Roojai

เจาะลึก Telemedicine พร้อมอัปเดต 6 แอปปรึกษาหมอออนไลน์ 2568

Article Roojai Verified
Telemedicine การแพทย์ทางไกล ตัวเลือกที่ทันสมัยสำหรับการดูแลสุขภาพ

ในยุคที่โลกกำลังเดินอยู่บนสายพานแห่งนวัตกรรมเทคโนโลยี การสื่อสารไร้พรมแดน อยู่ที่ไหนก็สามารถปรึกษาหมอหรือพบแพทย์ผ่านสื่อออนไลน์โดยไม่ต้องเสียเวลาในการเดินทางมาโรงพยาบาล นวัตกรรมตัวนี้มีชื่อว่า Telemedicine เจ้า Telemedicine นี้เหมาะกับใคร และมีข้อดียังไง รวมไปถึงการอัปเดต 6 แอปพลิเคชั่นปรึกษาหมอออนไลน์จะมีแอปไหนบ้าง เราไปดูกันเลย

สนใจอ่านแค่บางเรื่อง ก็เลือกได้เลย!

Telemedicine คืออะไร?

Telemedicine คือ การบริการทางการแพทย์รูปแบบใหม่ที่สามารถหาหมอหรือปรึกษาหมอออนไลน์ถึงอาการเจ็บป่วยได้โดยที่ไม่ต้องเดินทางไปโรงพยาบาล เป็นการพบหมอแบบเห็นหน้าผ่านการวดีโอคอลหรือพูดคุยเป็นเสียงผ่านทางโทรศัพท์ หรือหากไม่อยากคุยและไม่อยากเปิดกล้อง Telemedicine ยังสามารถพูดคุยผ่านการแชตกับคุณหมอได้อีกด้วย อีกทั้ง หากคุณมีรูปอาการบาดเจ็บ เช่น ตาแดง หรือข้อเท้าบวม ยังสามารถส่งรูปให้กับคุณหมอช่วยวินิจฉัยอาการได้ด้วย

Telemedicine มีข้อดียังไง?

แน่นอนว่าระบบ telemedicine มีข้อดีและจุดเด่นอยู่หลากหลายเนื่องจากเป็นเทคโนโลยีที่ถูกออกแบบมาให้ทันสมัยและปรับให้เข้ากับพฤติกรรมของผู้คนในยุคสมัยใหม่นี้ โดยข้อดีที่เห็นได้ชัดของ Telemedicine มีดังนี้

  1. สะดวก ไม่เสียเวลา และไม่ต้องเสียค่าเดินทางในการไปโรงพยาบาล
  2. สามารถพบหมอเพื่อตรวจวินิจฉัยอาการได้อย่างรวดเร็ว
  3. ผู้ที่ต้องติดตามอาการอยู่เป็นประจำ หรือผู้ป่วยโรคเรื้อรัง สามารถติดตามผลผ่าน Telemedicine ได้โดยที่ไม่ต้องเดินทางมาโรงพยาบาล
  4. ลดค่าใช้จ่ายในการนอนพักรักษาตัวที่โรงพยาบาล
  5. Telemedicine ยังเป็นประโยชน์ต่อการศึกษาทางการแพทย์ เพราะสามารถแลกเปลี่ยนความรู้ คำแนะนำจากแพทย์ด้วยกันเองได้
  6. มีการจัดเก็บข้อมูลและรักษาข้อมูลอย่างเป็นระบบ
อาการแบบไหนที่ควรและไม่ควรปรึกษาหมอออนไลน์

Telehealth คืออะไร ต่างกับ Telemedicine ยังไง?

Telemedicine Telehealth
Telemedicine จะเป็นระบบที่แพทย์สามารถตรวจวินิจฉัยผู้ป่วยและสามารถให้คำปรึษากับผู้ป่วยได้โดยตรงเกี่ยวกับอาการป่วยที่ไม่รุนแรง หรือเป็นการติดตามผลการรักษาสำหรับคนที่เป็นโรคประจำตัว ผ่าน Video conference Telehealth หรือ Teletriage เป็นระบบที่ใช้สำหรับคัดกรองผู้ป่วยก่อนจะเข้ามาทำการรักษาตัวที่โรงพยาบาล ด้วยการตอบแบบสอบถามและประเมินความเสี่ยงผ่าน Video call หรือในรูปแบบอื่น หากแพทย์พิจารณาแล้ว ไม่ได้มีความเสี่ยงอะไร แพทย์จะแนะนำให้ผู้ป่วยไม่ต้องมาโรงพยาบาล แต่หากพิจารณาแล้วเห็นว่ามีความเสี่ยงสูง แพทย์จะทำการเตรียมความพร้อมทั้งอุปกรณ์และบุคลากรก่อนผู้ป่วยเข้ามาที่โรงพยาบาล

Telemedicine ใช้งานอะไรได้บ้าง?

