มิจฉาชีพออนไลน์เกลื่อนเมือง ต้องระวังและต้องรู้ทางหนีทีไล่เมื่อประสบเหตุต้องทำยังไง และในปัจจุบันนี้มีวธีการแจ้งความที่สะดวกและรวดเร็วขึ้น ด้วยวิธีการแจ้งความออนไลน์โดยไม่ต้องไปโรงพัก เพียงแค่มีอินเทอร์เน็ตก็สามารถ ‘เชื่อมต่อ’ กับเจ้าหน้าที่ตำรวจเพื่อแจ้งเรื่องร้องเรียนได้ทันที ซึ่งจะมีความน่าสนใจและเป็นประโยชน์มากแค่ไหน ไปติดตามพร้อม ๆ กับ “รู้ใจ” ได้เลย
- แจ้งความออนไลน์ คืออะไร?
- ขั้นตอนลงทะเบียน ก่อนแจ้งความออนไลน์
- ขั้นตอนการแจ้งความออนไลน์
- เมื่อรู้ตัวว่าตกเป็นเหยื่อต้องทำยังไง?
- คดีแบบไหนที่ต้องแจ้งความออนไลน์?
- ไม่อยาก “ถูกหลอกโอนเงิน” ต้องทำยังไง ?
- แจ้งความออนไลน์ต้องระวังเพจปลอม!
แจ้งความออนไลน์ คืออะไร?
การแจ้งความออนไลน์ คือ การแจ้งความอีกรูปแบบหนึ่ง ซึ่งได้รับการพัฒนาขึ้นมาเพื่อให้ประชาชนสามารถดำเนินการ “แจ้งความออนไลน์” ผ่านทางเว็บไซต์ได้ทันที เพิ่มความสะดวก รวดเร็ว โดยประชาชนสามารถเข้าใช้งานได้อย่างปลอดภัย ข้อมูลส่วนตัวไม่รั่วไหลแน่นอน
ขั้นตอนลงทะเบียน ก่อนแจ้งความออนไลน์
ก่อนที่คุณจะดำเนินการแจ้งความ สิ่งแรกที่ต้องทำคือลงทะเบียนสู่ระบบเพื่อยืนยันตัวตนให้เรียบร้อยก่อน สิ่งที่ต้องเตรียมและจำเป็นต้องใช้คือ “บัตรประจำตัวประชาชน” จากนั้นให้ทำตามวิธีการแจ้งความออนไลน์ต่อไปนี้ได้เลย
- เข้าเว็บไซต์ “สำนักงานตำรวจแห่งชาติ”
- จากนั้นคลิก “เข้าสู่ระบบ” และคลิก “คลิกเพื่อลงทะเบียน”
- กรอกข้อมูลผู้ใช้ให้ถูกต้อง ครบถ้วน และเป็นความจริง
- คำนำหน้า, ชื่อภาษาไทย, นามสกุลภาษาไทย
- เบอร์โทรศัพท์
- อีเมล (กรอกหรือไม่กรอกก็ได้)
- วันเดือนปีเกิด
- เลขประจำตัวประชาชน, Laser Code หลังบัตรประจำตัวประชาชน
- เลือกเบอร์โทรศัพท์หรืออีเมล เป็น “รหัสผู้ใช้งาน” จากนั้นกำหนดรหัสผ่านและยืนยันรหัสผ่านให้เรียบร้อย
ขั้นตอนการแจ้งความออนไลน์
หลังจากที่ลงทะเบียนเสร็จเรียบร้อย หรือคุณมีบัญชีอยู่ก่อนแล้ว ให้เข้ามาที่เว็บไซต์สำนักงานตำรวจแห่งชาติเพื่อดำเนินการแจ้งความมิจฉาชีพออนไลน์ได้เลย โดยมีขั้นตอนดังต่อไปนี้
- Log In ด้วยเบอร์โทรศัพท์หรืออีเมลที่ลงทะเบียนไว้
- คลิก “แจ้งเรื่องใหม่” ที่มุมซ้ายของหน้าจอ
- อ่านข้อตกลงให้ครบถ้วน จากนั้นคลิก “ยอมรับ”
- ตอบคำถามก่อนแจ้งความให้ครบถ้วน จากนั้นแจ้งธนาคารเพื่อขออายัดบัญชีก่อนแจ้งความ พร้อมกับกรอกเลขอ้างอิงที่ได้รับ เมื่อดำเนินการเสร็จแล้วให้กดปุ่ม “ถัดไป”
- กรอกข้อมูลเกี่ยวกับการพบเจ้าพนักงาน และระบุหน่วยงานที่สะดวกไปพบพนักงานสอบสวน
- กรอกข้อมูลส่วนตัวของคุณเพื่อใช้ในการสอบสวน
- กรอกข้อมูลของเรื่องหรือเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นให้ครบถ้วน ถูกต้อง และกดปุ่ม “ถัดไป”
