณะเดียวกันสภาวะสังคมก็ทำให้คนมีลูกกันช้าลง ดังนั้นเมื่อเลี่ยงไม่ได้ก็ต้องอยู่ที่ใครจะปรับตัวได้ดีกว่ากัน ซึ่งการจะปรับทิศทางเพื่อต้อนรับการเป็นสังคมผู้สูงอายุนั้นไม่ได้อยู่ที่ใครคนใดคนหนึ่ง ทั้งภาครัฐและประชาชนต่างต้องปรับตัวให้ไปในทิศทางเดียวกัน
- ภาครัฐ หลายปีที่ผ่านมาเราจะเห็นนโยบายภาครัฐที่เริ่มจะปรับทิศทางรองรับผู้สูงอายุมากขึ้น เช่น โครงการสร้างอาชีพสำหรับผู้สูงอายุ เบี้ยคนชรา การบูรณาการระบบบำเหน็จบำนาญ กองทุนประกันสังคม หรือโครงการสร้างที่อยู่อาศัยวัยชรา สิ่งเหล่านี้แม้ยังไม่เห็นชัดเจนอะไรมากมายแต่มีแนวโน้มที่ดีที่รัฐจะสนใจปัญหาสังคมผู้สูงอายุมากขึ้น
- ประชาชน แน่นอนว่าเราอาจจะไม่สามารถพึ่งพิงรัฐได้ทุกอย่าง เราจึงต้องเตรียมตัวสำหรับวัยเกษียณตั้งแต่เนิ่น ๆ ไม่ว่าคุณจะเป็นผู้สูงอายุเองที่ควรมองหาการออมเงินสำหรับวัยเกษียณ หรือถ้าคุณมีพ่อแม่ที่กำลังเข้าวัยเกษียณ ก็ควรจะมองหาลู่ทางว่าต่อไปจะเลี้ยงดูท่านให้มีความสุขได้อย่างไร
หากกำลังเป็นผู้สูงอายุต้อง “รับมือ” อย่างไร
สำหรับใครที่กำลังจะก้าวเข้าสู่การเป็นผู้สูงอายุ หรืออยากจะรู้ว่าจะต้องทำอย่างไรในอนาคตเพื่อเตรียมพร้อมเมื่อวันนั้นมาถึง มีหลายสิ่งหลายอย่างที่เราจะต้องเตรียมตัว ไม่ว่าเราจะมีลูกหลานหรือไม่ การเตรียมตัวที่จะอยู่ได้ด้วยตัวเองให้ได้นั้นดีที่สุด แล้วเราจะต้องเตรียมตัวอย่างไรบ้าง
- ออมเงิน คือ สิ่งแรกที่ควรเตรียมตัวสำหรับอนาคต ทุกคนคงนึกภาพออกว่าในวันที่เราหาเงินด้วยเรี่ยวแรงไม่ได้แล้วจะเป็นอย่างไร เราจึงควรมีเงินเก็บสำหรับช่วงเวลาสุดท้าย สิ่งที่ต้องมองหานอกจากการเก็บเงินแล้ว คือกองทุนที่ลงทุนในระยะยาวและปลอดภัย เพราะการลงทุนมีความเสี่ยง เราจึงควรลงทุนในสินทรัพย์ที่ไม่ผันผวนมากเกินไป การฝากประจำ การลงทุนในประกันชีวิตแบบออมเงินบำนาญน่าจะเป็นทางออกที่ดี
- อาชีพหลังเกษียณ ไม่ใช่ว่าแก่แล้วจะไร้น้ำยาซะทีเดียว สำหรับบางคนยิ่งแก่ก็ยิ่งเก๋าประสบการณ์ เราเรียนรู้มาตลอดว่าในชีวิตไม่ควรมีอาชีพเดียว มองหาความสามารถอื่น ๆ ของคุณ เผื่อลู่ทางไว้สำหรับหลังจากเกษียณจากการทำงานหลัก อาจลองทำงานเบา ๆ เช่น ปลูกต้นไม้ เลี้ยงสัตว์ หรืองานอื่น ๆ ที่ไม่ต้องพึ่งแรงกายมาก บางทีอาจจะต่อยอดได้อีกจนรวยขึ้นหลังเกษียณก็ได้
- ประกันสุขภาพ เมื่ออายุมาก แน่นอนว่ามันจะต้องมาพร้อมกับความเจ็บป่วย วางแผนประกันสุขภาพหลังเกษียณให้ดี เช็กให้ดีว่ามีประกันอะไรที่ทำไว้บ้าง และยังขาดอะไร โรคเกี่ยวกับหัวใจ โรคมะเร็ง โรคเบาหวาน โรคไต คือโรคพื้นฐานที่ยิ่งแก่จะยิ่งมีโอกาสเป็น ดังนั้นมองหาประกันสุขภาพที่คุ้มครองหลาย ๆ โรคและคุ้มครองตลอดชีวิตได้ยิ่งดี อย่าลืมดูประกันจากภาครัฐอย่าให้ขาด ถ้ามีประกันสังคม ควรจะส่งเบี้ยต่อไป เพราะมันจะเป็นประกันพื้นฐานที่เป็นที่พึ่งให้คุณได้เสมอ
