สำหรับคนที่มีงานประจำ เช่น เป็นพนักงานออฟฟิศ หรือรับราชการ น่าจะคุ้นเคยกันดีอยู่แล้วกับประกันสังคม บางบริษัทมีทั้งประกันสังคมและประกันสุขภาพกลุ่มให้กับพนักงานเพื่อเป็นสวัสดิการ บางบริษัทให้แต่ประกันสังคมอย่างเดียว แล้วทุกคนที่เป็นพนักงานประจำ จำเป็นต้องมีประกันสังคมทุกคนหรือไม่
- สิทธิประกันสังคม คืออะไร?
- ผู้ประกันตน คือใคร?
- ผู้ประกันตนมีแบบไหนบ้าง?
- สิทธิประโยชน์ประกันสังคมแต่ละมาตรา
- วิธีเช็คสิทธิประกันสังคมออนไลน์ด้วยเลขบัตรประชาชน
จริง ๆ แล้ว ประกันสังคมถือเป็นสิทธิขั้นพื้นฐานที่ทุกกิจการ ที่มีพนักงานมากกว่า 1 คนขึ้นไป นายจ้างหรือเจ้าของธุรกิจ ต้องทำประกันสังคมให้กับพนักงานทุกคน ตาม พรบ. ประกันสังคม 2533
สิทธิประกันสังคม คืออะไร?
สิทธิประกันสังคมเป็นหนึ่งในสวัสดิการของรัฐบาล ที่จัดตั้งขึ้นมาเพื่อดูแลผู้มีรายได้ คล้ายกับการทำประกันภัยกับทางภาครัฐ ทั้งนี้ เพื่อให้คนทำงานที่จ่ายเงินสมทบหรือที่เรียกว่า ผู้ประกันตน ได้รับความคุ้มครองในกรณีต่าง ๆ เช่น เรื่องการเจ็บป่วย การถูกให้ออกจากงานทั้งโดนให้ออกและเลือกที่จะลาออกเอง การคลอดบุตร ประสบอุบัติเหตุ ชราภาพ เสียชีวิต สงเคราะห์บุตร เป็นต้น
ผู้ประกันตน คือใคร?
ผู้ประกันตน คือ ลูกจ้างหรือพนักงานที่มีอายุ 15-60 ปี หรือผู้ที่มีอายุเกิน 60 ปีแต่นายจ้างยังคงจ้างงานต่อ และเป็นผู้ที่ทำงานประจำหรือไม่ได้ทำงานประจำ เช่น ฟรีแลนซ์ ผู้ประกอบอาชีพอิสระ ฯลฯ ด้วยช่วงอายุที่กว้าง ความแตกต่าง และความต้องการที่หลากหลายของผู้ประกันตน ประกันสังคมจึงมีแผนรองรับหลายแบบ ทั้งคนทำงานที่อยู่ในระบบและไม่อยู่ในระบบ ดังต่อไปนี้
ผู้ประกันตนมีแบบไหนบ้าง?
- ผู้ประกันตนมาตรา 33 – ลูกจ้างหรือพนักงานเอกชน ที่มีอายุ 15-60 ปี และทำงานในหน่วยงานที่มีมากกว่า 1 คนขึ้นไป จ่ายสมทบกองทุนประกันสังคมสูงสุดได้ไม่เกินเดือนละ 750 บาท
- ผู้ประกันตนมาตรา 39 – ผู้ประกันตนสำหรับประกันสังคมมาตรา 39 กรณีนี้ ส่วนใหญ่จะเป็นผู้ที่เคยเป็นพนักงานเอกชนที่เคยจ่ายเงินสมทบกองทุนประกันสังคมติดต่อกันมาแล้วไม่น้อยกว่า 12 เดือน แล้วต้องการรักษาสิทธิประกันสังคม และต้องออกจากงานเดิมมาไม่เกิน 6 เดือน ถึงจะรักษาสิทธิได้ (จ่ายเดือนละ 432 บาท)
- ผู้ประกันตนมาตรา 40 – ผู้ประกันตนสำหรับประกันสังคมมาตรา 40 นี้ จะเป็นผู้ประกันตนที่ไม่เข้าข่ายมาตรา 33 และ 39 แต่ยังอยากได้รับสิทธิประกันสังคม ในเรื่องการรักษาพยาบาลและสิทธิอื่นๆ ก็จะมีมาตรานี้ออกมารับรอง โดยสามารถแบ่งออกได้เป็นแผน 1, 2 และ 3 โดยจ่ายเงินเดือนละ 70, 100 และ 300 บาทตามลำดับ แต่ละแบบจะได้รับความคุ้มครองที่แตกต่างกัน
