โรคผิวหนังเรื้อรังชนิดหนึ่งแต่ไม่ใช่โรคติดต่อ แม้ว่าผู้ป่วยจะมีสะเก็ดขึ้นตามตัวก็ตามมันจะไม่ติดต่อไปยังคนอื่น โดยที่ลักษณะอาการของโรคผิวหนัง สะเก็ดเงินจะมีผื่นแดง มีเกล็ดสีเงินขึ้นที่ผิวหนัง และลุกลามเข้าไปในเล็บ หรือมีอาการอักเสบตามข้อต่าง ๆ นี่คืออาการของโรคสะเก็ดเงิน หรือ Psoriasis และผื่นสะเก็ดเงินนี้สามารถขึ้นได้ทุกส่วนในร่างกาย โดยบริเวณที่พบบ่อยคือ ข้อศอก เข่า หลัง หลังมือ หลังเท้า หนังศีรษะ และใบหน้า ในผู้ป่วยบางรายที่มีอาการรุนแรง อาจมีเลือดออกในปื้นได้ อาการจะเป็น ๆ หาย ๆ ไม่หายขาด โรคสะเก็ดเงิน อาการเริ่มแรกเป็นอย่างไร รักษาหายมั้ย ไปหาคำตอบกัน
- โรคสะเก็ดเงินเกิดจากอะไร?
- โรคสะเก็ดเงินอาการเป็นยังไง?
- โรคสะเก็ดเงินเป็นโรคติดต่อไหม?
- โรคสะเก็ดเงินอันตรายหรือไม่?
- ใครบ้างที่เสี่ยงเป็นโรคสะเก็ดเงิน?
- อะไรบ้างที่กระตุ้นทำให้เกิดโรคสะเก็ดเงิน?
- ภาวะแทรกซ้อนของโรคสะเก็ดเงิน
- การวินิจฉัยโรคสะเก็ดเงิน
- วิธีรักษาโรคสะเก็ดเงิน
- รู้ใจรวมทริคป้องกันโรคสะเก็ดเงิน
โรคสะเก็ดเงินเกิดจากอะไร?
สาเหตุของการเกิดโรคยังไม่สามารถระบุได้อย่างชัดเจน แต่อาจเกิดจากปัจจัยต่าง ๆ เช่น ภูมิคุ้มกันผิดปกติหรือภูมิตก และอาจเกิดจากพันธุกรรมได้เช่นกัน
โดยปกติแล้ว เซลล์ผิวหนังจะเกิดขึ้นใหม่ทดแทนเซลล์ที่ตายและหลุดออกเป็นขึ้นไคล แต่ในคนที่เป็นโรคสะเก็ดเงิน เซลล์ผิวหนังจะแบ่งตัวเร็วกว่าคนปกติ ทำให้เซลล์ผิวหนังที่แก่ตัวหลุดไม่ทันการแบ่งตัวของเซลล์ใหม่ ทำให้บริเวณผิวหนังดังกล่าวหนาขึ้นเรื่อย ๆ และกลายเป็นปื้นผื่นสะเก็ดเงินหนา
ซึ่งนอกจากปัจจัยทางด้านพันธุกรรมแล้ว ยังมีปัจจัยอื่นที่มากระตุ้นให้เกิดโรคได้ ฉะนั้นผู้ที่เป็นโรคสะเก็ดเงิน ต้องหมั่นสังเกตอาการของตัวเอง เช่น สังเกตว่าอะไรเป็นตัวกระตุ้นให้โรคกลับมา เพื่อหลีกเลี่ยงไม่ให้เกิดขึ้นอีก
โรคสะเก็ดเงินอาการเป็นยังไง?
