Roojai

ตำแหน่งปวดท้องบอกโรค อาการปวดท้องตรงนี้ เสี่ยงโรคอะไร

ปวดท้อง | อาการปวดท้อง | กรดไหลย้อน | ปวดท้องข้างขวา | ประกันโรคร้ายแรง | รู้ใจ

อาการปวดท้องเป็นอาการที่ทุกคนต้องเคยพบเจอ แต่ทราบหรือไม่ว่าอาการปวดท้องเหล่านี้สามารถบอกอะไรกับเราได้บ้าง จะเป็นแค่ปวดท้องธรรมดาหรือเรากำลังเป็นโรคร้ายอะไรหรือไม่ ไปหาคำตอบกัน

อาการปวดท้องดูจะเป็นเรื่องปกติของคนส่วนใหญ่ เพราะบางทีมันก็หายไปเองหรือไม่ซื้อยามากินแป๊บเดียวก็หาย แต่ในบางครั้งอาการปวดท้องนี้มักจะเป็นบ่อย ๆ และต่อให้ซื้อยามากินเองก็ไม่หาย อาการมีแต่จะแย่ลง นั่นก็เพราะแก้ไม่ตรงจุดนั่นเอง อาการปวดท้องไม่ได้เหมือนกันไปทุกครั้ง ตำแหน่งของการปวดต่างหากที่กำลังจะบอกเราว่า ปวดท้องแบบนี้หมายความว่าอะไร

อาการที่พบบ่อยสามารถบ่งชี้ได้ถึงความผิดปกติภายในช่องท้องก็คือ อาการปวดท้อง เช่น ปวดท้องข้างขวา ปวดเกร็งคล้ายเป็นตะคริว ปวด ๆ หาย ๆ และปวดแบบแสบท้อง อาการปวดเหล่านี้แม้ว่าอาจจะหายไปเองภายใน 1 วันหรือภายในเวลาไม่กี่วัน แต่หากเป็นบ่อย ๆ ก็ไม่ควรละเลยที่จะไปพบแพทย์ ลองเช็คดูว่าคุณเคยมีอาการปวดท้องลักษณะแบบนี้บ้างหรือไม่ 

1. อาการปวดท้องจากโรคนิ่ว 

ถุงน้ำดีภายในร่างกายของเราจะมีลักษณะคล้ายลูกแพร์ซึ่งอยู่ทางด้านขวาของช่องท้อง บริเวณใต้ตับ ในถุงน้ำดีจะบรรจุของเหลวที่เราเรียกว่า น้ำดี ซึ่งเป็นของเหลวที่มีสีเหลืองออกน้ำตาล น้ำดีมีส่วนช่วยในการย่อยอาหารจำพวกไขมันในลำไส้เล็ก อาการนิ่วในถุงน้ำดีเกิดจากการตกตะกอนของเกลือแคลเซียมหรือคอเลสเตอรอล โดยมักจะเกิดจาก น้ำหนักตัวที่มากจนเกินไป การกินอาหารที่มีไขมันสูงเป็นประจำ ไขมันในเลือดสูงกว่าปกติ หรือการรับประทานยาที่มีฮอร์โมนเอสโตรเจน เช่น ยาคุมกำเนิดต่าง ๆ

โดยการปวดท้องที่บ่งบอกว่าเป็นนิ่วจะมีอาการท้องอืด ไม่สบายท้อง ลามไปถึงการปวดหลัง อาการปวดท้องของนิ่วจะคล้ายกับอาการปวดท้องแบบเป็นแผลในกระเพาะอาหาร แต่นิ่วจะแสดงอาการที่รุนแรงกว่า เช่น มีอาการปวดท้องข้างขวาบนอย่างรุนแรงและเฉียบพลัน โดยเฉพาะเวลาหายใจเข้า-ออก ปวดบริเวณหลังระหว่างสะบัก มีไข้สูง อาเจียน และตัวเหลือง หากมีอาการเหล่านี้ควรรีบนำตัวส่งโรงพยาบาลทันที หากไม่รักษาดี ๆ อาจนำไปสู่การเป็นมะเร็งที่ถุงน้ำดีได้ 