- ที่อยู่อาศัย มองหาที่อยู่สุดท้ายของคุณ ว่าสุดท้ายแล้วคุณอยากจะอยู่ที่ไหน แนะนำว่าเลือกจากที่ที่คุณสบายใจจะอยู่ที่สุด ไม่ว่าจะบ้านเดิม บ้านปัจจุบันที่อยู่กับลูกหลาน หรือบางคนคิดจะไปอยู่ในที่อากาศดีดีในต่างจังหวัด ส่งเหล่านี้ควรเตรียมการแต่เนิ่น ๆ คุณอาจจะลองมองหาคอมมูนิตี้ที่เป็นสังคมผู้สูงอายุที่ไปอยู่รวมกันได้ ชวนเพื่อน ๆ ไปอยู่ด้วยกันน่าจะสนุกดี
- เที่ยวซะให้พอ หลังจากเกษียณ หรือก่อนเกษียณ คุณควรลองคิดว่าอะไรที่ยังไม่ได้ทำ ที่ไหนที่อยากไปแต่ยังไม่ได้ไป ควรจะหาทางไปทำซะ ก่อนที่จะไม่มีแรง อย่าให้ต้องเสียดายกับคำกล่าวที่ว่าตอนมีแรงไม่มีเวลา ตอนมีเวลากลับไม่มีแรง คุณอาจจะลองวางแผนสำหรับอนาคตด้วยการจัดการกองทุนสำหรับท่องเที่ยวของคุณ ว่าปีไหนจะไปไหน จะทำอะไร การวางแผนอย่างชัดเจนจะทำให้คุณแน่ใจว่าจะไม่เพลิดเพลินจนใช้เงินเก็บหมด
- จัดการมรดก สำหรับใครที่มีมรดกและมีทายาท เมื่อเริ่มเข้าสู่ความสูงวัย ควรจัดการเรื่องนี้ให้เรียบร้อย เพราะเหตุไม่คาดฝันมีได้เสมอ คุณควรจะเขียนพินัยกรรมเอาไว้เพื่อที่เวลาที่คุณจากไปแล้ว ลูกหลานจะได้ไม่มีปัญหากัน
ถ้าคุณจัดการตามนี้ได้ทั้งหมดก็ถือว่าคุณภาพชีวิตเพอร์เฟคมากแล้ว ในชีวิตจริงน้อยคนนักที่จะมีทางเลือกสำหรับวัยเกษียณมากมาย บางคนต่อให้อายุมากแค่ไหนก็ยังหยุดทำงานไม่ได้ เพราะตลอดชีวิตที่ผ่านมาไม่ได้มีโอกาสมากนัก
บางคนที่มีเงินมากมายแต่ยังสนุกกับชีวิต ชอบที่จะทำงานหนักมากกว่าที่จะไปอยู่เฉย ๆ บางคนทำงานหนักทั้งชีวิตพอถึงเวลาเกษียณร่างกายกลับเอาคืนอย่างหนัก ชีวิตมันขึ้นอยู่กับ “ความสมดุลในการใช้ชีวิต” ตั้งแต่เกิดจนตาย ดังนั้นต่อให้คุณวางแผนมาดีก็ไม่ได้หมายความว่าทุกอย่างจะราบรื่นหลังวัยเกษียณ รู้ใจเข้าใจถึงเรื่องนี้ดี ไม่ว่าคุณจะใช้ชีวิตมาหนักขนาดไหน จะเกษียณอย่างมีคุณภาพชีวิตหรือไม่ อย่างน้อยสิ่งที่คุณจะต้องมีก็คือประกัน ไม่ว่าจะประกันชีวิต ประกันอุบัติเหตุส่วนบุคคล หรือประกันโรคร้ายแรงต่าง ๆ ทั้งหมดที่กล่าวมาจะทำให้คุณก้าวย่างสู่สังคมสูงวัยอย่างมั่นใจ อย่างน้อยคุณจะภูมิใจที่ตัวเองไม่เป็นภาระต่อลูกหลานและประเทศชาติ
สามารถติดตามข้อมูลข่าวสารและโปรโมชั่นใหม่ ๆ จากรู้ใจได้ทาง FB Fan page: Roojai หรือ คลิก add Official Line ของเราไว้ได้เช่นกัน