- มีผื่นสะเก็ดเงิน ลักษณะเป็นผื่นหนาสีแดง ขอบชัดเจน ปกคลุมด้วยขุยหนาขาวคล้ายสีเงิน สามารถขูดออกได้ง่าย และเมื่อขูดขุยหมดจะมีจุดเลือดออกบนรอยผื่น
- ผื่นอาจเกิดบนรอยถลอกหรือรอยแผลผ่าตัด
- ผื่นผิวหนังมักจะกระจายในบริเวณที่มีการเสียดสี เช่น ศีรษะ ไรผม หลัง สะโพก ศอก เข่า หน้าแข้ง ข้อเท้า ฝ่ามือ ฝ่าเท้า เป็นต้น
- พบว่าที่เล็บมีหลุม เล็บร่อน หรือปลายเล็บหนา มีขุยใต้เล็บ หรือมีจุดสีน้ำตาลใต้เล็บ
- มีการอักเสบตามข้อต่าง ๆ ในร่างกาย อาจเกิดได้ทั้งข้อใหญ่และข้อเล็ก และอาจเป็นข้อเดียวหรือหลายข้อ และอาจมีอาการข้อพิการตามหลังการอักเสบเรื้อรัง
รู้ใจรวมทริคป้องกันโรคสะเก็ดเงิน
สำหรับวิธีป้องกันผื่นสะเก็ดเงินนั้น ยังไม่มีวิธีที่แน่ชัด เพียงแต่หากออกกำลังกายอยู่เป็นประจำอยู่แล้ว ร่วมกับการดูแลทั้งสุขภาพผิวและสุขภาพร่างกายไปด้วย พร้อมพักผ่อนอย่างเพียงพอและรับประทานอาหารที่เหมาะสม จะช่วยลดความเสี่ยงต่อการเกิดโรคสะเก็ดเงินได้
- ใช้มอยส์เจอไรเซอร์ ครีมบำรุงผิว หรือเบบี้ออยล์ ทาผิวเพื่อให้ผิวชุ่มชื้น
- หมั่นทำความสะอาดร่างกายและผิวเป็นประจำ
- หลีกเลี่ยงการสัมผัสกับอากาศแห้งและเย็น
- หลีกเลี่ยงการใช้ยาที่อาจไปกระตุ้นให้เกิดโรค
- หลีกเลี่ยงการทำให้เกิดบาดแผลที่ผิวหนัง ที่อาจนำไปสู่การติดเชื้อ
- รับแสงแดดพอประมาณ ไม่มากและไม่น้อยเกินไป
- พักผ่อน ออกกำลังกาย และต้องไม่เครียด
โรคสะเก็ดเงินเป็นโรคติดต่อไหม?
โรคสะเก็ดเงิน ติดต่อไหม? โรคสะเก็ดเงินเป็นโรคผิวหนังที่ไม่ติดต่อจะไม่มีการติดเชื้อและไม่แพร่เชื้อ ปัจจุบันยังไม่สามารถรักษาให้หายขาด อาการจะเป็น ๆ หาย ๆ แต่สามารถควบคุมโรคได้ด้วยการรักษาอย่างถูกต้องและเคร่งครัด และผู้ป่วยควรหลีกเลี่ยงสิ่งกระตุ้นให้เกิดอาการของโรคสะเก็ดเงิน
โรคสะเก็ดเงินอันตรายหรือไม่?