- กรอกข้อมูลคนร้ายให้ครบถ้วนและถูกต้อง จากนั้นคลิกเพื่อเพิ่มข้อมูลคนร้าย จากนั้นกดปุ่ม “ถัดไป”
- คลิกเพื่อแนบไฟล์ จากนั้นกดปุ่ม “ถัดไป”
- คลิกเพื่อเลือกข้อมูลการกระทำความผิด จากนั้นกดปุ่ม “ถัดไป”
- ตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูล แล้วกด “ยืนยัน”
เมื่อดำเนินการตามขั้นตอนที่เราบอกไปเมื่อสักครู่เสร็จแล้ว “ขั้นตอนสุดท้าย” ให้ทำการกด “ยืนยัน” การแจ้งเรื่องเข้าสู่ระบบ เพียงเท่านี้ก็ถือว่าแจ้งความออนไลน์เสร็จสิ้นแล้ว
หมายเหตุ: กรณีที่แจ้งความก่อนที่จะได้รับ “เลขอ้างอิง” จากธนาคาร สามารถเพิ่มเลขอ้างอิงในภายหลังได้
เมื่อรู้ตัวว่าตกเป็นเหยื่อต้องทำยังไง?
กรณีที่พลาดตกเป็นเหยื่อของมิจฉาชีพ หรือพูดง่าย ๆ ว่า “โอนเงินให้โจร” ไปแล้ว สิ่งที่ควรทำเป็นอันดับแรก คือแจ้งธนาคารเจ้าของบัญชีที่โอนตามขั้นตอนต่อไปนี้
- ธนาคารรับแจ้งและตรวจสอบยืนยันความเป็นเจ้าของบัญชีของผู้เสียหาย เพื่อรับ Case ID ผ่านทางข้อความทางโทรศัพท์
- ธนาคารต้นทางช่วยประสานงานธนาคารปลายทางผู้รับเพื่อทำการอายัดบัญชีผู้รับโอนให้ 72 ชั่วโมง
- นำส่งเอกสารหลักฐานต่าง ๆ ให้ธนาคาร
จากนั้นให้ดำเนินการแจ้งความโดนหลอกโอนเงินออนไลน์ภายใน 72 ชั่วโมง เพื่อให้เจ้าหน้าที่ตำรวจออกเอกสาร แล้วดำเนินการตามขั้นตอนต่อไป โดยการแจ้งความออนไลน์ห้ามโทร 191 เพราะเป็นหมายเลขในการแจ้งเหตุฉุกเฉินต่อเจ้าหน้าที่ตำรวจ ต้องติดต่อเข้ามาเพื่อสอบถามความคืบหน้าได้ที่ ศูนย์ PCT โทร 081-866-3000 หรือ 1599 ตลอด 24 ชั่วโมง
แจ้งความออนไลน์ต้องระวังเพจปลอม!
รู้มั้ย? ขนาดการแจ้งความออนไลน์ยังมีเพจปลอมมาหลอก ดังนั้นก่อนที่แจ้งความออนไลน์ โดนหลอกโอนเงินหรือให้ข้อมูลส่วนตัวกับใคร เช็คให้ดีก่อน เพราะการแจ้งความออนไลน์จะดำเนินการผ่านเว็บไซต์ “สำนักงานตำรวจแห่งชาติ” เท่านั้น
- ไม่มีการรับแจ้งความออนไลน์ผ่านเพจเฟสบุ๊ก
- ไม่มีรับแจ้งความออนไลน์ผ่านแชทแอพฯ ใด ๆ ทั้งสิ้น
- แจ้งความเสียเงินไหม? แจ้งความออนไลน์จะไม่เสียค่าใช้จ่าย
ที่เห็นว่าทางเว็บไซต์สำนักงานตำรวจแห่งชาติ มีให้สแกน QR Code ก็คือสแกนไปที่หน้าเว็บไซต์ และกรณีที่ให้แอดไลน์ก็เป็นเพียงบริการให้คำปรึกษาคดี ไม่ใช่การแจ้งความออนไลน์ผ่านไลน์แต่อย่างใด ในส่วนของเพจเฟสบุ๊ก PCT Police ก็เป็นเพจที่ใช้สำหรับปรึกษา/แนะนำ/แจ้งเบาะแสเท่านั้น
ปัจจุบันมิจฉาชีพมากมายบนโลกออนไลน์ซึ่งเราทุกคนต้องระวัง เพราะแม้แต่การแจ้งความออนไลน์ยังมีมิจฉาชีพหลอกลวง แต่มีสิ่งหนึ่งที่สามารถวางใจและอุ่นใจได้ คือประกันรถยนต์ที่รู้ใจ บริการดีลูกค้ารีวิวให้ 4.9/5 คะแนน เคลมง่ายอู่และศูนย์ซ่อมทั่วไทย ลูกค้าเคลมพอใจ รีวิวงานเคลม 4.7/5 คะแนน รู้ใจพร้อมเดินเคียงข้างคุณทุกการเดินทาง
คดีแบบไหนที่ต้องแจ้งความออนไลน์?
