Roojai

สัญญาณเตือนเนื้องอกในมดลูก! โรคฮิตของผู้หญิงที่ไม่ควรมองข้าม

สัญญาณเตือนเนื้องอกในมดลูก l ประกันมะเร็ง l รู้ใจ

เนื้องอกในมดลูกปัญหาภายในของผู้หญิงที่อาจเกิดขึ้นกับผู้หญิงคนไหนก็ได้ ส่วนใหญ่คนที่มีเนื้องอกในมดลูกมักจะไม่แสดงอาการอะไร แต่หากเป็นผู้ที่ตรวจภายในเป็นประจำทุกปีอาจจะสามารถรู้เท่าทันและสามารถป้องกันได้มากกว่าผู้ที่ไม่ตรวจภายใน ซึ่งการไม่แสดงอาการในระยะแรกของการเกิดเนื้องอกนั้น ทำให้ผู้หญิงหลายคนชะล่าใจจนละเลยการตรวจภายใน

ฉะนั้น การตรวจสุขภาพประจำปีและหากคุณเป็นเพศหญิงที่มีอายุ 30 ปีขึ้นไป ควรได้รับการตรวจภายในทุกปี หรือผู้หญิงที่มีเพศสัมพันธ์ครั้งแรก และให้นับไปอีก 3 ปี ควรตรวจภายใน เช่น มีเพศสัมพันธ์ครั้งแรกตอนอายุ 21 ปี อายุ 24 หรือ 25 ปี ควรตรวจภายใน เป็นต้น ซึ่งในบทความนี้ รู้ใจจะหยิบเรื่องราวของเนื้องอกในมดลูกว่า มีสาเหตุมาจากอะไร อาการของเนื้องอกในมดลูกมีอาการอย่างไร ใครบ้างที่อยู่ในกลุ่มเสี่ยง รวมไปถึงการป้องกันและการรักษา

เนื้องอกในมดลูกคืออะไร?

เนื้องอกในมดลูกคือ การเจริญเติบโตของเซลล์กล้ามเนื้อมดลูกที่ผิดปกติ ที่สามารถเกิดได้ทั้งด้านนอกผนังมดลูก อยู่ในเนื้อมดลูกหรืออาจอยู่ในโพรงมดลูก ซึ่งเนื้องอกนั้นสามารถแบ่งได้เป็น เนื้องอกชนิดธรรมดาและเนื้องอกชนิดที่เป็นมะเร็ง

เนื้องอกในมดลูกเกิดขึ้นที่ไหน?

เนื้องอกในมดลูกที่แบ่งตามตำแหน่งการเกิดมีดังนี้

  1. เนื้องอกที่เกิดขึ้นบริเวณนอกผนังมดลูก – หากเนื้องอกก้อนนี้โตมากขึ้น อาจไปเบียดอวัยวะบริเวณใกล้เคียง หรืออาจส่งผลให้ผู้ป่วยมีอาการปวดท้องอย่างรุนแรง
  2. เนื้องอกที่เกิดในเนื้อมดลูกหรือภายในผนังของมดลูก – เนื้องอกที่เกิดตำแหน่งนี้จะส่งผลให้ผู้ป่วยมีประจำเดือนมาก และมีบุตรยาก ทั้งนี้ยังขึ้นอยู่กับขนาดและตำแหน่งของเนื้องอกด้วย
  3. เนื้องอกในโพรงมดลูก – ถ้าเกิดเนื้องอกเกิดขึ้นที่บริเวณนี้ จะส่งผลให้ผู้ป่วยมีประจำเดือนมากแบบผิดปกติ ปวดท้องประจำเดือน มีบุตรยาก และมีโอกาสในการแท้งบุตรอีกด้วย

เนื้องอกในมดลูก สาเหตุเกิดจากอะไร?

ปัจจุบัน ทางการแพทย์ยังไม่สามารถหาสาเหตุเนื้องอกมดลูกเกิดจากปัจจัยอะไรได้บ้าง แต่พบว่า เนื้องอกในมดลูกมีความสัมพันธ์กับฮอร์โมนเอสโตรเจนที่ผลิตมาจากรังไข่ โดยพบว่า ผู้หญิงในวัยเจริญพันธุ์หรือมีอายุระหว่าง 20-50 ปี จะมีอัตราการเกิดเนื้องอกในมดลูกสูง และเมื่อเข้าสู่วัยหมดประจำเดือน เนื้องอกในมดลูกมักจะฝ่อตัวลง

เนื้องอกในมดลูก อาการเป็นยังไง?

