แต่เดิมเมื่อ 10-20 ปีก่อน ประเทศไทยยังไม่เคยประสบปัญหามหันตภัยฝุ่นพิษ PM2.5 อย่างเช่นทุกวันนี้ อีกทั้ง ปัญหาที่มีมาแต่เดิม เช่น ควันรถยนต์ ควันบุหรี่ ไอเสียจากโรงงาน ล้วนแล้วแต่เป็นมลพิษทางอากาศที่อาจก่อให้เกิดปัญหาทางสุขภาพได้ทั้งกับคนและสัตว์ ซึ่งหนึ่งในปัญหาสุขภาพที่คนส่วนใหญ่มักจะป่วย คือ หลอดลมอักเสบ ทราบหรือไม่ว่า โรคหลอดลมอักเสบนั้น หากปล่อยให้เป็นบ่อย ๆ หรือเป็นเรื้อรังและไม่ยอมไปรักษา อาจก่อให้เกิดปัญหา โรคปอดอักเสบ ตามมาได้ เรามาดูกันว่า หลอดลมอักเสบเกิดจากสาเหตุอะไร และมีวิธีป้องกันเพื่อไม่ให้มันร้ายแรงไปถึงโรคปอดอักเสบได้หรือไม่ ติดตามอ่านกันได้ในบทความนี้
- หลอดลมอักเสบ คืออะไร?
- หลอดลมอักเสบมีทั้งหมดกี่ชนิด?
- หลอดลมอักเสบเกิดจากอะไร?
- อาการหลอดลมอักเสบเป็นยังไง?
- หากไม่รักษาหลอดลมอักเสบ เสี่ยงเป็นโรคปอดอักเสบหรือไม่?
- สัญญาณเตือนแบบไหนที่ควรไปพบแพทย์?
- การวินิจฉัยโรคหลอดลมอักเสบ
- วิธีรักษาโรคหลอดลมอักเสบ
หลอดลมอักเสบ คืออะไร?
โรคหลอดลมอักเสบหรือ Bronchitis เป็นโรคที่เกี่ยวกับระบบทางเดินหายใจ ที่เกิดจากการติดเชื้อที่หลอดลม ซึ่งเป็นเชื้อไวรัสและแบคทีเรีย ทั้ง 2 ตัวนี้จะไปทำให้เยื่อบุหลอดลมเกิดการอักเสบและบวม ทำให้ผู้ป่วยมีอาการไอมาก มีเสมหะ หายใจไม่สะดวก แน่นหน้าอก เจ็บคอหรือแสบคอ หรือไอเจ็บหน้าอกร่วมด้วย และอาจมีไข้ ซึ่งสามารถพบผู้ป่วยหลอดลมอักเสบได้ทุกช่วงอายุ
หลอดลมอักเสบมีทั้งหมดกี่ชนิด?
โรคหลอดลมอักเสบ สามารถแบ่งออกได้เป็น 2 ชนิด ดังนี้
1. โรคหลอดลมอักเสบชนิดเฉียบพลัน
โรคหลอดลมอักเสบเฉียบพลันมักจะเกิดจากเชื้อไวรัส และพบได้มากกว่าร้อยละ 90 ของผู้ป่วย มักจะเกิดขึ้นหลังจากเป็นไข้หวัด หากไม่ได้รับการรักษาที่ถูกต้อง อาจทำให้เชื้อลามลงไปที่หลอดลม จนทำให้เกิดการไอ มีเสมหะ ยาวนานมากกว่า 1 สัปดาห์ แต่จะไม่เกิน 3 สัปดาห์
2. โรคหลอดลมอักเสบเรื้อรัง
โรคหลอดลมอักเสบเรื้อรังมักจะเกิดจากโรคภูมิแพ้ โรคหืด และยังรวมไปถึงการสูบบุหรี่เป็นเวลานานไม่ว่าจะบุหรี่จริงหรือบุหรี่ไฟฟ้า และมีอาการไอ มีเสมหะ มากกว่า 3 เดือน – 2 ปี หรือออกไปสัมผัสกับอากาศที่เป็นมลพิษ เช่น ฝุ่นจิ๋ว ควันรถ หรือสารเคมีที่ระเหยได้ โรคหลอดลมอักเสบชนิดเรื้อรังนี้ อาจทำให้ผู้ป่วย เสี่ยงต่อการติดเชื้อแบคทีเรียได้ง่ายมากกว่าคนปกติ และอาจทำให้เสมหะเปลี่ยนเป็นสีเหลืองหรือสีเขียว
หลอดลมอักเสบเกิดจากอะไร?