ปวดท้อง | ไส้เลื่อน | กรดไหลย้อน | ตับอักเสบ | ประกันโรคร้ายแรง | รู้ใจ

2. อาการปวดท้องจากไส้เลื่อน

ไส้เลื่อนเกิดจากการที่ลำไส้เล็กยื่นออกมาผ่านผนังช่องท้องที่ฉีกขาด มักเกิดจากกล้ามเนื้ออ่อนแรงร่วมกับความดันในช่องท้องที่เพิ่มขึ้น ทำให้เกิดก้อนนูน ๆ ขึ้นในบริเวณเหล่านี้ เช่น ขาหนีบ สะดือ หรือบริเวณแผลผ่าตัดที่ปิดไม่สนิท ผู้ป่วยจะรู้สึกได้ถึงอาการไส้เลื่อนในขณะที่ยืนขึ้น ก้มตัวลง หรือในระหว่างที่มีการไอ 

อาการที่พบได้บ่อยคือ มีอาการปวดท้องส่วนล่าง หรือรู้สึกหนัก ๆ ภายในช่องท้อง และมีอาการปวดแสบร้อนบริเวณที่มีก้อนนูน โดยเกิดจากปัจจัยเสี่ยงต่าง ๆ ดังนี้

  • โรคอ้วน – คนที่เป็นโรคอ้วนหรือมีน้ำหนักเกินมาตรฐาน น้ำหนักเหล่านี้จะไปกดทับบนกล้ามเนื้อหน้าท้อง แรงกดทำให้กล้ามเนื้อบริเวณนี้อ่อนแอลงและนำไปสู่การเป็นไส้เลื่อนได้หากไม่รีบรักษา
  • อายุที่มากขึ้น – อายุเป็นอีกหนึ่งปัจจัยที่อาจทำให้เป็นไส้เลื่อน เนื่องจากความแข็งแรงของกล้ามเนื้อท้องจะลดลงตามวัย ดังนั้น ผู้สูงอายุจึงมีโอกาสเกิดไส้เลื่อนได้มากกว่า
  • เกิดภาวะบางอย่างที่ทำให้ผนังหน้าท้องตึง เช่นการยกของหนัก การออกกำลังกาย การเบ่งอุจจาระแรง ๆ เนื่องจากอาการท้องผูก การเบ่งถ่ายปัสสาวะ หรือการไอต่อเนื่องตลอดเวลาเนื่องจากสูบบุหรี่

หากไม่ได้รับการรักษา ผ่าตัดไส้เลื่อนอาจนำไปสู่โรคร้าย เช่น ลำไส้อักเสบชนิดเนื้อตาย และอาจรุนแรงถึงขั้นเสียชีวิตได้

3. อาการปวดท้องจากไส้ติ่งอักเสบ

ไส้ติ่งอักเสบเกิดจากการอุดตันของไส้ติ่งจากอาหารที่กินเข้าไปกลายเป็นก้อนอุจจาระแข็งตัว ทำให้แรงดันในไส้ติ่งสูงขึ้น จนเกิดการอักเสบ เมื่อไส้ติ่งอักเสบมากขึ้นจะทำให้ผนังหน้าท้องด้านในเกิดการอักเสบตามไปด้วยหรือเรียกภาวะนี้ว่า ไส้ติ่งแตก

อาการปวดท้องจะปวดท้องตรงกลางแบบเฉียบพลันที่บริเวณรอบ ๆ สะดือ และปวดท้องข้างขวาล่าง จะรู้สึกเจ็บมากยิ่งขึ้นในขณะที่เดินหรือเคลื่อนไหวร่างกาย มีไข้ต่ำ ๆ คลื่นไส้ อาเจียน หากไม่ได้รับการรักษาหรือผ่าตัดทันที อาจทำให้เสียชีวิตได้ 

