การรักษามะเร็งระยะสุดท้ายในผู้ป่วย มีคำถามมากมายทั้งสามารถรักษาจนหายขาดได้มั้ย อยู่ได้นานกี่ปี รวมไปถึงวิธีการดูแลตัวเอง มาติดตามบทความของรู้ใจบทความนี้ ที่จะอธิบายในเรื่องการรับมือและการเตรียมความพร้อม การดูแลประคับประคองผู้ป่วยระยะสุดท้ายอย่างเหมาะสม มะเร็งระยะสุดท้าย หายได้หรือไม่ มีปาฏิหาริย์มั้ย และการใช้เวลาที่เหลืออย่างมีความสุข
สนใจอ่านแค่บางเรื่อง ก็เลือกได้เลย!
- มะเร็งระยะสุดท้าย คืออะไร?
- ผู้ป่วยมะเร็งระยะสุดท้ายอยู่ได้กี่ปี?
- ปาฏิหาริย์สำหรับผู้ป่วยมะเร็งระยะสุดท้ายมีจริงหรือไม่?
- การรักษาผู้ป่วยมะเร็งระยะสุดท้าย
- เตือนภัย! ข่าวปลอมเรื่องยารักษาโรคมะเร็งระยะสุดท้าย
- แนวทางการดูแลผู้ป่วยมะเร็งระยะสุดท้ายสำหรับญาติ
มะเร็งระยะสุดท้าย คืออะไร?
มะเร็งระยะสุดท้ายหรือมะเร็งระยะที่ 4 คือ มะเร็งที่มีการลุกลามและแพร่กระจายไปยังอวัยวะอื่น ๆ ซึ่งเป็นระยะที่ไม่สามารถรักษาผู้ป่วยให้หายขาดได้ ผู้ป่วยมักมีอาการที่ซับซ้อนหรือมีโรคแทรกซ้อน มีโอกาสเสียชีวิตสูงในระยะเวลาไม่นาน โดยรักษามะเร็งระยะสุดท้ายจะเน้นไปที่การรักษาแบบประคับประคอง (Palliative Care) เพื่อบรรเทาอาการเจ็บปวดและลดความทุกข์ทรมาน เพื่อช่วยให้ผู้ป่วยมีคุณภาพชีวิตที่ดีที่สุดในช่วงเวลาที่เหลืออยู่
อาการของมะเร็งระยะสุดท้ายที่พบบ่อยคือ
- อ่อนเพลีย เหนื่อยง่าย
- อาการปวด เจ็บ รุนแรงขึ้น
- นอนไม่หลับ เบื่ออาหาร
- คลื่นไส้ อาเจียน เวียนศีรษะ
- ความผิดปกติของระบบทางเดินหายใจ
- ภาวะซึมเศร้า ความกังวล
ผู้ป่วยมะเร็งระยะสุดท้ายอยู่ได้กี่ปี?
ผู้ป่วยมะเร็งระยะสุดท้ายอาจจะอยู่ได้ไม่กี่เดือน หรือบางรายอาจอยู่ได้เป็นปี สิบปี ขึ้นอยู่กับสุขภาพของผู้ป่วย กำลังใจ และชนิดของมะเร็ง
ปาฏิหาริย์สำหรับผู้ป่วยมะเร็งระยะสุดท้ายมีจริงหรือไม่?
