Roojai

ทำไมไข้เลือดออกครั้งที่สองถึงหนักกว่าเดิม? ติดเชื้อซ้ำยิ่งรุนแรง

เหตุผลที่การติดเชื้อไข้เลือดออกซ้ำ ทำให้อาการรุนแรงกว่าเดิม | รู้ใจ ประกันออนไลน์

การเป็นไข้เลือดออกครั้งแรกอาจทำให้หลายคนรู้สึกว่าหายแล้วจะปลอดภัย และไม่มีทางเป็นซ้ำแน่ ๆ ความเข้าใจผิดเช่นนี้ ก่อให้เกิดความประมาท ไม่ระวัง จนอาจเป็นสาเหตุให้เกิดไข้เลือดออกซ้ำเป็นครั้งที่สอง และทราบหรือไม่ว่าการติดเชื้อซ้ำจากไวรัสเดงกีที่มี 4 สายพันธุ์นั้น มีความเสี่ยงมากกว่าครั้งแรก และการเป็นไข้เลือดออกซ้ำสามารถทำให้เกิดอาการที่รุนแรงขึ้นได้ เช่น ภาวะเลือดออกผิดปกติและภาวะช็อก ซึ่งอาจเป็นอันตรายถึงชีวิต การป้องกันยุงกัดและการดูแลสุขภาพจึงเป็นสิ่งสำคัญในการลดความเสี่ยงจากโรคนี้ ซึ่งได้อธิบายทั้งหมดไว้ในบทความนี้

สนใจอ่านแค่บางเรื่อง ก็เลือกได้เลย!

โรคไข้เลือดออก (Dengue fever) คืออะไร?

ไข้เลือดออก (Dengue fever) คือ โรคระบาดชนิดหนึ่งที่เกิดจากการติดเชื้อไวรัสเดงกี (Dengue virus) ซึ่งมียุงลายเป็นพาหะนำโรค โรคนี้พบได้บ่อยในพื้นที่เขตร้อนและกึ่งเขตร้อน เช่น ประเทศไทย โดยเฉพาะในช่วงฤดูฝนซึ่งมักจะมีน้ำขัง และความอับชื้น เป็นช่วงที่ยุงชุกชุม

รู้ทันไข้เลืออก โรคระบาดในไทย | รู้ใจ ประกันออนไลน์

ยุงแต่ละสายพันธุ์เป็นสาเหตุของโรคอะไรบ้าง?

ยุงเป็นพาหะนำโรคที่สำคัญในหลายโรค โดยยุงแต่ละสายพันธุ์มีพาหะนำโรคที่สามารถแพร่เชื้อได้แตกต่างกันไป เช่น ยุงลาย (Aedes) เป็นพาหะของโรคไข้เลือดออก ไข้ซิกา และโรคชิคุนกุนยา ขณะที่ยุงก้นปล่อง (Anopheles) เป็นพาหะนำโรคมาลาเรีย และยุงเสือ (Culex) สามารถแพร่โรคไข้สมองอักเสบเจอี (Japanese Encephalitis) ได้ โดยปัจจุบันโรคระบาดในไทยที่เกิดจากยุงมีหลายโรค เช่น ไข้เลือดออก ไข้ชิคุนกุนยา ไข้ซิกา และโรคมาลาเรีย แต่ที่พบมากที่สุดคือโรคไข้เลือดออก ซึ่งพบผู้ป่วยหลายหมื่นรายทุกปี

อาการของไข้เลือดออกเป็นยังไง?

ผู้ป่วยที่ถูกยุงลายกัดจะแสดงอาการภายใน 5-8 วัน โดยมักจะมีไข้สูงเฉียบพลัน 38-40 องศาเซลเซียส และมีอาการปวดเมื่อยตามร่างกาย โดยเฉพาะที่บริเวณกล้ามเนื้อหลัง ผิวหนังอาจมีจุดเลือดแดงขึ้นตามลำตัว แขน ขา และมีอาการเพิ่มเติม เช่น หน้าแดง ตาแดง ปวดกระบอกตา ปวดท้อง ปวดศีรษะ เบื่ออาหาร กระหายน้ำ ซึมลง กระสับกระส่าย เท้าเย็น และในบางรายอาจมีอาเจียนด้วย