4. อาการปวดท้องจากแผลในกระเพาะอาหาร

แผลในกระเพาะอาหารเกิดขึ้นบริเวณเยื่อบุด้านในของกระเพาะอาหารและส่วนบนของลำไส้เล็ก โรคแผลในกระเพาะอาหารพบได้บ่อยทั้งเพศชายและหญิงในทุกช่วงอายุ ปัจจัยเสี่ยงที่ทำให้เกิดแผลในกระเพาะอาหารได้แก่ การรับประทานยาต้านการแข็งตัวของเลือดเป็นเวลานาน แอสไพริน ยาแก้ปวดจำพวกยาต้านการอักเสบที่ไม่ใช่สเตียรอยด์ การรับประทานอาหารไม่เป็นเวลา หรือกินอาหารที่มีรสเผ็ดจัดมากจนเกินไป ความเครียด รวมไปถึงเครื่องดื่มที่มีคาเฟอีน เช่น ชา กาแฟ เป็นต้น

อาการปวดท้องเนื่องจากแผลในกระเพาะอาหารจะปวดท้องตรงกลางท้องใต้ชายโครง และมีอาการอื่น ๆ ร่วมด้วยเช่น ท้องอืด เสียดท้อง คลื่นไส้ อาเจียน มักจะเกิดก่อนหรือหลังรับประทานอาหาร แม้ว่าแผลในกระเพาะอาหารจะไม่รุนแรง แต่หากปล่อยไว้โดยไม่รักษาหรือปรับพฤติกรรมการกิน จนทำให้เป็นแผลเรื้อรัง อาจนำไปสู่โรคมะเร็งกระเพาะอาหารได้ในที่สุด

5. อาการปวดท้องจากกรดไหลย้อน

โรคกรดไหลย้อนเป็นอีกโรคที่มีความเกี่ยวเนื่องกับโรคกระเพาะ อาการของโรคกรดไหลย้อน จะมีอาการแสบร้อนกลางอก เรอเปรี้ยว ปวดบริเวณท้องน้อยตรงช่องท้องส่วนบน ซึ่งมักจะลามไปถึงช่วงอก มีอาการไอเรื้อรัง สะอึกบ่อย เจ็บคอ ปัจจัยที่เพิ่มความเสี่ยงต่อโรค ได้แก่

  • โรคอ้วนหรือในคนที่มีน้ำหนักเกินมาตรฐาน
  • การสูบบุหรี่
  • ดื่มชา กาแฟ ช็อกโกแลต
  • เคี้ยวหมากฝรั่งเป็นประจำทุกวัน
  • การดื่มเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์หรือน้ำอัดลม

โรคกรดไหลย้อนรักษาได้โดยการกินยาและปรับพฤติกรรมการกินใหม่ทั้งหมด เช่น กินข้าวตรงเวลา เลี่ยงอาหารเผ็ดจัด งดชา กาแฟ หรือปัจจัยที่ไปกระตุ้นให้เกิดอาการกรดไหลย้อน

ไส้ติ่งอักเสบ | อาการปวดท้อง | กรดไหลย้อน | นิ่ว | ประกันโรคร้ายแรง | รู้ใจ

6. อาการปวดท้องจากตับอ่อนอักเสบ

อาการตับอ่อนอักเสบจะแสดงอาการปวดท้องแบบเฉียบพลันและรุนแรง จะปวดมากบริเวณท้องส่วนบนและลามไปถึงด้านหลัง มีอาการคลื่นไส้ อาเจียน กดที่ท้องแล้วเจ็บ ส่วนใหญ่จะพบในผู้ที่มีอาการพิษสุราเรื้อรัง การตรวจวินิจฉัยทำได้โดยการตรวจเลือด การตรวจอัลตราซาวนด์ช่องท้อง การส่องกล้อง CT Scan และ MRI 

7. อาการปวดท้องจากโรคตับอักเสบ

สาเหตุของการอักเสบที่ตับ หลัก ๆ จะมาจากการติดเชื้อไวรัสตับอักเสบเอ บี และซี ซึ่งเป็นผลมาจากการดื่มแอลกอฮอล์ ผลข้างเคียงจากยาบางตัว ผู้ป่วยโรคแพ้ภูมิตัวเอง (SLE)

