Roojai

“ไวรัสซิกา” โรคอันตรายจากยุงลาย ที่คุณแม่ตั้งครรภ์ควรระวัง!

ไวรัสซิกา โรคร้ายจากยุงลาย | ประกันออนไลน์ | รู้ใจ

การโดนยุงกัดคงเป็นรื่องธรรมดา ๆ ของใครหลายคน แต่กลับเป็นฝันร้ายของใครบางคน บทความนี้จะพารู้จัก ไวรัสซิการ์ อันตรายใกล้ตัวคุณแม่ที่กำลังตั้งครรภ์ โดยพาหะที่นำโรคร้ายมาก็คือ ยุงลาย บทความนี้เราจะพาไปทำความรู้จักไวรัสซิกาว่าคืออะไร ติดต่อกันได้อย่างไร พร้อมวิธีป้องกัน ติดเชื้อไวรัสซิกาในคนท้องต้องระวังยังไง และส่งผลต่อลูกน้อยหรือไม่ เพื่อให้ทุกคนได้ตื่นตัวว่าโรคภัยไข้เจ็บนั้นมันอยู่รอบ ๆ ตัวของเรา

ไวรัสซิกา คืออะไร?

ไวรัสซิกา (Zika Virus) เป็นไวรัสที่อยู่ในตระกูลฟลาวิไวรัส (Flavivirus) เป็นพวกเดียวกับไวรัสไข้เหลือง ไวรัสไข้เดงกี ไวรัสเวสต์ไนล์ และไวรัสไข้สมองอักเสบเจอี โดยปกติ อาการจะไม่รุนแรงมาก และสามารถหายได้เองภายในไม่กี่วัน แต่หากมีอาการหนัก ควรพบแพทย์เพื่อทำการรักษา

ติดเชื้อไวรัสซิกา สาเหตุเกิดจากอะไร?

ไวรัสซิกา เป็นเชื้อไวรัสที่ค้นพบครั้งแรกในปี 1947 ที่ประเทศยูกันดา โดยพบในลิงป่า ก่อนจะพบการติดเชื้อในคนตั้งแต่ปี 1952 ในประเทศยูกันดา สหสาธารณรัฐแทนซาเนีย ในปี 2007 องค์การอนามัยโลกรายงานการระบาดของโรคไข้ซิกา ซึ่งมีการแพร่กระจายเชื้ออย่างกว้างขวางและต่อเนื่อง จนถึงปัจจุบันพบผู้ป่วยยืนยันการติดเชื้อไวรัสซิกาใน 67 ประเทศทั่วโลก ทั้งในแอฟริกา เอเชีย แปซิฟิก และอเมริกา

โดยไวรัสซิกามียุงลายเป็นพาหะนำโรค ยุงที่เป็นพาหะนำโรคไข้ซิกาจะเป็นยุงชนิดเดียวกับไข้เลือดออก ไข้ปวดข้อ และไข้เหลือง และไวรัสซิกายังสามารถติดต่อผ่านทางเพศสัมพันธ์ได้ โดยพบเชื้อไวรัสในสารคัดหลั่งต่าง ๆ ของผู้ป่วย เช่น นํ้าอสุจิ นํ้าลาย ปัสสาวะ นํ้าครํ่า รก นํ้านม เป็นต้น

ยุงตัวร้าย ก่อให้เกิดโรคอะไรบ้าง?

เป็นที่ทราบกันโดยทั่วไปเกี่ยวกับความร้ายกาจของยุงที่ทำให้หลาย ๆ คนต้องเจ็บป่วยด้วยโรคไข้เลือดออก แต่ยุงไม่ได้เป็นพาหะแค่โรคไข้เลือดออกเท่านั้น มันยังเป็นพาหะนำโรคอื่น ๆ อีก เช่น

  • โรคชิคุนกุนยา – ยุงลายเป็นพาหะของไข้ปวดข้อ จะปวดตามข้อมือ ข้อนิ้ว รักษาได้ตามอาการเท่านั้น และไม่มีวัคซีน
  • โรคไข้มาลาเรีย ยุงก้นปล่องเป็นพาหะ เกิดจากเชื้อปรสิตพลาสโมเดียม จะมีไข้สูง หวานสั่น เพลีย มียากินป้องกันหากจำเป็นต้องเดินทางเข้าพื้นที่เสี่ยง เช่น บริเวณป่าและชายแดน
  • โรคเท้าช้าง – เกิดจากหนอนพยาธิฟิลาเรียอุดทางเดินน้ำเหลือง มียุงลายเสือเป็นพาหะ จะมีอาการบวมที่ขาทำให้มีขนาดใหญ่และผิดรูป ในผู้ชายอาการบวมสามารถลามไปที่ลูกอัณฑะได้