สิ่งสำคัญที่ต้องจับตามอง คือ หากพบว่ามีไข้ติดต่อกันเป็นเวลา 2-7 วัน และมีอาการดังกล่าวข้างต้นหลายอย่าง ให้สงสัยว่าอาจเป็นไข้เลือดออก ควรเร่งพบแพทย์โดยด่วน เพื่อตรวจวินิจฉัยและได้รับการรักษาอย่างทันท่วงที เนื่องจากไข้เลือดออกมีความรุนแรงและอาจเสี่ยงต่อชีวิตได้

ไข้เลือดออกอันตรายถึงชีวิตหรือไม่?

โรคไข้เลือดออกสามารถเป็นอันตรายถึงชีวิตได้ หากไม่ได้รับการรักษาอย่างเหมาะสม โดยเฉพาะในระยะวิกฤตที่ผู้ป่วยอาจเกิดภาวะช็อกจากการสูญเสียน้ำในร่างกาย และเกิดการรั่วของพลาสมา หากไม่ได้รับการรักษาทันเวลาอาจทำให้เสียชีวิตได้

ไข้เลือดออกเป็นโรคที่ต้องเฝ้าระวังเป็นพิเศษ โดยเฉพาะกับกลุ่มเสี่ยงต่อการเกิดอาการรุนแรง ได้แก่

  1. เด็กเล็กอายุต่ำกว่า 5 ปี
  2. ผู้สูงอายุ
  3. คนที่มีภาวะอ้วน
  4. คนที่มีโรคประจำตัว เช่น เบาหวาน ความดันโลหิตสูง หรือโรคหัวใจ จะมีความเสี่ยงเพิ่มขึ้นหากติดเชื้อไข้เลือดออก

นอกจากคนที่มีภาวะอ้วนจะมีความเสี่ยงต่ออาการรุนแรงของไข้เลือดออกแล้ว ยังเสี่ยงต่อโรคประจำตัวเช่น ความดัน เบาหวาน ไปจนถึงโรคร้ายแรงอย่างโรคหลอดเลือดสมองแตกหรืออุดตัน ไตวายเรื้อรัง เป็นต้น ดังนั้นหากทำประกันโรคร้ายแรงไว้ตั้งแต่ยังมีสุขภาพดี ร่วมกับการรักษาสุขภาพก็จะช่วยลดความเสี่ยงที่จะต้องเสียเงินไปกับค่ารักษาโรคร้ายแรงได้อีกด้วย

การติดเชื้อไข้เลือดออกซ้ำ เพิ่มความเสี่ยงอาการรุนแรงขึ้น | รู้ใจ ประกันออนไลน์

ทำไมไข้เลือดออกครั้งที่ 2 ถึงรุนแรงขึ้น?

ผู้ที่เคยป่วยเป็นไข้เลือดออกแล้วสามารถติดเชื้อซ้ำได้ เนื่องจากเชื้อไวรัสเดงกี (Dengue) มี 4 สายพันธุ์ การติดเชื้อซ้ำด้วยสายพันธุ์ที่ต่างจากครั้งแรกอาจทำให้เกิดความรุนแรงมากกว่าเดิม เนื่องจากระบบภูมิคุ้มกันของร่างกายที่ตอบสนองต่อการติดเชื้อซ้ำอาจทำให้เกิดอาการรุนแรง เช่น ภาวะช็อกและภาวะเลือดออก ซึ่งเป็นอันตรายถึงชีวิตได้

วิธีรักษาโรคไข้เลือดออกในผู้ป่วยที่เป็นซ้ำ

การรักษาไข้เลือดออกในผู้ป่วยที่เป็นซ้ำไม่แตกต่างจากครั้งแรก ปัจจุบันยังไม่มียารักษาโรคไข้เลือดออกโดยตรง แต่การดูแลรักษาอย่างเหมาะสมสามารถช่วยบรรเทาอาการและป้องกันภาวะแทรกซ้อนที่อาจเกิดขึ้น สำหรับผู้ป่วยที่มีอาการไม่รุนแรง สามารถพักฟื้นที่บ้านโดยการดื่มน้ำ น้ำเกลือแร่ และรับประทานอาหารอ่อนย่อยง่าย แต่หากมีอาการรุนแรง เช่น ขาดน้ำหรือเข้าสู่ภาวะช็อก จำเป็นต้องได้รับการรักษาในโรงพยาบาล โดยแพทย์จะติดตามอาการของผู้ป่วยอย่างใกล้ชิด เฝ้าติดตามระดับน้ำในร่างกาย อาจให้สารน้ำ น้ำเกลือ และอาจให้เลือดหรือส่วนประกอบของเลือดตามความจำเป็นกับสภาพร่างกายของผู้ป่วย