อาการปวดท้องจากโรคตับอักเสบมักจะปวดที่บริเวณด้านขวาบนของกระเพาะอาหาร มีไข้สูง ผิวหนังและตาขาวมีสีเหลืองคล้ำ หากมีอาการต่าง ๆ เหล่านี้ ควรปรึกษาแพทย์

8. อาการปวดท้องจากโรคถุงลมอักเสบ

ถุงลมอักเสบจะเกิดขึ้นตามผนังลำไส้และอาจส่งผลให้เกิดการอุดตันของลำไส้ ซึ่งมักทำให้เกิดอาการปวดท้อง ท้องผูกเรื้อรัง โดยจะแสดงอาการปวดท้องแบบเกร็งหรือมีอาการเหมือนเป็นตะคริวที่ท้องด้านซ้ายหรือด้านขวา กรณีที่เป็นไม่มากแพทย์จะใช้การรักษาโดยการกินยาเป็นส่วนใหญ่ แต่หากอาการของโรคมีความรุนแรงและซับซ้อนขึ้น อาจต้องทำการผ่าตัดเพื่อรักษา 

9. อาการปวดท้องจากโรคทางนรีเวช

ความผิดปกติทางสูตินรีเวชเป็นภาวะที่ส่งผลต่อระบบสืบพันธุ์เพศหญิง ซึ่งประกอบไปด้วย มดลูก รังไข่ ท่อนำไข่ ช่องคลอด และปากช่องคลอด อาการปวดท้องที่พบได้บ่อยคือ จะปวดบริเวณท้องน้อย อาการปวดท้องประเภทนี้มักจะเป็นอาการเริ่มแรกที่ร่างกายส่งสัญญาณเตือนถึงความผิดปกติที่เกิดขึ้นในระบบสืบพันธุ์ โดยเฉพาะมดลูกและท่อนำไข่ การมีประจำเดือนที่ผิดปกติ เช่น ประจำเดือนมามากกว่าปกติ มามากกว่า 7 วัน หรือประจำเดือนมาน้อยจนผิดปกติ 

ทั้งหมดนี้เป็นอาการปวดท้องแต่ละแบบ แต่ละตำแหน่งในช่องท้อง ซึ่งอาจส่งผลต่อชีวิตประจำวันของเรา การตรวจสุขภาพทุกปีก็เป็นอีกทางหนึ่งที่ทำให้เรารู้เท่าทันโรคได้ โดยซื้อแพ็กเกจการตรวจสุขภาพช่องท้องแบบส่องกล้อง เพราะการตรวจสุขภาพปกติทั่วไปจะไม่สามารถพบอาการผิดปกติในช่องท้องได้ นอกจากนั้นการออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอเป็นยาวิเศษอีกหนึ่งวิธีที่ไม่ต้องเสียค่าใช้จ่ายใด ๆ และการวางแผนความเสี่ยงทางการเงินสำหรับความไม่แน่นอนในอนาคต อย่างโรคร้ายแรงที่ไม่ว่าใครก็ไม่อยากเป็น แต่หากเกิดขึ้นแล้ว หนึ่งวิธีที่เราจะรับมือกับโรคร้ายแรงได้คือการทำประกัน เพื่อเซฟเงินในกระเป๋าคุณ ไม่ให้หมดไปกับค่ารักษาพยาบาล ประกันโรคร้ายแรง CI Focus ที่รู้ใจ เจอ จ่าย จบ รับเงินก้อน สูงสุด 2 ล้านบาท

สามารถติดตามข่าวสาร สาระความรู้เกี่ยวกับสุขภาพ รถยนต์ มอเตอร์ไซค์ รวมถึงประกันภัยออนไลน์ต่าง ๆ จากรู้ใจได้ที่ Facebook Page: Roojai หรือคลิกที่นี่เพื่อเพิ่มเราเป็นเพื่อนใน LINE ได้เลย (Official Line ID: @roojai)