ยุคสมัยและค่านิยมของคนรุ่นใหม่ เปลี่ยนไปจากคนรุ่นก่อน ๆ ทั้งเรื่องการทำงาน ความคิด การยอมรับถึงความแตกต่างทางเพศ รวมไปถึงการยอมรับเเละเคารพสิทธิ์ในร่างกายของบุคคล ด้วยความคิดและค่านิยมที่เปลี่ยนไปนั้น เราจะเห็นความอิสระเกิดขึ้นมากมายในสังคม ยิ่งในเรื่องของการสักลายตามร่างกาย หากเป็นสมัยเมื่อ 30-40 ปีที่แล้ว ผู้หญิงมักจะถูกอบรมมาว่า การสักร่างกายนั้นไม่งาม เป็นผู้หญิงควรมีผิวเรียบเนียน แต่ ณ ปัจจุบันนี้สังคมเปิดกว้าง ยอมรับในความเปลี่ยนแปลง เราจะเห็นไอดอลหญิงหลายคนทั้งในประเทศ และต่างประเทศที่มีลายสักสวยๆ บนร่างกายของพวกเธอ หรือการสักคิ้ว ก็เป็นที่นิยมอย่างมากในปัจจุบัน
แต่ก่อนจะตัดสินใจสักนั้น เราควรรู้ความเสี่ยงของการสักร่างกายไว้สักหน่อย หมึกสำหรับสักลายตามร่างกาย ทั้งหมึกสักสีดำและหมึกสักสี มีอันตรายต่อผิวหนังอย่างไร สักแล้วอยากลบทำได้ด้วยวิธีใดบ้าง เพื่อนำมาประกอบการตัดสินใจอย่างถี่ถ้วนอีกครั้ง
ความเสี่ยงจากการสัก
ความเจ็บปวดที่สวยงามนั้น อาจจะมาพร้อมกับความเสี่ยงที่อาจส่งผลต่อสุขภาพในระยะยาว เช่น
1. อาการแพ้
การสักหมึกสี โดยเฉพาะสีแดง สีเขียว สีเหลือง และสีน้ำเงิน อาจทำให้ผิวหนังระคายเคือง และเกิดอาการแพ้ได้ อาการแพ้ที่เกิดขึ้น เช่น มีผื่นขึ้นบริเวณรอบ ๆ รอยสัก ในบางรายหลังสักไม่นานก็เกิดผื่นขึ้น แต่ในบางรายอาจจะผ่านมานานเป็นปีถึงจะเกิดผื่นขึ้นก็มี ซึ่งอาการดังกล่าวสามารถใช้ บีแพนเธน เฟิร์สเอด ครีม ทาที่รอยสักได้ ตัวยาจะไปช่วยฆ่าเชื้อและสมานผิว
2. อาจเกิดการติดเชื้อแบคทีเรีย
หากอุปกรณ์ในการสัก เช่น เครื่องสักหรือเข็มสัก ไม่ได้ผ่านการฆ่าเชื้อ หรือไปสักตามร้านที่ไม่ได้มาตรฐาน ก็อาจทำให้ผิวหนังเกิดการติดเชื้อหลังการสักได้ และอาจทำให้เกิดอาการเจ็บป่วย เช่น วัณโรค หรือรอยสักติดเชื้อเเบคทีเรียสตาฟีโลค็อกคัส ซึ่งหากใครติดเชื้อตัวนี้ จะมีตุ่มหนองขึ้นตามผิวหนัง
3. การติดเชื้อไวรัส
การเข้ารับบริการจากร้านสักลายที่ใช้เครื่องมือและเข็มสักที่ไม่ผ่านการฆ่าเชื้อ อาจเสี่ยงต่อการติดเชื้อไวรัสผ่านทางเลือด และอาจส่งผลให้ป่วยเป็นโรคติดต่อ เช่น รอยสักติดเชื้อบาดทะยัก HIV ไวรัสตับอักเสบบีและซี เป็นต้น
4. อาจทำให้เกิดคีลอยด์
การสักลายอาจทำให้เกิดแผลคีลอยด์ (Keloide) ซึ่งคีลอยด์คือแผลเป็นที่นูนออกมา และอาจขยายขนาดและสร้างความเจ็บปวด คันรอยสัก หรือระคายเคืองบริเวณที่สักได้ โดยคีลอยด์อาจเกิดกระบวนการสร้างแผลเป็นเพื่อซ่อมแซมแผลและป้องกันแผลจากการบาดเจ็บหลังการสัก
