หลังจากผ่านพ้นช่วงวิกฤติของโรคติดต่อที่ระบาดขึ้นทั่วโลกอย่างโควิด-19 ที่ถือว่าโรคติดต่อร้ายแรงที่คร่าชีวิตคนทั่วโลกไปกว่า 7 ล้านคนทั่วโลก ทำให้ผู้คนหันมาตระหนักถึงความอันตรายของโรคติดต่อ และทำให้คนหันมาใส่ใจในสุขอนามัยของตัวเองและของส่วนรวมมากขึ้น วันนี้รู้ใจ ได้รวบรวม 13 โรคติดต่ออันตรายที่มีในประเทศไทยว่ามีโรคอะไรที่พวกเราควรเฝ้าระวังบ้าง มาดู ว่าโรคติดต่อมี สาเหตุ อาการ การป้องกันโรคติดต่อที่ดีควรทำอย่างไร
สนใจอ่านแค่บางเรื่อง ก็เลือกได้เลย!
- โรคติดต่อร้ายแรง คืออะไร?
- 13 โรคติดต่ออันตรายในประเทศไทย มีอะไรบ้าง?
- วิธีป้องกันโรคติดต่อร้ายแรงทำได้ยังไงบ้าง?
โรคติดต่อร้ายแรง คืออะไร?
โรคติดต่อร้ายแรง เป็นโรคที่มีความรุนแรงสูงสามารถแพร่เชื้อไปสู่ผู้อื่นได้อย่างรวดเร็ว โดยตามพระราชบัญญัติโรคติดต่อ พ.ศ. 2558 ระบุว่าโรคเหล่านี้มีคุณสมบัติ ดังนี้
- มีความรุนแรงสูง (ทั้งอัตราการเสียชีวิตหรือผลกระทบต่อเศรษฐกิจ)
- ไม่มียารักษา
- ไม่มีวัคซีน
13 โรคติดต่ออันตรายในประเทศไทย มีอะไรบ้าง?
1. กาฬโรค (Plague)
เป็นโรคติดต่อในประเทศไทยเกิดจากแบคทีเรียชื่อ เยอร์ซีเนีย เพสติส (Yersinia pestis) โดยมีพาหะจากหมัดของสัตว์ฟันแทะ เช่น หนู กระรอก กระแต กระต่าย ทำให้เกิดอาการอักเสบ บวม มีไข้สูง หนาวสั่น ปวดศีรษะ และอาจลุกลามเข้าสู่กระแสเลือดจนหัวใจวาย และเสียชีวิต หากไม่ได้รับการรักษาอย่างทันท่วงที โรคนี้อาจทำให้เสียชีวิตได้
2. ไข้ทรพิษหรือโรคฝีดาษ (Smallpox)
เกิดจากเชื้อไวรัสวาริโอลา (Variola) ติดต่อผ่านระบบทางเดินหายใจและการสัมผัสทางผิวหนัง ทั้งการไอ จาม น้ำมูก น้ำหลั่ง และการคลุกคลีกันกับผู้ป่วย อาการที่เห็นชัดคือ มีผื่นขึ้นตามตัว ไข้สูง ปวดศีรษะ ชัก ปวดหลังอย่างรุนแรง และอาจเกิดโรคแทรกซ้อนได้ สามารถป้องกันได้ด้วยการฉีดวัคซีนป้องกันโรคไข้ทรพิษ ซึ่งจะช่วยป้องกันโรคได้ถึง 80-90%
3. ไข้เลือดออกไครเมียนคองโก (Crimean-Congo hemorrhagic fever)
ไข้เลือดออกไครเมียนคองโกมีจุดกำเนิดจากแหลมไครเมียและคองโก เกิดจากไวรัสไนโร (Nairovirus) ซึ่งมีเห็บเป็นพาหะ ทำให้มีอาการไข้เฉียบพลัน ปวดกล้ามเนื้อ ปวดศีรษะ และอาจมีเลือดออกใต้ผิวหนังและส่วนต่าง ๆ ของร่างกาย
4. ไข้เวสต์ไนล์ (West Nile Fever)
