อาชีพเกษตรกร ชาวไร่ ชาวสวน จัดว่าเป็นอาชีพดั้งเดิมของคนไทยเรา เนื่องจากภูมิประเทศในบ้านเราเหมาะกับการปลูกข้าว เราจึงเป็นแหล่งผลิตข้าวเป็นอันดับต้น ๆ ของโลก โดยการปลูกข้าวเป็นพืชเศรษฐกิจหลัก ต่อมามีการปลูกพืช ผัก ผลไม้เพิ่มเติม ไว้ขายบ้าง ไว้กินกันในครัวเรือนบ้าง แต่ทราบหรือไม่ว่า อาชีพเกษตรกรหรือชาวไร่ชาวสวนนั้น เป็นอาชีพที่ต้องใช้แรงในการทำงาน ต้องทำงานกลางแจ้ง ใช้เครื่องมือที่มีความอันตรายอยู่พอสมควร กอปรกับสารเคมีต่าง ๆ ที่ใช้ไล่ศัตรูพืช อาชีพนี้จึงเป็นอาชีพที่เสี่ยงต่อการเกิดอุบัติเหตุและเสี่ยงต่อการเกิดการบาดเจ็บ แล้วจะสามารถทำประกันอุบัติเหตุได้ไหม ประกันอุบัติเหตุ คุ้มครองอะไรบ้าง ไปดูกันเลย
- อันตรายอะไรบ้างที่เกิดจากอาชีพเกษตรกรรม?
- ทำไมอาชีพเกษตรกรรมมีความเสี่ยงต่อการบาดเจ็บ?
- อุบัติเหตุอะไรบ้างที่ชาวสวน/เกษตรกรควรระวัง?
- ชาวสวน/เกษตรกร มีวิธีป้องกันอันตรายยังไง?
- ชาวสวน/เกษตรกรทำประกันอุบัติเหตุส่วนบุคคลได้มั้ย?
อันตรายอะไรบ้างที่เกิดจากอาชีพเกษตรกรรม?
อาชีพเกษตรกร ชาวสวน ชาวไร่ นอกจากจะเสี่ยงต่อการบาดเจ็บแล้ว ยังเสี่ยงต่อการได้รับสารเคมีเข้าร่างกาย ซึ่งสามารถอธิบายได้ดังนี้
1. อันตรายต่อสุขภาพ
อาชีพเกษตรส่วนใหญ่มีความเสี่ยงต่อการได้รับอันตรายจากสารเคมีและฝุ่นละอองต่าง ๆ ที่เกิดจากการทำงาน โดยเฉพาะสารเคมีที่มีไว้กำจัดศัตรูพืชและแมลงรบกวนต่าง ๆ หากสารเคมีเหล่านั้นเข้าสู่ร่างกาย ไม่ว่าจะทางปาก จมูก หรือสัมผัสผ่านทางผิวหนังก็ตาม จะทำให้เกิดอันตรายต่อร่างกายทั้งในระยะสั้นและระยะยาว เช่น เกิดการระคายเคืองผิวหนัง เคืองตา หน้ามืด มีอาการชาตามมือและเท้า บางรายที่ได้รับสารเคมีเป็นประจำอาจเกิดอาการชัก ซึ่งนำไปสู่การเสียชีวิตได้เลย ไปถึงการก้ม แบกหาม การยกของ ท่าทางที่ไม่ถูกต้องรวมถึง รับน้ำหนักมากเป็นเวลานานบ่อย ๆ ก็มีความเสี่ยงต่อสุขภาพ เช่น ปวดหลัง ปวดตัว กล้ามเนื้ออักเสบ เป็นต้น
2. อันตรายต่อสวัสดิภาพ
การประกอบอาชีพเกษตรกรรมสามารถเกิดอุบัติเหตุและการบาดเจ็บได้ตลอดเวลา เช่น การถูกเครื่องมือ เครื่องจักรทำให้บาดเจ็บ ไม่มีความเชี่ยวชาญหรือชำนาญในการใช้รถแทรกเตอร์ อาจทำให้เกิดอันตราย อุบัติเหตุ รถพลิกคว่ำ หรือหกล้ม ตกจากรถแทรกเตอร์ หรือมือพลาดไปโดนใบพัด ไฟดูด ไฟลวกหรือภัยจากธรรมชาติ อย่าง ไฟป่า ฟ้าผ่า พายุ เป็นต้น
ทำไมอาชีพเกษตรกรรมมีความเสี่ยงต่อการบาดเจ็บ?