สิทธิประโยชน์ประกันสังคมแต่ละมาตรา
ผู้ประกันตนแต่ละมาตราจะได้รับความคุ้มครองและสิทธิประโยชน์ของกองทุนประกันสังคมแตกต่างกันออกไป เช่น
1. คุ้มครองกรณีว่างงาน
สิทธิประกันสังคมมาตรา 33 ถือว่าเป็นสิทธิประกันสังคมเพียงมาตราเดียวที่คุ้มครองเรื่องนี้ เมื่อผู้ประกันตนมาตรา 33 ตกงาน ทั้งที่เกิดจากการลาออกเองหรือโดนให้ออก จะได้รับเงินชดเชย ดังนี้
- กรณีถูกเลิกจ้างงาน – ผู้ประกันตนจะได้รับเงินชดเชยร้อยละ 50 ของค่าจ้าง โดยครั้งละไม่เกิน 180 วัน
- กรณีลาออกเอง – ผู้ประกันตนจะได้รับเงินชดเชยร้อยละ 30 ของค่าจ้าง โดยครั้งละไม่เกิน 90 วัน
แต่ในทั้งนี้ ต้องอยู่ในเงื่อนไขที่ว่า ผู้ประกันตนต้องจ่ายเงินสมทบมาแล้วไม่ต่ำกว่า 6 เดือน ภายใน 15 เดือนก่อนที่จะว่างงาน
2. เงินสมทบค่าคลอดบุตร
สำหรับ สิทธิประโยชน์ประกันสังคมมาตรา 33 และประกันสังคมมาตรา 39 จะได้รับเงินสมทบค่าคลอดบุตรประกันสังคมให้ครั้งละ 15,000 บาท โดยไม่จำกัดจำนวนครั้ง รวมทั้งจะได้รับเงินชดเชยร้อยละ 50 ของค่าจ้างครั้งละไม่เกิน 90 วัน ในช่วงระหว่างการลาคลอด (ไม่เกิน 2 ครั้งต่อปี) โดยจะต้องเป็นผู้ประกันตนที่จ่ายเงินสมทบแล้วไม่ต่่ำกว่า 5 เดือนภายใน 15 เดือนก่อนคลอดบุตร
3. เงินสมทบค่าทันตกรรม
สิทธิประโยชน์ประกันสังคมด้านทันตกรรม มีไว้สำหรับผู้ที่ถือบัตรประกันสังคมมาตรา 33 และประกันสังคมมาตรา 39 คือ การรักษาโรคฟัน การขูดหินปูน ถอนฟัน อุดฟัน หรือผ่าฟันคุด กรณีเหล่านี้ผู้ประกันตนตามมาตรา 33 และ 39 จะสามารถใช้สิทธิ์ได้ไม่เกิน 900 บาท/ปี ส่วนการใส่ฟันเทียมหรือฟันปลอมสูงสุดไม่เกิน 4,400 บาท ภายในระยะเวลา 5 ปี นับตั้งแต่วันที่ใส่ฟันเทียม ทั้งนี้ ต้องเป็นผู้ประกันตนที่จ่ายเงินสมทบมาแล้วไม่ต่ำกว่า 3 เดือนหรือภายใน 15 เดือรชนก่อนวันรักษา
4. ตรวจสุขภาพฟรี
สำหรับสิทธิการรับบริการตรวจสุขภาพประจำปีฟรี! ผู้ถือบัตรประกันสังคมมาตรา 33 และประกันสังคมมาตรา 39 จะได้รับสิทธิ์ตรวจสุขภาพฟรี 14 รายการต่อปี ทั้งเรื่องการคัดกรองการได้ยิน ตรวจเต้านม ตรวจดวงตา ตรวจความสมบูรณ์ของเม็ดเลือด ตรวจมะเร็งปากมดลูก ตรวจเชื้อไวรัสตับอักเสบ ตรวจไขมันและน้ำตาลในเลือด ฯลฯ รวมถึงฉีดวัคซีนไข้หวัดใหญ่ประจำปีฟรี! เฉพาะผู้ประกันตนอายุ 50 ปีขึ้นไป โดยทั้งหมดนี้ ต้องขอรับการบริการจากโรงพยาบาลที่เข้าร่วมโครงการเท่านั้น