มียุงเป็นพาหะนำเชื้อไวรัสเวสต์ไนล์ (West Nile virus; WNV) เข้าร่างกาย ทำให้มีอาการไข้ ปวดศีรษะ หนาวสั่น อ่อนเพลีย และในรายที่อาการรุนแรงอาจมีสมองหรือเยื่อหุ้มสมองอักเสบ พบได้ทั่วไปในแอฟริกา เอเชียตะวันตก ตะวันออกกลาง ยุโรป
5. ไข้เหลือง (Yellow fever)
เกิดจากเชื้อไวรัสที่ยุงเป็นพาหะ ทำให้เกิดอาการตัวเหลืองหรือดีซ่าน ร่วมกับอาการไข้สูง ปวดกล้ามเนื้อ และอาจมีเลือดออกจากปาก จมูก ตา และกระเพาะอาหาร
6. โรคไข้ลาสซา (Lassa fever)
เป็นไข้เลือดออกที่มีหนูเป็นพาหะ ทำให้มีอาการไข้ ปวดศีรษะ เจ็บคอ ไอ อาเจียน และอาจมีเลือดออก ช็อก หรือภาวะเกล็ดเลือดลดลงผิดปกติ
7. โรคติดเชื้อไวรัสนิปาห์ (Nipah virus disease)
มีพาหะจากสัตว์ เช่น ค้างคาวผลไม้ สุกร เมื่อติดเชื้อจะมีอาการคล้ายหวัด มีไข้สูง ปวดเมื่อยกล้ามเนื้อ และอาจมีอาการติดเชื้อระบบทางเดินหายใจหรือระบบประสาท
8. โรคติดเชื้อไวรัสมาร์บวร์ก (Marburg virus disease)
เป็นไข้เลือดออกที่เชื้อมาจากลิงและค้างคาว อาการมีไข้สูง อ่อนเพลีย ปวดกล้ามเนื้อ ปวดศีรษะ ท้องเสีย และมีเลือดออกง่าย ร่วมกับภาวะตับและไตล้มเหลว
9. โรคติดเชื้อไวรัสอีโบลา (Ebola virus disease)
เป็นโรคไข้เลือดออกที่มีพาหะจากสัตว์ป่า เช่น ค้างคาวผลไม้ หรือลิง การระบาดเกิดจากการสัมผัสของเหลวจากร่างกายผู้ติดเชื้อ ทำให้มีไข้สูง ปวดศีรษะ ท้องเสีย อาเจียน มีผื่นนูน และเลือดออกจากเยื่อบุของร่างกาย
10. โรคติดเชื้อไวรัสเฮนดรา (Hendra virus disease)
มีแหล่งกำเนิดจากม้าและค้างคาว อาการคล้ายไข้หวัดใหญ่ มีไข้สูง ปวดศีรษะ เจ็บคอ วิงเวียน ซึม สับสน และอาจมีอาการปอดอักเสบ
11. โรคซาร์ส (Severe Acute Respiratory Syndrome – SARS)
โรคทางเดินหายใจเฉียบพลันรุนแรง ติดต่อผ่านสารคัดหลั่งของผู้ติดเชื้อ อาการมีไข้สูง ปวดกล้ามเนื้อ ปวดศีรษะ ไอ หายใจลำบาก และอาจมีปอดอักเสบ
12. โรคเมอร์ส (Middle East Respiratory Syndrome – MERS)
เกิดจากโคโรนาไวรัส ส่งผลกระทบต่อระบบทางเดินหายใจ ทำให้มีไข้สูง ไอ หอบ และอาจมีอาการท้องเสีย อาเจียน หรือระบบทางเดินหายใจล้มเหลว
13. วัณโรคดื้อยาหลายขนานชนิดรุนแรงมาก (Extensively drug-resistant tuberculosis – XDR-TB)
