ความสนุกเพียงชั่วข้ามคืน ที่ตื่นขึ้นมาอาจเป็นฝันร้ายไปทั้งชีวิตเลยก็ได้ หากไม่ระวังและป้องกัน ไม่ว่าจะเป็นคู่นอนเพียงคืนเดียว หรือคู่รัก ทุกครั้งที่มีเพศสัมพันธ์ควรมีการป้องกันด้วยกันทั้งสิ้น เพราะเชื้อไวรัสหรือโรคที่เกิดจากการมีเพศ สัมพันธ์มักจะไม่เเสดงอาการหลังจากมีเพศสัมพันธ์ทันที หากคู่รักของคุณเป็นนักท่องเที่ยวยามราตรี คุณอาจจะอยู่ในกลุ่มเสี่ยงต่อโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์แบบไม่รู้ตัวไปด้วยก็ได้
- โรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ คืออะไร?
- อาการของผู้ติดเชื้อทางเพศสัมพันธ์
- โรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ มีอะไรบ้าง?
- ใครบ้างที่เป็นกลุ่มเสี่ยงติดเชื้อ HIV?
- โรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ เป็นแล้ว รักษาหายมั้ย?
- วิธีป้องกันการเกิดโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์
โรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ที่พบได้บ่อยในไทยมีกี่โรค กลุ่มเสี่ยงต่อการเกิดโรคมีใครบ้าง และมีวิธีป้องกันการติดเชื้อทางเพศสัมพันธ์ ติดตามด้านล่างได้เลย
โรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ คืออะไร?
โรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ คือ โรคติดเชื้อและแพร่เชื้อไปยังผู้อื่นผ่านการมีเพศสัมพันธ์ ทั้งจากการร่วมเพศทางช่องคลอด ทางปาก และทางทวารหนัก โดยส่วนใหญ่จะไม่ได้มีอาการ หลังมี เพศ สัมพันธ์ทันที สิ่งที่พบได้บ่อยคือ ผู้ป่วยมักจะมาพบแพทย์เพราะพบความผิดปกติของตัวเองเมื่อเวลาผ่านไปนานแล้ว หรือในบางคนที่เขินอายต่อการมาพบแพทย์ก็เลยเพิกเฉยต่ออาการเหล่านั้น จนทำให้โรคมีความรุนแรงมากยิ่งขึ้น
อาการของผู้ติดเชื้อทางเพศสัมพันธ์
โรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ (Sexually Transmitted Disease, STDs) คือ กลุ่มโรคที่เกิดจากการติดต่อทางเพศสัมพันธ์กับคนที่เป็นโรคหรือคนที่ติดเชื้อ ไม่ว่าจะเป็นการร่วมเพศทางช่องคลอด ทางปาก หรือทางทวารหนัก หรือที่เราคุ้นเคยกับคำว่า “กามโรค” (Venereal Disease) ซึ่งปัจจุบันเราจะไม่เรียกกามโรคกันแล้ว ซึ่งกลุ่มโรคดังกล่าวได้แก่ ซิฟิลิส หนองในแท้ หนองในเทียม เริม และเอชพีวี
อาการของกลุ่มผู้ติดเชื้อทางเพศสัมพันธ์นี้ สามารถเป็นไปได้หลายอย่าง บางครั้งแสดงอาการและบางครั้งไม่แสดงอาการ ลักษณะอาการที่ปรากฏมีดังนี้
- ปวดท้องน้อย
- มีไข้
- มีผื่นขึ้นที่อวัยวะเพศชาย หรือ เท้า
- ปวดหรือมีตุ่มภายนอก หรือภายในอวัยวะเพศ หรือทวารหนัก
- เจ็บแสบเวลาปัสสาวะ
- มีของเหลวออกมาจากอวัยวะเพศชาย
- มีตกขาวและมีกลิ่น หรือสีผิดปกติ ในเพศหญิง
- อวัยวะเพศหญิงมีเลือดไหลผิดปกติ
- เจ็บขณะที่มีเพศสัมพันธ์
โรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ มีอะไรบ้าง?