การใช้งานของ Telemedicine นั้นถูกออกแบบให้ใช้งานได้ง่าย เพื่อให้ผู้คนที่หลากหลายสามารถใช้บริการด้านสุขภาพได้อย่างเต็มประสิทธิภาพ โดยสามารถใช้งานได้ในเรื่องดังต่อไปนี้

  1. ให้คำปรึกษาจากผู้เชี่ยวชาญ โดยสามารถวินิจฉัยสุขภาพผ่านการพูดคุย และสามารถสอบถามอาการผู้ป่วยผ่าน Video call เพื่อใช้ประกอบการวินิจฉัยโรค
  2. ช่วยเฝ้าระวังสุขภาพจากที่บ้านได้ ด้วยการนำอุปกรณ์การตรวจวัดต่างๆ ไปติดไว้ที่บ้าน เพื่อวัดและเก็บข้อมูล เช่น สัญญาณชีพ หากสัญญาณชีพที่ส่งมามีความผิดปกติ แพทย์หรือผู้เชี่ยวชาญจะแจ้งให้ผู้ป่วยเข้ามาพบแพทย์ที่โรงพยาบาล
  3. สามารถให้ข้อมูลเกี่ยวกับโรค หรือเกี่ยวกับสุขภาพ โดยที่ผู้ใช้งานสามารถค้นหาข้อมูลผ่านคอมพิวเตอร์ หรือสามารถใช้แอปปรึกษาหมอได้เช่นกัน
  4. ช่วยเพิ่มการเรียนรู้ทางการแพทย์ เพราะระบบจะทำหน้าที่รวบรวมความรู้ให้กับผู้ใช้งาน ได้ค้นหาข้อมูลหรือเผยแพร่ข้อมูลที่มีประโยชน์ได้ ซึ่ง Telemedicine ถือว่าเป็นศูนย์รวมของการเรียนรู้และเผยแพร่ความรู้ให้กับแพทย์กันเองอีกด้วย

อาการป่วยแบบไหนที่สามารถใช้ Telemedicine ได้?

Telemedicine เหมาะกับการคุยกับหมอออนไลน์ในโรคหรืออาการที่ไม่รุนแรง และไม่จำเป็นต้องใช้อุปกรณ์ขั้นสูงทางการแพทย์ หรือไม่จำเป็นต้องทำหัตถการใด ๆ ส่วนใหญ่จะเป็นโรคที่ใช้ยารักษาเป็นหลัก โดยโรคที่สามารถใช้ Telemedicine ในไทย ได้มีดังต่อไปนี้ 

1. โรคทั่วไป

โรคทั่วไป อาการไม่รุนแรง อย่างเช่น ไข้หวัด ภูมิแพ้ ผื่นคัน เจ็บคอ ท้องเสีย (ไม่รุนแรง) ปวดท้อง โรคกระเพาะอาหาร กรดไหลย้อน หรือประจำเดือนมาไม่ปกติ

2. โรคออฟฟิศซินโดรม

โรคฮิตที่ชาวออฟฟิศหรือคนที่ Work from home เป็นกันเยอะ หากต้องเดินทางไปพบแพทย์อาจเสียเวลา การใช้ Telemedicine สามารถช่วยลดขั้นตอนการรักษาโรคออฟฟิศซินโดรมได้ เช่น ปรึกษาเรื่องอาการปวดบ่า ไหล่ นิ้วล็อก หรือโรคที่เกี่ยวกับออฟฟิศซินโดรม โดยแพทย์จะแนะนำว่าต้องรับประทานยาอะไร และควรออกกำลังกายด้วยท่าไหนบ้าง 

3. โรคโควิด 19

สำหรับผู้ที่อยู่ในระดับสีเขียว มีอาการไข้ ไอ มีเสมหะ เจ็บคอเล็ก ๆ น้อย ๆ ไม่จำเป็นต้องมาโรงพยาบาล สามารถพบหมอออนไลน์ได้เลย

