อุปกรณ์ทุกชิ้นอะไหล่ทุกส่วนล้วนมีอายุการใช้งานทั้งสิ้น และทุกอย่างย่อมมีเสื่อมสภาพชำรุดเสียหายไปตามระยะเวลา ไม่มีอะไรยั่งยืนคงทนได้ตลอด ชิ้นส่วนต่าง ๆ ของรถยนต์ก็เช่นกัน หากผู้ขับรถใช้งานเกินศักยภาพหรือเกินขอบเขตที่คุณสมบัติเฉพาะตัวพึงมี ก็ยิ่งส่งผลให้ชำรุดเสียหายก่อนเวลาอันควรได้
ในส่วนของระบบเกียร์ก็เป็นอีกหนึ่งชิ้นส่วน หากว่าผู้ขับใช้งานผิดวิธีหรือไม่ระมัดระวังก็ย่อมเกิดผลเสียตามมาได้เสมอ แน่นอนก่อนอื่นต้องรู้ว่าเกียร์นั้นมีหน้าที่อะไร ในทางเทคนิคสามารถอธิบายได้ว่า เกียร์เป็นอุปกรณ์ที่เปลี่ยนอัตราทด ประกอบไปด้วยชุดเฟืองหลาย ๆ ชุดที่ต่อกัน เพื่อให้รถยนต์สามารถส่งกำลังขับเคลื่อนได้มากขึ้น สามารถเคลื่อนที่ไปด้านหน้าหรือถอยหลังก็ได้ สามารถเพิ่มและลดแรงบิดให้กับเพลาเพื่อให้รถยนต์มีกำลังขับเคลื่อนในระยะที่เริ่มต้นและในขณะที่รถวิ่งด้วยความเร็วที่มากขึ้น
ทำอย่างไรให้เกียร์อยู่ได้นานไม่พังก่อนกำหนด ในส่วนของเกียร์ธรรมดา คือต้องใช้เกียร์ให้สัมพันธ์กับความเร็วรอบ ไม่ลากเกียร์ ในส่วนของเกียร์อัตโนมัติไม่จำเป็นก็ไม่ควรต้องคลิกดาวน์บ่อย ๆ หรือหากต้องเจอกับสถานการณ์รถติดนาน ๆ เป็นสิบ ๆ นาที ก็ควรปรับมาให้ตำแหน่ง N ดีกว่าคงเกียร์ D แล้วเหยียบเบรกไว้ ที่สำคัญเกียร์ทั้ง 2 รูปแบบควรเปลี่ยนน้ำมันเกียร์ตามระยะเวลาที่กำหนดไว้ในคู่มือประจำรถ
อย่างไรก็ดี ยังมีคนสงสัยหรือมีพฤติกรรมการใช้เกียร์แปลก ๆ โดยเฉพาะกับตำแหน่งเกียร์ถอยหลัง ว่าสามารถขับเร็ว ๆ ได้ไหมและจะพังไหม ก่อนอื่นเลยต้องบอกว่าอัตราทดของเกียร์ถอยหลังนั้นใกล้เคียงกับเกียร์ 1 แต่ส่วนใหญ่จะมีอัตราทดมากกว่า โดยหน้าที่หลัก ๆ ของเกียร์ถอยหลังคือ เพื่อใช้เปลี่ยนทิศทางการเคลื่อนที่ของรถ ขณะเดียวกันก็มีกำลังหรือแรงฉุดลากเยอะ แต่ไม่ได้ออกแบบให้เป็นเกียร์ที่ใช้เพิ่มความเร็วให้กับรถ และไม่มีอัตราทดต่อเนื่องเหมือนชุดเกียร์เดินหน้า แม้ว่าผู้ขับใช้เกียร์ถอยหลังและกดคันเร่งลึก ๆ แค่ไหน รถก็ไม่ได้แล่นเร็วไปกว่ารอบอัตราทดที่มี นึกภาพง่าย ๆ เหมือนเราขับรถโดยใช้เกียร์ 1 เกียร์เดียวไปตลอดทางนั่นแหละ ส่วนถามว่าจะพังไหม โอกาสมีแน่นอนครับแต่ก็ไม่ได้ว่าจะเกิดขึ้นง่าย ๆ เพราะเราไม่ได้ขับแช่เป็นระยะทางไกล แต่ถ้าทำบ่อย ๆ ก็ย่อมทำให้สึกหรอเร็วขึ้น ที่สำคัญพฤติกรรมการขับถอยหลังเร็ว ๆ ยังเสี่ยงต่อการเกิดอุบัติเหตุอีกด้วย