Roojai

7 โรคติดต่อยอดฮิตที่มาพร้อมอากาศหนาว รู้ก่อนป้องกันได้

โรคติดต่อ | ไข้หวัด | ไข้หวัด | ใหญ่ | ประกันโรคร้ายแรง | รู้ใจ

เห็นทีว่าปีนี้จะได้เจออากาศหนาวเร็วกว่าทุกปีและอากาศน่าจะเย็นกว่าปีที่ผ่าน ๆ มา  ซึ่งประเทศไทยบ้านเราคงจะมีอากาศเย็นเหมือนอยู่ต่างประเทศเพียงไม่กี่วัน เมื่อมาถึงช่วงอากาศดีทีไร คนส่วนใหญ่ก็อาจจะนึกถึงงานเฟสติวัล ลานเบียร์ ปาร์ตี้เอาท์ดอร์ หรือสนุกกับการแต่งตัว โดยที่อาจจะลืมนึกถึงโรคที่มาพร้อมกับอากาศเย็น 

ในประเทศไทยที่ถือว่าเป็นเมืองร้อน แน่นอนว่า เมื่ออากาศเย็นเริ่มเข้ามา ทำให้ผู้คนมีชีวิตชีวามากขึ้น เดินไปไหนมาไหนได้สบายตัว ไม่มีเหงื่อให้หงุดหงิดรำคาญใจ แต่รู้หรือไม่ว่า อากาศเย็นแบบนี้ อาจส่งผลต่อสุขภาพได้เช่นกัน เพราะเมื่ออุณหภูมิภายนอกลดลง ส่งผลให้อุณหภูมิภายในร่างกายของเราเปลี่ยนแปลงไปด้วย จนอาจเกิดความผิดปกติต่าง ๆ โดยเฉพาะในเด็ก ผู้สูงอายุ สตรีมีครรภ์ ผู้ป่วยโรคซึมเศร้าและผู้ป่วยโรคหัวใจ รู้ใจรวบรวม 6 อาการที่มากับอากาศหนาว และ 7 โรคติดต่อที่มักจะมาพร้อมกับอากาศเย็นมีอะไรบ้าง มาดูกัน

6 อาการที่มากับอากาศหนาว

ในอากาศที่หนาวเย็นขึ้น ร่างกายเองก็ต้องปรับสภาพตามอุณหภูมิที่เปลี่ยนแปลงไป ดังนั้น จึงเกิดอาการที่แสดงออกมาทางร่างกาย มีทั้งเป็นอันตรายและไม่เป็นอันตรายต่อสุขภาพ ดังต่อไปนี้เลย

1. หนาวสั่นจากอากาศหนาว

ท่ามกลางอากาศหนาว ร่างกายต้องใช้ความพยายามในการควบคุมอุณหภูมิไม่ให้ต่ำลง กล้ามเนื้อขนาดเล็กจำนวนมากจะหดตัวเพื่อสร้างความร้อนในร่างกายของเรา ซึ่งอาการหนาวสั่นนี้ไม่ได้ส่งผลเสียต่อร่างกาย แต่กลับจะช่วยทำให้ร่างกายอบอุ่นขึ้น

2.ผิวแห้งจากอากาศหนาว

เป็นเรื่องปกติที่อากาศเย็นสัมผัสกับผิวหนังของเรา ความแห้งในอากาศจะดูดเอาความชุ่มชื้นบนผิวของเราออกไปด้วย จนทำให้รู้สึกว่าผิวแห้ง เช่น บริเวณขา แขน ใบหน้า บางคนอาจมีอาการคัน ผิวแตก หรือผิวหนังอักเสบ ร่วมด้วย

3. อาการปวดหัวจากอากาศหนาว

เมื่ออุณหภูมิภายนอกเปลี่ยนไป อาจส่งผลให้สารเคมีและคลื่นไฟฟ้าในสมองของเราเปลี่ยนแปลงไปด้วย จนอาจส่งผลกระทบต่อเส้นประสาท เป็นสาเหตุของอาการปวดศีรษะ หรือกระตุ้นให้เกิดไมเกรนได้ง่าย

4. น้ำมูกไหลหรือน้ำตาไหลจากอากาศหนาว

อากาศเย็นอาจก่อให้เกิดการระคายเคืองที่ดวงตาของเรา ร่างกายจึงสร้างของเหลวมาหล่อเลี้ยงบริเวณดวงตา เพื่อรักษาความชุ่มชื้นไว้ รวมไปถึงภายในโพรงจมูกที่ร่างกายจำเป็นต้องปรับสมดุลให้มีความชุ่มชื้น จึงได้ผลิตของเหลวมาหล่อเลี้ยงในโพรงจมูก เมื่อของเหลวมีเยอะเกินไป มันจึงเกิดเป็นอาการน้ำมูกไหล 

