ทุกวันนี้ สิ่งต่าง ๆ รอบตัวเราล้วนแล้วแต่เป็นสาเหตุของความเครียด ไม่ว่าจะเรื่องงาน เรื่องครอบครัว เศรษฐกิจ การเงิน สุขภาพ ฯลฯ เมื่อร่างกายอยู่ในภาวะเครียด กล้ามเนื้อในร่างกายของเราจะเกร็งโดยที่เราไม่รู้ตัว และนี่แหละที่เป็นสาเหตุให้เรารู้สึกไม่สบายตัว ปวดหัว ปวดหลัง ตึงบริเวณไหล่และคอ
- การนวดแผนไทย คืออะไร?
- ทำไมต้องนวดแผนไทย?
- นวดแผนไทยมีกี่แบบ?
- ประโยชน์ของการนวดแผนไทย
- ใครบ้างที่ไม่ควรนวดแผนไทย?
- วิธีเตรียมตัวก่อนการนวดแผนไทย
- หลังนวดแผนไทย ห้ามทำอะไร?
วิธีผ่อนคลายจากความตึงเครียดหรืออาการปวดตึงตามร่างกายแต่ละคนต่างกันออกไป โดยปกติ คนทั่วไปมักจะหยิบยาแก้ปวดมากินเพราะเป็นเรื่องที่ทำง่าย แต่ก็ยังมีอีกหลายคนที่เลือกวิธีคลายความตึง คลายอาการปวดเมื่อย ปวดหัวด้วยการนวดแผนไทย การนวดแผนไทยมีกี่ปะเภท การนวดเพื่อสุขภาพ นวดเพื่อการรักษา นวดน้ำมัน นวด อโรม่า นวดฝ่าเท้า แต่ละแบบต่างกันยังไง รวมทั้งประโยชน์ของการนวดแผนไทย ด้านล่างนี้เลย
การนวดแผนไทย คืออะไร?
การนวดแผนไทย เป็นการนวดแผนโบราณซึ่งเป็นหนึ่งในการแพทย์แผนโบราณที่มีมานาน บางตำราบันทึกไว้ว่าการนวดแผนไทยมีตั้งแต่สมัยสุโขทัย แต่ในบางตำราก็มีที่นักประวัติศาสตร์บันทึกไว้ว่า การนวดแผนไทยอาจจะมีตั้งแต่เมื่อ 2,500 ปีก่อน โดยการนวดแผนไทยสมัยนั้นมาจากชาวอินเดียคนหนึ่งที่นำวิธีการนวดมาเผยแพร่ทั่วเอเชียใต้
วิธีนวดแผนไทยจะใช้การบีบอัด การดัน การกด และการยืดเพื่อกระตุ้นและปรับสมดุลของร่างกาย การนวดแผนไทยไม่ได้เป็นเพียงแค่การนวดผ่อนคลายเท่านั้น มันยังเป็นศาสตร์แห่งการบำบัดที่เน้นเรื่องการสร้างสมดุลในร่างกาย อารมณ์ รวมไปถึงจิตใจ
ทำไมต้องนวดแผนไทย?
การนวดมีกี่ประเภท? การนวดแผนไทยมีหลากหลายประเภท หากแบ่งตามสรรพคุณจะสามารถแบ่งได้เป็น 3 ประเภท ดังนี้
- นวดเพื่อสุขภาพ
การนวดเพื่อสุขภาพ สามารถนวดได้ทุกคน การนวดแบบนี้เน้นเรื่องการกระตุ้นระบบของร่างกายให้ผ่อนคลาย เพิ่มการไหลเวียนของโลหิต และช่วยให้การนอนหลับพักผ่อนดีขึ้น - นวดเพื่อรักษา
การนวดเพื่อการรักษาเป็นการนวดแบบมุ่งเน้นบรรเทาอาการต่าง ๆ เช่น ปวดหลัง ปวดคอบ่าไหล่ ปวดกล้ามเนื้อ - นวดฟื้นฟูสมรรถภาพ
สำหรับการนวดฟื้นฟูสมรรถภาพ จะเหมาะกับผู้ป่วยที่เป็นอัมพฤกษ์-อัมพาต และโรคพาร์กินสัน
นวดแผนไทยมีกี่แบบ?
