หญิงและชายฟังทางนี้ การที่น้ำหนักลดหรือเพิ่มแบบผิดปกติไม่ใช่เรื่องที่น่ายินดี สำหรับใครบางคนอาจจะรู้สึกดี กินเท่าไหร่ก็ไม่อ้วนแถมน้ำหนักลดอีก และในบางคนที่กินตามปกติไม่ได้กินจุกจิกแต่กลับน้ำหนักขึ้นเรื่อย ๆ การผันผวนของน้ำหนักนี้เป็นสัญญาณบางอย่างที่ร่างกายส่งมาเตือนให้เรารับรู้ว่า ภายในระบบการทำงานของร่างกายเรานั้น อาจเกิดขัดข้อง รวน หรือทำงานผิดปกติ หนึ่งในโรคที่มีอาการเช่นนี้ คือ ไทรอยด์ทำงานผิดปกติ และในบทความนี้ รู้ใจจึงหยิบเอาเรื่องนี้มาพูดคุยกัน สัญญาณเตือนอะไรบ้างที่เสี่ยงเป็นโรคไทรอยด์ทำงานผิดปกติ รวมถึงวิธีป้องกันและการรักษา
สนใจอ่านแค่บางเรื่อง ก็เลือกได้เลย!
- ไทรอยด์คืออะไร?
- ไทรอยด์ทำงานผิดปกติ มีกี่แบบ?
- เช็ค 7 สัญญาณเตือนไทรอยด์ทำงานผิดปกติ
- วิธีป้องกันโรคไทรอยด์ทำงานผิดปกติ
ไทรอยด์คืออะไร?
ไทรอยด์ หรือ Thyroid Gland คือ ต่อมไร้ท่อในร่างกายที่มีลักษณะคล้ายกับปีกผีเสื้อ อยู่บริเวณส่วนหน้าของลำคอ ไทรอยด์ถือว่าเป็นหนึ่งในอวัยวะสำคัญที่ทำหน้าที่ในการผลิตฮอร์โมนและปล่อยกลับเข้าสู่กระแสเลือดในร่างกาย เพื่อให้ไปทำหน้าที่ตามอวัยวะต่าง ๆ
ไทรอยด์ทำหน้าที่อะไร?
การทำงานของต่อมไทรอยด์ในร่างกาย จะมีฐานสั่งการทำงานอยู่ในบริเวณต่อมใต้สมองและต่อมไฮโปธาลามัส ซึ่งฐานทัพในการควบคุมการทำงานของไทรอยด์นี้เองที่ทำให้ไทรอยด์ทำงานได้อย่างมีระบบ ดังต่อไปนี้
- มีส่วนช่วยทำให้ร่างกายและอวัยวะเจริญเติบโตได้ตามวัย
- ช่วยในการควบคุมการเผาผลาญและอุณหภูมิในร่างกาย
- ช่วยทำให้การทำงานของอวัยวะต่าง ๆ ทำงานได้ดียิ่งขึ้น เช่น ระบบสมองและประสาท ภาวะทางอารมณ์ หัวใจ กระดูก และกล้ามเนื้อ
หากไทรอยด์ทำงานผิดปกติเช่น ผลิตฮอร์โมนมากจนเกินไปหรือน้อยเกินไป ก็จะทำให้ระบบต่าง ๆ ในร่างกายรวนได้
ไทรอยด์ทำงานผิดปกติ มีกี่แบบ?
ต่อมไทรอยด์ทํางานผิดปกติเกิดจากหลายสาเหตุ โดยการทำงานผิดปกตินั้นสามารถแบ่งออกได้เป็น 2 ประเภทหลัก
1. ไฮเปอร์ไทรอยด์ (Hyperthyroidism) หรือไทรอยด์เป็นพิษ
เป็นโรคไทรอยด์ที่เกิดจากการที่การทำงานของต่อมไทรอยด์ทำงานมากจนเกินไป ทำให้การผลิตฮอร์โมนไทรอยด์มีออกมาเยอะมากเกินความจำเป็น และมีการทำงานของเซลล์ในร่างกายเร็วกว่าปกติ ซึ่งอาการของไทรอยด์เป็นพิษจะส่งผลต่อร่างกาย เช่น
- น้ำหนักลดแบบผิดปกติ ท้องเสีย
- ขี้ร้อน เหงื่อออกมาก เหนื่อยง่าย
- ประจำเดือนมาน้อยลง
- ขี้หลงขี้ลืม กระสับกระส่าย ไม่มีสมาธิ
- มือสั่น แขนขาไม่มีแรง
- ผมร่วง
- หัวใจเต้นผิดจังหวะ
- ผิวด่างขาว เป็นปื้น ๆ หนาที่ขา
- ต่อมไทรอยด์ตรงลำคอโต ตาโปน
2. ต่อมไทรอยด์ทำงานน้อยกว่าปกติ หรือไฮโปไทรอยด์ (Hypothyroidism)
ไฮโปไทรอยด์ เป็นภาวะที่ต่อมไทรอยด์ทำงานน้อยกว่าปกติ ทำให้ระดับฮอร์โมนในเลือดต่ำจนเกินไป และมีการทำงานของเซลล์ในร่างกายที่ช้ากว่าปกติ ซึ่งปัญหาไทรอยด์ผลิตฮอร์โมนน้อยลงส่งผลกระทบต่อร่างกาย ดังนี้
- น้ำหนักเพิ่มขึ้นอย่างมากและเร็ว
- ขี้หนาว
- ง่วงนอน รู้สึกร่างกายอ่อนเพลีย
- ผมร่วง ผิวแห้ง เป็นตะคริวได้ง่ายมาก
- ซึมเศร้า
- หัวใจเต้นช้า
- ท้องผูก
- ตาบวม หน้าบวม ตัวบวม ต่อมไทรอยด์โต
ไทรอยด์ทำงานผิดปกติ และ มะเร็งไทรอยด์ ต่างกันยังไง?