ปัจจุบันการแจ้งความออนไลน์ ยังทำได้เฉพาะการแจ้งความ ปอท. ออนไลน์หรือการแจ้งความเกี่ยวกับการปราบปรามการกระทำผิดเกี่ยวกับอาชญากรรมทางเทคโนโลยี (ปอท.) เท่านั้น โดยมีรายละเอียดดังนี้
- การเผยแพร่ขาวปลอม และความผิดตาม พรบ.คอมพิวเตอร์
- การหลอกลวงออนไลน์ทางด้านการเงิน
- คดีล่วงละเมิดทางเพศต่อเด็กหรือสตรีทางออนไลน์หรือค้ามนุษย์
- การจำหน่ายสิ่งของผิดกฎหมาย หลอกลวงจำหน่ายสินค้าออนไลน์
- การพนันออนไลน์ อาชญากรรมข้ามชาติ
กรณีที่เป็น “ความผิด” ด้านอื่น ๆ ยังจำเป็นจะต้องเดินทางไปแจ้งความที่ “สถานีตำรวจในท้องที่” เหมือนเดิม ในกรณีที่สถานีตำรวจนั้น ๆ ไม่มีอำนาจในการสอบสวน ไม่ต้องกังวล เพราะจะมีการส่งเรื่องต่อไปยังสถานีตำรวจที่มีอำนาจสอบสวนต่อไป
ไม่อยาก “ถูกหลอกโอนเงิน” ต้องทำยังไง?
ด้วยความที่ในปัจจุบัน มิจฉาชีพมี “กลลวง” เยอะแยะเต็มไปหมด หากคุณเป็นอีกหนึ่งคนที่ไม่อยากตกเป็นเหยื่อคนกลุ่มคนเหล่านี้ รู้ใจมีทริคดี ๆ มาบอกต่อทั้งหมด 7 ข้อ โดยมีรายละเอียดดังต่อไปนี้
1. ตั้งสติ
“สติมาปัญญาเกิด” ไม่ว่าคุณคิดจะทำอะไร หรือกำลังเผชิญหน้ากับเหตุการณ์แบบไหนอยู่ “สติ” จะช่วยให้คุณผ่านพ้นเรื่องราวต่าง ๆ ไปได้ด้วยดี นอกจากนี้ยังจะต้องรู้จักสังเกต ระมัดระวังตัว อย่าให้ข้อมูลกับใครง่าย ๆ ไม่ว่าจะผ่านช่องทางใด ๆ ก็ตาม
ในกรณีที่มิจฉาชีพแฝงตัวมาในรูปแบบข้อความทางโทรศัพท์ของธนาคารต่าง ๆ หรือองค์กรที่น่าเชื่อถือ อย่าได้รีบร้อนทำธุรกรรมทางการเงิน (โอนเงิน) เด็ดขาด จนกว่าจะตรวจสอบจนกว่าจะมั่นใจ แต่ตามปกติแล้วธนาคารหรือองค์กรต่าง ๆ ไม่มีนโยบายส่งข้อความให้โอนเงินผ่านข้อความทางโทรศัพท์อยู่แล้ว เพราะฉะนั้นเมื่อเจอเหตุการณ์ซึ่งหน้า อย่าได้ตกใจจนลืมนึกถึงข้อนี้เด็ดขาด
2. อย่ากรอกข้อมูลในทันที
“ข้อมูลส่วนตัว” หรือข้อมูลใด ๆ ก็ตาม ทางธนาคารหรือองค์กรต่าง ๆ ก็ไม่มีนโยบายส่ง ข้อความทางโทรศัพท์เพื่อขอข้อมูลส่วนตัวอยู่แล้ว ไม่ว่าจะเป็นเลขบัตรประชาชน เลขบัญชีธนาคาร เลขที่บัตรเครดิต/เดบิต หรืออื่น ๆ กรณีที่ไม่แน่ใจ แนะนำให้สอบถามทางธนาคารหรือองค์กรนั้น ๆ ด้วยตัวเองจะดีที่สุด
3. สังเกต ‘ลิงก์’ ที่แนบมากับข้อความให้ดี
