เมื่อชีวิตได้ผ่านช่วงมหาวิทยาลัยออกมาเป็นพนักงานประจำที่ไหนสักแห่ง พอทำงานไปได้สัก 3-4 ปีคนส่วนใหญ่ก็วางแผนที่จะสร้างครอบครัว เริ่มซื้อรถ ซื้อบ้าน วางแผนการลงทุนต่าง ๆ เพื่อให้เงินงอกเงย รวมถึงการซื้อประกันรูปแบบต่าง ๆ ที่นอกจากจะสร้างความอุ่นใจให้กับตัวเองแล้ว ประกันยังเป็นเสมือนกระปุกออมสินชั้นดีที่ทั้งฝากเงินได้และคุ้มครองชีวิตและสุขภาพได้ คู่รัก คู่แต่งงานรุ่นใหม่จึงให้ความสนใจและเห็นถึงความสำคัญของการวางแผนประกันสุขภาพครอบครัวมากขึ้น
- ทำไมควรซื้อประกันสุขภาพให้ครอบครัว?
- ประกันครอบครัว ควรซื้อประกันอะไรบ้าง?
- เทคนิคเลือกประกันให้คุ้มค่าสำหรับครอบครัว
โดยจากข้อมูลสมาคมประกันชีวิตไทย พบว่า จากเมื่อก่อนที่ลูกค้าประกันส่วนใหญ่จะเป็นกลุ่มคนที่มีอายุประมาณ 40 ปีขึ้นไป ด้วยอายุที่มากขึ้นก็มีความใส่ใจเรื่องสุขภาพ ประกอบกับรายได้ที่มากพอจะสามารถซื้อประกันได้ แต่ในปัจจุบันคนรุ่นใหม่ที่เป็น First Jobber เริ่มซื้อประกันมากขึ้นผ่านทางช่องทางออนไลน์ วันนี้รู้ใจจะมาเผยวิธีวางแผนครอบครัวด้วยการซื้อประกัน เพื่อสร้างความอุ่นใจและความมั่นคงซึ่งเป็นรากฐานที่ทุกครอบครัวควรจะมีให้ได้เข้าใจกันในบทความนี้
ทำไมควรซื้อประกันสุขภาพให้ครอบครัว?
สำหรับคู่แต่งงานใหม่ หรือคู่ที่แต่งกันมาสักพักแล้ว เรื่องสุขภาพทั้งของเราเองและคนในครอบครัวถือว่าเป็นสิ่งสำคัญ การซื้อประกันสุขภาพให้กับตัวเอง และสมาชิกในครอบครัวจะช่วยลดความเสี่ยงในเรื่องของค่ารักษาพยาบาล และยังมีข้อดีด้านอื่น ๆ อีกเช่น
1. ช่วยประหยัดค่าใช้จ่ายด้านสุขภาพ
การทำประกันสุขภาพทั้งครอบครัว หากหนึ่งในสมาชิกครอบครัวเกิดการเจ็บป่วย ในส่วนนี้บริษัทประกันจะเข้ามารับผิดชอบค่าใช้จ่ายในการรักษาพยาบาล ทั้งค่าใช้จ่ายผู้ป่วยนอกหรือผู้ป่วยในที่ต้องนอนรักษาตัวในโรงพยาบาล แต่ทั้งนี้ เงื่อนไขรวมทั้งวงเงินในการรักษาพยาบาลต่าง ๆ จะขึ้นอยู่กับแผนประกันที่เลือกซื้อเอาไว้ และรวมถึงบริษัทประกันด้วย
2. ช่วยจัดการค่าใช้จ่ายทั้งที่วางแผนและไม่ได้วางแผนไว้
ประกันสุขภาพครอบครัวจะช่วยในเรื่องค่าใช้จ่ายที่ไม่ได้วางแผนไว้ในที่นี้ เช่น หากตัวเองหรือสมาชิกในครอบครัวเกิดการเจ็บป่วย หรือเกิดอุบัติเหตุ การซื้อประกันสุขภาพทั้งครอบครัวที่ครอบคลุมจะมาช่วยดูแลค่ารักษาพยาบาลในส่วนนี้
ประกันครอบครัว ควรซื้อประกันอะไรบ้าง?