5. อาจทำให้เกิดการอักเสบแบบแกรนูโลมา
รอยสักอักเสบแบบแกรนูโลมา (Granuloma) จะมีลักษณะเป็นตุ่มนูนเล็ก ๆ รอบรอยสัก ซึ่งอาจเกิดจากการระคายเคืองของผิว หรือปฏิกิริยาของร่างกายต่อสารเคมี และหมึกสีที่ใช้ในการสัก ซึ่งอาจเกิดอาการในหลายเดือนหรือหลายปีภายหลังจากการสัก
6. อาจทำให้เกิดอาการแทรกซ้อนจากการตรวจ MRI
ใครจะไปคิดว่า แค่การสักผิวหนังจะทำให้เกิดอาการแทรกซ้อนจาก MRI ได้ เพราะการทำ MRI อาจทำให้ผิวหนังบริเวณที่สักบวมและเจ็บแสบได้ นอกจากนี้ รอยสักขนาดใหญ่อาจไปรบกวนการถ่ายภาพอวัยวะต่าง ๆ ด้วยเครื่อง MRI จนทำให้ภาพถ่ายไม่คมชัดส่งผลต่อการวินิจฉัยโรค
อันตรายจากหมึกสักลาย
ลายสักสวยๆ ที่เราเห็น รู้มั้ย? หมึกสักลายจะมีการปนเปื้อนของโลหะหนักอยู่ เมื่อมันเข้าสู่ร่างกายเป็นระยะเวลานานจะทำให้เกิดการสะสมที่บริเวณผิวหนัง และอาจเป็นสาเหตุของมะเร็งผิวหนัง สำหรับเชื้อแบคทีเรียหรือจุลินทรีย์ เมื่อเข้าสู่ผิวหนังจะก่อให้เกิดอันตรายได้ เช่น เชื้อซูโดโมแนส แอรูจิโนซา (Pseudomonas aeruginosa) ที่เป็นสาเหตุให้เกิดโรคต่าง ๆ ได้หลายชนิด หากเกิดการติดเชื้อที่ปอดอาจทำให้ปอดและหลอดลมอักเสบ รวมถึงหากได้รับเชื้อทางผิวหนังอาจทำให้เกิดโรคทางผิวหนังชนิด เอกติม่า แกงกรีโนซัม (Ecthyma ganggrenosum) คือ มีลักษณะบวม แดง ค่อนข้างแข็ง และต่อมาจะกลายเป็นเนื้อตาย เชื้อสตาฟิโลค็อกคัส ออเรียส (Staphylococcus aureus) ทำให้เกิดโรคตาแดง ระคายเคืองตา ทำให้หนังตาอักเสบ เป็นต้น
วิธีลบรอยสัก
หากเราสักแล้วไม่ชอบลายที่สัก หรือสักไปสักพักเริ่มเบื่อไม่อยากมีรอยสักแล้ว จะสามารถลบออกได้ โดยมีวิธีลบดังนี้
1. การลบรอยสักด้วยเลเซอร์
เป็นวิธีที่นิยมมากที่สุด เพราะทำได้ง่าย และเห็นผลไปในทางที่ดีกว่าวิธีอื่น ๆ แผลเป็นน้อย มีความปลอดภัยสูง เลเซอร์ ลบรอย สักที่นิยมนำมาใช้งาน เช่น
- Nd-YaG Laser – ราคาเริ่มต้นที่ 999 บาท
- Picoway Laser – ราคาเริ่มต้นที่ 2,500 บาท
ราคาอาจจะแตกต่างกันไปแล้วแต่สถานประกอบการที่เลือก และขึ้นอยู่กับขนาด ตำแหน่งของ รอยสักด้วย และการลบรอยสักด้วยเลเซอร์นั้น ทำครั้งเดียวแทบจะไม่เห็นผล ต้องทำอย่างน้อย 5-6 ครั้ง ถึงจะเห็นผลว่ารอยสักจางลง และเมื่อเสร็จกระบวนการทั้งหมด เลเซอร์ ลบรอย สักจะลบรอยสักได้มากสุด 95% เท่านั้น จะไม่สามารถลบรอยสักและให้ผิวกลับมาเหมือนเดิม 100%
