Roojai

เจาะลึก โรคภูมิแพ้มีกี่แบบ? แม้ไม่หายขาด แต่รู้ทันก็ดีขึ้นได้

Article Roojai Verified
ประเภทของโรคภูมิแพ้ และวิธีดูแลตัวเองเมื่อเป็นโรค | รู้ใจ

ทุกวันนี้ฝุ่นและควันมลพิษทางอากาศทวีความรุนแรงมากขึ้นทุกวัน ก่อให้เกิดผลเสียกับร่างกายคนเรามากมายหนึ่งในนั้นคือการเป็นภูมิแพ้ หลายคนเริ่มเป็นโรคภูมิแพ้กันมากขึ้นเรื่อย ๆ ซึ่งอากาศที่แย่ลงก็เป็นแค่ปัจจัยหนึ่ง อ.พญ.นวรัตน์ อภิรักษ์กิตติกุล ประจำภาควิชาโสต คอ และนาสิกวิทยา คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล ได้กล่าวเอาไว้ว่า ในช่วง 10 ปีที่ผ่านมานั้น เกิดอุบัติการณ์ของโรคภูมิแพ้เพิ่มขึ้นจากเดิมเป็นอย่างมาก อย่างน้อย 3-4 เท่าตัว ดังนั้นเรามาทำความเข้าใจถึงโรคภูมิแพ้กันดีกว่าว่ามีทั้งหมดกี่ชนิด วิธีตรวจหาว่าร่างกายเราแพ้อะไรทำอย่างไร และวิธีป้องกันไม่ให้ตนเองเป็นภูมิแพ้ 

สนใจอ่านแค่บางเรื่อง ก็เลือกได้เลย!

โรคภูมิแพ้คืออะไร?

โรคภูมิแพ้ เป็นโรคที่เกิดจากความผิดปกติของระบบภูมิคุ้มกันในร่างกาย โดยร่างกายจะมีปฏิกิริยาตอบสนองที่ไวต่อสารก่อภูมิแพ้หรือสารระคายเคืองต่าง ๆ ซึ่งอาจส่งผลให้เกิดอาการแพ้ในรูปแบบที่หลากหลายและแตกต่างกันออกไปขึ้นอยู่กับหลายปัจจัย โดยสารบางอย่างเราอาจจะแพ้มาตั้งแต่เกิดแล้ว หรืออาจเพิ่งมาแพ้สารก่อภูมิแพ้จากการได้รับเข้าไปในร่างกายปริมาณมากก็ได้ ดังนั้นใครก็สามารถจะเป็นโรคภูมิแพ้ได้ หากได้รับปัจจัยเสี่ยงเข้าไป

โรคภูมิแพ้มีอาการยังไง?

โรคนี้มีสาเหตุนึงมาจากพันธุกรรม ดังนั้นหากมีบุคคลในครอบครัวเป็นโรค อาจส่งผลให้อาการรุนแรงขึ้น  โดยอาการภูมิแพ้แสดงออกได้หลายรูปแบบ ขึ้นอยู่กับชนิดของสารก่อภูมิแพ้และระบบของร่างกายที่ได้รับผลกระทบ อาการทั่วไปมีดังนี้

  1. อาการของระบบทางเดินหายใจ
    • จาม หรือ คันจมูก เช่น อาการที่เกิดจากภูมิแพ้ไรฝุ่น, เกสรดอกไม้ หรือ ขนสัตว์ 
    • น้ำมูกไหล หรือ คัดจมูก 
    • ไอ หรือ หายใจลำบาก โดยเฉพาะในกรณีของหอบหืดจากภูมิแพ้ (Allergic Asthma) 
    • หายใจมีเสียงหวีด หรือ หายใจตื้น เมื่อมีการกระตุ้นจากสารที่แพ้ 
  2. อาการทางผิวหนัง
    • ผื่นคัน หรือ ผื่นแดง เช่น อาการจากการแพ้อาหาร หรือ ผื่นแพ้สัมผัส 
    • ลมพิษ เกิดผื่นบวมแดงคล้ายผื่นนูน ๆ บนผิวหนัง 
    • บวมที่ริมฝีปากหรือเปลือกตา หรือในบางกรณีอาจมีการบวมที่ลิ้นหรือคอ ซึ่งอาจส่งผลต่อการหายใจ
  3. อาการที่เกี่ยวข้องกับตา
    • ตาแดง หรือ คันตา ซึ่งอาจเกิดจากการแพ้เกสรดอกไม้, ขนสัตว์, หรือ ฝุ่น 
    • น้ำตาไหล หรือ ตาแห้ง
  4. อาการเกี่ยวกับระบบทางเดินอาหาร
    • คลื่นไส้ หรือ อาเจียน  
    • ปวดท้อง หรือ ท้องเสีย บางครั้งเกิดจากการแพ้อาหารหรือสารในอาหาร
  5. อาการทางระบบอื่นๆ
    • อ่อนเพลีย หรือ เวียนศีรษะ 
    • อาการหายใจติดขัด หรือ หอบ อาจเกิดจาก หอบหืด ที่เกิดจากการแพ้