สาเหตุที่เกษตรกรรมชาวสวน ชาวนามีความเสี่ยงต่อการบาดเจ็บ สาเหตุเกิดจากปัจจัย ดังนี้
- คน ซึ่งถือเป็นต้นเหตุหลัก ๆ ในการทำให้เกิดอันตราย เช่น ร่างกายไม่พร้อมทำงาน มีอาการเจ็บป่วย สภาพจิตใจไม่ดี ขาดความเชี่ยวชาญหรือขาดความรู้ ความประมาท และไม่ทำตามกฎข้อบังคับที่เกี่ยวกับความปลอดภัยในการทำงาน
- สิ่งแวดล้อม เช่น การใช้สารเคมีและเคมีภัณฑ์ต่าง ๆ เครื่องจักรหรือเครื่องมือในการประกอบ อาชีพ สัตว์ และพืชที่มีพิษ ฝุ่น และภัยจากธรรมชาติ
อุบัติเหตุอะไรบ้างที่ชาวสวน/เกษตรกรควรระวัง?
อุบัติเหตุที่อาจเกิดขึ้นสำหรับชาวสวน หรือคนที่ประกอบอาชีพเกษตรกร มีความเสี่ยง ดังนี้
1. แผลที่ถูกข่วนหรือบาด อาจเสี่ยงบาดทะยัก
แผลที่เกิดจากการถูกบาดหรือถูกข่วนเบา ๆ ก็อาจเสี่ยงบาดทะยัก โดย บาดทะยักเกิดจากการติดเชื้อของแบคทีเรียคลอสตริเดียม เตตานิ ซึ่งชาวสวนเสี่ยงเป็นอย่างมากเพราะเชื้อชนิดนี้มักพบในดิน ฝุ่น รวมไปถึงมูลสัตว์ของม้าหรือวัว โดยเชื้ออาจอยู่ในร่างกายหลายวันหรือหลายสัปดาห์ก็ได้ แต่หากไม่ได้รับการรักษาอาการก็จะเริ่มรุนแรงมากขึ้น ที่น่าตกใจคือบางคนเกิดจากแผลที่มองไม่เห็นด้วยซ้ำ เมื่อเราต้องทำงานกับความเสี่ยง การฉีดวัคซีนก็จะช่วยลดความเสี่ยงโรคบาดทะยักลงได้
2. แมลงและสัตว์มีพิษ
ในพื้นที่การเกษตรมีความเสี่ยงต่อแมลงและสัตว์มีพิษ เช่น ผึ้ง ต่อ มดคันไฟ ตะขาบ หรืองู หากถูกกัดหรือต่อยอาจทำให้ผิวหนังบวมแดง หรือหากถูกพิษอาจรุนแรงถึงขั้นเสียชีวิตได้
3. สารเคมี
ปุ๋ย ยาฆ่าแมลง ที่ต้องใช้อย่างระมัดระวัง และป้องกันตัวเราด้วยการสวมใส่เสื้อผ้าที่มิดชิด สวมแว่นตา หน้ากาก เพราะหากเกิดอุบัติเหตุที่ทำให้สารเคมีเข้าสู่ร่างกาย เช่น สารเคมีเข้าตา สารเคมีหกใส่ตัว หรือเผลอกินเข้าไป แบบนี้ก่อให้เกิดอันตรายต่อตัวเรามาก ๆ
4. พื้นที่การเกษตร
การทำฟาร์มเกษตรนั้น มีพื้นที่ที่ไม่ใช่ทางราบเดินง่าย ๆ เหมือนบนถนน จึงเสี่ยงทั้งหกล้ม เดินสะดุด ลื่นล้ม เป็นต้น ซึ่งอย่าคิดว่าเป็นเพียงเรื่องเล็ก ๆ เพราะหากหกล้มศีรษะกระแทกอย่างแรง ก็อาจนำไปสู่การกระทบกระเทือนทางสมอง และอาจเป็นสาเหตุของการพิการหรือเสียชีวิตได้เลย
5. การใช้เครื่องมือการเกษตร
เครื่องมือเกษตรกรรม อุปกรณ์ทำฟาร์ม เป็นสิ่งที่ช่วยทุ่นแรงของเกษตรกร แต่ก็ยังมีความอันตรายที่ทำให้เราอาจเกิดอุบัติเหตุได้ ซึ่งส่วนใหญ่เกิดจากความประมาท ตั้งแต่อุบัติเหตุเล็ก ๆ น้อย ๆ เช่น ถูกข่วน ถูกบาด หรือถูกหนีบ ไปจนถึงอุบัติเหตุใหญ่ที่รุนแรงถึงขั้นสูญเสียอวัยวะหรือชีวิต ดังนั้นการศึกษาการใช้งานและคำนึงถึงความเสี่ยง ก็จะช่วยให้ใช้งานได้อย่างระมัดระวังมากขึ้น
ชาวสวน/เกษตรกร มีวิธีป้องกันอันตรายยังไง?