โรคติดต่อ | ไข้หวัด | ไข้หวัด | ใหญ่ | การดูแลสุขภาพ | รู้ใจ

5. โรคหัวใจจากอากาศหนาว

เมื่ออุณหภูมิเย็นลง ทำให้หัวใจต้องทำงานหนักขึ้นเพื่อให้ร่างกายอบอุ่นตลอดเวลา ส่งผลให้อัตราการเต้นของหัวใจและความดันโลหิตสูงขึ้น นอกจากนี้ อากาศที่เย็นลงยังเป็นสาเหตุให้หลอดเลือดตีบแคบลง ทำให้เสี่ยงต่อโรคหัวใจ ความเสี่ยงจะมากกว่าคนปกติในผู้ที่ไม่ออกกำลังกายหรือมีปัญหาเกี่ยวกับหัวใจ

6. ภาวะซึมเศร้าจากการเปลี่ยนแปลงฤดูกาล

อาการนี้สามารถเกิดได้กับทุกคนในช่วงเปลี่ยนผ่านฤดู อาการจะเหมือนกับผู้ป่วยซึมเศร้าทั่ว ๆ ไป คาดว่าอาจมาจากสาเหตุที่ช่วงกลางวันสั้นลง ร่างกายได้รับแสงแดดน้อย ซึ่งจะมีอาการเป็นช่วง ๆ โดยอาการจะดีขึ้นเมื่อเข้าสู่ฤดูร้อน แค่ในบางกรณีเท่านั้นที่อาการยังคงอยู่แม้ว่าจะเปลี่ยนไปเป็นฤดูร้อนแล้วก็ตาม

7 โรคติดต่อที่มาพร้อมกับหน้าหนาว

นอกจากอากาศจะส่งผลกระทบต่อร่างกายแล้ว มันยังเอื้อต่อการอยู่รอดและแพร่กระจายของเชื้อไวรัสได้เป็นอย่างดีอีกด้วย เรามาดูว่า 7 โรคที่มาพร้อมกันหน้าหนาวมีอะไรบ้าง

1. โรคไข้หวัด

ไข้หวัดธรรมดาจะมีอาการคล้ายกับไข้หวัดใหญ่ แตกต่างกันที่ไข้หวัดธรรมดาจะมีอาการคัดจมูก น้ำมูกไหล ไอ หรือจาม แต่จะไม่มีไข้สูงหรือปวดกล้ามเนื้อ โดยสามารถดูแลตัวเองได้ด้วยการ เลือกรับประทานผัก ผลไม้ ที่มีวิตามินซีสูง จะสามารถช่วยป้องกันไข้หวัดได้

2. โรคไข้หวัดใหญ่

เกิดจากการติดเชื้อที่ระบบทางเดินหายใจแบบเฉียบพลัน มาจากไวรัสที่ชื่อว่า อินฟลูเอ็นซาไวรัส ซึ่งสามารถแบ่งได้เป็น 2 ชนิด คือ อินฟลูเอ็นซา เอ และ อินฟลูเอ็นซา บี โดยจะมีอาการพื้นฐานเหมือนไข้หวัดธรรมดา แต่จะมีอาการปวดกล้ามเนื้อตามตัว ไข้สูง ปวดศีรษะอย่างรุนแรงร่วมด้วย  แนะนำว่า เมื่อเข้าสู่ฤดูหนาว ควรไปฉีดวัคซีนป้องกันไข้หวัดใหญ่เอาไว้ เพื่อลดความเสี่ยงต่อการเกิดโรค

3. RSV ไวรัสระบบทางเดินหายใจ

RSV ส่วนใหญ่เกิดขึ้นในเด็กที่มีอายุต่ำกว่า 3 ปี มักพบการระบาดในช่วงปลายฝนต้นหนาว ซึ่งไวรัสตัวนี้เป็นการติดเชื้อในปอดและทางเดินหายใจ จะหายได้ภายใน 1-2 สัปดาห์ หากเกิดขึ้นกับทารก อาการอาจรุนแรงมาก ควรพักรักษาตัวในโรงพยาบาล เพื่อให้แพทย์คอยประเมินอาการ 

โรคติดต่อ | ไข้สูง | น้ำมูก | อากาศหนาว | ปอดอักเสบ | รู้ใจ

4. โรคปอดบวม

เกิดจากการที่ปอดติดเชื้อแบคทีเรียหรือไวรัส ทำให้ปอดมีหนองและสารน้ำในถุงลม จนทำให้เนื้อบริเวณนั้นไม่สามารถรับออกซิเจนได้ตามปกติ อาการของผู้ป่วยจะมีอาการไอ จาม คัดจมูก มีเสมหะ แน่นหน้าอก หายใจไม่สะดวก มีไข้สูง หากอาการรุนแรงสามารถทำให้เสียชีวิตได้ มักจะพบในกลุ่มผู้สูงอายุและเด็กอายุ 5-10 ปี สำหรับเด็กเล็กควรฉีดวัคซีนป้องกันปอดบวมป้องกันเอาไว้