วิธีป้องกันโรคไข้เลือดออก | รู้ใจ ประกันออนไลน์

วิธีการป้องกันโรคไข้เลือดออก

การป้องกันโรคไข้เลือดออกซ้ำสามารถทำได้โดยการหลีกเลี่ยงยุงกัด เช่น การใช้ยากันยุง การติดตั้งมุ้งลวด การกำจัดแหล่งเพาะพันธุ์ยุงลายรอบบ้าน เช่น กำจัดแหล่งน้ำขัง ฉีดพ่นยาฆ่าแมลง และการป้องกันยุงด้วยการใส่เสื้อผ้ามิดชิด

ควรฉีดวัคซีนป้องกันไข้เลือดออกหรือไม่?

วัคซีนป้องกันไข้เลือดออก สามารถช่วยลดความเสี่ยงของการป่วยรุนแรงได้ ซึ่งก็เป็นทางเลือกที่ดีในการป้องกันโรคไข้เลือดออก แต่การรับวัคซีนควรปรึกษาแพทย์ เพราะมีวัคซีนป้องกันไข้เลือดออก 2 ชนิด ที่เหมาะกับแต่ละคนแตกต่างกันไป ดังนี้

  1. วัคซีนป้องกันไข้เลือดออก ชนิด 3 เข็ม (Dengvaxia) – เป็นวัคซีนที่เหมาะกับคนอายุ 15-45 ปี และเคยเป็นไข้เลือดออกมาก่อน
  2. วัคซีนป้องกันไข้เลือดออก ชนิด 2 เข็ม (QDenga) – เป็นวัคซีนที่เหมาะกับคนอายุ 4-60 ปี ฉีดได้ทั้งคนที่เคยเป็นและไม่เคยเป็นไข้เลือดออกมาก่อน

หากคุณมีอาการไข้สูงเกิน 2 วัน ร่วมกับอาการอื่น ๆ เช่น คลื่นไส้ อาเจียน เบื่ออาหาร หน้าแดง มีจุดเลือดที่ผิวหนัง คุณอาจเป็นไข้เลือดออก และควรรีบไปพบแพทย์เพื่อรับการตรวจวินิจฉัยและรักษาโดยเร็ว การรู้จักโรค อาการที่ควรระวัง และรีบไปพบแพทย์ จะช่วยให้รับมือและรักษาโรคนี้ได้อย่างทันท่วงที

สามารถติดตามข่าวสาร สาระความรู้เกี่ยวกับสุขภาพ รถยนต์ มอเตอร์ไซค์ รวมถึงประกันภัยออนไลน์ต่าง ๆ จากรู้ใจได้ที่ Facebook Page: Roojai หรือคลิกที่นี่เพื่อเพิ่มเราเป็นเพื่อนใน LINE ได้เลย (Official Line ID: @roojai)

คำจำกัดความ

พาหะนำโรค คนหรือสัตว์ที่มีเชื้อที่สามารถก่อโรคได้อยู่ในร่างกาย โดยไม่ปรากฏอาการของโรคนั้นออกมาให้เห็น แต่สามารถถ่ายโอนหรือแพร่กระจายเชื้อของโรคนั้นไปสู่ผู้อื่นหรือสัตว์อื่นได้
ระยะวิกฤต ผู้ป่วยที่อยู่ในภาวะของโรครุนแรงมาก และต้องเฝ้าระวัง
การรั่วของพลาสมา การรั่วของพลาสมาออกมานอกเส้นเลือด เป็นหนึ่งในอาการสุดท้ายของการดำเนินโรคไข้เลือดออก ผลที่ตามมาคือ ผู้ป่วยจะเกิดอาการช็อก และอาจเกิดโรคแทรกซ้อนต่อไปได้