Roojai

ธาลัสซีเมียคืออะไร อาการ สาเหตุ โรคพันธุกรรมต้องเช็คก่อนแต่งงาน

โรคธาลัสซีเมีย อันตรายไหม | รู้ใจ

ทราบหรือไม่ว่าในประเทศไทยมีผู้ป่วยที่เป็นโรคธาลัสซีเมียอยู่ถึง 500,000 คน และพบผู้ป่วยธาลัสซีเมียที่เป็นพาหะธาลัสซีเมียมีประมาณ 18 ล้านคน เรามาทำความรู้จักโรคธาลัสซีเมียกันดีกว่า เพราะถึงแม้ว่าคุณจะเป็นไม่ได้เป็นโรคหรือเป็นพาหะที่ไม่ส่งผลกระทบต่อสุขภาพของคุณก็ตาม แต่มันอาจส่งต่อหรือถ่ายทอดทางพันธุกรรมไปสู่ลูก ๆ คุณได้ในอนาคต

โรคธาลัสซีเมีย คืออะไร?

ธาลัสซีเมียเป็นชนิดหนึ่งของโรคเลือดจางที่เกิดจากเม็ดเลือดแดงผิดปกติ ทำให้มีอาการซีดเรื้อรัง เป็นอีกโรคที่พบมากในประเทศไทยและทั่วโลก

โรคธาลัสซีเมียเกิดจากอะไร?

เป็นโรคที่สามารถถ่ายทอดทางพันธุกรรมได้ ในคนที่เป็นโรคธาลัสซีเมียจะได้รับยีนผิดปกติมาจากพ่อและแม่ โดยที่พ่อแม่อาจไม่ได้เป็นโรคธาลัสซีเมียแต่มียีนของธาลัสซีเมียในร่างกาย เรียกว่า พาหะธาลัสซีเมีย โดยคนที่เป็นพาหะธาลัสซีเมียก็จะไดัรับยีนผิดปกติมาจากพ่อหรือแม่คนใดคนหนึ่งเช่นกัน พาหะธาลัสซีเมียจะมีสุขภาพดีเหมือนคนทั่วไป แต่จะสามารถถ่ายทอดยีนผิดปกติสู่รุ่นลูกได้ 

ธาลัสซีเมียมีกี่ชนิด?

ธาลัสซีเมียมี 2 ชนิด ดังนี้

  • แอลฟ่า-ธาลัสซีเมีย – เป็นพาหะที่ค่อนข้างรุนแรงกว่าอีกชนิดหนึ่ง โดยสามารถก่อให้เกิดผลกระทบต่อกระดูกโดยตรง และอาจส่งผลให้ทารกเสียชีวิตตั้งแต่ในครรภ์หรือเสียชีวิตหลังคลอดได้ 
  • เบต้า-ธาลัสซีเมีย – พาหะตัวนี้จะไม่ค่อยรุนแรง แต่จะทำให้มีอาการตัวเหลืองซีด ซึ่งตัวเหลืองซีดนี้เกิดจากความไม่สมบูรณ์ของฮีโมโกลบิน 

อาการของโรคธาลัสซีเมีย อันตรายไหม?

อาการของโรคธาลัสซีเมีย สามารถแบ่งระดับความรุนแรงของอาการได้ดังนี้

  1. ธาลัสซีเมียอาการรุนแรงมากที่สุด – ผู้ป่วยจะเสียชีวิตตั้งแต่อยู่ในครรภ์หรือหลังคลอด ซึ่งระหว่างการตั้งครรภ์ มารดาอาจมีความดันเลือดสูง ตัวบวม และครรภ์อาจเป็นพิษได้
  2. ธาลัสซีเมียอาการปานกลางถึงรุนแรงมาก – ผู้ป่วยจะมีอาการตัวซีดภายใน 2 ปีแรกหลังจากเกิด ตาเหลือง ตัวเหลือง ตับม้ามโต หน้าตาไม่เหมือนพ่อแม่ และเติบโตไม่สมวัย
  3. ธาลัสซีเมียไม่มีอาการหรือมีอาการน้อย – ส่วนหนึ่งจะตรวจธาลัสซีเมียพบจากการตรวจสุขภาพประจำปี หรือเวลามีไข้สูง ติดเชื้อรุนแรง จะเกิดภาวะซีดลงอย่างรวดเร็วและมีดีซ่านร่วมด้วย 
โรคธาลัสซีเมียทำประกันโรคร้ายแรงได้มั้ย | รู้ใจ

การวินิจฉัยโรคธาลัสซีเมีย

ธาลัสซีเมียสามารถพบได้จากการตรวจธาลัสซีเมีย โดยซักประวัติ ตรวจร่างกาย และตรวจเลือด โดยแพทย์จะตรวจดูความสมบูรณ์ของเม็ดเลือด ร่วมกับการตรวจเลือดด้วยวิธีพิเศษ ที่เรียกว่า การตรวจ Hb Typing และการตรวจวิเคราะห์ DNA

ธาลัสซีเมียรักษาหายมั้ย?