นอกจาก 3 ประเภทหลักของการนวดแผนไทยแล้ว ยังสามารถเลือกการนวดแผนไทยด้วยวิธีต่าง ๆ เหล่านี้ได้อีก
1. นวดน้ำมัน
การนวดน้ำมัน หรือนวด อโรม่า เป็นการนวดที่ใช้น้ำมันธรรมชาติเป็นส่วนประกอบ น้ำมันที่ใช้จะมีกลิ่นหอมธรรชาติหรือกลิ่นอโรม่า เหมาะกับผู้ที่ต้องการผ่อนคลายความเครียด กลิ่นหอมจากน้ำมันจะช่วยทำให้รู้สึกผ่อนคลาย สดชื่น และน้ำมันยังทำให้ผิวชุ่มชื่น นอกจากนั้นยังสามารถช่วยกระชับสัดส่วนได้อีกด้วย
2. นวดผ่อนคลาย
เป็นการนวดเพื่อกระตุ้นระบบต่าง ๆ ในร่างกาย เช่น ระบบการไหลเวียนของเลือด คลายกล้ามเนื้อ และข้อกระดูกต่าง ๆ และยังสามารถช่วยลดความเกร็งของกล้ามเนื้อลงได้
3. นวดฝ่าเท้า
การนวดฝ่าเท้าจะเน้นเรื่องของการกดจุด เพราะที่ฝ่าเท้าของเรามีจุดสำคัญที่เกี่ยวกับอวัยวะภายในร่างกายของเรา เป็นการปรับสมดุล เพิ่มการไหลเวียนเลือดให้ดียิ่งขึ้น ช่วยขจัดเซลล์ที่เสื่อมสภาพและสารพิษออกจากร่างกาย การกดจุดที่ฝ่าเท้ายังช่วยบรรเทาอาการเจ็บป่วยจากโรคได้อีกด้วย
4. นวดสำหรับนักกีฬา
การนวดสำหรับนักกีฬาหรือนวดแนวสปอร์ต เหมาะกับคนที่ชอบทำกิจกรรม ออกกำลังกาย คนที่ออกกำลังกายเป็นประจำ อาจทำให้กล้ามเนื้อและกระดูกจะมีปัญหาในบางครั้ง รวมไปถึงความเหนื่อย ความล้าจากการออกกำลังกาย การนวดสปอร์ตจะช่วยบรรเทาอาการตึงของกล้ามเนื้อ ทำให้กล้ามเนื้อมีความยืดหยุ่น ช่วยลดอาการปวดหลังจากเล่นกีฬา
5. นวดจับเส้น
การนวดประเภทนี้ เน้นที่การจับจุดในร่างกาย เพื่อให้เกิดความผ่อนคลายตามข้อต่อ พังผืด รวมไปถึงเเก้อาการอักเสบของกล้ามเนื้อ การนวดนี้จะเจ็บกว่าการนวดแบบอื่น ๆ บางคนจะเรียกว่านวดแก้อาการ ซึ่งนวดเพียงครั้งเดียวก็สามารถรู้สึกได้เลยว่าอาการปวดเมื่อยดีขึ้น แต่ต้องนวดเป็นประจำ อาการถึงจะหายไป
6. นวดสลายไขมัน
การนวดสลายไขมัน เน้นเรื่องความสวยความงาม นอกจากจะทำให้สัดส่วนเข้ารูปแล้ว ยังได้การผ่อนคลายมาเป็นของแถมอีกด้วย
7. นวดโดยใช้ลูกประคบ
สำหรับการใช้ลูกประคบ จะเป็นลูกประคบสมุนไพรไทยมาประคบตามจุดต่าง ๆ ของร่างกาย ช่วยลดอาการปวดกล้ามเนื้อและช่วยบรรเทาความเครียด สมุนไพรที่นิยมใช้ เช่น ไพล ผิวมะกรูด ตะไคร้ ใบมะขาม ขมิ้นชัน เป็นต้น
ประโยชน์ของการนวดแผนไทย
- ช่วยลดอาการปวดกล้ามเนื้อ คอ บ่า ไหล่ และส่วนอื่น ๆ
- ช่วยลดอาการปวดตึงตามข้อ
- บรรเทาอาการปวดหลัง
- มีส่วนช่วยลดอาการปวดหัวจากไมเกรน
- การนวดแผนไทยคือการกด บีบ และยืดกล้ามเนื้อ ทำให้การเคลื่อนไหวร่างกายดีขึ้นหลังจากการนวด
- ทำให้กระปรี้กระเปร่า เพราะการนวดแผนไทยมีการเคลื่อนไหวร่างกายคล้าย ๆ กับโยคะ ทำให้ผู้ที่รับการนวด รู้สึกสดชื่นมากขึ้น
- ทำให้ระบบการไหลเวียนของเลือดและน้ำเหลืองในร่างกายดีขึ้น ทำให้เนื้อเยื่อในร่างกายได้รับออกซิเจนมากขึ้น ส่งผลดีต่อการเจริญเติบโตของเซลล์
ใครบ้างที่ไม่ควรนวดแผนไทย?