1. วิธีป้องกันอันตรายจากคน
- ในตอนทำงาน ควรดูแลสุขภาพจิตและร่างกายให้พร้อมทำงานอยู่เสมอ
- หาความรู้เกี่ยวกับอันตรายที่อาจเกิดขึ้นเพื่อเป็นการระวังและป้องกันตัวเอง
- ทำงานตามกำลังของตน ไม่หักโหมจนเกินไป
- ใส่ใจและระวังเป็นพิเศษหากจำเป็นต้องใช้สารเคมี
- หากต้องใช้เครื่องมือเกษตรกรรม อุปกรณ์ทำฟาร์ม โดยเฉพาะเครื่องจักใหญ่ เช่น รถไถนา แทรกเตอร์ ต้องสำรวจความพร้อมของตัวเองก่อนทุกครั้ง ง่วงนอนหรือไม่ มีอาการแฮงค์ หรือเมาอยู่ เพราะเครื่องจักรเหล่านี้มีความอันตรายสูง หากพลาดนิดเดียวอาจก่อให้เกิดอันตราย อาจรุนแรงถึงขึ้นพิการหรืออาจเสียชีวิตได้
2. วิธีป้องกันอันตรายจากสิ่งแวดล้อม
- ควรมีการศึกษาสารเคมีอย่างละเอียดก่อนใช้งาน และควรสวมอุปกรณ์ป้องกันทุกครั้ง
- ควรใช้สารเคมีตามสัดส่วนที่ข้างขวดผลิตภัณฑ์กำหนด
- เก็บสารเคมีอันตรายให้มิดชิดและเก็บอย่างถูกต้อง
- ภาชนะที่ใช้ใส่สารเคมีนั้น “ไม่ควร” นำไปล้างตามลำคลอง หนอง บึง เพราะอย่าลืมว่าชาวนา ชาวบ้านต้องใช้น้ำในลำคลองเหล่านั้น รวมถึงอาจทำอันตรายกับปลาในลำคลองได้
วิธีปฐมพยาบาลเบื้องต้นหากสารเคมีอันตรายเข้าตา
อาชีพเกษตรกรรมเป็นสิ่งที่หลีกเลี่ยงไม่ได้เพราะต้องมีการใช้สารเคมี หากสารเคมีเข้าตา ให้รีบล้างตาด้วยน้ำสะอาดในทันที โดยให้เปิดเปลือกตาขึ้นแล้วให้น้ำไหลผ่านตา อย่างน้อย 15 นาที และรีบไปโรงพยาบาลหรือศูนย์การแพทย์แถวบ้านให้เร็วที่สุดแต่สิ่งสำคัญที่สุดไม่ใช่การปฐมพยาบาลที่ปลายเหตุ แต่เป็นการป้องกันตัวเรา เช่น การสวมเสื้อผ้าแขนยาว ขายาว มิดชิด สวมแว่นตา/หน้ากาก เป็นต้น
ชาวสวน/เกษตรกรทำประกันอุบัติเหตุส่วนบุคคลได้มั้ย?