เนื่องด้วยโรคสะเก็ดเงินเป็นโรคผิวหนังอักเสบเรื้อรัง ที่เกิดจากการทำงานของเม็ดเลือดขาวที่เพิ่มขึ้นทำให้ผิวหนังแบ่งตัวเร็วขึ้น โรคสะเก็ดเงินจะไม่มีการติดเชื้อและไม่แพร่เชื้อ แม้จะไม่สามารถรักษาให้หายได้ แต่สามารถทำให้โรคสงบได้ หากทำการรักษาอย่างถูกต้องและเคร่งครัด รับประทานยาและปฏิบัติตนตามคำแนะนำของแพทย์ โรคนี้ก็จะไม่อันตราย แต่หากไม่ดูแลรักษาผื่นสะเก็ดเงินอย่างถูกต้อง 1 ใน 4 ของผู้ป่วยโรคสะเก็ดเงิน อาจมีอาการข้ออักเสบ คล้ายปวดรูมาตอยด์ เสี่ยงทำให้ข้อผิดรูปอย่างถาวรได้ และอาจนำไปสู่การเป็นมะเร็งผิวหนังได้
ซึ่งหากเป็นมะเร็งแล้ว แน่นอนว่าสิ่งที่ตามมาคือค่ารักษาพยาบาลและการสูญเสียรายได้ในช่วงรักษาตัว ซึ่งเราสามารถวางแผนการเงินเพื่อรับมือได้ด้วยการทำประกันภัย ที่รู้ใจมีประกันมะเร็ง คุ้มครองมะเร็งทุกชนิด ทุกระยะ เจอจ่ายจบ รับเงินก้อนสูงสุด 3 ล้านบาท แน่นอนว่าคุ้มครองโรคมะเร็งผิวหนังด้วย
ใครบ้างที่เสี่ยงเป็นโรคสะเก็ดเงิน?
โรคสะเก็ดเงินสามารถเกิดขึ้นได้กับทุกคน ทุกเพศ ทุกวัย ทั้งเด็กและผู้ใหญ่
อะไรบ้างที่กระตุ้นทำให้เกิดโรคสะเก็ดเงิน?
- การใช้ยา ผู้ป่วยที่เป็นโรคสะเก็ดเงิน ไม่ควรซื้อยามาทานเอง
- อาการติดเชื้อ ไม่ว่าจะติดเชื้ออะไรก็ตาม อาจเป็นหนึ่งในปัจจัยกระตุ้นให้โรคสะเก็ดเงินกำเริบได้
- การแกะ เกา ที่ผิวหนัง อาจทำให้เกิดรอยถลอก บาดแผล ซึ่งรอยเพียงเล็กน้อยก็สามารถทำให้ผื่นของโรคสะเก็ดเงินกำเริบและลุกลามได้ ฉะนั้น ห้ามแกะเกาเด็ดขาด
- การเปลี่ยนแปลงของฮอร์โมน สามารถกระตุ้นให้โรคกำเริบได้เช่นกัน
- อาการเครียด ส่วนใหญ่ผู้ป่วยที่มีความเครียด โกรธง่าย นอนไม่หลับ มักจะทำให้เกิดผื่นแดงคันมากขึ้น และหากแกะเกาก็จะทำให้โรคกำเริบได้
- พฤติกรรมเสี่ยง เช่น ดื่มแอลกอฮอล์ สูบบุหรี่ เล่นกีฬาอย่างหักโหม
- สภาพอากาศร้อนอบอ้าว แสงแดด หรืออากาศที่หนาวเย็น สามารถกระตุ้นให้อาการของโรคกำเริบได้
ภาวะแทรกซ้อนของโรคสะเก็ดเงิน
ส่วนใหญ่แล้วโรคสะเก็ดเงิน จะไม่มีอาการแทรกซ้อนที่รุนแรง แต่อาจทำให้ผู้ป่วยเกิดความเครียด กังวล ซึมเศร้า เสียความมั่นใจ และส่งผลต่อการดำเนินชีวิตประจำวันและการเข้าสังคม
- ผู้ป่วยบางรายที่มีอาการคันรุนแรง หากมีการเกา แกะ อาจเสี่ยงต่อการติดเชื้อแบคทีเรียแทรกซ้อนได้
- บางรายที่เป็นแผลรุนแรง เช่น โรคสะเก็ดเงินชนิดตุ่มหนองที่ขึ้นกระจายไปทั่วตัว หรือสะเก็ดเงินชนิดแดงและเป็นสะเก็ดทั่วตัว อาจทำให้เกิดภาวะสูญเสียน้ำและเกลือแร่ นำไปสู่การติดเชื้อรุนแรงได้