สำหรับเนื้องอกในมดลูกอาการจะขึ้นอยู่กับขนาด และตำแหน่งของเนื้องอกที่ไปเบียดทับอวัยวะข้างเคียง ซึ่งจะมีอาการดังนี้

  • ปวดท้องน้อย หรือปวดประจำเดือนรุนแรง
  • มีประจำเดือนออกมามากผิดปกติ
  • ปัสสาวะบ่อย
  • ท้องผูก
  • แท้งง่ายหรือมีลูกยาก
  • อาจคลำพบก้อนที่ท้องได้ด้วยตัวเอง
เนื้องอกมดลูกเสี่ยงมะเร็งหรือไม่ l ประกันมะเร็ง l รู้ใจ

ใครบ้างที่มีความเสี่ยง?

กลุ่มเสี่ยงในการเกิดเนื้องอกในมดลูกนั้น ได้แก่ กลุ่มผู้หญิงวัยทำงานที่ยังมีประจำเดือนและยังไม่เคยผ่านการมีบุตร ในทางกลับกัน ผู้หญิงที่อยู่ในช่วงวัยทองหรือวัยหมดประจำเดือน จะมีแนวโน้มการพบเนื้องอกในมดลูกน้อยกว่า เนื่องจากระดับฮอร์โมนเอสโตรเจนลดลง ทำให้เนื้องอกไม่สามารถเจริญเติบโตได้ เนื้องอกจะฝ่อและตายไปในที่สุด

สัญญาณเตือนเนื้องอกมดลูก

หากคุณสังเกตเห็นอาการต่อไปนี้ ควรไปพบแพทย์เพื่อตรวจภายใน เพราะอาจเป็นสัญญาณของเนื้องอกมดลูก

  1. มีประจำเดือนมานานเกิน 1 สัปดาห์
  2. มีเลือดประจำเดือนออกมามาก
  3. รู้สึกปวดบริเวณท้องน้อยหรืออุ้งเชิงกราน
  4. ท้องน้อยบวมหรือขยายขึ้น
  5. รู้สึกเจ็บปวดขณะมีเพศสัมพันธ์
  6. ต้องปัสสาวะบ่อยขึ้น
  7. ปัสสาวะไม่หมด
  8. มีอาการท้องผูก
  9. สัญญาณเนื้องอกมดลูก ปวดหลังส่วนล่างหรือปวดขา

เนื้องอกในมดลูกกลายเป็นมะเร็งได้หรือไม่?

สามารถกลายเป็นมะเร็งได้ แต่มีโอกาสน้อยมากเพราะเนื้องอกที่พบส่วนใหญ่จะเป็นเนื้อดีไม่ใช่เนื้อร้าย และ 80% จะไม่ใช่มะเร็ง แต่หากตรวจพบก้อนเนื้องอกในมดลูกไปเบียดอวัยวะอย่างเช่น ท่อไต อาจส่งผลให้เกิดโรคไตได้

แม้เนื้องอกในมดลูกจะมีโอกาสเป็นสาเหตุการเกิดมะเร็งปากมดลูกหรือมะเร็งอื่น ๆ ได้น้อยมาก แต่เราก็ยังเผชิญความเสี่ยงของโรคมะเร็งอยู่ทุกวัน จากพฤติกรรมการใช้ชีวิต สภาพแวดล้อม การเตรียมรับมือเพื่อรับความเสี่ยง โดยเฉพาะการป้องกันสภาพทางการเงินเมื่อเป็นโรคร้ายแรงจึงสำคัญ ด้วยการทำประกันโรคร้ายแรงเอาไว้ หากคุณเป็นคนที่มีสุขภาพแข็งแรง สมบูรณ์ ไม่เคยมีประวัติโรคร้ายแรง ช่วงนี้จึงเป็นช่วงวัยที่เหมาะที่สุดในการทำประกันไว้สักเล่ม นอกจากจะช่วยให้สภาพทางการเงินของเราไม่ติดขัดหากต้องพักรักษาตัวในโรงพยาบาลแล้ว ยังเป็นอีกทางในการเข้าถึงการรักษาที่หลากหลายหากเกิดเป็นโรคร้ายขึ้นมา

การตรวจคัดกรองมะเร็งปากมดลูก l ประกันมะเร็ง l รู้ใจ

วิธีตรวจเนื้องอกในมดลูก?

