Roojai

5 ของเล่นโปรดที่ช่วยให้เด็กไม่งอแงบนรถ

เชื่อว่าบรรดาคุณพ่อคุณแม่หลายๆ คน ต้องเคยประสบปัญหาชนิดปวดขมับ จากอาการร้องไห้กระจองอแง ดื้อเอาแต่ใจของลูกน้อยในช่วงวัย 2-5 ขวบ ซึ่งวิธีการปราบพยศที่ใช้ได้ดีในทุกยุคทุกสมัย คือการอุ้ม กอด ปลอบโยน หรือหยอกล้อพูดคุย เพื่อสร้างความอบอุ่นใจให้เด็กนิ่งและสงบลง แต่หากในกรณีที่ต้องขับรถไปนอกบ้าน ครั้นจะอุ้มหรือโอ๋ตลอดเวลา ก็คงไม่สะดวกนัก หลายๆ คนจึงใช้วิธีรับมือลูกน้อย ด้วยการหาสารพัดของเล่นหรือสิ่งของมาล่อใจเพื่อสะกดลูกน้อย โดยวันนี้เราจึงคัดสรร 5 ของเล่นบนรถยอดนิยมที่หลายๆ ครอบครัวเคยใช้รับมือในยามที่ต้องขับรถไปกับลูกๆ

1. ตุ๊กตา-หุ่นยนต์-โมเดลรถ-อุปกรณ์แปลงร่างจากการ์ตูนดัง เรียกว่าเป็นของเล่นบนรถชิ้นเริ่มต้นของทั้งน้องๆ หนูๆ ไม่ว่าชายหรือหญิง ซึ่งของเล่นชนิดนี้เปรียบได้กับเพื่อนซี้ที่สามารถสร้างจินตนาการให้กับเด็กได้ บางครั้งพ่อแม่อาจจะเห็นเด็กนั่งพูดคุยกับตุ๊กตาเป็นเวลานาน อย่างไรก็ดีคุณพ่อคุณแม่ควรใส่ใจในรายละเอียดวัสดุที่ใช้ผลิต โดยเฉพาะกับพลาสติกที่อาจแตกหัก หรือสีเคลือบที่เป็นอันตราย ซึ่งเด็กอาจนำเข้าปากได้

ของเล่นบนรถ

2. แป้งโดว์ปั้นเป็นรูปต่างๆ เป็นของเล่นที่ปลอดภัย อ่อนนุ่มมากกว่าดินน้ำมัน ทำจากวัสดุธรรมชาติที่ทำขนม สามารถนำมาปั้นเป็นรูปต่างๆ ได้ตามจินตนาการของเด็ก เสมือนเป็นการเสริมพัฒนาการให้เด็กมีความคิดที่สร้างสรรค์ เช่น การปั่นแป้งโดว์เป็นสัตว์-สิ่งของ หรือทำเป็นอาหารต่างๆ หลายครั้งมักเห็นการเลียนแบบทำอาหารของคุณแม่

ของเล่นบนรถ

3. ตัวต่อ (เลโก้-บล็อกไม้) ของเล่นบนรถประเภทนี้ มีโครงสร้างที่ซับซ้อน ช่วยฝึกการใช้สมาธิ มือและตาทำงานประสานกัน เป็นของเล่นที่ท้าทายความสามารถของผู้เล่น ส่งเสริมจินตนาการและพัฒนาความเข้าใจเรื่องพื้นที่ ลำดับ และการทำตามขั้นตอนอย่างเป็นกระบวนการ

ของเล่นบนรถ

4. การ์ดพลัง เป็นการ์ดภาพเกี่ยวกับตัวการ์ตูนหรือซุปเปอร์ฮีโร่ต่างๆ วิธีเล่นก็แค่นำการ์ดมาลง เพื่อสู้กับการ์ดของอีกฝ่ายหนึ่ง หากเป็นการ์ดที่มีพลังสูงกว่า ฝ่ายที่ลงการ์ดนั้นก็จะได้การ์ดของฝ่ายแพ้ไป ใครเก็บการ์ดได้มากกว่า ถือว่าเป็นผู้ชนะ ซึ่งหลายคนอาจสงสัยว่าแล้วเด็กจะเล่นกับใครถ้าไปคนเดียว ไม่ต้องห่วงครับ แม้อยู่คนเดียวเด็กๆ ก็สามารถเล่นดับตัวเองได้ เพราะเขามีจินตนาการหรืออาจมีมาคำถามคุณพ่อคุณแม่บ้างว่า “รู้ไหมนี่ตัวอะไร เก่งอย่างไร” เพียงแค่มีการตอบโต้กลับไป ก็ทำให้ของเล่นกระดาษพวกนี้สามารถหยุดความงอแงของน้องๆ หนูๆ ได้ชั่วขณะ

ของเล่นบนรถ

5. สมาร์ทโฟนหรือไอแพด จะบอกเป็นของเล่นก็ไม่ใช่ซะทีเดียว แต่รับรองเด็กๆ สามารถเข้าถึงง่าย แค่ใช้นิ้วแตะหรือถูไถ ก็ทำให้เกิดภาพเคลื่อนไหวหรือเสียงได้ ซึ่งปัจจุบันมีแอปพลิเคชั่นสำหรับเด็กเล็กมากมาย ผู้พัฒนาแอปพลิเคชั่นเหล่านี้ มักอ้างว่าเป็นแอปพลิเคชั่นการศึกษา มีงานวิจัยบางชิ้นแนะนำว่า บางแอปพลิเคชั่นอาจช่วยเพิ่มประสบการณ์การเรียนรู้ให้เด็กได้ จากงานวิจัยล่าสุด โดยกระทรวงศึกษาธิการ ของสหรัฐอเมริกาพบว่าแอปพลิเคชั่นบนไอโพน PBS Kids สามารถเพิ่มการเรียนรู้คำศัพท์ ให้เด็กวัย 3-7 ปี ได้มากถึงร้อยละ 31 ในช่วยระยะเวลา 2 สัปดาห์ ในอีกด้านหนึ่ง มีคำแนะจากสมาคมกุมารแพทย์แห่งสหรัฐอเมริกา (The American Academy of Pediatrics,  AAP) ออกมาย้ำเตือนอีกว่า ไม่ควรให้เด็กเล็กอายุต่ำกว่า 2 ขวบ ใช้เวลากับหน้าจอของอุปกรณ์สื่อสารทุกชนิด เนื่องจากมีความกังวลว่าจะทำให้พัฒนาการทางภาษาล่าช้าและรบกวนการนอนหลับของเด็ก

ของเล่นบนรถ

แต่ยังไงก็ต้องควบคุมเวลาการเล่นไม่ให้เด็กติดเกินไป จนต้องขอเล่นตลอดเวลา

เชื่อว่าในจำนวน 5 ของเล่นที่นำมานำเสนอนี้ คุณพ่อคุณแม่หลายคนก็คงเคยใช้หรือมีไว้รับมือในกรณีที่ต้องขับรถโดยมีลูกๆ ร่วมทางไปด้วย อย่างน้อยก็ช่วยทำตัวนิ่งๆ หรืออยู่ในภวังค์ของตัวเองได้ชั่วขณะ แต่ทว่าเหนือสิ่งอื่นใด ความรักความห่วงใยที่ถ่ายทอดผ่านสายสัมพันธ์ ทั้งจากการโอบกอดหรือพูดคุยนี่แหละ คือสิ่งที่ช่วยรับมือกับเด็กดื้อชอบงอแงได้ดีที่สุด