วัณโรคดื้อยาเป็นภาวะที่ผู้ป่วยวัณโรคไม่สามารถรับการรักษาด้วยยา 4 ขนาน ได้แก่ ไอโซไนอะซิด (Isoniazid), ไรแฟมพิซิน (Rifampicin), ยากลุ่มฟลูออโรควิโนโลน (Fluoroquinolones) และยากลุ่มทางเลือกที่สองชนิดฉีด (Second-line injectable drugs) อาการของวัณโรคดื้อยา คือ การไอเรื้อรังหรือไอมีเลือด การขาดความอยากอาหาร น้ำหนักลด ความอ่อนเพลีย ไข้ เจ็บหน้าอก และหอบเหนื่อย สามารถแพร่เชื้อสู่ผู้อื่นได้ ในรายที่มีอาการรุนแรงอาจเกิดความล้มเหลวของระบบการหายใจ และอาจเสียชีวิตในที่สุด
หมายเหตุ: โรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 หรือโรคโควิด 19 ได้มีการประกาศเป็นโรคโรคติดต่ออันตราย ลำดับที่ 14 ตามประกาศกระทรวงสาธารณสุข เรื่อง ชื่อและอาการสำคัญของโรคติดต่ออันตราย (ฉบับที่ ๓) พ.ศ. ๒๕๖๓ แต่ได้มีการยกเลิกเป็นโรคติดต่อเฝ้าระวังตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม พ.ศ. 2565 เป็นต้นไป
ที่มา: ประกาศกระทรวงสาธารณสุข เรื่อง ชื่อและอาการสำคัญของโรคติดต่ออันตราย พ.ศ. 2559 และพ.ศ. 2561 (ddc.moph.go.th)
นอกจาก 13 โรคติดต่อร้ายแรงในประเทศไทย ยังมีโรคร้ายไม่ว่าจะ โรคติดต่อในเด็ก โรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ หรือโรคร้ายแรงอื่น ๆ ที่ไม่มีใครอยากให้เกิดขึ้นกับตัวเองและครอบครัว เช่น โรคมะเร็ง โรคหัวใจ โรคหลอดเลือดสมอง ดังนั้นจึงควรตรวจสุขภาพปีละครั้งเพื่อค้นหาความผิดปกติและประเมินความเสี่ยงด้านสุขภาพ เพื่อป้องกันตัวเองและวางแผนรับมือโรคภัยไข้เจ็บ นอกจากนั้นการทำประกันภัยอย่างประกันโรคร้ายแรงตอนที่ร่างกายยังแข็งแรงอยู่ สามารถช่วยสร้างความมั่นใจได้ว่าจะมีเงินสำหรับค่ารักษาพยาบาลและได้รับการคุ้มครองที่ครอบคลุม แถมเบี้ยราคาดีและยังสามารถนำไปลดหย่อนภาษีตามเงื่อนไขของกรมสรรพากรได้อีกด้วย
เสริมสร้างภูมิคุ้มกันห่างไกลโรคติดต่อร้ายแรงด้วยการหายใจให้เต็มปอด
ทำได้โดยการหายใจในที่ที่มีอากาศบริสุทธิ์ โดยจะใช้เวลาขณะที่ท้องว่างเป็นเวลา 5 นาทีในแต่ละวัน นั่งหรือยืนในท่าที่สบาย หลังตรง มองตรง วางมือทั้งสองข้างที่บริเวณกะบังลม หายใจเข้าทางจมูกให้ท้องป่องและกลั่นไว้ 4 วินาที แล้วหายใจออกท้องแฟบ การทำเช่นนี้ปอดจะได้รับออกซิเจนอย่างเต็มที่ส่งผลดีต่อปอด นอกจากนั้นการทานอาหารที่ดี ออกกำลังกาย นอนหลับพักผ่อนเพียงพอก็จะเสริมภูมิคุ้มกันให้เรา ลดเสี่ยงโรคติดต่ออันตราย
วิธีป้องกันโรคติดต่อร้ายแรงทำได้ยังไงบ้าง?