ธาลัสซีเมียรักษาได้ แต่จะไม่หายขาด ต้องดูแลตัวเองและปฏิบัติตามคำแนะนำของแพทย์ ดังต่อไปนี้ 

  • ดูแลสุขภาพให้แข็งแรง
  • รับประทานอาหารให้ครบ 5 หมู่ เลี่ยงอาหารที่มีธาตุเหล็กสูง ได้แก่ เลือด ตับ เครื่องในสัตว์ 
  • หากต้องการกินวิตามินเสริม ควรให้แพทย์แนะนำ เพราะการเลือกวิตามินกินเอง อาจเสี่ยงต่อการได้รับวิตามินที่มีธาตุเหล็กเป็นส่วนประกอบเยอะจนเกินไป
  • กรณีผู้ป่วยเป็นเด็ก ควรได้รับการฉีดวัคซีนให้ครบเหมือนเด็กทั่วไป
  • ออกกำลังกายแต่พอดี เมื่อเหนื่อยควรหยุดพักทันที หลีกเลี่ยงการออกกำลังกายที่มีการกระแทกรุนแรง เพราะกระดูกอาจแตกหักได้
  • งดสูบบุหรี่และงดเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ทุกชนิด เพราะจะทำให้สุขภาพแย่ลง
  • ควรตรวจฟันทุก 6 เดือน เนื่องจากอาจมีฟันผุได้ง่ายกว่าคนทั่วไป
  • ถ้ามีไข้สูง ควรรีบมาพบแพทย์ทันที เพราะอาจเสี่ยงโรคติดเชื้อรุนแรง
  • รับประทาน Folic Acid ตามแพทย์สั่งอย่างเคร่งครัด เพราะร่างกายของผู้ที่เป็นโรคธาลัสซีเมียจะมีการสร้างเลือดมากกว่าคนทั่วไป จึงมีความต้องการ Folic Acid ที่มากกว่า 

ข้อควรรู้ สำหรับผู้เป็นพาหะธาลัสซีเมีย

  1. ผู้ที่เป็นพาหะสามารถถ่ายทอดยีนไปสู่บุตรได้ จึงควรวางแผนก่อนการมีบุตร เพื่อหลีกเลี่ยงการมีบุตรเป็นโรคธาลัสซีเมีย และควรพาคู่สมรสไปตรวจเลือดก่อนการมีบุตร
  2. ถ้าทั้งสามีและภรรยาเป็นพาหะธาลัสซีเมียชนิดเดียวกัน มีโอกาสที่ลูกจะเป็นธาลัสซีเมีย 25% เมื่อตั้งครรภ์ ควรรีบปรึกษาแพทย์เพื่อทำการตรวจวินิจฉัยทารกก่อนคลอด หรือคู่สามี ภรรยาจะเลือกวิธีผสมเทียมเข้ามาช่วยในการมีบุตร
  3. ผู้ที่เป็นพาหะธาลัสซีเมีย ควรแนะนำให้ญาติพี่น้องไปตรวจธาลัสซีเมีย โดยการตรวจเลือด
  4. พาหะธาลัสซีเมีย ควรกินอะไร? สามารถกินอาหารได้ตามปกติ ซึ่งการเลือกทานอาหารก็ควรเลือกอาหารที่หลากหลาย ครบ 5 หมู่

ธาลัสซีเมียส่งผลกระทบในชีวิตประจำวันมั้ย?

ผู้ป่วยธาลัสซีเมียมีความหลากหลาย ขึ้นอยู่กับชนิดของธาลัสซีเมีย ตั้งแต่มีอาการซีดเล็กน้อย แต่ไม่ส่งผลต่อการใช้ชีวิตประจำวัน อาจจะมีแค่เหนื่อยง่ายกว่าคนปกติทั่วไปเท่านั้น หรืออาจจะไม่มีอาการของโรคธาลัสซีเมียเลย

เป็นโรคธาลัสซีเมียทำประกันโรคร้ายแรงได้มั้ย?

โรคธาลัสซีเมีย เป็นหนึ่งโรคที่โดยทั่วไปประกันโรคร้ายแรงจะไม่ให้ความคุ้มครอง รวมทั้งโรคเลือด เลือดจาง ลูคีเมีย โรคแพ้ถั่วปากอ้า โรคเกล็ดเลือดต่ำ ดังนั้นใครที่กำลังเป็นโรคนี้และวางแผนจะซื้อประกัน อย่าลืมอ่านรายละเอียดความคุ้มครองและเงื่อนไขประวัติสุขภาพก่อนการทำประกัน และสำหรับคนที่เป็นพาหะธาลัสซีเมียสามารถทำประกันโรคร้ายแรงได้ตามปกติ

สามารถติดตามข่าวสาร สาระความรู้เกี่ยวกับสุขภาพ รถยนต์ มอเตอร์ไซค์ รวมถึงประกันภัยออนไลน์ต่าง ๆ จากรู้ใจได้ที่ Facebook Page: Roojai หรือคลิกที่นี่เพื่อเพิ่มเราเป็นเพื่อนใน LINE ได้เลย (Official Line ID: @roojai)