- บางรายที่โรคสะเก็ดเงินที่เล็บ อาจทำให้เล็บนั้นพิการได้
- คนที่เป็นข้ออักเสบ อาจทำให้ข้อพิการ
- โรคสะเก็ดเงิน อาจเป็นปัจจัยเสี่ยงต่อการเกิดโรคมะเร็งต่อมน้ำเหลือง และโรคมะเร็งผิวหนังบางชนิดได้
การวินิจฉัยโรคสะเก็ดเงิน
- การซักประวัติ เช่น ซักประวัติครอบครัว พฤติกรรมการใช้ชีวิต การสังเกตเห็นผื่นหรือตุ่มแดงขึ้นเมื่อใด อาการคันหรืออาการแสบร้อนผิวหนังเกิดขึ้นครั้งแรกเมื่อใด ผิวหนังมีการลอกหรือตกสะเก็ดมากน้อยแค่ไหน อาการเจ็บป่วยล่าสุด ยาที่รับประทานเป็นประจำ และยาที่รับประทานล่าสุด ฯลฯ
- การตรวจร่างกาย โดยแพทย์จะบันทึกตำแหน่ง ขนาด ลักษณะของผื่น และลักษณะของขุยสะเก็ดเงินที่ลอกออกบนผิวหนัง
- การตัดชิ้นเนื้อผิวหนัง จะเป็นการเก็บตัวอย่างผื่นสะเก็ดเงิน เพื่อส่งตรวจทางพยาธิวิทยา เพื่อวินิจฉัยและยืนยันโรค
วิธีรักษาโรคสะเก็ดเงิน
ปัจจุบันยังไม่มีการรักษาใดที่สามารถทำให้โรคสะเก็ดเงินให้หายขาดได้ เพียงแต่จะสามารถควบคุมให้โรคสงบได้ การป้องกันและหลีกเลี่ยงปัจจัยเสี่ยงที่ทำให้โรคกำเริบจึงมีความสำคัญ เช่น เลี่ยงการดื่มสุรา ลดความเครียด การออกกำลังกาย โดยวิธีรักษาจะมีตั้งแต่ การใช้ยาทา สเตียรอยด์ ยารับประทาน ยาฉีด และการฉายรังสีอัลตราไวโอเลต (UV)
ทั้งพันธุกรรม สภาพแวดล้อม หรือภูมิคุ้มกันผิดปกติ อาจเป็นสาเหตุของการเกิดโรคสะเก็ดเงิน แม้จะรักษาจนหายขาดไม่ได้แต่ก็ควบคุมได้ สิ่งที่สำคัญที่สุดคือการดูแลเองและรับการรักษาอย่างถูกวิธี ซึ่งจะช่วยให้สามารถควบคุมอาการของโรคได้ และไม่ส่งผลกระทบต่อชีวิตประจำวันของเรา
สามารถติดตามข่าวสาร สาระความรู้เกี่ยวกับสุขภาพ รถยนต์ มอเตอร์ไซค์ รวมถึงประกันภัยออนไลน์ต่าง ๆ จากรู้ใจได้ที่ Facebook Page: Roojai หรือคลิกที่นี่เพื่อเพิ่มเราเป็นเพื่อนใน LINE ได้เลย (Official Line ID: @roojai)
คำจำกัดความ
อาการแทรกซ้อน | ภาวะหรือโรคที่เกิดขึ้นเพิ่มเติมจากโรคหลัก หรือผลจากการรักษาโรคหลัก ทำให้ส่งผลกระทบที่ไม่ดีต่อสุขภาพของผู้ป่วยและอาจร้ายแรงถึงชีวิต |
การฉายรังสีอัลตราไวโอเลต | คือวิธีการรักษาโรคผิวหนังบางชนิด เช่น โรคสะเก็ดเงิน โดยการใช้แสงอัลตราไวโอเลต (UV) ที่มีความยาวคลื่นเฉพาะฉายลงบนผิวหนังบริเวณที่เป็นโรค |
การอักเสบเรื้อรัง | ภาวะที่ร่างกายมีการอักเสบเป็นเวลานาน อาจเป็นเดือนหรือเป็นปี |