2. การสักทับ
สำหรับการสักทับจะเหมาะกับผู้ที่ยังต้องการมีรอยสัก แต่ไม่ชอบลายที่มีอยู่ หรือเห็นมานานจนเบื่อ สามารถสักทับแก้ลายสักได้ โดยรอยสักใหม่อาจมีขนาดใหญ่ขึ้น สีเข้มขึ้น เพื่อปกปิดรอยสักเดิม ราคาแล้วแต่ร้านและความยากง่ายของรอยสัก
3. การศัลยกรรมขัดผิวหนัง
หรือที่เรียกว่า Dermabrasion เป็นการขัดผิวที่ใช้สารเคมีร่วมกับยาชา หรือการใช้ความเย็นทำให้ชาแล้วจึงใช้อุปกรณ์ เช่น แปรงขัดที่หมุนด้วยความเร็วขัดบริเวณรอยสัก เพื่อนำเม็ดสีออกไปจากชั้นผิวหนัง ราคาประมาณ 1,000-2,000 บาทต่อครั้ง ขึ้นอยู่กับสถานประกอบการที่เลือกและขนาดและตำแหน่งของรอยสักด้วย แต่วิธีนี้ไม่ได้รับความนิยมเท่าไหร่ เนื่องจากมันเจ็บมาก
4. ศัลยกรรมผ่าตัดลบรอยสัก
หรือ Sugical Removal โดยผ่าตัดลอกผิวหนังส่วนที่เป็นรอยสักออกไป แล้วเย็บปิด กรณีนี้หากเป็นรอยสักขนาดเล็ก แพทย์จะสามารถเย็บปิดแผลได้เลย และอาจมีแผลเป็นน้อย แต่หากรอยสักมีขนาดใหญ่ แพทย์อาจจำเป็นต้องผ่าตัดผิวหนังส่วนอื่นมาปิดแทน ซึ่งอาจทำให้เกิดแผลเป็นมากขึ้น ราคาสูง และจะผ่าตัดได้เป็นบางจุดเท่านั้น วิธีนี้จึงไม่ค่อยเป็นที่นิยมและมีโอกาสเกิดรอยแผลเป็นสูงอีกด้วย
ลบรอยสักด้วยตัวเองได้มั้ย?
หากเราค้นหาในอินเทอร์เน็ต อาจเจอวิธีลบรอยสักด้วยตัวเอง อย่างการใช้น้ำยา ลบรอย สัก หรือครีมลบรอยสักที่ขายกันในโซเชียล ซึ่งเป็นวิธีที่อันตรายมาก รอยสักอาจจางลงจากส่วนผสมที่กัดสีผิว แต่สีของรอยสักจะไม่หมดไป และยังมีความเสี่ยงต่ออาการแพ้ คันรอยสัก ระคายเคือง จนเกิดแผล และอาจเป็นแผลเป็นตามมา จากผลิตภัณฑ์ที่ไม่ได้มาตรฐาน หากคุณอยากลบรอยสัก ทางที่ดีที่สุดคือการปรึกษาแพทย์ เพื่อไม่ให้สุดท้ายเราต้องเสียใจภายหลังกับผิวพรรณที่จะไม่ได้กลับมาเหมือนเดิม
ถึงจะมีวิธีแก้ปัญหาการเบื่อรอยสักหรือไม่อยากมีรอยสักแล้ว แต่จะเห็นได้ว่าแต่ละวิธีต้องใช้ความอดทนกว่ารอยสักจะหายไป และมันจะไม่หายไป 100% ฉะนั้นก่อนคิดที่จะสักลายตามร่างกาย คิดให้ดี ๆ เพราะตอนสักว่าเจ็บแล้ว แต่ตอนลบเจ็บกว่าหลายเท่า แต่ถ้าคิดมาดีแล้ว ศึกษาหาร้านสักที่ได้มาตรฐานแน่นอนและอยากสักมาก ก็ลุยเลย เพราะชีวิตนี้มีแค่ครั้งเดียว!
สามารถติดตามข่าวสาร สาระความรู้เกี่ยวกับสุขภาพ รถยนต์ มอเตอร์ไซค์ รวมถึงประกันภัยออนไลน์ต่าง ๆ จากรู้ใจได้ที่ Facebook Page: Roojai หรือคลิกที่นี่เพื่อเพิ่มเราเป็นเพื่อนใน LINE ได้เลย (Official Line ID: @roojai)