และโรคสุดท้ายที่เกิดจากยุงเป็นพาหะก็คือ การติดเชื้อไวรัสซิกาหรือโรคไข้ซิกา ที่กล่าวถึงในบทความนี้เอง

ผลกระทบต่อทารกเมื่อคุณแม่ที่กำลังตั้งครรภ์ติดเชื้อไวรัสซิกา | ประกันออนไลน์ | รู้ใจ

ไวรัสซิกาอันตรายต่อคุณแม่ตั้งครรภ์ยังไง?

การติดเชื้อไวรัสซิกาในคนท้องเป็นเรื่องที่ต้องใส่ใจเป็นพิเศษ เพราะอาจส่งผลร้ายแรงต่อพัฒนาการทางสมองของทารกในครรภ์ โดยเชื้ออาจนำไปสู่ภาวะ “ศีรษะเล็ก” หรือ Microcephaly โดยทารกจะมีขนาดศีรษะเล็กกว่าปกติสำหรับวัยเดียวกัน ซึ่งจะส่งผลต่อการเจริญเติบโตและพัฒนาการทางสมองในอนาคต อาจทำให้เด็กมีความพิการได้ ดังนั้น คุณแม่ควรปรึกษาแพทย์อย่างใกล้ชิด เพื่อดูแลลูกน้อยให้ปลอดภัย

สถานการณ์ไวรัสซิกาในไทยเป็นยังไง?

สำหรับสถานการณ์ไวรัสซิกาในไทย กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) ได้รายงานสถานการณ์ตั้งแต่ 1 มกราคม – 19 กรกฎาคม 2566 พบผู้ป่วย 110 คนจาก 20 จังหวัด และตั้งแต่ปี 2559-2565 ได้มีการติดตามหญิงตั้งครรภ์ที่ติดเชื้อไวรัสซิกา 241 คน ซึ่งพบว่ามีการแท้ง 4 คน และมีเด็กที่คลอดมาแล้วมีภาวะศีรษะเล็กและติดเชื้อไวรัสซิกาอีก 3 คน นอกจากนี้ยังได้ติดตามพัฒนาการของเด็ก 77 คน จนครบ 2 ปี ซึ่งพบว่ามีเด็ก 4 รายที่มีพัฒนาการผิดปกติ (ที่มา: hfocus.org)

ไวรัสซิกา อาการเป็นยังไง?

ปกติแล้ว จะพบว่าราว 1 ใน 5 ของผู้ที่ติดเชื้อไวรัสซิกาจะมีอาการป่วยและแสดงอาการ แต่ยังไม่แน่ใจในเรื่องระยะของโรค คาดว่าน่าจะอยู่ในช่วงเดียวกับไข้หวัดใหญ่คือประมาณ 2-3 วันไปจนถึง 7 วัน ซึ่งอาการส่วนใหญ่จะคล้ายกับไข้หวัดใหญ่ มีไข้ ผื่นแดง ปวดตามข้อ และตาแดง ผู้ป่วยบางคนจะมีอาการปวดศีรษะร่วมด้วย ในคนที่อาการหนักอาจต้องนอนพักรักษาตัวในโรงพยาบาล

สถานการณ์ไวรัสซิกาในไทย | ประกันออนไลน์ | รู้ใจ

การตรวจวินิจฉัยโรคไข้ซิกา

แพทย์จะทำการซักประวัติผู้ป่วย มีการเดินทางไปยังประเทศสุ่มเสี่ยงหรือไม่ อาการโดยรวมของโรคจะคล้ายไข้หวัดใหญ่ หรือไข้เลือดออก ดังนั้น แพทย์จำเป็นต้องวินิจฉัยแยกโรคจากไข้เลือดออกและไข้หวัดใหญ่ด้วย

ไข้ซิกามีวิธีรักษายังไง?

