หลังจากเริ่มต้นปีหมูไปไม่ถึง 2 เดือน ปีนี้อาจไม่ใช่ปีทองอย่างที่คิด เพราะเริ่มต้นปีด้วยปัญหามลพิษ ที่ทำเอา “หมูทอง” กลายเป็น “หมูป่วย” กันเป็นแถว จากฝุ่นละอองในอากาศที่มากเกินค่ามาตรฐานลอยอยู่เต็มท้องฟ้า มองไปทางไหนก็เห็นแต่คนใส่หน้ากากเต็มไปหมด จนทำให้เรื่องของเจ้าฝุ่นละอองขนาดจิ๋ว PM 2.5 กลายเป็นวาระแห่งชาติไปแล้ว วันนี้ Roojai.com ขอมีส่วนร่วมในการลดมลพิษ ด้วยการนำเรื่องราวที่น่าสนใจเกี่ยวกับ “ค่ามาตรฐานไอเสียยูโร“ หรือ ที่เรียกติดปากว่า “มาตรฐานยูโร” ซึ่งเป็นอีกหนึ่งปัจจัยที่จะช่วยลดปริมาณฝุ่นพิษ ที่หลายๆ คนกำลังให้ความสนใจ มาให้ทุกคนได้ทราบกัน
ก่อนจะเข้าเรื่องมาตรฐานไอเสีย เรามาทำความรู้จักกับ เจ้าฝุ่นจิ๋ว PM 2.5 กันอีกครั้ง PM 2.5 (Particulate Matter) คือ ฝุ่นละอองขนาดเล็กไม่เกิน 2.5 ไมครอน เทียบง่ายๆ ว่ามีขนาดประมาณ 1 ใน 25 ของเส้นผ่านศูนย์กลางของเส้นผมมนุษย์ ขนจมูกของมนุษย์ไม่สามารถกรองได้ดังนั้น PM 2.5 จึงสามารถแพร่กระจายเข้าสู่ทางเดินหายใจ กระแสเลือด และแทรกซึมสู่กระบวนการทำงานของอวัยวะต่างๆ ในร่างกาย เพิ่มความเสี่ยงเป็นโรคเรื้อรังและมะเร็ง ตามคำเตือนขององค์การอนามัยโลก สำหรับต้นตอและแหล่งกำเนิดนั้นมาจากหลายๆ ปัจจัย และหนึ่งในสาเหตุก็มาจากการเผาไหม้ของเครื่องยนต์ที่ใช้เชื้อเพลิงทั้งดีเซลและแก๊สโซฮอล์ อีกทั้งยังเป็นแหล่งกำเนิดของออกไซด์ของไนโตรเจน (NOx) และซัลเฟอร์ไดออกไซด์ (SO2) อีกด้วย
มาตรฐานไอเสีย EURO คืออะไร?
การควบคุมค่ามาตรฐานไอเสียในอุตสาหกรรมยานยนต์นั้น เริ่มต้นจากการเล็งเห็นปัญหาของมลพิษในอากาศที่เพิ่มมากขึ้นทุกปี ซึ่งรถยนต์รวมถึงยานพาหนะรูปแบบต่าง ๆ ที่ขับเคลื่อนด้วยเครื่องยนต์สันดาปคือสาเหตุหลักที่ทำให้มลพิษในอากาศเพิ่มมากขึ้น ดังนั้นในแต่ละประเทศจึงจำเป็นต้องมีการควบคุมค่ามาตรฐานไอเสีย สำหรับอุสาหกรรมยานยนต์ โดยมีกลุ่มประเทศในทวีปยุโรป (EUROPEAN EMISSION STANDARDS) เป็นผู้ริเริ่มให้มีการวางกฎระเบียบต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับการป้องกันและแก้ไขปัญหาด้านสิ่งแวดล้อม ในด้านการใช้เชื้อเพลิงในภาคการขนส่ง ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งที่มีการปล่อยมลพิษให้กับสิ่งแวดล้อม ภายใต้มาตรฐานควบคุมการปล่อยมลพิษของยานยนต์ที่ออกมาจากโรงงานสำหรับขายในภูมิภาคยุโรป อันเป็นที่มาของ มาตรฐานไอเสีย EURO ที่ใช้อยู่ในปัจจุบัน
โดยเริ่มมีการควบคุมการปล่อยมลพิษจากยานพาหนะอย่างเป็นระบบตั้งแต่ปี ค.ศ. 1992 (พ.ศ. 2535) มีการกําหนดมาตรฐานไอเสีย EURO 1 สําหรับยานพาหนะควบคู่กับมาตรฐานของเชื้อเพลิง เพื่อให้ยานพาหนะที่ผลิตจําหน่ายออกมาปลดปล่อยไอเสียได้ไม่เกินเกณฑ์มาตรฐานที่กําหนด ซึ่งผลจากการกําหนดมาตรฐาน ดังกล่าว ก่อให้เกิดการพัฒนาปรับปรุงเปลี่ยนแปลงทั้งในด้านเทคโนโลยียานพาหนะ เพื่อให้สามารถควบคุมการปลดปล่อยมลพิษให้ไม่เกินเกณฑ์มาตรฐาน และในด้านน้ำมันเชื้อเพลิงซึ่ง ได้แก่ น้ำมัน เบนซิน และดีเซลก็ได้มีการพัฒนาเทคโนโลยีการผลิต เพื่อลดองค์ประกอบที่ก่อให้เกิดมลพิษให้น้อยลงเช่นกัน
มาตรฐานไอเสีย EURO วัดจากอะไรและวัดกันอย่างไร?