มะเร็งระยะสุดท้าย หายได้หรือไม่? หากมาถึงขั้นสุดท้ายของโรคแล้ว โอกาสในการรักษามะเร็งระยะสุดท้ายให้หายขาดนั้นแทบจะไม่มีเปอร์เซ็นต์อยู่เลย มีแต่เพียงวิธีการที่จะช่วยให้ผู้ป่วยมีชีวิตที่ยืนยาวมากที่สุด คือการประคองอาการและรักษาตามอาการเท่านั้น
แต่ปาฏิหาริย์เกิดขึ้นได้ แม้ไม่สามารถรักษาให้หายขาด แต่ก็สามารถใช้ชีวิตอย่างมีความสุขได้นับสิบปี ดังเช่นเรื่องราวของลูกสาวและคุณแม่ท่านหนึ่งในวัย 71 ปีที่พบว่าตัวเองเป็นมะเร็งปอดระยะสุดท้าย หรือมะเร็งปอดระยะที่ 4
เรื่องราวเริ่มต้นในปี 2556 ลูกสาวหรือ “หมอบัว” ดร.พญ.ประกายทิพ สุศิลปรัตน์ ได้พาคุณแม่วัย 71 ปีไปตรวจสุขภาพและพบว่า คุณแม่เป็นมะเร็งปอดระยะสุดท้าย จากนั้นก็พาแม่เข้าสู่การรักษาโดยเร็วที่สุด นับจากวันที่ทราบจนถึงวันนี้ หมอบัวและคุณแม่สามารถใช้ชีวิตได้อย่างมีความสุขตลอด 11 ปี และแชร์เรื่องราวต่าง ๆ ผ่านเพจ “สู้สิแม่ ก็แค่มะเร็ง” เพื่อเป็นกำลังใจและบอกเล่าเรื่องราวการรักษา การดูแลผู้ป่วยมะเร็งให้หลาย ๆ คนได้ติดตามต่อไป
การรักษามะเร็งระยะสุดท้าย
รักษามะเร็งระยะสุดท้าย จะเป็นการรักษาแบบประคับประคอง โดยมีเป้าหมายเพื่อบรรเทาอาการ ลดความเจ็บปวด ลดความทุกข์ทรมาน เพื่อให้ผู้ป่วยมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น แต่ไม่ได้มุ่งไปที่การกำจัดมะเร็ง แต่เป็นการช่วยให้ผู้ป่วยรู้สึกสบายที่สุดในช่วงเวลาที่เหลืออยู่ โดยสามารถดูแลผู้ป่วยได้ทั้งที่บ้านหรือโรงพยาบาล ซึ่งเหมาะกับผู้ป่วยแตกต่างกัน ดังนี้
1. การรักษาดูแลผู้ป่วยที่บ้าน
การดูแลผู้ป่วยมะเร็งระยะสุดท้ายที่บ้านเหมาะกับผู้ป่วยที่มีญาติหรือพยาบาลดูแลอย่างใกล้ชิด และผู้ป่วยต้องมีอาการอยู่ในเกณฑ์ที่สามารถดูแลที่บ้านได้ วิธีการนี้ดีสำหรับผู้ป่วยที่ต้องการการพักผ่อน คนที่สบายใจมากกว่าเมื่อได้อยู่ในบ้าน ในบรรยากาศที่คุ้นเคย แต่สิ่งสำคัญคือต้องมีคนที่เข้าใจและพร้อมที่จะดูแล รวมถึงมีความรู้ความเข้าใจในการดูแลผู้ป่วยด้วย และต้องมีการติดตามผล ปรึกษาทีมแพทย์ผู้ดูแลอย่างสม่ำเสมอ
2. การรักษาดูแลผู้ป่วยที่โรงพยาบาล
การดูแลผู้ป่วยมะเร็งระยะสุดท้ายที่โรงพยาบาลเหมาะกับผู้ป่วยที่มีอาการหนักมากต้องได้รับรักษามะเร็งระยะสุดท้ายกับแพทย์ หรือครอบครัวไม่มีความพร้อมดูแลที่บ้าน เป็นทางเลือกที่ดีที่ให้ผู้เชี่ยวชาญช่วยดูแล เราเองก็ลดความกังวลลงได้
การดูแลผู้ป่วยมะเร็งระยะสุดท้าย ไม่ว่าที่บ้านหรือโรงพยาบาล ต่างก็ต้องมีความพร้อมด้านการเงินพอสมควร ซึ่งการวางแผนที่ดี จะช่วยลดภาระการเงินและเลือกการรักษาเองได้ ด้วยการทำประกันมะเร็งติดไว้ตั้งแต่เนิ่น ๆ ประกันมะเร็งที่รู้ใจ เจอจ่ายจบ รับเงินก้อนสูงสุด 3 ล้านบาท