แพทย์เพียงรักษาไปตามอาการ เพราะในปัจจุบันยังไม่มียาต้านไวรัสหรือวัคซีนป้องกันโรคไข้ซิกา เนื่องจากในประเทศของเรานั้น ตัวโรคไข้ซิกามีความคล้ายกับไข้หวัดใหญ่และไข้เลือดออก จึงมีข้อควรระวัง เพราะจำแนกได้ยากในช่วงต้นว่าเป็นไข้ชนิดไหน ห้าม! ใช้ยาแอสไพรินหรือยากลุ่มลดการอักเสบที่ไม่ใช่เสตียรอยด์ (NSAIDs) เพราะยาบางตัวเป็นอันตรายมากกับโรคนี้ อาจเสี่ยงทำให้เลือดออกในอวัยวะภายในได้ง่ายขึ้น

มีวิธีป้องกันโรคไข้ซิกายังไงบ้าง?

  • กำจัดแหล่งเพาะพันธุ์ยุงภายในบ้าน หากมีน้ำอยู่ในภาชนะที่ไม่ได้ใช้แล้ว ให้เททิ้งให้หมด
  • ระวังไม่ให้ยุงกัด
  • ใช้ยากำจัดยุง หรือยาทาป้องกันยุง
  • ปิดประตูหน้าต่าง หรือติดมุ้งลวดกันยุงเข้าบ้าน
  • สวมใส่เสื้อและกางเกงให้มิดชิด
  • หากมีอาการไข้ มีผื่น ตาแดง ปวดข้อ หรือมีอาการที่สงสัยว่าจะเป็นโรคนี้ให้ปรึกษาแพทย์เพื่อรับการรักษา
  • หญิงมีครรภ์ควรเลี่ยงการเดินทางไปยังประเทศที่มีการระบาดของโรค หากจำเป็นให้ปรึกษาแพทย์เพื่อหาวิธีป้องกัน

สำหรับวิธีการดูแลตัวเองหากป่วยเป็นโรคไข้ซิกานั้น เหมือนกับการดูแลตัวเองช่วงเป็นไข้ คือ รับประทานยาตามแพทย์สั่ง พักผ่อนให้เพียงพอ ดื่มน้ำมาก ๆ เพียง 2-3 วันอาการจะค่อย ๆ ดีขึ้นและหายเป็นปกติ

โรคไข้ซิการ์ ถือเป็นโรคที่ต้องระวัง โดยเฉพาะในคุณแม่ที่กำลังตั้งครรภ์ เพราะมีโอกาสเสี่ยงต่อลูกน้อย นอกจากนั้นทุก ๆ คน ก็ยังมีความเสี่ยงต่อโรคอื่น ๆ จากยุงไม่แพ้การติดเชื้อไวรัสซิการ์เช่นกัน ดังนั้นการป้องกันตัวเองและคนที่เรารัก เริ่มต้นจากการทาหรือจุดยากันยุง ไม่พาตัวเองไปในที่ที่ยุงชุม จัดการที่เก็บน้ำที่ไม่ใช้รอบบ้าน ก็ช่วยเซฟตัวเรามากขึ้นแล้ว

สามารถติดตามข่าวสาร สาระความรู้เกี่ยวกับสุขภาพ รถยนต์ มอเตอร์ไซค์ รวมถึงประกันภัยออนไลน์ต่าง ๆ จากรู้ใจได้ที่ Facebook Page: Roojai หรือคลิกที่นี่เพื่อเพิ่มเราเป็นเพื่อนใน LINE ได้เลย (Official Line ID: @roojai)

คำจำกัดความ

พาหะ สิ่งมีชีวิตทั้งคนและสัตว์ที่มีเชื้อโรคอยู่ในร่างกาย แต่ไม่แสดงอาการของโรคนั้น แต่กลับถ่ายทอดหรือแพร่กระจายเชื้อโรคไปยังผู้อื่นหรือสัตว์อื่น ๆ ได้ ตัวอย่างเช่น ยุงลายเป็นพาหะของโรคไข้เลือดออก และยุงก้นปล่องเป็นพาหะของไข้มาลาเรีย
พัฒนาการของเด็ก กระบวนการเปลี่ยนแปลงในด้านการทำหน้าที่และวุฒิภาวะของอวัยวะต่าง ๆ ในร่างกาย ทำให้สามารถปฏิบัติภารกิจที่ซับซ้อนยิ่งขึ้นได้ โดยมีการเพิ่มทักษะใหม่ ๆ และความสามารถในการปรับตัว เพื่อให้สามารถดำเนินชีวิตประจำวันได้อย่างเหมาะสม