1. เริม
เริม เกิดจากเชื้อไวรัสที่มีชื่อว่า Herpes simplex virus (HSV) สามารถแพร่กระจายผ่านการมีเพศสัมพันธ์โดยไม่ป้องกัน รวมถึงการสัมผัสผ่านทางผิวหนัง ผู้ใดที่ได้รับเชื้อนี้แล้วอาจส่งผลให้มีเชื้อตัวนี้อยู่ในร่างกายตลอดชีวิต ผู้ป่วยที่เป็นเริม อาการมักจะมีรอยถลอกของผิวหนังหรือเยื่อบุอ่อนบริเวณใกล้เคียง หรือมีตุ่มใสขนาด 1-2 มม. ขึ้นที่บริเวณอวัยวะเพศ ทำให้ปัสสาวะแสบขัด จากการที่ปัสสาวะทำให้แผลเกิดการระคายเคืองนั่นเอง โรคนี้จะแสดงอาการเมื่อร่างกายอ่อนแอหรืออยู่ในภาวะภูมิคุ้มกันตก
2. หูดหงอนไก่
เกิดจากเชื้อที่มีชื่อว่า Human Papilloma Virus : HPV เป็นเชื้อไวรัสที่ก่อให้เกิดมะเร็งปากมดลูกในผู้หญิง โดยจะติดต่อผ่านทางการมีเพศสัมพันธ์ทั้งชายและหญิง หากผู้ที่มีภูมิคุ้มกันแข็งแรงก็อาจจะไม่แสดงอาการใด ๆ แต่ในคนที่ไม่แข็งแรงจะเกิดติ่งเนื้อลักษณะคล้ายดอกกะหล่ำปลีขึ้นอย่างชัดเจนในอวัยวะเพศ ช่องคลอด ทวารหนัก ท่อปัสสาวะ หรือบริเวณง่ามขา
3. ซิฟิลิส
ซิฟิลิส เกิดจากเชื้อแบคทีเรีย Treponema pallidum เกิดได้ที่บริเวณช่องคลอด ทวารหนัก และปาก หากไม่ได้รับการรักษาที่ถูกต้อง อาจเกิดภาวะแทรกซ้อนจากการติดเชื้อ ส่งผลต่อระบบประสาท หัวใจ สมอง และระบบต่าง ๆ ของร่างกาย โดยอาจมีความรุนแรงถึงขั้นเสียชีวิตได้
4. โรคหนองในแท้
โรคหนองในแท้ เกิดจากแบคทีเรีย Neisseria gonorrhoeae ซึ่งเป็นแบคทีเรียที่สามารถเจริญเติบโตและเพิ่มจำนวนในเยื่อเมือกบุผิวของร่างกายอย่างง่ายดาย โดยสามารถเติบโตในพื้นที่ที่มีความอุ่นและชื้นอย่างในระบบสืบพันธุ์ ได้แก่ ปากมดลูก มดลูก ท่อนำไข่ และท่อปัสสาวะ รวมถึงบริเวณปาก ลำคอ และทวารหนัก
- อาการในผู้หญิง – มีตกขาวผิดปกติ ลักษณะเป็นน้ำ หรือเส้นบาง ๆ สีออกเขียวหรือเหลือง หรือตกขาวมีปริมาณมากขึ้นทำให้ปัสสาวะแล้วรู้สึกเจ็บหรือแสบ มักมีเลือดออกระหว่างรอบเดือนและหลังการมีเพศสัมพันธ์ หรือประจำเดือนมามากผิดปกติ
- อาการในผู้ชาย – มีหนองสีเขียวหรือสีเหลืองไหลออกมาจากส่วนปลายอวัยวะเพศ โดยอาจเกิดขึ้นหลังจากการมีเพศสัมพันธ์ และรู้สึกเจ็บ แสบขณะปัสสาวะ มีการอักเสบที่บริเวณหนังหุ้มปลายอวัยวะเพศ
5. โรคหนองในเทียม
เกิดจากเชื้อโรคที่มีชื่อว่า Chlamydia trachomatis จะเป็นเชื้อคนละตัวกับโรคหนองในแท้ ทำให้ร่างกายมีอาการผิดปกติ มักพบได้บ่อยในกลุ่มวัยรุ่นไปจนถึงวัยทำงาน ในบางรายอาการของโรคจะไม่แสดง แต่สามารถแพร่กระจายเชื้อไปยังผู้อื่นได้ผ่านการมีเพศสัมพันธ์แบบไม่ป้องกัน
