อาการอัมพฤกษ์-อัมพาตจากโรคหลอดเลือดสมองหรือ Stroke (สโตรก) ไม่ได้เกิดขึ้นแค่กับผู้สูงอายุ หรือผู้ที่มีอายุมากกว่า 65 ปีขึ้นไปเท่านั้น เพราะในปัจจุบันพบว่ามีผู้ป่วยที่อายุยังน้อยที่เป็นโรคหลอดเลือดสมองมากขึ้นเรื่อย ๆ สาเหตุเกิดจากอะไร มีวิธีรักษาหรือป้องกันหรือไม่ เราลองมาอ่านบทความนี้กัน
โรคหลอดเลือดสมองหรือ Stroke เป็นภาวะที่เกิดขึ้นเมื่อส่วนหนึ่งของสมองมีการไหลเวียนของเลือดไม่เพียงพอ มักเกิดจากสาเหตุของหลอดเลือดแดงอุดตัน หรือมีอาการเลือดออกในสมอง และส่วนใหญ่มักจะไม่แสดงอาการทันที จนเมื่อเลือดไปเลี้ยงสมองไม่พอ เซลล์สมองในบริเวณนั้นก็จะเริ่มตายจากการขาดออกซิเจนซึ่งอาการนี้อาจเป็นอันตรายถึงขั้นเสียชีวิตได้
Stroke (สโตรก) กับ Heatstroke (โรคลมแดด) ต่างกันอย่างไร ?
ยังมีอีกหลายคนที่สับสนระหว่าง Stroke (สโตรก) กับ Heatstroke (โรคลมแดด) ว่าเป็นโรคเดียวกัน แต่จริง ๆ แล้ว ทั้งสองภาวะแตกต่างกัน คือ
- Stroke (สโตรก) เป็นภาวะฉุกเฉินทางด้านของระบบประสาทที่เกิดจากหลอดเลือดสมองตีบตันหรือแตก ก่อให้เกิดอาการต่าง ๆ ทางร่างกาย เช่น ปากเบี้ยว พูดไม่ชัด อ่อนแรง เกิดอาการชา หรือมีการทรงตัวผิดปกติแบบเฉียบพลัน และต้องได้รับการรักษาแบบเร่งด่วน
- Heatstroke (โรคลมแดด) คือ ภาวะที่อุณหภูมิในร่างกายสูงมากเกินไป มักเกิดจากอากาศที่ร้อนจัด ๆ หรือการออกกำลังกายกลางแจ้งเป็นเวลานาน โดยที่ร่างกายไม่สามารถระบายความร้อนได้ทัน มักจะเกิดขึ้นเมื่ออุณหภูมิในร่างกายสูงถึง 40 องศาเซลเซียส หากมีอาการดังกล่าว ควรได้รับการรักษาทันที เพราะอาจส่งผลต่อหัวใจ สมอง ไต และกล้ามเนื้อหรืออาจทำให้เสียชีวิตได้
สาเหตุของการเกิดโรคหลอดเลือดสมอง (Stroke) มีอะไรบ้าง ?
สาเหตุของการเกิดโรคหลอดเลือดสมอง (Stroke) มีด้วยกัน 3 สาเหตุ คือ
- ภาวะเส้นเลือดสมองตีบหรืออุดตัน – พบได้มากถึง 85% ในผู้ที่มีความดันโลหิตสูง โรคเบาหวาน โรคไขมันในเลือดสูง และในคนที่สูบบุหรี่จัด ๆ
- ภาวะเส้นเลือดสมองแตก – พบได้ประมาณ 15% ของคนที่เป็นโรคหลอดเลือดสมอง ซึ่งมีปัจจัยเสี่ยงดังนี้
- ความดันโลหิตสูงที่ไม่สามารถควบคุมได้
- การได้รับยาละลายลิ่มเลือดมากจนเกินไป
- เป็นโรคหลอดเลือดสมองโป่งพองอยู่ก่อนแล้ว
- การบาดเจ็บจากอุบัติเหตุ
- มีโปรตีนสะสมผิดปกติในผนังหลอดเลือด
- ภาวะสมองขาดเลือดชั่วขณะ – คืออาการของโรคหลอดเลือดสมอง แต่จะมีอาการไม่เกิน 24 ชั่วโมง แล้วอาการก็จะดีขึ้นเอง ซึ่งเกิดจากเลือดไปเลี้ยงสมองไม่เพียงพอเป็นระยะเวลาชั่วคราว ส่วนใหญ่จะแสดงอาการ 5 – 15 นาทีแล้วจะดีขึ้น ซึ่งมีอาการดังนี้ เวียนหัว มองไม่ชัด คลื่นไส้ อาเจียน ขาทั้งสองข้างอ่อนแรง หรือเห็นภาพซ้อน หากมีอาการเหล่านี้ แม้มันจะหายไปใน 5 – 15 นาที แต่ก็ควรไปพบแพทย์
สัญญาณเตือนต่อไปนี้ กำลังบอกคุณว่า “ต้องไปหาหมอ”
แม้ว่าอาการต่อไปนี้ เกิดขึ้นและหายไปเองก็ตาม แต่มันคือ Final Call ที่ร่างกายกำลังบอกคุณว่าถึงเวลาไปพบแพทย์ได้แล้ว
- F (FACE) – หากพยายามยิ้มแล้วมีอาการปากเบี้ยว หรือไม่สามารถควบคุมกล้ามเนื้อใบหน้าได้
- A (ARM) – หากพบว่า พยายามยกแขนทั้งสองข้างเหนือศีรษะแล้ว แขนข้างใดข้างหนึ่งไม่มีแรง หรือออกแรงได้น้อยกว่าแขนอีกข้างหนึ่งอย่างชัดเจน
- S (SPEECH) – พยายามพูด แต่พูดไม่ชัด
- T (TIME) – หากมีอาการข้างต้น เวลาเป็นสิ่งสำคัญ อย่ารอช้า ควรรีบไปพบแพทย์ทันทีแม้อาการจะหายไปแล้วก็ตาม
โรคหลอดเลือดสมอง (Stroke) รักษาอย่างไรบ้าง ?