มาตรฐานไอเสียและมาตรฐานน้ำมันเชื้อพลิงที่ได้กําหนดไว้นั้น ได้มีการพัฒนาให้มีความเข้มงวดมากขึ้นเป็นระยะๆ เพื่อให้สอดคล้องกับสภาพสิ่งแวดล้อม และปริมาณมลพิษที่ถูกปลดปล่อยออกมาตามปริมาณการใช้เชื้อเพลิง แบ่งออกเป็นระดับต่างๆ ตั้งแต่ Euro 1 จนถึงล่าสุด Euro 6 ที่เริ่มใช้กันในต่างประเทศตั้งแต่ปี 2014 แล้ว โดยหลักๆ จะเป็นการวัดจากระดับของสารพิษอย่าง คาร์บอนมอนอกไซด์ (CO) , สารไฮโดรคาร์บอน (HC) , สารไนโตรเจนออกไซด์ (NOx) , สารมลพิษอนุภาคและฝุ่นละอองขนาดเล็ก (PM) ซึ่งแบ่งตาม ขนาด ประเภท และลักษณะของเครื่องยนต์
การทดสอบค่าปริมาณสารมลพิษตามมาตราฐานยูโร
รถยนต์เครื่องยนต์เบนซิน (แก๊สโซลีน) และรถยนต์เครื่องยนต์เบนซิน ตาม UN R83 จะมีความแตกต่างกัน โดยในส่วนของรถยนต์ที่ใช้เครื่องยนต์เบนซิน (แก๊สโซลีน) นั้น จะประกอบด้วยการทดสอบ 7 ลักษณะ ดังนี้
ลักษณะที่ 1 : ปริมาณสารมลพิษภายหลังการติดเครื่องขณะเย็น
ลักษณะที่ 2 : ปริมาณคาร์บอนมอนอกไซด์ในขณะเครื่องยนต์เดินเบา
ลักษณะที่ 3 : ปริมาณสารมลพิษจากห้องข้อเหวี่ยง
ลักษณะที่ 4 : ปริมาณสารมลพิษไอระเหย มีค่ามาตรฐานของการทดสอบรับรองเฉพาะแบบการ
ลักษณะที่ 5 : ความทนทานของอุปกรณ์ควบคุมสารมลพิษ
ลักษณะที่ 6 : ทดสอบปริมาณสารมลพิษจากรถยนต์ที่อุณหภูมิต่ำ (-7 °C)
ลักษณะที่ 7 : การทดสอบระบบวินิจฉัยอุปกรณ์ควบคุมสารมลพิษ (OBD)
รถยนต์ขนาดเล็กที่ใช้เครื่องยนต์ดีเซล นอกจากการทดสอบค่าปริมาณสารมลพิษ ภายหลังติดเครื่องเย็นจะทำการวัดปริมาณสาร มลพิษไอเสีย (HC+NOx, NOx และ CO) แล้ว ยังมีการทดสอบทดสอบปริมาณ สารมลพิษอนุภาคปริมาณของฝุ่นละอองที่ปนมากับอากาศ (PM) ผสมกับไอเสียจากการเผาไหม้ของเครื่องยนต์ โดยนำฝุ่นละอองมาชั่งน้ำหนักหาปริมาณของสารมลพิษว่ามีน้ำหนักเท่าไร ซึ่งจะต้องไม่เกินเกณฑ์ที่กาหนดไว้
มาตรฐานควบคุมไอเสียยูโรในไทย..ไปถึงขั้นไหนแล้ว?