- อาการในผู้หญิง – มีอาการตกขาวที่ผิดไปจากเดิม เป็นเมือก ๆ ผสมกับหนอง และมีกลิ่นแรงมาก อาจรู้สึกแสบขณะปัสสาวะ หรือมีอาการเจ็บที่อวัยวะเพศ และอาจมีเลือดออกโดยที่ไม่ใช่ช่วงมีประจำเดือน
- อาการในผู้ชาย – บริเวณปลายองคชาตจะมีน้ำเมือก ๆ หรือมีลักษณะขุ่นใสไหลออกมาโดยไม่ใช่อสุจิและไม่ใช่ปัสสาวะ และระหว่างปัสสาวะมีอาการเจ็บ แสบ หรือปวดบริเวณอวัยวะเพศ อาจมีอาการลูกอัณฑะบวมร่วมด้วย
6. ติดเชื้อ HPV (Human Papilloma Virus)
เชื้อ HPV (Human Papilloma Virus) เป็นสาเหตุของการเกิดโรคได้หลายชนิด โดยสามารถแบ่ง HPV ได้เป็น 2 กลุ่ม
- HPV ชนิดก่อมะเร็ง
มีทั้งหมด 14 สายพันธุ์ ทำให้เกิดโรคมะเร็งปากมดลูก มะเร็งช่องคลอด มะเร็งปากช่องคลอด โดยสายพันธุ์ที่ 16 และ 18 เป็นสาเหตุของมะเร็งปากมดลูกถึงร้อยละ 70 รองลงมาคือสายพันธุ์ที่ 45, 31 และ 33 - HPV ชนิดไม่ก่อมะเร็ง
ชนิดที่ไม่ก่อให้เกิดมะเร็งปากมดลูก แต่สามารถทำให้เกิดหูดหงอนไก่ที่อวัยวะเพศได้ เช่น สายพันธุ์ 6 และ 11 โดยส่วนใหญ่จะไม่แสดงอาการ เนื่องจากระบบภูมิคุ้มกันของร่างกายสามารถกำจัดเชื้อไวรัสพวกนี้ได้ก่อนที่จะเกิดหูด สำหรับผู้ป่วยที่มีหูดขึ้นมาแล้ว ลักษณะของหูดนั้นจะแตกต่างกันไปตามสายพันธุ์ของไวรัสที่ได้รับมา- หูดชนิดทั่วไป
ลักษณะเป็นตุ่มเล็ก ๆ สัมผัสแล้วมีความขรุขระ สีอาจจะเป็นสีเนื้อ สีขาว สีชมพู หรือสีน้ำตาลอ่อน มักขึ้นตามมือ นิ้วมือ ข้อศอก ส่วนใหญ่ไม่ก่อให้เกิดอันตราย แต่อาจสร้างความเจ็บปวดได้ และบริเวณที่มีหูดอาจมีเลือดออกได้ง่ายกว่า - หูดชนิดแบนราบ
มีขนาดเล็ก พื้นผิวเรียบ สีเข้มกว่าสีผิวปกติ และนูนขึ้นมาจากผิวหนังเล็กน้อย เกิดขึ้นได้กับทุกส่วนของร่างกาย หากเป็นเด็กมักพบตามใบหน้า ในผู้หญิงมักเกิดที่บริเวณขา ส่วนผู้ชายจะพบได้บ่อยที่บริเวณเครา - หูดฝ่าเท้า
จะมีลักษณะเป็นตุ่มแข็ง ๆ สัมผัสแล้วรู้สึกหยาบ มักขึ้นบริเวณส้นเท้า หรือเนินปลายเท้า และอาจมีอาการเจ็บร่วมด้วยระหว่างยืนหรือเดิน
- หูดชนิดทั่วไป
7. โรคเอดส์
โรคเอดส์ (AIDS) หรือภาวะภูมิคุ้มกันบกพร่อง เป็นโรคติดต่อที่เกิดจากการมีเพศสัมพันธ์โดยไม่ป้องกันจะได้รับเชื้อ HIV ในระยะสุดท้ายของการรับเชื้อ ผู้ป่วยจะเป็นโรคเอดส์ ซึ่งก่อให้เกิดปัญหาสุขภาพและอาการแทรกซ้อนได้ง่าย จากการที่ระบบภูมิคุ้มกันถูกทำลาย ทำให้เชื้อโรคเข้าสู่ร่างกายได้ง่าย ทั้งเชื้อรา แบคทีเรีย โปรโตซัว ไวรัส และจนถึงทุกวันนี้ยังคงไม่มียาตัวไหนที่สามารถรักษาโรคนี้ให้หายขาดได้ ทำได้เพียงควบคุมอาการให้คงที่และรักษาตามอาการเท่านั้น โรคเอดส์จัดว่าเป็นโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ที่ร้ายแรงมาก
ใครบ้างที่เป็นกลุ่มเสี่ยงติดเชื้อ HIV?
รายงานจากรองโฆษกสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า ประเทศไทยในปี 2564 พบผู้ติดเชื้อ HIV จำนวน 520,000 คน และคาดว่าจะพบผู้ติดเชื้อรายใหม่อีกราว 6,500 คน โดยส่วนใหญ่เป็น วัยรุ่น กลุ่มเยาวชนอายุ 14-24 ปี
สำหรับกลุ่มเสี่ยงต่อการเกิดโรคทางเพศสัมพันธ์ คนส่วนใหญ่มักมองว่ากลุ่มเสี่ยงคือกลุ่มของผู้ขายบริการทางเพศ แต่ทราบหรือไม่ว่า กลุ่มคนเหล่านี้มีการตรวจคัดกรองโรคอยู่เป็นประจำสม่ำเสมอ และมีการป้องกันอย่างรอบคอบ ในทางกลับกัน กลุ่มวัยรุ่น วัยทำงาน ที่ชอบสังสรรค์ในยามค่ำคืน และรักสนุกเพียงชั่วข้ามคืน อาจมีความเสี่ยงมากกว่า กลุ่มเสี่ยงต่อการติดเชื้อ มีดังนี้
- กลุ่มคนที่มีคู่นอนมากกว่า 1 คนในช่วง 3 เดือนก่อนหน้า
- ผู้ที่มีประวัติป่วยเป็นโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ในช่วง 1 ปีที่ผ่านมา
- ผู้ที่ไม่สวมถุงยางอนามัยระหว่างการมีเพศสัมพันธ์
- ผู้ที่มีประวัติเคยติดสุรา หรือสารเสพติด
โรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ เป็นแล้ว รักษาหายมั้ย?
สำหรับโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ กลุ่มโรคที่เกิดจากเชื้อเเบคทีเรียสามารถรักษาให้หายขาดได้ โดยการกินยาตามแพทย์สั่งจนครบ ส่วนกลุ่มโรคที่เกิดจากเชื้อไวรัสบางชนิดจะคงอยู่ในร่างกายตลอดชีวิต เช่น เริม การรักษาเป็นเพียงการควบคุมอาการเท่านั้น ส่วนไวรัสบางตัว เช่น HPV ร่างกายสามารถกำจัดเชื้อได้เอง หากกำจัดไม่ได้เชื้ออาจพัฒนาไปเป็นมะเร็งได้ในอนาคต
วิธีป้องกันการเกิดโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์
- มีคู่นอนเพียงคนเดียว
- สวมถุงยางอนามัยทุกครั้งที่มีเพศสัมพันธ์
- ทั้งชายและหญิง ควรตรวจคัดกรองโรคเหล่านี้ปีละครั้ง โดยเฉพาะในกลุ่มชายรักชายและผู้หญิงที่มีอายุน้อยกว่า 25 ปี และมีกิจกรรมทางเพศบ่อย เปลี่ยนคู่นอนบ่อย ๆ
- ฉีดวัคซีนป้องกันเชื้อ HPV สำหรับที่มีอายุ 9-45 ปี โดยเฉพาะก่อนมีเพศสัมพันธ์ครั้งแรก วัคซีนจะมีประสิทธิภาพสูงในการป้องกันเชื้อ HPV ได้
โรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ อาการอาจไม่แสดงออกทันที เราอาจนิ่งนอนใจจนพัฒนาจนเกิดเป็นโรคร้ายแรงได้ ทั้งเริม หูด หนองใน หรืออาการลุกลามจนเป็นมะเร็ง หรือโรคเอดส์ การป้องกันเมื่อมีเพศสัมพันธ์จึงเป็นเรื่องสำคัญ รวมถึงการรักตัวเองมาก ๆ ปรับพฤติกรรมการใช้ชีวิต ตรวจสุขภาพสม่ำเสมอ การวางแผนสุขภาพของเราตั้งแต่วันนี้ เพื่อวันหน้าไม่ต้องกังวลเรื่องค่าใช้จ่ายในวันที่เป็นโรคร้าย
ที่รู้ใจมีประกันมะเร็ง เจอ จ่าย จบ รับเงินก้อนสูงสุด 3 ล้านบาท ซึ่งข้อดีของการเคลมเงินก้อนนี้คุณสามารถบริหารจัดการได้เอง ทั้งแบ่งเป็นค่ารักษา ค่าโรงพยาบาล รวมไปถึงค่าเทอมลูก ค่าน้ำ ค่าไฟ ค่าบัตรเครดิต เพราะในวันที่คุณล้มป่วยจนต้องหยุดงาน ภาระค่าใช้จ่ายเหล่านี้ไม่ได้หยุดไปด้วย การทำประกันภัยเพื่อรับมือความเสี่ยงทางการเงินเหล่านี้จึงเป็นสิ่งสำคัญ
สามารถติดตามข่าวสาร สาระความรู้เกี่ยวกับสุขภาพ รถยนต์ มอเตอร์ไซค์ รวมถึงประกันภัยออนไลน์ต่าง ๆ จากรู้ใจได้ที่ Facebook Page: Roojai หรือคลิกที่นี่เพื่อเพิ่มเราเป็นเพื่อนใน LINE ได้เลย (Official Line ID: @roojai)