5. สงเคราะห์บุตร
ผู้ถือบัตรประกันสังคมทั้งมาตรา 33 39 และ 40 (แผนที่3) จะได้รับเงินสมทบสงเคราะห์บุตรเดือนละ 800 บาท/บุตร 1 คน แต่ต้องไม่เกินครั้งละ 3 คน โดยจะหมดสิทธิ์รับเงินนี้เมื่อบุตรอายุครบ 6 ปีบริบูรณ์ ทั้งนี้ ต้องเป็นผู้ประกันตนที่จ่ายเงินสมทบมาแล้วไม่ต่ำกว่า 12 เดือน ภายใน 36 เดือนก่อนได้รับเงินทดแทน
6. ชราภาพ
สิทธิประกันสังคมมาตรา 33, 39 และ 40 (แผน2, 3) เมื่อผู้ถือบัตรประกันสังคมีอายุครบ 55 ปีบริบูรณ์ สามารถเลือกรับเงินสมทบชราภาพได้ 2 รูปแบบ
- บำนาญชราภาพ – บำนาญชราภาพ จะจ่ายเป็นรายเดือนตลอดชีวิต กรณีจ่ายเงินสมทบกองทุนประกันสังคมครบ 180 เดือน/15 ปี ได้ร้อยละ 20 ของค่าจ้างเฉลี่ย 60 เดือนสุดท้าย หากผู้ประกันตนจ่ายสมทบมากกว่า 180 เดือน /15ปี จะได้ค่าสมทบรายเดือนเพิ่ม 1.5% จากอัตร 20% ทุก 12 เดือน
- บำเหน็จชราภาพ – บำเหน็จชราภาพ จะได้รับเงินก้อนเพียงครั้งเดียว กรณีจ่ายเงินสมทบต่ำกว่า 12 เดือน เงินบำเหน็จจะจ่ายตรงกับจำนวนเงินที่ผู้ประกันตนจ่ายเท่านั้น ส่วนผู้ที่จ่ายเงินสมทบตั้งแต่ 12 เดือนขึ้นไปแต่ไม่ถึง 180 เดือน บำเหน็จจะได้ทั้งส่วนเงินของตัวเองและที่นายจ้างจ่ายสมทบ พร้อมผลตอบแทนอื่น ๆ ตามที่สำนักงานประกันสังคมกำหนด
7. ประกันสังคม อุบัติเหตุ เจ็บป่วย
สิทธิประโยชน์ประกันสังคมทุกมาตรา ได้รับสิทธิรักษา พยาบาล ประกันสังคม ผู้ถือบัตรประกันสังคมทุกมาตราจะได้รับการรักษาในสถานพยาบาลที่ผู้ประกันตนเลือกเอาไว้ ฟรี! ทั้งเจ็บป่วยปกติและฉุกเฉิน โดยไม่ต้องสำรองจ่าย หากเป็น รพ.เอกชน กรณีฉุกเฉิน ไม่ต้องสำรองจ่ายใน 72 ชั่วโมง รวมทั้งการเบิกค่ารักษาพยาบาลได้ตามจริง แต่วงเงินจะแตกต่างกันไปตามการรักษา นอกจากนี้ หากแพทย์ให้หยุดงานเพื่อรักษาตัว จะได้รับเงินชดเชยจากการขาดรายได้ 50% ของค่าจ้าง แต่ไม่เกิน 15,000 บาท ครั้งละไม่เกิน 90 วัน ปีละไม่เกิน 180 วัน
สิทธิ์ประกันสังคมเข้าถึงการรักษา 5 โรค โดยที่ผู้ประกันตนไม่ต้องเสียค่าใช้จ่ายในการรับบริการ เฉพาะ รพ.ที่กำหนดเท่านั้น 5 โรคนั้น ได้แก่
- มะเร็งเต้านม
- ก้อนเนื้อที่มดลูก
- โรคนิ่วในไต หรือถุงน้ำดี
- โรคหลอดเลือดสมอง
- โรคหัวใจและหลอดเลือด
8. ทุพพลภาพ