สำหรับคู่แต่งงานใหม่ นอกจากการซื้อประกันสุขภาพให้กับตัวเองและสมาชิกในครอบครัวเเล้ว ยังมีประกันรูปแบบใดอีกบ้างที่ควรซื้อ
1. ประกันชีวิต
เพิ่มรากฐานความมั่นคงให้กับครอบครัวด้วยการซื้อประกันชีวิต หากเป็นคู่รักที่เพิ่งแต่งงานกันใหม่และกำลังจะมีเจ้าตัวน้อยเกิดขึ้นมาในอีกไม่ช้า การทำประกันชีวิตก็เหมือนการสร้างมรดกให้กับลูกในอนาคต คนทั่วไปอาจจะมองว่า ประกันชีวิตเพียว ๆ ที่ไม่มีค่ารักษาพยาบาลมาพ่วงด้วย จะไม่เหมือนการจ่ายเบี้ยทิ้งไปปีต่อปีเหรอ แต่ประกันชีวิตมันมีหลายรูปแบบ มีทั้งพ่วงกับประกันสุขภาพ และพ่วงกับการออมทรัพย์ก็มี
ในที่นี้จะแนะนำประกันชีวิตที่พ่วงกับออมทรัพย์ซึ่งของแต่ละบริษัทก็จะมีไม่เหมือนกัน ส่วนใหญ่จะเป็นการจ่ายเบี้ยแค่ช่วงระยะเวลาหนึ่งเท่านั้น และจะได้เงินคืน 100% ตามระยะเวลาที่กำหนด และคุ้มครองชีวิตถึง 90 ปี หรือบางบริษัท จะคุ้มครองชีวิตแค่ช่วงระยะเวลาหนึ่ง เป็นเหมือนการเก็บเงินก้อนรอให้ลูก ๆ เรียนจบ เพื่อเป็นทุนการศึกษาต่อต่างประเทศ หรือเพื่อให้ลูกเป็นทุนในการเปิดกิจการเป็นของตัวเอง หรือเพื่อให้เป็นเงินทุนสำหรับตนเองและภรรยาในอนาคตก็ได้
- ประกันชีวิตและสะสมทรัพย์ 15/30 – หมายความว่า ชำระเบี้ย 15 ปี คุ้มครองชีวิตนาน 30 ปี เช่น นาย A อายุ 30 ปี ซื้อประกันชีวิตและสะสมทรัพย์ 15/30 โดยนาย A ทำทุนประกันเอาไว้ 2 ล้านบาท นาย A ต้องชำระเบี้ยประกันเป็นเวลา 15 ปี และนาย A จะได้รับเงินคืนเมื่ออายุ 60 ปี หรืออีก 30 ปีต่อมา แต่หากเสียชีวิตก่อนอายุ 60 ปี ผู้รับผลประโยชน์จะได้ทุนประกัน 2 ล้านบาทบวกกับเงินปันผลตั้งแต่ปีที่ 11 เป็นต้นไป รวม ๆ เป็น 150% แต่ถ้าอยู่ครบสัญญา นาย A จะได้รับเงินไปประมาณ 178%
- ประกันชีวิตและสะสมทรัพย์ 90/7 – ชำระเบี้ย 7 ปี คุ้มครองชีวิตถึงอายุ 90 ปี หลักการจะคล้ายกับแบบแรก แต่แบบนี้จะชำระเบี้ยสั้นกว่า และคุ้มครองชีวิตยาวนานกว่า
- ประกันชีวิตแบบบำนาญ ที่ควรซื้อไว้ก่อนอายุ 50 ปี เพื่อเตรียมพร้อมสำหรับการเกษียณจะได้มีเงินก้อนไว้ใช้หลังเกษียณโดยไม่ต้องรบกวนเงินของลูกหลาน
ทั้งนี้ ไม่ว่าจะเลือกประกันแบบไหน หากต้องการสร้างมรดกให้กับลูกและครอบครัว ควรเลือกซื้อประกันที่ตัวเองจะสามารถชำระเบี้ยได้ตลอดสัญญา
2. ประกันอุบัติเหตุส่วนบุคคล
ประกันอุบัติเหตุส่วนบุคคล เป็นอีก 1 กรมธรรม์ที่ควรซื้อเอาไว้ โดยเฉพาะบ้านที่กำลังจะมีลูกน้อย เพราะ วัยเด็กเป็นวัยเล่นซน ยิ่งช่วงเพิ่งเริ่มเข้าโรงเรียนแล้วยิ่งมีความเสี่ยงต่อการเกิดอุบัติเหตุ เช่น หกล้ม หัวแตก เป็นเรื่องปกติของเด็กวัยนี้ การมีทั้งประกันสุขภาพและประกันอุบัติเหตุส่วนบุคคลเอาไว้ จะมาช่วยทำให้อุ่นใจมากยิ่งขึ้น ไม่ต้องกังวลเรื่องค่ารักษาพยาบาล แถมยังเข้าถึงการรักษาที่เลือกเองได้ เช่น การรักษาที่โรงพยาบาลเอกชน ไม่ต้องรอคิว