การรักษาโรคหลอดเลือดสมองนั้นขึ้นอยู่กับปัจจัยหลายประการ โดยแพทย์จะประเมินอาการของผู้ป่วยเป็นอันดับแรก หากมีข้อบ่งชี้ของการรักษาด้วยยาละลายลิ่มเลือดและไม่มีข้อห้าม แพทย์จะให้ยาละลายลิ่มเลือดและทำการเอกซเรย์หลอดเลือดสมองด้วยคอมพิวเตอร์ (CTA Brain)
กรณีที่ตรวจพบว่ามีหลอดเลือดสมองขนาดใหญ่อุดตัน แพทย์จะใช้ยาสวนเข้าไปในหลอดเลือดแดงที่ขาหนีบเพื่อทำการรักษา นำเอาลิ่มเลือดที่ไปอุดกั้นในหลอดเลือดนั้นออกมา
หากพบว่ามีเลือดออกในสมอง แพทย์ต้องพิจารณาถึงตำแหน่งและความรุนแรงของอาการเลือดออกนั้น โดยการลดความดันโลหิตเพื่อลดปริมาณของเลือดที่ออก ป้องกันไม่ให้อาการเเย่ลง หรือรักษาโดยการสวนหลอดเลือดและใส่ขดลวด หรือในบางครั้งอาจต้องใช้การผ่าตัด
1. รักษาโรคหลอดเลือดสมองด้วยการใช้ยา
โดยแพทย์จะสั่งยาเหล่านี้เพื่อใช้ในการรักษาอาการสมองขาดเลือดชนิดเฉียบพลัน หลัง 4 – 5 ชั่วโมงแรก โดยผู้ป่วยในกลุ่มนี้ เนื้อสมองที่ขาดเลือดจะตายทั้งหมดหรือเกือบจะทั้งหมด โดยจะให้ยารักษาเหล่านี้
- ยาต้านเกล็ดเลือด
- ยาละลายลิ่มเลือด
- ยาลดไขมัน
- ยาลดความดัน
- ยารักษาโรคเบาหวาน
2. รักษาโรคหลอดเลือดสมองด้วยการรักษารูปแบบอื่น ๆ
ในกรณีที่ผู้ป่วยมีภาวะหลอดเลือดที่คอตีบรุนแรง และมีอาการของสมองขาดเลือด แพทย์จะใช้วิธีการรักษาโดยการผ่าตัดหลอดเลือดเพื่อนำเอาส่วนของไขมันที่สะสมบริเวณหลอดเลือดออกมา หรือการใส่ขยายหลอดเลือดที่ตีบและใส่ขดลวด
ปัจจัยเสี่ยงอะไรบ้างที่ทำให้เกิดโรคหลอดเลือดสมอง (Stroke) ?
