การนอนหลับที่มีประสิทธิภาพมากที่สุดคือการนอนหลับสนิทตลอดทั้งคืน เพราะเป็นการพักผ่อนที่ดีที่สุดสำหรับร่างกายที่เหนื่อยล้ามาทั้งวัน แต่ถ้าทำยังไงก็ไม่เคยนอนได้เต็มตาสักคืน มีอาการนอนไม่หลับ นอนหลับยาก หลับ ๆ ตื่น ๆ สะดุ้งตื่นกลางดึก จนร่างกายอ่อนเพลีย นอกจากส่งผลต่อการทำงานการเรียน และการใช้ชีวิตประจำวัน หากนอนไม่หลับเป็นระยะเวลานานโดยไม่การรักษา ผลที่ตามมาอาจตามมาด้วยโรคต่าง ๆ เช่น ภูมิแพ้ หอบหืด ความดันโลหิตสูง ความเครียด อาการโรคซึมเศร้า ฯลฯ วันนี้รู้ใจจะมาบอกเคล็ดลับสำหรับคนหลับยาก อาการนอนไม่หลับ แก้ยังไงดี มีวิธีแก้ปัญหานอนไม่หลับหรือตัวช่วยอะไรบ้างที่จะทำให้การนอนสบายขึ้น และนอนหลับเพียงพอในทุก ๆ คืน
โรคนอนไม่หลับ (Insomnia) คืออะไร?
โรคนอนไม่หลับหรือ Insomnia คือ ความผิดปกติในวงจรการหลับของร่างกาย โดยสามารถแบ่งชนิดของการนอนไม่หลับออกได้เป็น 3 ชนิดใหญ่ ๆ คือ
- หลับยาก – สามารถหลับได้แต่กว่าจะหลับต้องใช้เวลากล่อมตัวเองเป็นชั่วโมง
- หลับไม่นาน – อาการหลับไม่นานหรือหลับไม่ทน มักจะตื่นขึ้นมากลางดึก เช่น หลับตอนหัวค่ำตื่นเที่ยงคืน ซึ่งบางคนตื่นแล้วสามารถกลับไปนอนต่อได้ แต่ในบางคนก็ไม่สามารถนอนต่อได้
- หลับๆ ตื่นๆ – อาการหลับ ๆ ตื่น ๆ รู้สึกตัวตลอดเวลาราวกับว่าแค่เคลิ้ม ๆ ไปเท่านั้น แล้วก็จะรู้สึกตัว แล้วก็จะเคลิ้ม ๆ ไปอีก วนลูปเป็นแบบนี้ทั้งคืน
ไม่ว่าคุณจะมีอาการข้อใดข้อหนึ่งหรือถูกทุกข้อก็ตาม รู้ไว้เลยว่าอาการแบบนี้จะส่งผลเสียต่อร่างกายและสมองในระยะยาว
นอนไม่หลับเกิดจากอะไร?
- ปัญหาจากสิ่งแวดล้อมทำให้นอนไม่สบายตัว เช่น กลิ่นที่ไม่ชอบรบกวนการนอน ห้องสว่างมากเกินไป มีเสียงรบกวนตลอดทั้งคืน ที่นอนไม่ได้คุณภาพ
- นอนไม่หลับเนื่องจากอาการเจ็บป่วย เช่น อาการไอ ปวดท้อง โรคนอนไม่หลับ ปัญหาเรื่องระบบหายใจ โรคเครียด โรคทางจิตเวช อาการโรคซึมเศร้า ไบโพลาร์
- แอลกอฮอล์ คาเฟอีน บุหรี่ หรือการรับประทานยาบางชนิดที่ส่งผลต่อการนอน
- หิวหรืออิ่มมากจนเกินไป
- ภาวะการนอนหลับ เช่น นอนละเมอ ฝันร้าย หรือนอนไม่หลับจนติดเป็นนิสัย
- การทำงานเป็นกะหรือทำงานไม่เป็นเวลา
- เจ็ทแลค (Jet Lag)
- สารสื่อประสาทผิดปกติ
นอนไม่หลับแบบไหนที่ต้องไปหาหมอ?