สิทธิประโยชน์ประกันสังคมทุกมาตรา ในกรณีที่ผู้ประกันตนทุพพลภาพร้ายแรง จะได้รับเงินชดเชยร้อยละ 50 ของค่าจ่างเป็นรายเดือนตลอดชีวิต รวมทั้งได้รับสิทธิ์จ่ายตามจริง เมื่อต้องเข้ารับการรักษาที่ รพ.รัฐ หากรักษาที่ รพ.เอกชน กองทุนจะจ่ายให้เดือนละไม่เกิน 2,000 บาท สำหรับผู้ป่วยนอก กรณีผู้ป่วยในจะได้รับเงินเดือนละไม่เกิน 4,000 บาท ทั้งนี้ เมื่อชราภาพแล้ว ผู้ทุพพลภาพทุกคนจะยังคงได้รับสิทธิ์บำเหน็จเหมือนคนทั่วไปอีกด้วย
9. เสียชีวิต
- ผู้ประกันตนมาตรา 33 และ 39 หากเสียชีวิต จะได้รับค่าทำศพ 50,000 บาท บวกกับเงินสมทบ 50% ของค่าจ้างเฉลี่ย 4 เดือน สำหรับผู้ประกันตนที่จ่ายเงินสมทบมาแล้ว 36-120 เดือน ส่วนผู้ประกันตนที่จ่ายเงินสมทบมาแล้วมากกว่า 120 เดือน จะไดัรับเงินสมทบ 50% ของค่าจ้างเฉลี่ย 12 เดือน
- ผู้ประกันตนในประกันสังคมมาตรา 40 แผน1 และ 2 จะได้รับค่าทำศพ 25,000 บาท พร้อมกับเงินเพิ่มอีก 8,000 บาท กรณีจ่ายสมทบครบ 60 เดือน ก่อนการเสียชีวิต สำหรับแผน 3 จะได้รับค่าทำศพ 25,000 บาท
10. ลดหย่อนภาษีได้
สิทธิประโยชน์ประกันสังคมทุกมาตรา เงินเดือนที่ถูกหักประกันสังคม หรือเงินที่จ่ายสมทบเข้ากองทุนประกันสังคม สามารถนำมาใช้ลดหย่อนภาษีประจำปีได้ตามการจ่ายจริง เช่น หากผู้ประกันตนจ่ายเงินสมทบเดือนละ 750 บาทครบ 12 เดือน จะขอลดหย่อนภาษีได้ 9,000 บาท
วิธีเช็คสิทธิประกันสังคมออนไลน์ด้วยเลขบัตรประชาชน
สามารถทำได้ 2 วิธี คือ ผ่านทางเว็บไซต์ และผ่านแอปพลิเคชั่น
1. เช็คสิทธิประกันสังคมออนไลน์ผ่านเว็บไซต์
- เข้าเว็บไซต์ www.sso.go.th
- สำหรับผู้ใช้งานครั้งแรก คลิกสมัครสมาชิก สำหรับผู้ที่เป็นสมาชิกอยู่แล้ว คลิก “เข้าสู่ระบบ” ได้เลย
- กรอกข้อมูลส่วนตัว ชื่อ นามสกุล ที่อยู่ ฯลฯ จนครบและคลิก “ถัดไป”
- ระบบจะส่งรหัสยืนยันตัวตนไปที่เบอร์มือถือที่เคยให้เบอร์ไว้ และให้นำรหัส OTP นั้นใส่ที่ช่องรหัส แล้วคลิก “ยืนยัน” ถือว่าการเข้าระบบสมบูรณ์
- สามารถเข้าสู่ระบบด้วยการกรอก เลขบัตรประชาชน 13 หลัก แล้วคลิก “เข้าสู่ระบบ”
- คลิกที่เมนู “บริการด้วยตนเองผ่านระบบ e-self service” คลิกแล้วจะพบผลประโยชน์ของสิทธิประกันสังคมที่เรามีอยู่ เช่น คลอดบุตร สงเคราะห์บุตร ว่างงาน เป็นต้น
2. เช็คสิทธิประกันสังคมออนไลน์ผ่านแอปพลิเคชั่น
- ดาวน์โหลดแอปพลิเคชั่น
- และเลือกสมัครสมาชิก หรือเข้าสู่ระบบ
- เช็คสิทธิประกันสังคมจากแอปพลิเคชั่นได้เลย
สามารถติดตามข่าวสาร สาระความรู้เกี่ยวกับสุขภาพ รถยนต์ มอเตอร์ไซค์ รวมถึงประกันภัยออนไลน์ต่าง ๆ จากรู้ใจได้ที่ Facebook Page: Roojai หรือคลิกที่นี่เพื่อเพิ่มเราเป็นเพื่อนใน LINE ได้เลย (Official Line ID: @roojai)