ปัจจัยเสี่ยงที่ป้องกันไม่ได้
- อายุที่มากขึ้นทำให้หลอดเลือดเสื่อมตามอายุ
- เพศ พบว่าเพศชายมีโอกาสเป็นโรคหลอดเลือดสมองมากกว่าเพศหญิง
- การแข็งตัวของเลือดเร็วกว่าปกติ ทำให้เกิดการจับตัวกันของเม็ดเลือดและมีลิ่มเลือดเกิดขึ้นได้ง่ายกว่าคนปกติ
ปัจจัยเสี่ยงที่ป้องกันได้
- ความดันโลหิตสูง เป็นปัจจัยสำคัญที่สุดในการเกิดโรคหลอดเลือดสมอง
- เบาหวาน เป็นสาเหตุที่ทำให้หลอดเลือดทั่วร่างกายแข็งตัว หากเกิดที่สมองมีโอกาสเป็นโรคหลอดเลือดสมองได้มากกว่าคนปกติถึง 3 เท่า
- ไขมันในเลือดสูง มีผลทำให้ผนังหลอดเลือดแดงไม่ยืดหยุ่น ทำให้เกิดการตีบได้ง่าย เลือดจึงไหลผ่านไปเลี้ยงอวัยวะต่าง ๆ ได้น้อย หากเส้นเลือดในสมองตีบทำให้สมองขาดเลือด อาจทำให้เป็นอัมพาตได้
- โรคหัวใจ เช่น ลิ้นหัวใจผิดปกติ หัวใจเต้นผิดจังหวะ ก็เป็นสาเหตุหนึ่งที่ทำให้เกิดลิ่มเลือด หากลิ่มเลือดนี้เกิดอุดตันที่หลอดเลือดสมอง ก็จะทำให้สมองขาดเลือด
- การสูบบุหรี่ ในบุหรี่มีนิโคตินและคาร์บอนมอนอกไซด์ ซึ่งสารพิษสองตัวนี้ทำให้ออกซิเจนในร่างกายลดลง และเป็นตัวทำลายผนังหลอดเลือดทำให้หลอดเลือดเเข็งตัว ผู้ที่สูบบุหรี่มีความเสี่ยงต่อการเกิดโรคหลอดเลือดสมองมากกว่าคนปกติถึง 3.5 เท่า
- โรคซิฟิลิส เป็นสาเหตุของหลอดเลือดอักเสบและหลอดเลือดแข็งตัว
- ผู้ที่ไม่ออกกำลังกาย มีความเสี่ยงต่อการเกิดโรคหลอดเลือดสมอง
- สตรีที่มีโรคความดันโลหิตและรับประทานยาคุมกำเนิด
- มีภาวะเลือดข้น ซึ่งมักเกิดจากการมีเม็ดเลือดแดงหรือเม็ดเลือดขาว หรือเกล็ดเลือดมากจนเกินไป ในบางกรณี มีความผิดปกติของโปรตีนที่ใช้ในการเเข็งตัวของเลือด
โรคหลอดเลือดสมอง (Stroke) ป้องกันยังไง ?
แนวทางการป้องกันโรคหลอดเลือดสมอง ควรป้องกันก่อนการเกิดโรคและควบคุมปัจจัยเสี่ยงต่าง ๆ ที่อาจทำให้เกิดอาการตีบ อุดตันหรือหลอดเลือดแตก โดยมีวิธีดังต่อไปนี้
- หลีกเลี่ยงการรับประทานอาหารที่มีคอเลสเตอรอลและไขมันอิ่มตัวสูง
- งดการสูบบุหรี่
- ผู้ป่วยเบาหวาน ต้องควบคุมอาการของโรคไม่ให้กำเริบ
- ลดน้ำหนักหรือควบคุมน้ำหนักให้อยู่ในเกณฑ์ปกติ
- งดการดื่มสุรา
- ออกกำลังกายอย่างน้อยสัปดาห์ละ 3 วัน วันละ 30 นาที เช่น เดิน หรือ กายบริหารง่าย ๆ
- เข้ารับการรักษาภาวะหยุดหายใจขณะนอนหลับ
- งดการใช้สารเสพติด
จะเห็นได้ว่าพฤติกรรมการใช้ชีวิตมีส่วนเป็นอย่างมากที่ทำให้เกิดโรคหลอดเลือดสมอง นอกจากเราจะต้องปรับพฤติกรรมแล้ว สิ่งสำคัญอีกอย่างที่ไม่ควรมองข้ามก็คือ การตรวจสุขภาพใหญ่ประจำปี ที่สำคัญเพื่อลดความเสี่ยงในด้านการเงิน หากเราเกิดเป็นโรคหลอดเลือดสมอง การทำประกันโรคร้ายแรงติดไว้ จะเป็นตัวช่วยลดความเสี่ยงจากการสูญเสียรายได้หรือเงินเก็บได้ดีที่สุด ไม่ให้หมดไปกับการรักษาจนหมด
สามารถติดตามข่าวสาร สาระความรู้เกี่ยวกับสุขภาพ รถยนต์ มอเตอร์ไซค์ รวมถึงประกันภัยออนไลน์ต่าง ๆ จากรู้ใจได้ที่ Facebook Page: Roojai หรือคลิกที่นี่เพื่อเพิ่มเราเป็นเพื่อนใน LINE ได้เลย (Official Line ID: @roojai)