หากนอนไม่หลับติดต่อกันมากกว่า 3 ครั้ง/สัปดาห์ เป็นระยะเวลามากกว่า 1 เดือน ควรปรึกษาแพทย์ เพื่อให้แพทย์วินิจฉัยสาเหตุของอาการนอนไม่หลับ ร่วมกับการตรวจร่างกายอื่น ๆ เพื่อหาสาเหตุของอาการนอนไม่หลับ หากปล่อยไว้ไม่ปรึกษาแพทย์หรือทำการรักษาจะส่งผลต่ออารมณ์ สมาธิ ความจำ ทำให้เกิดความเครียด และปัญหาทางร่างกายอื่น ๆ
วิธีรักษาของแพทย์จะขึ้นอยู่กับสาเหตุของการนอนไม่หลับของแต่ละคน ซึ่งแพทย์ต้องวินิจฉัยให้ได้ก่อนว่ามาจากสาเหตุอะไร หากเกิดจากการติดเป็นนิสัยจนนอนไม่หลับ แพทย์ก็จะให้ปรับพฤติกรรมการนอนใหม่ แต่หากมาจากโรคทางกาย เช่น อาการโรคซึมเศร้า ไบโพลาร์ หรือโรคประสาทตื่นตัวผิดปกติ แพทย์จะใช้ยาเพื่อทำการรักษา
อาการนอนไม่หลับ แก้ยังไงดี?
- ปรับพฤติกรรมการนอนให้เป็นเวลา ต้องงดการนอนกลางวันหรือนอนในเวลาที่ไม่ควรนอน
- งดชา กาแฟ และเครื่องดื่มที่มีส่วนผสมของคาเฟอีนหลังเที่ยง
- หลีกเลี่ยงการใช้ยากระตุ้นระบบประสาทหลัง 15.00 น.
- ออกกำลังกาย ตัวอย่างเช่นเดินวันละ 40 นาที ทำแบบนี้ 3-4 ครั้งต่ออาทิตย์
- ไม่ปล่อยให้ท้องว่างก่อนเข้านอน และไม่ควรรับประทานของหนัก ๆ ก่อนเข้านอนเช่นกัน เช่น หมูกระทะ ชาบู สเต๊กเนื้อ ฯลฯ
- จัดห้องนอนให้พร้อมสำหรับการนอน เพิ่มเทียนอโรม่า หรือสร้างบรรยากาศในการนอน
- งดการคุยโทรศัพท์หรือแชตไลน์เรื่องเครียด ๆ เช่น เรื่องงาน เรื่องปัญหาส่วนตัวของคนอื่น ๆ เพราะการคุยเรื่องเครียดก่อนนอน เป็นสาเหตุของการนอนไม่หลับ
- ฝึกนั่งสมาธิวันละ 15 นาทีจะช่วยให้เรารู้จักปล่อยวาง เช่นเดียวกับเวลาเข้านอนเราไม่ควรนำเรื่องต่าง ๆ มาคิด การทำสมาธิจะช่วยให้เราวางเรื่องราวพวกนี้ลงได้ง่าย
นอนหลับนานแค่ไหนถึงจะดีต่อสุขภาพ?