ในบางกรณี อาการภูมิแพ้สามารถเกิดขึ้นอย่างรวดเร็วและรุนแรงจนทำให้เกิด อาการแพ้รุนแรง หรือ Anaphylaxis ซึ่งเป็นภาวะฉุกเฉินทางการแพทย์ โดยจะมีอาการดังนี้

  • บวมที่ปาก ลิ้น หรือคอ
  • หายใจลำบาก
  • หัวใจเต้นเร็วหรือผิดปกติ
  • ความดันโลหิตต่ำจนทำให้เกิดอาการเวียนศีรษะหรือหมดสติ
  • ช็อก
วิธีดูแลตัวเองเมื่อเป็นโรคภูมิแพ้ | รู้ใจ

โรคภูมิแพ้มีทั้งหมดกี่แบบ?

โรคภูมิแพ้ เป็นกลุ่มโรคที่มักจะแสดงอาการได้หลายอย่างตามระบบต่าง ๆ ของร่างกาย ซึ่งจะแบบประเภทของโรคภูมิแพ้ออกไปตามสารหรือสิ่งกระตุ้นที่ก่อให้เกิดอาการแพ้ โดยสามารถแบ่งออกได้เป็นดังนี้ 

1. โรคภูมิแพ้อาหาร (Food Allergy)

เป็นภาวะการแพ้อาหารที่เกิดจากปฏิกิริยาอิมมูนที่ตอบสนองไวจนผิดปกติต่ออาหารที่กินเข้าไป โดยมักจะมีอาการทันทีหลังจากรับประทานอาหารชนิดนั้น และในบางกรณีที่มีอาการแพ้อาหารอย่างรุนแรงอาจอันตรายถึงชีวิตได้เลย ส่วนอาการที่สามารถพบได้ทั่วไป เช่น 

  • มีผื่นลมพิษขึ้น
  • คลื่นไส้
  • อาเจียน
  • ถ่ายเหลว
  • มีน้ำมูก
  • มีอาการหอบ

หรือมีอาการจากหลาย ๆ ระบบร่วมกันเรียกว่า Anaphylaxis เช่น แน่นหน้าอก หายใจไม่ออก ความดันต่ำ และสำหรับอาหารยอดนิยมที่คนส่วนใหญ่แพ้กัน เช่น นมวัว ไข่ อาหารทะเล แป้งสาลี ถั่ว เป็นต้น

2. โรคลมพิษ (Uticaria)

โดยผู้เป็นภูมิแพ้อาการจะมีผื่นนูนแดงและคัน มีขอบเขตที่ชัดเจนและมีลักษณะผื่นที่เป็นจะเปลี่ยนที่ และหายแบบไม่มีร่องรอยเดิม โดยสาเหตุของลมพิษนั้น มาจากการแพ้อาหาร แพ้ยา หรือการติดเชื้อ ความร้อน ความเย็น รอยกดทับ หรือโรค SLE (ภูมิแพ้ตัวเอง) วิธีรักษาคือ การกินยาต้านฮีสตามีน หากอาการรุนแรงควรปรึกษาแพทย์

3. โรคภูมิแพ้อากาศ (Allegic Rhinitis)

เป็นภูมิแพ้ที่พบได้บ่อยและมักจะพบในเด็กที่อยู่ในวัยเรียน โดยอาจตรวจพบร่วมกับโรคหอบหืดได้ ส่วนการแสดงอาการของโรค เช่น เป็นหวัดบ่อย หรือเป็นหวัดเรื้อรัง คัดจมูก นอนกรน จาม มีน้ำมูก คันตา หรือเป็นไซนัสอักเสบบ่อย หรือเป็น ๆ หาย ๆ ซึ่งโรคภูมิแพ้อากาศวิธีรักษาดูแลก็ไม่ยาก คือ ให้เด็ก ๆ ล้างจมูกด้วยน้ำเกลือหลังกลับจากโรงเรียน และหลีกเลี่ยงสิ่งกระตุ้นต่าง ๆ หากอาการรุนแรงควรพาไปพบแพทย์

4. โรคหืด (Asthma)