การวางแผนครอบครัว ประกันสำหรับผู้สูงอายุก็สำคัญ
นอกจากคู่แต่งงานจะต้องมองหาประกันครอบครัวสำหรับตนเอง ลูก และสามีหรือภรรยาแล้ว อีกหนึ่งความคุ้มครองที่สำคัญคือประกันสำหรับพ่อแม่ของเรา เพราะในวันหนึ่งที่ท่านสูงวัยขึ้น โรคภัยไข้เจ็บก็ยังจะยิ่งเยอะขึ้น ซึ่งหากซื้อประกันสุขภาพที่ครอบคลุมโรคภัยเราก็ยังพอวางใจได้ แต่สำหรับเรื่องไม่คาดฝันอย่างอุบัติเหตุ การมีประกันอุบัติเหตุสำหรับผู้สูงอายุเป็นสิ่งสำคัญมาก เพราะเมื่อเกิดอุบัติเหตุขึ้นมีโอกาสที่จะเจ็บหนักกว่าคนวัยหนุ่มสาว เช่น กระดูกหัก และแน่นอนว่าเราคือคนที่ต้องรับค่าใช้จ่ายในการรักษานั้น ๆ ดังนั้นประกันอุบัติเหตุนี่แหละที่จะช่วยซัพพอร์ตค่าใช้จ่ายให้ โดยการเลือกประกันอุบัติเหตุก็ควรเป็นแบบไม่ต้องสำรองจ่าย ทุนประกันสูง รวมถึงมีเงินชดเชยรายวันด้วย
3. ประกันโรคร้ายแรง+ประกันมะเร็ง
ทั้งประกันโรคร้ายที่คุ้มครองกลุ่มโรคร้ายแรงต่าง ๆ และประกันมะเร็ง สำหรับคนที่เป็นหัวหน้าครอบครัวควรซื้อเอาไว้ทั้งสองรูปแบบ เพราะเรื่องโรคร้ายและมะเร็ง มันสามารถเกิดกับทุกคนได้ ยิ่งหากคนที่เป็นหัวหน้าครอบครัว หากโชคร้ายตรวจพบโรคร้ายหรือมะเร็ง จะได้มีเงินสำหรับใช้รักษาพยาบาล โดยที่สมาชิกในครอบครัวที่เหลือไม่ต้องกังวลว่าจะกระทบเงินค่าเทอมของลูกหรือเงินใช้จ่ายประจำวัน
ถึงแม้ว่าการทำประกันมีให้เลือกมากมายแต่จุดมุ่งหมายของแต่ละครอบครัวที่ตั้งเอาไว้อาจจะไม่เหมือนกัน การเลือกประกันให้ดูที่จุดประสงค์ของแต่ละครอบครัวเป็นหลัก และหากวางเป้าไว้ว่า อยากให้เงินงอกเงยเป็นหลัก ลองศึกษาเรื่องการลงทุน และข่าวสารต่าง ๆ เกี่ยวกับการลงทุนเอาไว้บ้างจะได้ลงทุนได้ถูกจุด ให้เงินทำงานได้ตามเป้าหมาย
เทคนิคเลือกประกันให้คุ้มค่าสำหรับครอบครัว
1. เช็คความคุ้มครองทั้งหมดที่มี
หากคุณเป็นหัวหน้าครอบครัว อันดับแรกให้เช็คก่อนว่าสิทธิประโยชน์ค่ารักษาพยาบาลต่าง ๆ ที่บริษัทมอบให้นั้น มีอะไรบ้าง เช่น ประกันสังคม ประกันสุขภาพกลุ่ม แต่ต้องไม่ลืมว่า หากเราลาออกจากบริษัท ความคุ้มครองต่าง ๆ ก็จะหายไปด้วยเช่นกัน
- ประกันสังคม อยู่ที่โรงพยาบาลอะไร
- ประกันสุขภาพกลุ่ม ควรเช็คผลประโยชน์ของตัวเองว่ามีค่ารักษาพยาบาลอยู่เท่าไหร่ ค่าห้องหากต้องนอนที่โรงพยาบาล