เตือนภัย! ข่าวปลอมเรื่องยารักษาโรคมะเร็งระยะสุดท้าย
ท่ามกลางความเจ็บป่วยและทุกข์ใจของผู้ป่วย กลับมีข่าวปลอมเกี่ยวกับยารักษาโรคมะเร็งระยะสุดท้ายมากมาย ทั้งกินแบบนั้นแบบนี้แล้วรักษามะเร็งหายขาดได้ มาเล่นกับความหวังของใครหลาย ๆ คน เช่น
- ข่าวปลอมเรื่อง เคี้ยวเมล็ดมะละกอสุกแล้วกลืนโดยไม่ต้องกินน้ำตาม วันละ 3 เม็ด รักษามะเร็งระยะสุดท้าย เห็นผลใน 1 เดือน
- ข่าวปลอมเรื่อง การดื่มน้ำปั่นผักจิงจูฉ่าย ช่วยรักษามะเร็งระยะสุดท้าย
โดยทั้ง 2 ข่าวนี้ ศูนย์ต่อต้านข่าวปลอมได้ออกมายืนยันแล้วว่าเป็นข้อมูลที่เป็นเท็จ อย่างไรก็ตามสิ่งที่ดีและปลอดภัยกับผู้ป่วยมะเร็งระยะสุดท้าย คือการรับการรักษาและทำตามคำแนะนำของแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ โดยหากต้องการทานอาหารเสริม ยา หรือสมุนไพร อย่าเพิ่งหลงเชื่อการแชร์ข่าวสารโดยง่าย หรือควรปรึกษาแพทย์จะดีที่สุด
แนวทางการดูแลผู้ป่วยมะเร็งระยะสุดท้ายสำหรับญาติ
ช่วงเวลาสุดท้ายของชีวิตสำหรับผู้ป่วยมะเร็งเป็นช่วงที่ต้องการการดูแลเอาใจใส่อย่างใกล้ชิดจากครอบครัวและคนใกล้ชิด เพื่อให้ผู้ป่วยมีความสุขสบายทั้งทางกายและจิตใจ บทบาทของครอบครัวจึงมีความสำคัญมาก ๆ ในการสร้างคุณภาพชีวิตที่ดีให้กับผู้ป่วยมะเร็งระยะสุดท้าย
- เข้าใจโรคที่ผู้ป่วยเป็น การที่ญาติและครอบครัวเข้าใจโรคและสิ่งที่จะเกิดขึ้นกับผู้ป่วยมะเร็งระยะสุดท้าย จะช่วยให้การดูแลและช่วยเหลือผู้ป่วยเป็นไปอย่างถูกต้อง และลดความวิตกกังวลหรือความทุกข์ใจของผู้ป่วยได้ รวมถึงพาไปหาหมอเพื่อติดตามอาการทุกครั้งตามนัดหมายของแพทย์
- การดูแลร่างกายผู้ป่วย ควรให้การดูแลร่างกายอย่างครบถ้วน เช่น การดูแลช่องปากและฟัน การขับถ่าย และการจัดการความเจ็บปวดตามคำแนะนำและขั้นตอนการรักษาของแพทย์
- การดูแลจิตใจผู้ป่วย สร้างบรรยากาศที่เงียบสงบ ไม่มีสิ่งรบกวน และจัดกิจกรรมที่ผู้ป่วยสามารถร่วมสนุกได้ เช่น การเล่าเรื่องราว การชมภาพยนตร์ การนวด หรือดนตรีบำบัด
- การให้การสนับสนุนทางจิตใจและอารมณ์ ให้เวลาในการพูดคุย ฟังเรื่องราว และแจ้งข้อมูลความเป็นไปของโรคให้ผู้ป่วยเข้าใจ หากพบว่าผู้ป่วยมีความรู้สึกทางจิตที่ไม่ดี ควรแนะนำให้พบที่ปรึกษาทางจิตเพื่อให้การดูแลที่เหมาะสม
- จัดการโภชนาการที่ดี ดูแลด้านอาหารอย่างเหมาะสม โดยมุ่งเน้นอาหารที่มีคุณค่าทางโภชนาการสูง เพื่อช่วยให้ร่างกายแข็งแรงและเสริมสร้างระบบภูมิคุ้มกัน ควรปรึกษาบุคลากรทางการแพทย์ร่วมด้วย
อาหารสําหรับผู้ป่วยมะเร็งระยะสุดท้ายมีอะไรบ้าง?