โรคหืดเป็นโรคในระบบทางเดินหายใจที่พบได้บ่อยในเด็กที่มีอายุหลัง 3 ปีขึ้นไป โดยโรคภูมิแพ้อาการเกิดโรคมาจากหลอดลมอักเสบแบบเรื้อรัง ทำให้หลอดลมมีความไวต่อสิ่งกระตุ้นทำให้เกิดการอาการหลอดลมตีบ และมีมูกอุดตันทำให้หายใจลำบาก แน่นหน้าอก มีเสียงวี้ด เวลาหายใจ ไอเรื้อรัง และอาการจะรุนแรงขึ้นหากได้รับเชื้อไวรัสในระบบทางเดินหายใจ สำหรับการรักษา จะใช้ยาขยายหลอดลมในขณะที่มีอาการ และในกรณีที่มีอาการหอบกำเริบบ่อย คุณหมอจะให้ยาเพื่อควบคุม อาการ เช่น ยาสเตียรอยด์ชนิดพ่นสูด เพื่อลดการอักเสบของหลอดลม แต่หากมีอาการรุนแรงไม่ควรนิ่งนอนใจ ควรนำตัวส่งโรงพยาบาลเพื่อให้แพทย์ทำการรักษาที่ถูกต้องและเหมาะสม

ภูมิแพ้ผิวหนัง เกิดจากอะไรและมีวิธีดูแลตัวเองยังไง | รู้ใจ

โรคภูมิแพ้เกิดจากอะไร?

  1. พันธุกรรม โรคภูมิแพ้หลายโรคถ่ายทอดมาทางพันธุกรรม เช่น โรคหืด โรคแพ้อากาศ
  2. สิ่งแวดล้อม เป็นปัจจัยที่สำคัญเป็นมากต่อการเกิดอาการแพ้ ไม่ว่าจะเป็นสารก่อภูมิแพ้ที่เข้าร่างกายทางการหายใจ การรับประทานอาหาร หรือผ่านทางการสัมผัส
    • การแพ้ที่เกิดจากการสัมผัส เช่น แพ้เครื่องสำอาง แพ้เครื่องประดับ  
    • สารก่อภูมิแพ้บางอย่างที่สังเกตได้ยาก เช่น ละอองเกสรดอกไม้ เชื้อราในอากาศ ไรฝุ่นที่ตาเปล่ามองไม่เห็น ฯลฯ

Tips: การดูแลตนเองสำหรับคนที่เป็นโรคภูมิแพ้

คนที่มีอาการภูมิแพ้ควรเลี่ยงการใช้พรม เพื่อไม่ให้อาการภูมิแพ้กำเริบ และไม่ควรฉีดสเปรย์หรือน้ำหอม รวมถึงควรสระผมก่อนเข้านอนทุกคืน เพื่อป้องกันไรฝุ่นหรือเชื้อโรคที่ติดมากับผม โดยเฉพาะในฤดูที่มีเกสรดอกไม้ปลิวในอากาศเยอะ ๆ และหากต้องเข้าเมืองควรใส่หน้ากากกันฝุ่น PM2.5 

วิธีการรักษาภูมิแพ้ | รู้ใจ

วิธีรักษาภูมิแพ้

ก่อนอื่นต้องทำความเข้าใจก่อนว่า โรคภูมิแพ้วิธีรักษาให้หายขาดได้นั้นยังไม่มี ผู้ที่มีอาการแพ้จะเป็น ๆ หาย ๆ ขึ้นอยู่กับว่าไปโดนสิ่งกระตุ้นหรือไม่ โดยวิธีรักษามีดังนี้