เมื่อตรวจสอบครบหมดแล้ว ให้ซื้อประกันส่วนที่ยังไม่ได้มีความคุ้มครอง เช่น ประกันโรคร้าย ประกันมะเร็ง เพราะทั้ง 2 หมวดนี้ เป็นกลุ่มโรคร้ายแรงที่ต้องใช้เงินในการรักษาพยาบาลค่อนข้างสูง และอาจจะต้องพักรักษาตัวยาวนาน ผู้ที่เป็นหัวหน้าครอบครัว ควรซื้อประกันเหล่านี้ให้กับตัวเองก่อน เพราะหากเกิดโชคร้ายเป็นหนึ่งในโรคร้ายแรงจริง ๆ จะได้มีเงินสำหรับรักษาตัว ที่ไม่ไปกระทบเงินที่สำรองไว้สำหรับใช้จ่ายต่าง ๆ
2. เบี้ยประกันไม่ควรเกิน 10% ของรายได้ต่อปี
หากต้องการเพิ่มความมั่นคงทางการเงินในอนาคตให้กับครอบครัวและลูก ๆ ให้เอาค่าเบี้ยประกันทั้งหมดที่ต้องจ่ายมาคำนวณว่า มันเกิน 10% ของรายได้ทั้งปีหรือไม่ ถ้ายังไม่เกินและพอที่จะมีแรงในการชำระเบี้ย การซื้อประกันที่เกี่ยวกับการลงทุน สะสมทรัพย์เป็นอีกตัวเลือกที่คนมีครอบครัวส่วนใหญ่เอามาอยู่ในแผนการในชีวิต
3. เปรียบเทียบผลประโยชน์จากหลาย ๆ ที่
หากถามว่าประกันสุขภาพครอบครัว ที่ไหนดี?เราควรลองหาประกันจากหลากหลายบริษัทด้วยตัวเอง มาทำการเปรียบเทียบความคุ้มค่าและผลประโยชน์ต่าง ๆ ในแต่ละประเภทประกันที่เลือก
4. ซื้อประกันกับบริษัทประกันที่มีความน่าเชื่อถือ
เพราะหากเน้นแค่เรื่องเบี้ยถูก ผลประโยชน์โอเวอร์มากเกินไป อาจมีปัญหาในการเคลมประกัน
5. ตรวจสอบขั้นตอนการเคลม
ค่ารักษาพยาบาลต่าง ๆ สามารถ Fax Claim ได้เลยหรือไม่ ต้องสำรองจ่ายก่อนมั้ย สามารถนำไปใช้ในต่างประเทศได้หรือไม่ เป็นต้น
6. อย่าลืมสอบถามส่วนลดเบี้ยประกัน
ซึ่งเงื่อนไขในการได้รับส่วนลดเบี้ยประกันของแต่ละบริษัทจะไม่เหมือนกัน เช่น ไม่เคลม 2 ปี ไม่เช็คประวัติ หรือไม่เคลม 2 ปี ได้ส่วนลดเบี้ย 20% เป็นต้น
การมีครอบครัว เป็นเหมือนการเริ่มต้นบทใหม่ของชีวิต เต็มไปด้วยความสุข ความอบอุ่น และความรับผิดชอบ ประกันสุขภาพครอบครัวจึงเป็นเกราะป้องกันความเสี่ยง ช่วยให้คุณสร้างความมั่นคงทางการเงินให้กับครอบครัวรวมถึงเป็นการลงทุนเพื่ออนาคต เตรียมพร้อมรับมือกับเหตุการณ์ไม่คาดฝัน มอบความอุ่นใจให้กับคนที่คุณรัก และช่วยให้คุณมั่นใจได้ว่าคนที่คุณรักจะมีความเป็นอยู่ที่ดี แม้ว่าหากวันหนึ่งคุณจะไม่อยู่ข้าง ๆ พวกเขาอีกต่อไป
สามารถติดตามข่าวสาร สาระความรู้เกี่ยวกับสุขภาพ รถยนต์ มอเตอร์ไซค์ รวมถึงประกันภัยออนไลน์ต่าง ๆ จากรู้ใจได้ที่ Facebook Page: Roojai หรือคลิกที่นี่เพื่อเพิ่มเราเป็นเพื่อนใน LINE ได้เลย (Official Line ID: @roojai)
คำจำกัดความ
มรดก | ทรัพย์สินทุกชนิดของผู้ตาย รวมทั้งสิทธิ หน้าที่ และความรับผิดชอบต่าง ๆ ของผู้ตาย ยกเว้นสิ่งที่เป็นการเฉพาะตัวของผู้ตายโดยแท้ตามกฎหมายหรือโดยสภาพแล้ว |
First Jobber | กลุ่มคนที่เพิ่งเริ่มต้นทำงานเป็นครั้งแรก หรือ คนที่เพิ่งเริ่มเข้าสู่ช่วงของการทำงานไม่เกิน 4 ปี โดยส่วนใหญ่จะเป็น เด็กจบใหม่ จากมหาวิทยาลัย |