สาหรับประเทศไทยนั้นได้เริ่มมีการใช้มาตราฐานไอเสียตามสหภาพยุโรป โดยกรมควบคุมมลพิษ เพื่อเป็นตัวกำหนดปริมาณการปล่อยปริมาณไอเสียของรถที่จำหน่ายในประเทศ ซึ่งเริ่มครั้งแรกกับรถยนต์นั่งขนาดเล็กในปี 2542 ที่จะต้องผ่านมาตรฐานไอเสีย Euro 2 ก่อนจะขยับเป็น Euro 3 ในปี 2548 ล่าสุดขยับเป็นมาตรฐานการควบคุมปริมาณสารมลพิษ Euro 4 อ้างอิงตามมาตรฐาน ECER.83-05 ซึ่งตรงกับมาตรฐาน มอก.2540-2554 และ มอก.2550-2554 เริ่มตั้งแต่ปี 2556 จนถึงปัจจุบัน
ตัวอย่างค่ามาตรฐานการปล่อยไอเสีย Euro 4 จากรถยนต์ที่ใช้เครื่องยนต์เบนซินและเครื่องยนต์ดีเซลขนาดเล็กในประเทศไทย กำหนดให้รถยนต์ที่ผ่านการทดสอบจะต้องมีปริมาณการปล่อยสารมลพิษไอเสียต่ำกว่าเกณฑ์ที่กำหนด ประกอบไปด้วย
คาร์บอนมอนออกไซด์ต้องไม่เกิน 0.5 g/km
ไนโตรออกไซด์ต้องไม่เกิน 0.25 g/km
ไฮโดรคาร์บอน+อนุพันธ์ไนโตรออกไซด์ ต้องไม่เกิน 0.3 g/km
และท้ายสุดคือ อนุภาคฝุ่นที่มีขนาด 10 ไมครอน ต้องไม่เกิน 0.025 g/km ผลที่ได้จากการปรับค่ามาตรฐานไอเสียยูโรในระดับที่สูงขึ้น
หลังจากที่มีการปรับปรุงมาตรฐานรถยนต์และคุณภาพน้ำมันดีเซล Euro 3 ในปี พ.ศ. 2548 โดยกำหนดลักษณะและคุณภาพเชื้อเพลิงในด้านต่างๆ ที่เหมาะสมกับการใช้งานของเครื่องยนต์และเพื่อการควบคุมการระบายมลพิษ โดยเฉพาะฝุ่นละออง ควันดำ และก๊าซซัลเฟอร์ไดออกไซด์ โดยมีประกาศในปี พ.ศ. 2536, 2539, 2542, และ 2547 กำหนดปริมาณกำมะถันไม่เกินร้อยละ 0.5 0.25 0.05 และ 0.035 โดยน้ำหนักตามลำดับ การลดกำมะถันในน้ำมันดีเซล ทำให้รถยนต์ปล่อยไอเสียที่มีก๊าซซัลเฟอร์ไดออกไซด์ลดลง ยังส่ง ผลเกิดฝุ่นซัลเฟตน้อยลง ทำให้ฝุ่นละอองขนาดเล็ก PM10 ลดลง 14.4 มคก./ลบ.ม. หรือร้อยละ 18.3 หลังจากใช้มาตรฐานรถยนต์ยูโร 3
จากความสำเร็จที่ได้รับ กรมควบคุมมลพิษจึงได้ศึกษาแนวทางการปรับปรุงมาตรฐานรถยนต์และคุณภาพน้ำมันดีเซล Euro 4 โดยพิจารณาการปรับลดกำมะถันในน้ำมันเบนซินจาก 500 ส่วนในล้านส่วน (ppm) ให้เหลือไม่เกิน 50 ppm และปรับลดกำมะถันในน้ำมันดีเซลจาก 350 ppm ให้เหลือไม่เกิน 50 ppm. ซึ่งผลการศึกษาจะช่วยลดมลพิษต่างๆ ได้ดังนี้
“การปรับลดกำมะถันในน้ำมันเบนซินตามมาตรฐานรถยนต์ Euro 4” ส่งผลให้
– ลดการระบายมลพิษจากไอเสีย ได้แก่ก๊าซคาร์บอนมอนอกไซด์ลดลงร้อยละ 28 ก๊าซไฮโดรคาร์บอนลดลงร้อยละ 38 ก๊าซออกไซด์ของไนโตรเจนลดลงร้อยละ 26 และสารเบนซินลดลงร้อยละ 71
– ลดการระบายมลพิษออกสู่บรรยากาศ ได้แก่ ก๊าซคาร์บอนมอนอกไซด์ลดลง 32,650 ตัน/ปี ก๊าซไฮโดรคาร์บอนลดลง 11,892 ตัน/ปี ก๊าซออกไซด์ของไนโตรเจนลดลง 7,188 ตัน/ปี และสารเบนซินลดลง 1,548 ตัน/ปี
“การปรับลดกำมะถันในน้ำมันดีเซลตามมาตรฐานรถยนต์ Euro 4” ส่งผลให้
– ลดการระบายมลพิษจากไอเสีย ได้แก่ ก๊าซคาร์บอนมอนอกไซด์ลดลงร้อยละ 31 ก๊าซไฮโดรคาร์บอนร้อยละ 20 ก๊าซออกไซด์ของไนโตรเจนร้อยละ 3 และฝุ่นละอองลดลงร้อยละ 15
– ลดการระบายมลพิษออกสู่บรรยากาศ: ก๊าซคาร์บอนมอนอกไซด์ลดลง 26,194 ตัน/ปี ก๊าซไฮโดรคาร์บอนลดลง 5,854 ตัน/ปี ก๊าซออกไซด์ของไนโตรเจนลดลง 4,446 ตัน/ปี และฝุ่นละอองลดลง 1,732 ตัน/ปี
– ลดระดับฝุ่นละอองในบรรยากาศ 4.05 มคก./ลบ.ม.