สำหรับคนที่อ่านมาจนถึงตอนนี้อาจกังวลถึงโรคร้ายอย่างมะเร็งต่อมไทรอยด์ ซึ่งสาเหตุมะเร็งไทรอยด์เกิดจากการเปลี่ยนแปลงของเซลล์ในต่อมไทรอยด์ที่เจริญเติบโตอย่างรวดเร็วและไม่สามารถควบคุมได้ ทำให้เกิดก้อนเนื้อร้ายขึ้นในต่อมไทรอยด์ อาการที่พบแรก ๆ จะไม่แสดงอาการ หลังจากนั้นอาจคลำพบก้อนใต้ผิวบริเวณกลางคอ และอาจมีอาการอื่นร่วมด้วย เช่น เสียงแหบ หายใจลำบากหรือเสียงหายใจมีเสียงหวีด กลืนลำบากและเจ็บเวลากลืน เจ็บที่คอและอาจลามไปที่หู ต่อมน้ำเหลืองที่คอบวม อย่างไรก็ตาม หากร่างกายมีอาการผิดปกติควรไปพบแพทย์เพื่อตรวจสุขภาพอย่างละเอียด เพื่อให้แพทย์ได้วินิจฉัยและรักษามะเร็งไทรอยด์ได้ทันท่วงที
เช็ค 7 สัญญาณเตือนไทรอยด์ทำงานผิดปกติ
หากคุณสงสัยว่ากำลังอยู่ในภาวะไทรอยด์ทำงานผิดปกติหรือไม่ ลองสังเกตตัวเองด้วยวิธีง่าย ๆ ตามด้านล่างนี้
1. ผมร่วงผิดปกติ หรือผิวแห้งกร้าน
หากมีภาวะไทรอยด์เป็นพิษจะเป็นสาเหตุหลักต่อการเจริญเติบโตของเส้นผม ทำให้เส้นผมบาง เส้นผมเล็กลง ขาดและหลุดร่วงได้ง่าย และในผู้ที่มีภาวะโฮโปไทรอยด์และไฮเปอร์ไทรอยด์ จะทำให้ระบบเผาผลาญทำงานรวน ทำงานช้า ทำให้อ้วนง่าย ผิวพรรณดูแห้งกร้าน และเหงื่อออกน้อย
2. นอนไม่หลับ รู้สึกง่วงนอน อ่อนเพลีย
นอนไม่หลับ เกิดจากต่อมไทรอยด์ทำงานหนักจนเกินไป ทำให้ฮอร์โมนที่ผลิตออก มาสูงเกินนั้นไปกระตุ้นการทำงานของระบบประสาทส่วนกลาง ซึ่งเป็นสาเหตุของการนอนไม่หลับ หลับยาก หลับ ๆ ตื่น ๆ และในกรณีที่ง่วงนอนตลอดทั้งวัน อาจเกิดจากการทำงานของต่อมไทรอยด์ต่ำลง จนทำให้เกิดภาวะพร่องไทรอยด์ทำให้ฮอร์โมนลดน้อยลง และส่งผลให้รู้สึกไม่สดชื่น ง่วงนอน คิดอะไรได้ช้าและไม่มีสมาธิ
3. น้ำหนักลดลงหรือเพิ่มขึ้นจนผิดปกติ
ทั้ง ๆ ที่กินเหมือนเดิมแต่ทำไมน้ำหนักถึงสวิง นี่เป็นหนึ่งในอาการเฉพาะของโรคไทรอยด์ที่มักจะสังเกตได้ไม่ยาก เมื่อต่อมไทรอยด์ทำงานผิดปกติ หรือมีภาวะเป็นไฮเปอรืไทรอยด์ ที่จะหลั่งฮอร์โมนออกมามากจนเกินไปและไปกระตุ้นระบบเมตาบอลิซึม ทำให้น้ำหนักตัวลดลงอย่างรวดเร็ว กรณีไฮโปไทรอยด์จะทำให้น้ำหนักตัวเพิ่มขึ้นได้งาน เพราะไทรอยด์ทำงานต่ำลง ทำให้การเผาผลาญลดลงด้วย
4. ไวต่อความรู้สึกหนาวหรือร้อน