การป้องกันโรคติดต่อด้วยวิธีง่าย ๆ ทำได้ด้วยตัวเอง มี 6 วิธีดังนี้
- ล้างมือบ่อย ๆ – กินร้อนและสุก
- ล้างมือทุกครั้งก่อนและหลังรับประทานอาหาร
- ล้างมือทุกครั้งหลังสัมผัสสิ่งของสาธารณะ เช่น กลอนประตู ลูกบิด ราวบันได ราวบนรถโดยสาร
- ล้างมือทุกครั้งหลังขับถ่าย หรือใช้ห้องน้ำ
- เลือกทานอาหารที่ปรุงสุก และกินอาหารที่ยังมีความร้อน
- หลีกเลี่ยงการสัมผัสใกล้ชิด
- หลีกเลี่ยงการคลุกคลี ใกล้ชิด และใช้ของใช้ร่วมกับผู้ป่วยโรคระบาด
- ใช้ผ้าหรือกระดาษทิชชูปิดปากและจมูกทุกครั้งเมื่อไอ จาม
- หากเจ็บป่วยเป็นไข้หวัด ควรใช้หน้ากากอนามัยเมื่อต้องไปสถานที่ชุมชน
- รักษาสุขอนามัยอาหารและน้ำ
- รับประทานอาหารที่สะอาด ปรุงสุกใหม่ ถูกสุขลักษณะ
- หลีกเลี่ยงอาหารดิบ หรือสุก ๆ ดิบ ๆ
- ดื่มน้ำสะอาดให้เพียงพอ
- ใช้ภาชนะที่สะอาดในการรับประทานอาหารและดื่มน้ำ
- ดูแลสุขภาพด้วยการออกกำลังกาย – ออกกำลังกายเป็นประจำตามความเหมาะสมของอายุ ความแข็งแรง หรือปรึกษาแพทย์ก่อนหากไม่ได้ออกกำลังกายมานาน
- ทำลายแหล่งเพาะพันธุ์ยุงลาย – หมั่นทำลายแหล่งเพาะพันธุ์ยุงลาย เช่น โอ่งน้ำ แจกัน กระป๋อง ยางรถยนต์เก่า ๆ หลุมที่มีน้ำขัง
- ไม่เปลี่ยนคู่นอนบ่อย หรือมีคู่นอนเดียว – สิ่งนี้นอกจากป้องกันโรคติดต่อร้ายแรงแล้ว ยังช่วยป้องกันโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์อีกด้วย
โรคติดต่ออันตรายทั้ง 13 โรค เป็นโรคติดต่อร้ายแรงที่ไม่มีใครอยากให้เกิดขึ้นกับตัวเรา ครอบครัว หรือคนรอบข้างที่เรารัก ดังนั้นการดูแลสุขภาพและการป้องกันโรคติดต่อจึงสำคัญ ยิ่งในวันข้างหน้ายิ่งไม่มีใครคาดคิดว่าจะเกิดโรคติดต่ออะไรเพิ่มขึ้นอีก เรายิ่งต้องตระหนักและเพิ่มความระมัดระวังมากขึ้น
สามารถติดตามข่าวสาร สาระความรู้เกี่ยวกับสุขภาพ รถยนต์ มอเตอร์ไซค์ รวมถึงประกันภัยออนไลน์ต่าง ๆ จากรู้ใจได้ที่ Facebook Page: Roojai หรือคลิกที่นี่เพื่อเพิ่มเราเป็นเพื่อนใน LINE ได้เลย (Official Line ID: @roojai)
คำจำกัดความ
เชื้อไนโรไวรัส | เป็นเชื้อไวรัสที่เป็นสาเหตุของการระบาด และติดเชื้อท้องเสียที่ไม่ใช่การเกิดจากเชื้อแบคทีเรีย พบบ่อยที่สุดในโลก เชื้อเหล่านี้มักจะปนเปื้อนมากับน้ำ |
ไวรัสวาริโอลา | เป็นเชื้อไวรัสฝีดาษ สามารถแพร่กระจายได้ในอากาศ จากละอองของสารคัดหลั่งจากคนที่เป็นโรคนี้ เช่น จากทางน้ำลาย น้ำมูก หรือการสัมผัสผิวหนังที่มีแผล |