  1. รักษาภูมิแพ้โดยการรับประทานยาแก้แพ้ – โดยจะมียาแก้แพ้ 2 กลุ่ม
    • ยาแก้แพ้กลุ่มแรก (First Generation Antihistamine) ยากลุ่มนี้จะช่วยลดการหลั่งสารฮิสตามิน และอาการแพ้อื่น ๆ แต่มีผลข้างเคียงคือ อาการง่วงซึม  
    • ยาแก้แพ้กลุ่มที่ 2 (Second Generation Antihistamine) ถูกพัฒนาขึ้นจากการปรับปรุงโครงสร้างโมเลกุลของยาแก้แพ้กลุ่มที่ 1 เพื่อให้มีประสิทธิภาพที่ดีขึ้นและลดผลข้างเคียง ทำให้เกิดอาการง่วงนอนน้อยกว่า
  2. การรักษาภูมิแพ้ด้วยการฉีดวัคซีน – เป็นการฉีดสารก่อภูมิแพ้เข้าไปในร่างกาย เพื่อไปกระตุ้นระบบภูมิคุ้มกันให้ทำปฏิกิริยากับสารที่ผู้ป่วยแพ้ เพื่อทำให้ไม่เกิดอาการแพ้อีก โดยผู้ป่วยสามารถเข้ารับการฉีดวัคซีนได้ตั้งแต่อายุ 5 ปี
  3. วิธีรักษาภูมิแพ้ด้วยตัวเอง – ด้วยการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมเป็นวิธีการรักษาที่สามารถทำได้เลยด้วยตัวเอง ไม่ต้องรอไปพบแพทย์ โดยแนะนำให้ปรับพฤติกรรมดังต่อไปนี้
    • หลีกเลี่ยงสิ่งกระตุ้นให้เกิดอาการแพ้ 
    • ทำความสะอาดบ้าน เพื่อกำจัดฝุ่น 
    • กำจัดแมลง เพราะเป็นพาหะนำเชื้อโรคได้ 
    • รักษาอุณหภูมิร่างกายตัวเองให้อุ่นอยู่เสมอ 
    • ควรสวมใส่เสื้อผ้าที่สะอาดอยู่เสมอ 
    • รับประทานอาหารที่ดี มีประโยชน์ และครบ 5 หมู่ 
    • เลี่ยงการดื่มสุรา หรือสูบบุหรี่  
    • นำเครื่องนอน หมอน ผ้าห่ม ไปตากแดดเพื่อฆ่าเชื้อโรค 
    • หลีกเลี่ยงการออกนอกบ้านในขณะที่ค่าฝุ่นสูง หรือควรใส่หน้ากาก N95 ทุกครั้งที่ต้องออกจากบ้าน

ช่วงนี้อากาศบ้านเรากับเปลี่ยนแปลง มีทั้งฝุ่นพิษเข้ามา แดดแรง ร้อน ฝน ดังนั้น การดูแลสุขภาพอยู่เสมอจะช่วงหลีกเลี่ยงอาการเจ็บป่วย โดยนอกจากหลีกเลี่ยงสิ่งที่กระตุ้นอาการภูมิแพ้แล้ว การนอนหลับ กินอาหารที่มีประโยชน์ และออกกำลังกาย จะช่วยเสริมภูมิคุ้มกันให้ร่างกายได้อีกด้วย 

สามารถติดตามข่าวสาร สาระความรู้ เกี่ยวกับรถยนต์ มอเตอร์ไซค์ ด้านสุขภาพ รวมถึงเกร็ดความรู้เกี่ยวกับประกันภัยต่าง ๆ ได้ที่ Facebook Page: Roojai หรือเพิ่มเพื่อนทาง LINE ได้เลย (Official LINE ID: @roojai)

คำจำกัดความ
สารฮิสตามิน เป็นสารที่มีหน้าที่สำคัญในกระบวนการการอักเสบ หลั่งจากมาสต์เซลล์ เบโซฟิลและเกล็ดเลือด เมื่อเนื้อเยื่อถูกทำลายลง สารฮีสตามีนนี้จะไปจับกับตัวรับที่เส้นเลือดฝอยและเส้นเลือดดำเล็ก ทำให้เส้นเลือดขยายตัวและช่วยเพิ่มการไหลผ่านของพลาสมาในเลือด
ยาสเตียรอยด์ เป็นฮอร์โมนที่ร่างกายสร้างขึ้นมาจากต่อมหมวกไตชั้นนอก สำหรับทางการแพทย์นั้น เป็นสารที่สังเคราห์ขึ้นมาเพื่อใช้ในการรักษาโรค ซึ่งตามกฎหมายแล้วกำหนดให้ยาสเตียรอยด์เป็นยาที่ควบคุมพิเศษ เพราะมีความเป็นพิษสูง และต้องเป็นแพทย์สั่งจ่ายให้เท่านั้น
ภาวะแพ้เฉียบพลัน เป็นการแพ้ที่รุนแรงและเกิดขึ้นอย่างรวดเร็ว ซึ่งสามารถเกิดจากการแพ้อาหาร, ยา, หรือแมลงกัดต่อย ภาวะนี้ทำให้เกิดการขยายตัวของหลอดเลือด (ทำให้ความดันโลหิตต่ำ) และบวมในทางเดินหายใจ ซึ่งอาจทำให้หายใจไม่ออก หรือหัวใจหยุดเต้น หากไม่ได้รับการรักษาทันที
previous article
< บทความก่อนหน้า

สรุป! วิธีเลือกครีมกันแดดหน้าและตัว ผิวสวย ลดเสี่ยงมะเร็งผิวหนัง

บทความถัดไป >

ไอเดียสั่งอาหารตามสั่ง ไม่เสี่ยงโรคไต-เบาหวาน

Next article