4. โรคประจำตัว

คนที่มีโรคประจำตัวที่ต้องคอยติดตามอัปเดตอาการ เช่น โรคเบาหวาน ความดัน ไมเกรน ไขมันในเลือดสูง หอบหืด เป็นต้น ซึ่ง Telemedicine จะมาช่วยในเรื่องของการติดตามอาการบางส่วน แต่หากต้องมีการตรวจเจาะเลือด ก็ยังคงต้องไปที่โรงพยาบาลเหมือนเดิม

5. โรคทางจิตใจ

Telemedicine ยังเหมาะกับอาการของผู้ป่วยที่ต้องการรักษาความลับและต้องการความเป็นส่วนตัว เช่น โรคซึมเศร้า อาการป่วยทางจิตเวช โรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ ผู้ป่วยสามารถแจ้งหมอออนไลน์ได้ โดยที่ไม่ต้องเปิดกล้อง หรือหากอยากมีความส่วนตัวมากขึ้น สามารถเลือกการแชตคุยกับหมอได้เช่นกัน

Tips: รู้มั้ย? อาการแบบไหน ไม่ควรใช้ Telemedicine

แม้ว่า Telemedicine จะมีประโยชน์มาก แต่ก็มีบางโรคหรืออาการที่ไม่ควรใช้เทเลเมดิซีนแทนการพบแพทย์แบบตัวต่อตัว เช่น

  • อาการฉุกเฉิน เช่น หัวใจวาย อุบัติเหตุรุนแรง หรืออาการที่ต้องการการรักษาทันที
  • โรคที่ต้องมีการตรวจร่างกาย เช่น การตรวจภายใน การตรวจทางหู คอ จมูก เป็นต้น
  • โรคที่ต้องการการตรวจวินิจฉัยละเอียด เช่น โรคมะเร็งที่ต้องการการตรวจชิ้นเนื้อหรือการสแกนภาพ
อัปเดตแอปพลิเคชั่นปรึกษาหมอออนไลน์ 2568

อัปเดต 6 แอปพลิเคชั่นปรึกษาหมอออนไลน์

พารู้จัก 6 แอป Telemedicine ในไทยหรือแอปคุยกับหมอออนไลน์ มีทั้งปรึกษาโรคทั่วไป โรคทางจิตใจ ปรึกษาเภสัชกร ดังนี้

1. หมอดี (MorDee)

หมอดี เป็นแอปหาหมอออนไลน์ได้จากทุกที่ คุณสามารถเลือกวิดีโอคอล โทร หรือแชตกับแพทย์และผู้เชี่ยวชาญด้านสุขภาพจากสถาบันชั้นนำกว่า 500 คน ครอบคลุมกว่า 20 สาขา นอกจากนี้ แอปยังมีบริการเคลมประกันสุขภาพออนไลน์โดยไม่ต้องสำรองจ่าย และมีบริการส่งยาถึงบ้าน

2. ชีวี (Chiiwii)

ชีวี เป็นแอปสำหรับพูดคุยกับหมอออนไลน์ที่ไหนก็ได้ แอปนี้ก่อตั้งโดยทีมแพทย์ที่ต้องการช่วยผู้ป่วยให้ได้รับข้อมูลสุขภาพอย่างถูกต้อง และสามารถเข้าถึงการรักษากับแพทย์เฉพาะทางได้ โดยมีแพทย์ผู้เชี่ยวชาญในแต่ละสาขา เช่น กระดูกและข้อ อายุรกรรม ปรึกษาปัญหาสุขภาพจิต หรือปรึกษาอาการเจ็บป่วยในเด็ก เป็นต้น

3. อูก้า (Ooca)

อูก้า เป็นแอปพลิเคชั่นสำหรับสื่อสารระหว่างจิตแพทย์ นักจิตวิทยาและผู้ป่วย โดยแอปฯ นี้คุณหมอที่ก่อตั้งต้องการให้ทุกคนสามารถเข้าถึงการบริการทางสุขภาพจิตได้ง่าย ทั้งคนในกรุงเทพฯ และต่างจังหวัด ตัวแอปฯ นี้จะมีทีมแพทย์และนักจิตวิทยาคอยให้คำปรึกษาผ่านทางออนไลน์ และยังสามารถเลือกหัวข้อในการปรึกษาได้อีกด้วย เช่น ปัญหาความรุนแรงในครอบครัว ภาวะซึมเศร้า ฯลฯ

4. สมิติเวช พลัส (Samitivej Plus)

เป็นเว็บไซต์สมิติเวชออนไลน์ และสามารถแชตผ่านทางไลน์ @Samitivej โดยที่ผู้ป่วยสามารถปรึกษาหมอออนไลน์ได้เลย ผ่าน VDO Call แบบ Real-time ได้ตลอด 24 ชั่วโมง 