โภชนาการที่เหมาะสม จะช่วยยืดชีวิตผู้ป่วยมะเร็งระยะสุดท้ายได้ เรามาดูกันว่ามีเมนูอะไรบ้าง?
เมนูอาหารสําหรับผู้ป่วยมะเร็งระยะสุดท้าย ควรเป็นอาหารย่อยง่าย ไม่แปรรูป มีโปรตีนคุณภาพ กินผักผลไม้ เลี่ยงอาหารไขมันสูงและน้ำตาล ตัวอย่างเมนู เช่น ข้าวต้มปลาหรือข้าวต้มเครื่อง ซุปมันฝรั่งหรือซุปไก่ ซุปผักต่าง ๆ แกงจืดเต้าหู้หมูสับ ต้มจับฉ่าย
ส่วนของหวานแนะนำให้รับประทานผลไม้จะดีต่อร่างกายมากกว่าการรับประทานขนมหวาน ผลไม้ที่แนะนำ เช่น แตงโม แอปเปิล กล้วย เป็นต้น
การดูแลผู้ป่วยมะเร็งระยะสุดท้าย ต้องให้ความสำคัญทั้งทางด้านร่างกาย อารมณ์ และจิตใจของผู้ป่วย เพราะมักมีอาการเจ็บป่วยและทุกข์ทรมาน กำลังใจและความเข้าใจของญาติและคนที่รัก จะเป็นแรงผลักดันให้ผู้ป่วยต่อสู้กับโรคร้าย และมีคุณภาพชีวิตที่ดีที่สุดในช่วงเวลาที่เหลืออยู่ได้ และปาฏิหาริย์ที่เกิดขึ้น แม้มีโอกาสน้อยมาก ๆ ที่จะรักษาหายขาด แต่ก็ต่อสู้และใช้ชีวิตอย่างมีความสุขได้นับสิบปี
สามารถติดตามข่าวสาร สาระความรู้เกี่ยวกับสุขภาพ รถยนต์ มอเตอร์ไซค์ รวมถึงประกันภัยออนไลน์ต่าง ๆ จากรู้ใจได้ที่ Facebook Page: Roojai หรือคลิกที่นี่เพื่อเพิ่มเราเป็นเพื่อนใน LINE ได้เลย (Official Line ID: @roojai)
คำจำกัดความ
เคลมประกัน | การยื่นคำร้องขออย่างเป็นทางการในกรณีที่คุณในฐานะเป็นผู้ถือกรมธรรม์ ยื่นร้องขอการเคลมประกันกับบริษัทประกันภัยเพื่อขอค่าสินไหมชดเชยความเสียหาย หรือสูญเสียที่ครอบคลุมตามกรมธรรม์ที่คุณได้ทำเอาไว้ |
การดูแลแบบประคับประคอง | เป็นการดูแลที่เน้นการเพิ่มคุณภาพชีวิตที่ดีให้กับผู้ป่วยและครอบครัว โดยจะลดความทุกข์ทรมานทางด้านร่างกาย จิตใจ การรักษาจะเน้นการรักษาตามอาการ เพื่อไม่ให้ผู้ป่วยทรมานจากความเจ็บป่วย |