อย่างที่กล่าวไปข้างต้นว่า ระยะแรกของการเกิดเนื้องอกในมดลูกนั้นจะไม่แสดงอาการใด ๆ จะรู้ตัวอีกทีตอนที่ก้อนเนื้องอกนั้นโตขึ้นแล้ว หรือเมื่อรับการตรวจภายใน รวมถึงตรวจสุขภาพอย่างละเอียดเท่านั้นที่จะทราบได้ โดยการตรวจวินิจฉัยเนื้องอกในมดลูก มีวิธีดังนี้

  1. ซักประวัติคนไข้ รวมถึงอาการที่เป็น
  2. ตรวจภายใน
  3. อัลตราซาวนด์

วิธีรักษาเนื้องอกในมดลูก

สำหรับวิธีรักษาเนื้องอกในมดลูกนั้น แพทย์จะประเมินขนาดของก้อนเนื้องอก และความต้องการของคนไข้ที่ยังต้องการมีบุตร เช่น

  • กรณีที่เนื้องอกมีก้อนเล็ก แพทย์จะให้รับประทานยาลดปวด
  • การผ่าตัด จะตัดเอาเฉพาะเนื้องอกออก หรือตัดมดลูกออกทั้งหมด ซึ่งวิธีผ่าตัดสามารถทำได้ 2 แบบ คือ การผ่าแบบเปิดหน้าท้อง และการผ่าตัดโดยใช้กล้องซึ่งการใช้กล้องแผลจะมีขนาดเล็กกว่าผ่าตัดเปิดหน้าท้อง แต่จะใช้ได้ในกรณีที่เนื้องอกนั้นไม่ได้มีขนาดที่ใหญ่จนเกินไป

เนื้องอกในมดลูกสามารถรักษาให้หายขาดได้มั้ย?

เนื้องอกในมดลูกสามารถรักษาให้หายขาดได้ โดยการตัดมดลูกออกให้หมด วิธีนี้จะเหมาะกับผู้หญิงที่ไม่ต้องการมีบุตรแล้ว หรือผู้หญิงที่อยู่ในวัยหมดประจำเดือนแล้ว แต่หากผ่าตัดเลาะเฉพาะเนื้องอกออกแต่ยังคงมดลูกเอาไว้ จะมีโอกาสกลับมาเป็นเนื้องอกได้อีก

วิธีป้องกันเนื้องอกในมดลูก

  1. หลีกเลี่ยงหรืองดการใช้ยาคุมที่มีปริมาณเอสโตรเจนสูง ๆ
  2. ออกกำลังกายและควบคุมน้ำหนัก
  3. หมั่นสังเกตอาการผิดปกติของตัวเอง
  4. ควรตรวจร่างกายอย่างละเอียด รวมถึงตรวจภายในทุกปี

สำหรับผู้หญิงที่มีปัจจัยเสี่ยง เช่น มีคนในครอบครัวเป็นเนื้องอกในมดลูก  ควรไปพบแพทย์เพื่อตรวจเช็คร่างกายเป็นประจำ และสำหรับคนที่ไม่มีประวัติครอบครัวก็ควรตรวจภายในด้วยเช่นกัน ตรวจอาการมะเร็งปากมดลูก เนื้องอกในมดลูก และโรคอื่น ๆ เพื่อสุขภาพที่ดี รวมถึงทำให้รักษาได้เร็ว โอกาสหายก็มีมากขึ้น

สามารถติดตามข่าวสาร สาระความรู้เกี่ยวกับสุขภาพ รถยนต์ มอเตอร์ไซค์ รวมถึงประกันภัยออนไลน์ต่าง ๆ จากรู้ใจได้ที่ Facebook Page: Roojai หรือคลิกที่นี่เพื่อเพิ่มเราเป็นเพื่อนใน LINE ได้เลย (Official Line ID: @roojai)

คำจำกัดความ

ฮอร์โมนเอสโตรเจน คือ ฮอร์โมนเพศหญิงที่ทำหน้าที่ควบคุมระบบสืบพันธุ์ของผู้หญิง มีผลต่อการเจริญเติบโตทางเพศ ลักษณะของเพศหญิงต่าง ๆ การมีประจำเดือน การหมดประจำเดือน และการตั้งครรภ์
การตรวจภายใน หรือการตรวจพีวี (PV, Per vaginal examination) เป็นการตรวจทางการแพทย์ที่ใช้เพื่อตรวจหาความผิดปกติของอวัยวะในอุ้งเชิงกรานของผู้หญิง