5. รักษา (Raksa)

แอปพลิเคชั่นพบหมอออนไลน์ ปรึกษาปัญหาทางสุขภาพ ซื้อยา โดยจะมีทีมแพทย์และเภสัชคอยให้คำแนะนำมากกว่า 800 คน และสามารถปรึกษาได้ตลอด 24 ชั่วโมง แถมยังมีหลายโหมดให้เลือกใช้บริการ เช่น ปัญหาผิวหนัง ปัญหาระบบทางเดินหายใจ หรือปรึกษาแม่และเด็ก เป็นต้น

6. บีดี (BeDee)

เป็นแอปพลิเคชั่นสำหรับปรักษาปัญหาสุขภาพ โดยทีมแพทย์ผู้เชี่ยวชาญจากเครือ BDMS ซึ่งถือเป็นเครือข่ายโรงพยาบาลที่ใหญ่ที่สุดในประเทศ มีบริการทางการแพทย์ทั้งหมด 5 แบบ เช่น ปรึกษาแพทย์ออนไลน์ ปรึกษาเภสัชกรออนไลน์ (ไม่มีค่าใช้จ่าย) ซื้อสินค้าใน Health mall เช่น วิตามิน อาหารเสริม และเวชสำอาง หรือจะเป็นการบริการดูแลลูกค้าองค์กร ดูแลสุขภาพพนักงานทั้งองค์กร และบริการลูกค้าที่มีประกันสุขภาพ สามารถหาหมอออนไลน์และเบิกเคลมได้ทันที 

การหาหมอออนไลน์ผ่านแอปข้างต้น ยังไม่สามารถใช้สิทธิการรักษาพยาบาล เช่น ประกันสังคม สิทธิ์บัตรทองได้ แต่สามารถใช้ประกันสุขภาพ และประกันกลุ่มได้ ดังนั้น สำหรับใครที่มีประกันเหล่านี้ในบางแอปสามารถหาหมอออนไลน์ได้โดยไม่ต้องสำรองจ่าย (ขึ้นอยู่กับแอปพลิเคชั่นและประกันภัย)

ปัญหาสุขภาพเป็นเรื่องใกล้ตัวที่หลีกเลี่ยงได้ยาก และการต้องเดินทางไปโรงพยาบาลก็ไม่ได้สะดวกสำหรับทุกคน Telemedicine เป็นเทคโนโลยีที่ตอบโจทย์มาก ๆ เพราะช่วยให้ผู้ป่วยสามารถเข้าถึงการรักษาและคำปรึกษาจากแพทย์ได้โดยไม่ต้องออกจากบ้าน ไม่ว่าจะเป็นการวิดีโอคอล โทร หรือแชตกับแพทย์ การใช้ Telemedicine ยังช่วยลดความแออัดในโรงพยาบาลและคลินิก ทำให้การรักษามีประสิทธิภาพมากขึ้น เพราะแพทย์และคนไข้มีเวลาในการพูดคุยกัน นอกจากนี้ยังสามารถติดตามอาการและรับคำแนะนำในการดูแลสุขภาพได้อย่างต่อเนื่อง

สามารถติดตามข่าวสาร สาระความรู้ เกี่ยวกับรถยนต์ มอเตอร์ไซค์ ด้านสุขภาพ รวมถึงเกร็ดความรู้เกี่ยบกับประกันภัยต่าง ๆ ได้ที่ Facebook Page: Roojai หรือเพิ่มเพื่อนทาง LINE ได้เลย (Official LINE ID: @roojai)

คำจำกัดความ

แอปพลิเคชั่น โปรแกรมที่ออกแบบมาเพื่ออำนวยความสะดวกในด้านต่าง ๆ สำหรับผู้ที่ใช้มือถือ แท็บเล็ต แต่ละแอปพลิเคชั่นจะมีผู้พัฒนาออกมาหลากหลาย จะมีให้ทั้งที่ดาวน์โหลดได้ฟรีและแบบเสียเงิน
วิดิโอคอล (Video call) เป็นบริการรูปแบบหนึ่งที่มีการติดต่อ สื่อสารผ่านการใช้มือถือ โดยใช้ทั้งสัญญาณเสียงและสัญญาณภาพในเวลาเดียวกัน หรือพูดให้เข้าใจง่ายๆ คือ การโทรคุยแบบเห็นหน้ากัน
previous article
< บทความก่อนหน้า

5 อันตรายจากการบาดเจ็บในฟิตเนส บาดเจ็บแบบไหนที่ควรพบแพทย์?