ระยะเวลาการนอนหลับที่ดีจะขึ้นอยู่กับช่วงอายุ ดังนี้
- ทารกแรกเกิด-3เดือน ควรนอน 14-17 ชั่วโมง
- ทารกอายุ 4-11 เดือน ควรนอน 12-15 ชั่วโมง
- เด็กอายุ 1-2 ปี ควรนอน 11-14 ชั่วโมง
- เด็กอายุ 3-5 ปี ควรนอน 10-13 ชั่วโมง
- เด็กอายุ 6-13 ปี ควรนอน 9-11 ชั่วโมง
- วัยรุ่นอายุ 14-17 ปี ควรนอน 8-10 ชั่วโมง
- ผู้ใหญ่ 18-64 ปี ควรนอน 7-9 ชั่วโมง
- ผู้ใหญ่ 65 ปีขึ้นไป ควรนอน 7-8 ชั่วโมง
ประโยชน์ของการนอนอย่างเพียงพอ
1. ทำให้มีสมาธิมากขึ้น
การนอนหลับที่เพียงพอจะช่วยให้สมองทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ ส่งผลให้ความจำดี มีสมาธิมากยิ่งขึ้น และยังมีงานวิจัยที่รายงานว่าการนอนหลับที่มีคุณภาพจะส่งผลให้มีทักษะในการแก้ไขปัญหาได้ดีอีกด้วย
2. ทำให้อารมณ์ดี
เราจะตื่นมาพร้อมกับความสดใสเมื่อนอนหลับอย่างเพียงพอ ร่างกายได้รับการซ่อมแซมพร้อมที่จะทำงานในแต่ละวัน ในขณะเดียวกันก็มีงานวิจัยบางส่วนรายงานว่า หากการนอนหลับไม่ดี ไม่เพียงพอ หรือหลับอย่างไม่มีประสิทธิภาพ อาจเสี่ยงต่อการเกิดอาการโรคซึมเศร้าและปัญหาทางสุขภาพจิตอื่น ๆ ได้
3. ช่วยเสริมสร้างความสุขทางเพศ
การนอนหลับไม่เพียงพอหรือนอนน้อยกว่าที่ควรจะเป็นส่งผลกระทบต่อการมีเพศสัมพันธ์ โดยงานวิจัยรายงานว่าในผู้ชายที่่นอนไม่พอจะส่งผลกระทบให้ระดับฮอร์โมนที่ชื่อว่าเทสโทสเตอโรน (Testosterone) ต่ำลง ซึ่งฮอร์โมนนี้เป็นฮอร์โมนที่จำเป็นต่อร่างกายเมื่อเข้าสู่วัยหนุ่ม และเป็นฮอร์โมนที่ทำให้ผู้ชายเกิดความต้องการทางเพศ หากนอนพักผ่อนเพียงพอจะส่งผลให้สุขภาพทางเพศดีขึ้น และส่งผลให้กิจกรรมทางเพศกับคนรักราบรื่นมากยิ่งขึ้น
4. เสริมสร้างภูมิคุ้มกัน
การนอนหลับที่เพียงพอ จะช่วยเสริมสร้างระบบภูมิคุ้มกันของร่างกายทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ
5. ช่วยควบคุมน้ำหนัก
การนอนดึกเป็นสาเหตุของความอ้วนและการนอนน้อยก็ทำให้อ้วนได้เช่นกัน เพราะเมื่อเรานอนไม่พอ ร่างกายจะผลิตฮอร์โมนเลปติน (Leptin) ที่ช่วยให้เรารู้สึกอิ่มลดลง แล้วทำให้ปริมาณฮอร์โมนเกรลิน (Ghrelin) ที่กระตุ้นความอยากอาหารเพิ่มขึ้น จึงเป็นที่มาของการกินยามดึกและส่งผลให้น้ำหนักตัวเพิ่มขึ้น
การนอนหลับที่ดีเป็นจุดเริ่มต้นของการดูแลสุขภาพที่ทำง่ายและส่งผลดีมาก ๆ ต่อตนเอง ทั้งร่างกาย อารมณ์ จิตใจ ลดความเสี่ยงการเกิดโรคร้ายที่ไม่มีใครอยากเป็น แต่ถึงอย่างไร โรคร้ายก็มีโอกาสเกิดขึ้นอยู่ดี การวางแผนเพื่อรับมือด้วยการทำประกันโรคร้ายแรงก็เป็นอีกทางเลือกหนึ่งที่ช่วยเซฟเงินในกระเป๋าคุณไม่ให้หมดไปกับค่ารักษาพยาบาล และยังให้คุณเข้าถึงการรักษาที่ดีกว่าที่คุณเลือกเองได้ ที่รู้ใจมีประกันโรคร้ายแรง เจอ จ่าย จบ รับเงินก้อนสูงสุด 2 ล้านบาท คุ้มครองมะเร็งทุกชนิด ทุกระยะ กลุ่มอาการทางระบบประสาท โรคหัวใจและหลอดเลือด และภาวะอวัยวะล้มเหลว ปรับแผนเองได้ตามไลฟ์สไตล์คุณ
สามารถติดตามข่าวสาร สาระความรู้เกี่ยวกับสุขภาพ รถยนต์ มอเตอร์ไซค์ รวมถึงประกันภัยออนไลน์ต่าง ๆ จากรู้ใจได้ที่ Facebook Page: Roojai หรือคลิกที่นี่เพื่อเพิ่มเราเป็นเพื่อนใน LINE ได้เลย (Official Line ID: @roojai)