หากข้อความทางโทรศัพท์หรือข้อความจากแพลตฟอร์มต่าง ๆ ที่ส่งเข้ามาให้คุณ มีการแนบ “ลิงก์” เข้ามาด้วย เช่น มิจฉาชีพอ้างว่าตัวเองมาจากธนาคาร xxx พร้อมแนบลิงก์ให้คุณกดดำเนินการต่อ ให้สังเกตลิงก์ให้ดี เพราะปกติแล้วจะขึ้นต้นด้วย https:// เท่านั้น รวมถึงมี “สัญลักษณ์รูปกุญแจ” อยู่ด้านหน้าชื่อ นอกจากนี้ยังจำเป็นจะต้องตรวจสอบชื่อลิงค์เว็บให้ดีด้วยว่าถูกต้องหรือไม่
4. ไม่ใช้ Wi-Fi สาธารณะ
การใช้ Wi-Fi สาธารณะ ก็เป็นอีกหนึ่ง “ช่องโหว่” ที่ทำให้คุณตกเป็นเหยื่อของมิจฉาชีพได้ง่าย เพราะกลุ่มมิจฉาชีพ ‘อาจ’ ใช้สัญญาณ Wi-Fi ในการเจาะข้อมูลสำคัญต่าง ๆ เช่น Username และ Password ในการเข้าไปขโมยเงินบัญชีของคุณได้
5. จำกัดวงเงินเบิกถอนต่อวัน
กรณีที่ไม่มีความจำเป็นจะต้องเบิกถอนเงินต่อวันมากมายอะไร แนะนำให้ “จำกัดวงเงิน” เพื่อลดความเสี่ยงในการสูญเงินจำนวนมาก และในปัจจุบันก็สามารถดำเนินการ “เปลี่ยนวงเงิน” เบิกถอนต่อวันผ่านทางแอปพลิเคชันได้ง่าย ๆ โดยไม่ต้องเดินทางไปดำเนินการที่ธนาคาร
6. รีบเปลี่ยนรหัส
กรณีที่พลาดให้ข้อมูลต่าง ๆ ไปแล้ว ให้รีบเปลี่ยนรหัสในการทำธุรกรรมต่าง ๆ ทันที พร้อมกับรีบติดต่อธนาคารเพื่อ “อายัดบัญชี” และแจ้งความกับเจ้าหน้าที่ตำรวจ
7. แชร์ความรู้ต่อ
เพื่อป้องกันไม่ให้เพื่อน คนรอบตัว ครอบครัว หรือคนอื่น ๆ ตกเป็นเหยื่อของมิจฉาชีพต่อไป แนะนำให้แชร์ความรู้ และวิธีการรับมือ เพื่อให้พวกเขารู้เท่าทันและไม่พลาดท่าให้กับแก๊งมิจฉาชีพ
เป็นยังไงกันบ้าง? สำหรับรายละเอียดของวิธีการรับมือเมื่อโดนหลอกให้โอนเงินและการแจ้งความออนไลน์ ที่เรานำมาบอกต่อในวันนี้ เรียกได้ว่าเป็นประโยชน์มาก ๆ เลย แต่ไม่ว่าคุณจะกำลังโดนหลอกหรือพลาดท่าตกเป็นเหยื่อไปแล้ว “สติ” คือสิ่งที่สำคัญมาก ๆ พยายามเรียกสติของตัวเองกลับมาให้เร็วที่สุด และดำเนินการแจ้งอายัดบัญชี ขอ Bank Case ID และแจ้งความทันที
สามารถติดตามข่าวสาร สาระความรู้เกี่ยวกับสุขภาพ รถยนต์ มอเตอร์ไซค์ รวมถึงประกันภัยออนไลน์ต่าง ๆ จากรู้ใจได้ที่ Facebook Page: Roojai หรือคลิกที่นี่เพื่อเพิ่มเราเป็นเพื่อนใน LINE ได้เลย (Official Line ID: @roojai)
คำจำกัดความ
Bank Case ID | การขอรหัสตัวเลขหรือตัวอักษรใช้ระบุหมายเลขคดีจากธนาคาร แล้วนำไปแจ้งความกับตำรวจต่อไป |
ธุรกรรมทางการเงิน | การดำเนินการใดๆ ที่เกี่ยวข้องกับเงินหรือสินทรัพย์ทางการเงิน ไม่ว่าจะเป็นจ่ายค่าสินค้า ถอนเงิน โอนเงิน ลงทุน ไปจนถึงการกู้ยืม |
อาชญากรรมทางเทคโนโลยี | การกระทำผิดกฎหมายที่ใช้เทคโนโลยีเป็นเครื่องมือในการกระทำความผิด |