ในผู้ที่มีภาวะไฮโปไทรอยด์หรือไทรอยด์ผลิตฮอร์โมนออกมาน้อยเกินไป ส่งผลให้ระบบเผาผลาญทำงานได้ช้า ทำให้ความร้อนในร่างกายลดลง จึงเป็นสาเหตุที่ทำให้คนที่เป็นไฮโปไทรอยด์ขี้หนาว ส่วนในผู้ที่เป็นไฮเปอร์ไทรอยด์จะขี้ร้อนและเหงื่อออกมากกว่าปกติ
5. ตาโปน
ในผู้ป่วยไทรอยด์เป็นพิษจะมีอาการระคายเคืองที่ตา น้ำตาไหลง่าย และดูเหมือนตาจะโปน ๆ แต่จริง ๆ แล้วเป็นเพราะหนังตาปิดลงมาที่ตาขาวได้น้อยกว่าคนปกติ ซึ่งมีสาเหตุมาจากการมีฮอร์โมนส่วนเกินไปสะสมที่กล้ามเนื้อหลังลูกตา ส่งผลให้กล้ามเนื้อที่บริเวณหลังลูกตาและไขมันในเบ้าตาบวมขึ้นจนดันลูกตา
6. ประจำเดือนมาผิดปกติ
ผู้หญิงที่มีความเสี่ยงต่อการเป็นไทรอยด์สูงหรือต่ำกว่าปกติ จะส่งผลต่อการมีรอบเดือน ทำให้ประจำเดือนมามากหรือมาน้อยจนผิดปกติ
7. ขับถ่ายผิดปกติ
ผู้ที่เป็นไทรอยด์เป็นพิษจะทำให้ลำไส้ทำงานหนักกว่าคนปกติ และลำไส้เคลื่อนไหวมากกว่าปกติ เป็นสาเหตุของการถ่ายอุจจาระบ่อยกว่าคนทั่วไป ในทางตรงกันข้าม ผู้ที่มีภาวะพร่องไทรอยด์จะทำให้มีอาการท้องผูก
วิธีป้องกันโรคไทรอยด์ทำงานผิดปกติ
- เลือกรับประทานอาหารที่มีประโยชน์ เน้นอาหารทะเลที่มีไอโอดีน
- ออกกำลังกาย
- เลี่ยงหรืองดการดื่มแอลกอฮอล์ รวมถึงการสูบบุหรี่เช่นกัน
- พยายามนอนหลับให้ได้วันละ 8 ชั่วโมง หรืออย่างน้อย 6 ชั่วโมง และไม่ควรนอนดึกเกินไป
- พยายามรักษาภาวะทางอารมณ์ไม่ให้เกิดความเครียด
การดูแลสุขภาพ และตรวจสุขภาพเป็นประจำจะช่วยลดความเสี่ยงความผิดปกติที่เกิดขึ้นได้ อย่างไรก็ตามหากมีอาการผิดปกติเกิดขึ้นกับร่างกาย การไปพบแพทย์ให้เร็ว จะเพิ่มโอกาสในการรักษา และยังลดระยะเวลาทุกข์ทรมานจากโรค รวมไปถึงลดค่ารักษาด้วย ไม่ว่าจะโรคร้ายแรงหรือาการเจ็บป่วยใด ๆ ก็ตาม
สามารถติดตามข่าวสาร สาระความรู้เกี่ยวกับสุขภาพ รถยนต์ มอเตอร์ไซค์ รวมถึงประกันภัยออนไลน์ต่าง ๆ จากรู้ใจได้ที่ Facebook Page: Roojai หรือคลิกที่นี่เพื่อเพิ่มเราเป็นเพื่อนใน LINE ได้เลย (Official Line ID: @roojai)
คำจำกัดความ
หัวใจเต้นช้า | ภาวะที่อัตราการเต้นของหัวใจต่ำกว่า 60 ครั้งต่อนาที ซึ่งน้อยกว่าการเต้นของหัวใจในอัตราปกติ |
ฮอร์โมน | สารเคมีที่ร่างกายสร้างขึ้นเพื่อสื่อสารและทำหน้าที่ร่วมกับอวัยวะต่าง ๆ ในร่างกาย ฮอร์โมนจะหลั่งออกมาจากต่อมไร้ท่อและเข้าสู่กระแสเลือด จากนั้นจะถูกส่งไปยังเซลล์หรืออวัยวะเป้าหมายเพื่อควบคุมและปรับการทำงานของร่างกาย |