ชาวสวน ชาวนา เกษตรกร สามารถทำประกันอุบัติเหตุส่วนบุคคลได้ เพื่อป้องกันความเสี่ยงจากการสูญเสียเงินไปกับค่ารักษาพยาบาล โดยประกันอุบัติเหตุ คุ้มครองอะไรบ้าง ตัวอย่างเช่น
- แมลงสัตว์กัดต่อย หากคุณโดนแมลงสัตว์ กัด ต่อย จะสามารถเบิกเคลมประกันอุบัติเหตุได้ หากมีบาดแผลจากการถูกกัดหรือต่อย เช่น มีรอยเขี้ยวและเลือดจากการถูกสัตว์เลี้ยงที่บ้านกัด หรือมีเหล็กในของผึ้งที่ต่อยอยู่ แต่หากเป็นแค่อาการแพ้ มีผดผื่น คัน จะไม่สามารถเบิกได้
- ถูกบาด/ถูกข่วนจากของมีคม เมื่อถูกข่วนและบาดสามารถเคลมประกันอุบัติเหตุได้ และหากได้รับการวินิจฉัยจากแพทย์ให้ฉีดวัคซีนบาดทะยัก ประกันอุบัติเหตุจะคุ้มครองค่าวัคซีนด้วย
- หกล้ม ตกบันได เดินสะดุดหิน อุบัติเหตุเล็กน้อยประกันก็คุ้มครอง เช่น มีดบาด ล้ม เดินสะดุดหิน
- อุบัติเหตุจากการใช้เครื่องมือการเกษตร
การสมัครประกันอุบัติเหตุทุกครั้ง ควรศึกษาเงื่อนไขและรายละเอียดกรมธรรม์ ก่อนตัดสินใจซื้อประกันภัยทุกครั้ง เพราะเงื่อนไขของบริษัทประกันภัยมีความแตกต่างกันไป และก่อนทำประกันหากมีข้อสงสัยหรืออ่านรายละเอียดไม่เข้าใจ แนะนำให้ถามทางตัวแทนหรือบริษัทประกันโดยตรง และเปรียบเทียบหลาย ๆ กรมธรรม์ เพื่อให้คุณได้รับความคุ้มครองและเบี้ยประกันอุบัติเหตุที่ตอบโจทย์ที่สุด
เมื่อรู้แล้วว่าประกันอุบัติเหตุ คุ้มครองอะไรบ้าง และช่วยลดความเสี่ยงในเรื่องค่ารักษาจากอุบัติเหตุยังไง การซื้อประกันอุบัติเหตุส่วนบุคคลติดตัวไว้สักเล่ม ช่วยให้อุ่นใจมากกว่า เพราะต้องไม่ลืมว่าการทำงานของเกษตรกรในทุก ๆ วันนั้น มีความเสี่ยงต่อการเกิดอันตรายหรืออุบัติเหตุมากกว่าการทำงานในออฟฟิศหรือสำนักงานไม่น้อยเลย
สามารถติดตามข่าวสาร สาระความรู้เกี่ยวกับสุขภาพ รถยนต์ มอเตอร์ไซค์ รวมถึงประกันภัยออนไลน์ต่าง ๆ จากรู้ใจได้ที่ Facebook Page: Roojai หรือคลิกที่นี่เพื่อเพิ่มเราเป็นเพื่อนใน LINE ได้เลย (Official Line ID: @roojai)
คำจำกัดความ
กอปรกับ | มีความหมายเดียวกับคำว่า “ประกอบกับ” |
เครื่องมือการเกษตร / อุปกรณ์ทำฟาร์ม | อุปกรณ์ที่ใช้เพื่อช่วยในการทำงานเกษตรกรรม ตั้งแต่ จอบ เสียม คราด ไปจนถึงรถไถนา รถพรวนดิน เครื่องพ่นยาฆ่าแมลง เป็นต้น |
อาการแฮงค์ | อาการเมาค้าง เกิดขึ้นจากการที่ดื่มแอลกอฮอล์มากจนเกินไป มีอาการเช่น ปวดหัว เวียนหัว อาเจียน อ่อนล้า เพลีย เป็นต้น |