– ลดผลกระทบทางด้านสุขภาพอนามัย และช่วยลดอัตราการตายก่อนวัยอันควร ไถ้ถึง 284-810 ราย/ปี คิดเป็นมูลค่า 22,680 – 56,700 ล้านบาท/ปี
ข่าวดี!…คนไทยจะได้ใช้รถยนต์มาตรฐานยูโร 5-6 กันแล้ว
ล่าสุด นายวิเชียร จุ่งรุ่งเรือง อธิบดีกรมควบคุมมลพิษ ได้ออกมากล่าวถึง การเตรียมกำหนดแผนที่จะบังคับใช้มาตรฐานไอเสียสำหรับรถยนต์ใหม่ให้เป็นไปตามมาตรฐานยูโร 5 หรือ 6 ในปี 2563 และการกำหนดบังคับใช้มาตรฐานน้ำมันเชื้อเพลิงก็ต้องเป็นไปในทิศทางที่สอดคล้องกัน ทั้งน้ำมันเบนซิน แก๊สโซฮอล์ และดีเซล โดยกำมะถันจะถูกลดลงไปเหลือเพียง 10 ppm เท่านั้น หรือลดลงจากมาตรฐานยูโร 4 ถึง 5 เท่าตัว ส่วนรถจักรยนต์ ในปี 2562 จะบังคับให้ผลิตมาตรยูโร 5 จากปัจจุบันเป็นยูโร 3
นอกจากนี้จะประสานกรมการขนส่งทางบก เข้มข้นการตรวจสอบมาตรฐานรถเก่าทั้งรถจักรยานยนต์ที่ต้องตรวจกรณีอายุเกิน 5 ปี และรถยนต์อายุเกิน 7 ปี หากปล่อยมลพิษเกินค่ามาตรฐานก็จะไม่ปล่อยให้ออกมาวิ่งในท้องถนน เพราะผลการศึกษาพบว่ารถเก่า 1 คัน ปล่อยมลพิษเท่ากับรถใหม่ 7-10 คัน และยังอยู่ระหว่างการศึกษาว่าเมื่อเข้าสู่ประชาคมอาเซียน (เออีซี) ในปลายปี 2558 แล้ว รถสมาชิกเออีซีที่ปล่อยมลพิษสูงกว่ามาตรฐานยูโร 4 อาจจะให้วิ่งเฉพาะพื้นที่ชายแดน ไม่ให้เข้ามาในเขตเมือง
งานนี้มีแรงสนับสนุนค่ายรถยนต์อีกหลายค่ายต่างออกมาขานรับ แสดงพร้อมที่จะยกระดับรถยนต์ของตัวเองสู่มาตรฐาน Euro 5 ในการผลิตรถยนต์รุ่นใหม่ทุกคันภายในปี 2564 ตั้งเป้าจะต้องลดการปล่อยฝุ่นพิษได้ร้อยละ 80 และเตรียมยกระดับเป็น Euro 6 ภายใน 2-3 ปีข้างหน้า ถึงตอนนั้นหวังว่าเราคงไม่ต้องใส่หน้ากากเข้าหากันเหมือนในตอนนี้คงจะดีไม่น้อย
ข้อมูลจาก : กรมควบคุมมลพิษ , ศูนย์ทดสอบสถาบันยานยนต์
แต่เราทุกคนก็สามารถปรับพฤติกรรมการใช้รถ..เพื่อลดค่าฝุ่นละอองในอากาศ รวมถึงการดูแลรถยนต์ก็มีส่วนช่วยลดมลพิษได้เพื่อสิ่งแวดล้อมที่ดีของพวกเราทุกคน และอุ่นใจได้มากขึ้น ด้วยการให้ Roojai.com เป็นอีกส่วนช่วยดูแลคุณและรถยนต์ของคุณ ด้วยประกันรถที่รู้ใจคุณที่สุด กับ Roojai.com ประกันรถออนไลน์ พร้อมบริการคุณตลอดเวลา เช็คเบี้ยออนไลน์ได้ราคาทันทีผ่านเว็บไซต์ กับราคาที่แฟร์กว่า คำนวณตามลักษณะการขับขี่ของคุณโดยเฉพาะ