5. โรคหัด

เกิดจากเชื้อรูบีโอลาไวรัส มักจะระบาดช่วงปลายฤดูหน้าคาบเกี่ยวเข้าฤดูร้อน พบมากในเด็กตั้งแต่อายุ 2-12 ขวบ ติดต่อกันได้ง่ายผ่านการไอ จาม หรือหายใจเอาละอองเสมหะ น้ำมูก สารคัดหลั่งของผู้ป่วยที่อยู่ในอากาศเข้าไป โดยอาการเบื้องต้นจะคล้ายไข้หวัดธรรมดา แต่จะมีไข้สูงติดต่อกัน 3-4 วัน มีผื่นเม็ดเล็ก ๆ สีแดงขึ้นตามตัว มีตุ่มใส ๆ ขึ้นในปาก บริเวณกระพุ้งแก้มจนถึงฟันกรามด้านบน แนะนำว่าเด็ก ๆ ควรได้รับวัคซีนรวมโรคหัด โรคหัดเยอรมันและโรคคางทูม สามารถเริ่มฉีดได้ตั้งแต่อายุ 9-12 เดือน รวมทั้งต้องฉีดเข็มกระตุ้นอีกครั้งตอนอายุ 6 ขวบ

6. โรคอุจจาระร่วง

เกิดจากการติดเชื้อไวรัสที่มีชื่อว่า โรต้า มักจะระบาดมากที่สุดในช่วงเดือนตุลาคม-กุมภาพันธ์ของทุกปี เชื้อจะเข้าสู่ร่างกายทางปาก ผ่านไปยังกระเพาะอาหาร ลงไปแบ่งตัวที่ลำไส้ พบบ่อยในเด็กอายุ 6-12 เดือน เนื่องจากช่วงอายุนี้ เป็นช่วงที่ภูมิคุ้มกันในร่างกายยังไม่เเข็งแรง โดยจะมีอาการท้องเสียร่วมกับมีไข้ และอาเจียนอย่างหนัก บางรายอาการรุนแรงสามารถช็อก จนกระทั่งเสียชีวิตจากการขาดน้ำ ปัจจุบันมีวัคซีนป้องกันโรต้าไวรัส เป็นชนิดรับประทาน สามารถเริ่มทานได้ตั้งแต่อายุ 2 เดือน 

7. โรคไข้สุกใส

โรคไข้สุกใสหรือ “อีสุกอีใส” เกิดจากเชื้อไวรรัสที่มีชื่อว่า ไวรัสวาริเซลลา มักจะระบาดในช่วงเดือนมกราคม-มีนาคม ติดต่อกันผ่านทางการสัมผัสตุ่มน้ำใส ๆ ของผู้ป่วย โดยมีระยะฟักตัวราว 10-20 วัน และมักจะพบมากในเด็กที่มีอายุ 5-15 ปี โดยจะเกิดกับผู้ที่ไม่เคยเป็นโรคนี้มาก่อน สามารถฉีดวัคซีนป้องกันไข้สุกใสได้แล้วในปัจจุบัน โดยอายุที่สามารถรับวัคซีนได้ คือ 1 ขวบเป็นต้นไป สำหรับผู้ใหญ่ที่ยังไม่เคยเป็นโรคนี้ก็สามารถรับวัคซีนได้เช่นกัน

โรคติดต่อ | ไข้สูง | ไข้หวัดใหญ่ | อากาศหนาว | ประกันโรคร้ายแรง | รู้ใจ

อากาศหนาวเย็นอาจจะนำพาความสุขมาสู่ใครหลาย ๆ คน แต่อย่าลืมว่า มันก็สามารถพาโรคติดต่อมาสู่เราได้เช่นกัน ดังนั้น การดูแลรักษาสุขภาพ ออกกำลังกายสม่ำเสมอ รับประทานวิตามินเสริม และรับวัคซีนตามคำแนะนำของแพทย์ จะช่วยลดความเสี่ยงต่อการเกิดโรคได้ ที่สำคัญคือการทำประกันโรคร้ายแรงติดไว้ เพราะโรคร้ายแรงเกิดขึ้นโดยที่เราไม่คาดคิด บางครั้งอาจไม่ทันตั้งตัว การวางแผนเตรียมตัวรับมือสถานการณ์เหล่านี้จะช่วยเซฟค่าใช้จ่ายคุณในวันที่คุณป่วย เมื่อหายป่วยก็ยังมีเงินเก็บเพื่อใช้ชีวิตต่อได้ไม่สะดุด

สามารถติดตามข่าวสาร สาระความรู้เกี่ยวกับสุขภาพ รถยนต์ มอเตอร์ไซค์ รวมถึงประกันภัยออนไลน์ต่าง ๆ จากรู้ใจได้ที่ Facebook Page: Roojai หรือคลิกที่นี่เพื่อเพิ่มเราเป็นเพื่อนใน LINE ได้เลย (Official Line ID: @roojai)