โรคหลอดลมอักเสบเกิดจากสาเหตุต่าง ๆ ดังต่อไปนี้
- เกิดจากการติดเชื้อทางเดินหายใจส่วนบน ส่วนใหญ่แล้วมักจะเกิดจากเชื้อไวรัสกลุ่มเดียวกันกับที่ทำให้เกิดไข้หวัดและไข้หวัดใหญ่ พบได้มากถึง 90% ที่ทำให้เกิดหลอดลมอักเสบ
- เกิดจากการติดเชื้อแบคทีเรีย อย่างเช่น Bordateria pertussis, Mycoplasma pneumoniae, Chlamydia pneumoniae, Streptococcus pneumoniae และ Haemophilus influenzae
- เกิดจากการถูกสิ่งระคายเคือง เช่น การสูบบุหรี่ ควันจากไอเสียรถยนต์ ฝุ่นละออง ฝุ่นจิ๋ว และสารเคมี
- เกิดจากการระคายเคืองจากน้ำย่อยสำหรับในคนที่เป็นโรคกรดไหลย้อน
อาการหลอดลมอักเสบเป็นยังไง?
สำหรับอาการโรคหลอดลมอักเสบนั้น เมื่อเชื้อเข้าสู่ระบบทางเดินหายใจหรือบริเวณหลอดลมแล้ว จะทำให้เกิดการอักเสบที่เยื่อบุหลอดลม ทำให้มันบวมมากขึ้นและส่งผลให้หลอดลมตีบแคบ อากาศไหลเข้าปอดได้ไม่ดี ทำให้มีอาการไอมากยิ่งขึ้น คล้ายกับคนที่เป็นไข้หวัดที่มักจะไอและมีเสมหะ แต่อาการเหล่านี้จะหายไปเองภายใน 7-10 วัน สำหรับผู้ป่วยที่สูงอายุ การไอมาก ๆ อาจทำให้เกิดการเจ็บกล้ามเนื้อ หน้าอก ชายโครง และอาจทำให้เส้นเลือดฝอยในปอดแตกออกสู่โพรงเยื่อหุ้มปอดได้
หากไม่รักษาหลอดลมอักเสบ เสี่ยงเป็นโรคปอดอักเสบหรือไม่?
หากรักษาอาการหลอดลมอักเสบไม่ถูกวิธี การติดเชื้อจากหลอดลมอาจจะลามไปยังปอด ก่อให้เกิดโรคปอดอักเสบได้ เมื่อปอดอักเสบจะทำให้ประสิทธิภาพของกระบวนการแลกเปลี่ยนออกซิเจนถดถอยลง ส่งผลต่อระบบทางเดินหายใจ ทำให้หายใจลำบาก ส่วนระดับความรุนแรงมีตั้งแต่น้อยไปจนถึงรุนแรงมากถึงขั้นเสียชีวิตได้
โรคหลอดลมอักเสบ หากเกิดขึ้นบ่อย ๆ และเรื้อรังอาจเสี่ยงเป็นโรคปอดอักเสบ และหากเป็นปอดอักเสบมีอาการเรื้อรังมานาน สุดท้ายจะนำไปสู่โรคปอดอุดกั้นเรื้อรังรุนแรงจนอาจถึงแก่ชีวิตได้ ประกันโรคร้ายแรงของรู้ใจ ให้ความคุ้มครองกลุ่มโรคภาวะอวัยวะล้มเหลว เช่น โรคหลอดลมปอดอุดกั้นเรื้อรังขั้นรุนแรง โรคปอดระยะสุดท้าย และไตวายเรื้อรัง การทำประกันโรคร้ายแรงติดตัวไว้สักเล่ม จะทำให้อุ่นใจมากยิ่งขึ้น และที่รู้ใจยังคุ้มครองเงินก้อน เจอจ่ายจบ รับเงินก้อนสูงสุด 2 ล้านบาท
สัญญาณเตือนแบบไหนที่ควรไปพบแพทย์?