สำหรับผู้ที่มีโรคประจำตัวบางชนิดต่อไปนี้ ไม่ควรเข้ารับการนวดแผนไทย
- ผู้ป่วยโรคหัวใจหรือโรคหลอดเลือดหัวใจ
- ผู้ป่วยโรคความดันสูง
- ผู้ที่มีปัญหาเกี่ยวกับกระดูกสันหลัง เช่น โรคกระดูกพรุน
- ผู้ป่วยโรคเบาหวาน
- ผู้ที่เพิ่งผ่าตัดมาได้ไม่นาน หรือผู้ที่มีแผลเปิด
- ผู้ป่วยโรคมะเร็ง
- ผู้หญิงที่กำลังอยู่ในระหว่างการตั้งครรภ์
- ผู้ป่วยโรคเลือด หรือผู้ที่มีภาวะลิ่มเลือด
- ผู้ที่มีแผลไฟไหม้
- ผู้ที่มีภาวะเกล็ดเลือดต่ำ
- ผู้ป่วยที่มีอาการปวดกล้ามเนื้อเนื่องจากมีไข้
- ผู้ป่วยกล้ามเนื้อเฉียบพลัน
วิธีเตรียมตัวก่อนการนวดแผนไทย
- เช็คสุขภาพว่ามีโรคประจำตัวที่ห้ามทำการนวดหรือไม่
- เช็คอาการบาดเจ็บ หรือบาดแผลตามร่างกาย
- หากมีอาการปวดเมื่อยมากเกินไป ไม่ควรไปนวด เพราะอาจทำให้ทรุดหนักกว่าเดิม
- ไม่ควรนวดเมื่อมีไข้สูง
- ไม่ควรนวด หลังกินข้าวทันที ควรรับประทานอาหารให้เสร็จก่อนเวลานวด 1 ชั่วโมง หรืออย่างน้อย 30 นาที
- ไม่ควรใช้เวลานวดนานเกินไป เวลาที่กำลังดีคือ 60 นาที
- สวมเสื้อผ้าหลวม ๆ เลี่ยงการใส่เสื้อผ้ารัดรูป
หลังนวดแผนไทย ห้ามทำอะไร?
- งดทานอาหารแสลง เช่น หน่อไม้ ของมัน ของทอด ข้าวเหนียว เครื่องในสัตว์ เหล้า เบียร์ และอาหารหมักดอง อาหารเหล่านี้จะทำให้กล้ามเนื้อที่่ถูกนวดอักเสบมากยิ่งขึ้น
- งดการสลัด สะบัด บีบ หรือดัดบริเวณที่มีอาการปวด หลังจากการนวด เพราะจะทำให้ปวดหนักมากกว่าเดิม
- หลังการนวดควรพัก 2 ชั่วโมง แล้วจึงค่อยอาบน้ำ
- ดื่มน้ำอุ่นหรือน้ำอุณหภูมิห้อง หลังการนวด
สามารถติดตามข่าวสาร สาระความรู้เกี่ยวกับสุขภาพ รถยนต์ มอเตอร์ไซค์ รวมถึงประกันภัยออนไลน์ต่าง ๆ จากรู้ใจได้ที่ Facebook Page: Roojai หรือคลิกที่นี่เพื่อเพิ่มเราเป็นเพื่อนใน LINE ได้เลย (Official Line ID: @roojai)