- ในผู้ใหญ่ ไอติดต่อกันนานกว่า 8 สัปดาห์
- ไอและมีเสมหะมาก เสมหะจุกที่คอหรืออยู่ลึก ๆ ไอไม่ออก
- มีอาการไอมากในตอนกลางคืนหรือช่วงเช้ามืด หรือไอช่วงที่มีอากาศเย็นหรือฝนตก
- เสมหะมีเลือดปน
- มีอาการไอ ร่วมกับอาการเหนื่อยง่ายมากกว่าปกติ เวลาทำกิจกรรมที่ต้องใช้แรง
- มีอาการไอ ร่วมกับการหายใจแบบไม่อิ่ม หรือหายใจเข้าออกไม่สุด หรือหายใจแล้วมีเสียงวี้ด ๆ
- มีอาการไอ เจ็บหน้าอกแปล๊บ ๆ และเป็น ๆ หาย ๆ
- มีอาการไอ ร่วมกับมีไข้ เป็น ๆ หาย ๆ และเบื่ออาหาร น้ำหนักตัวลดลง
การวินิจฉัยโรคหลอดลมอักเสบ
สำหรับการวินิจฉัยโรคหลอดลมอักเสบ แพทย์จะเป็นผู้วินิจฉัยหาสาเหตุของอาการไอที่เกิดขึ้น เช่น
- ซักประวัติร่วมกับการตรวจร่างกาย
- มีโรคประจำตัวเดิมอยู่แล้ว เช่น ภูมิแพ้ ไซนัส
- สูบบุหรี่เป็นประจำหรือไม่
- ตรวจระบบทางเดินหายใจทั้งส่วนบนและส่วนล่าง และอาจมีการส่งตรวจเพิ่มเช่น ส่งตรวจภาพถ่ายรังสีของโพรงไซนัสและปอด หรือการส่องกล้องเข้าไปตรวจระบบทางเดินหายใจ การตรวจเสมหะ และการตรวจสมรรถภาพการทำงานของปอด
รู้มั้ย? “ขิง” ช่วยบรรเทายาการไอ-ขับเสมหะ
สำหรับคนที่มีอาการหลอดลมอักเสบ หรือมีเสมหะในคออยู่เยอะจนน่ารำคาญและเสียบุคลิก รู้ใจแนะนำให้ดื่มน้ำขิงเป็นประจำ เพราะขิงเป็นสมุนไพรไทยที่ดีต่อระบบทางเดินหายใจ โดยเฉพาะกับคนที่มักจะมีปัญหาระบบทางเดินหายใจและมีเสมหะ น้ำขิงอุ่น ๆ จะช่วยขับเสมหะได้อย่างดี แม้จะไม่ใช่ยาแก้หลอดลมอักเสบ แต่ก็ช่วยบรรเทาอาการได้ ทั้งยังหาง่าย ราคาไม่แพง
วิธีรักษาโรคหลอดลมอักเสบ
จริง ๆ แล้วอาการหลอดลมอักเสบชนิดเฉียบพลันนั้นจะหายได้เองภายใน 7-10 วัน หากผู้ป่วยปฏิบัติตัวได้อย่างถูกต้อง ดังนี้
- พักผ่อนให้เพียงพอ
- ดื่มน้ำอุ่น เพราะน้ำอุ่นสามารถช่วยละลายเสมหะได้
- เลี่ยงควันบุหรี่ หรืองดการสูบบุหรี่
- เลี่ยงที่ที่มีอากาศเย็นและแห้ง
- รักษาตามอาการ เช่น มีไข้ ก็รับประทานยาลดไข้ มีเสมหะมากก็สามารถทานยาขับเสมหะ หรือน้ำขิงอุ่น ๆ ได้
การป้องกันและรักษาโรคหลอดลมอักเสบเป็นสิ่งสำคัญ เพราะเป็นโรคที่ส่งผลกระทบต่อระบบทางเดินหายใจและคุณภาพชีวิตของเราด้วย คงไม่มีใครอยากไอหรือมีเสมหะระหว่างการใช้ชีวิตเพราะนอกจากน่ารำคาญแล้วยังเสียบุคลิกอีกด้วย การดูแลสุขภาพที่ดีเป็นพื้นฐานสำคัญในการป้องกันโรคนี้ ควรเริ่มต้นด้วยการทานอาหารที่มีประโยชน์ เช่น ผักและผลไม้ที่มีวิตามินซีสูงที่ช่วยเสริมสร้างระบบภูมิคุ้มกัน นอกจากนี้ ควรดื่มน้ำให้เพียงพอ ออกกำลังกาย พักผ่อนให้พอเพื่อลดความเสี่ยงในการเป็นโรคหลอดลมอักเสบ
สามารถติดตามข่าวสาร สาระความรู้เกี่ยวกับสุขภาพ รถยนต์ มอเตอร์ไซค์ รวมถึงประกันภัยออนไลน์ต่าง ๆ จากรู้ใจได้ที่ Facebook Page: Roojai หรือคลิกที่นี่เพื่อเพิ่มเราเป็นเพื่อนใน LINE ได้เลย (Official Line ID: @roojai)
คำจำกัดความ
สารเคมีที่ระเหยได้ | เป็นสารเคมีที่มีลักษณะเป็นไอ ระเหยได้ในอากาศ และมีคุณสมบัติในการทำลาย มักจะใช้ในอุตสาหกรรม เช่น ทินเนอร์ |
ภาพถ่ายรังสี | เป็นเทคนิคการถ่ายภาพชนิดหนึ่ง การถ่ายภาพจะช่วยให้แพทย์สามารถมองเห็นโครงสร้างภายในของร่างกายได้ |