Roojai

6 อุบัติเหตุเกิดขึ้นบ่อยในวันลอยกระทง รู้ก่อนลดเสี่ยงอันตราย

วันลอยกระทง เสี่ยงอันตรายจากอุบัติเหตุอะไรบ้าง | ประกันอุบัติเหตุ | รู้ใจ

เทศกาลลอยกระทง 2567 กำลังจะมาถึงอีกครั้งในวันศุกร์ที่ 15 พฤศจิกายน 2567 การลอยกระทงเป็นการขอขมาต่อพระแม่คงคา และเป็นการส่งความปรารถนาดีให้กับตนเองและผู้อื่น ซึ่งเป็นวัฒนธรรมและประเพณีไทยที่งดงามและสืบทอดกันมาช้านาน แต่ท่ามกลางความดีงาม อีกด้านหนึ่งกลับมีอุบัติเหตุที่เกิดขึ้นบ่อย ๆ ในทุกปีและอาจนำไปสู่การสูญฌสีย ซึ่งไม่มีใครอยากให้เกิดขึ้น มาดู 6 อุบัติเหตุที่เกิดขึ้นบ่อยในวันลอยกระทง รู้ก่อน ลดความเสี่ยงเลี่ยงอุบัติเหตุ

สนใจอ่านแค่บางเรื่อง ก็เลือกได้เลย

1. จมน้ำช่วงวันลอยกระทง

การจมน้ำเป็นเรื่องควรระมัดระวังไม่เฉพาะกับเด็ก ๆ ที่ผู้ใหญ่ควรเฝ้ามองอย่างใกล้ชิด เพราะวันลอยกระทงกับการฉลองดื่มสังสรรค์ในงานเทศกาลของไทยเหมือนเป็นเรื่องคู่กัน เมื่อดื่มเสร็จก็ไปลอยกระทงต่อที่แม่น้ำ ทะเล หรือคลอง อาการมึนเมาเพิ่มความเสี่ยงอันตรายต่อการตกน้ำ หรืออาจรู้สึกท้าทายที่จะได้ลงน้ำ และเกิดอุบัติเหตุจมน้ำได้ในที่สุด รวมไปถึงคนที่ไปงมหาเหรียญที่ติดกับกระทง หรือการก้มหน้าลงไปเพื่อลอยกระทงก็อาจเกิดอันตรายหน้ามืดตกลงไปได้

วิธีปฐมพยาบาลเบื้องต้นเมื่อจมน้ำ

  1. โทรเรียกรถพยาบาล โทร 1699 หรือสถานพยาบาลใกล้เคียงทันที
  2. วางตัวผู้ประสบภัยนอนราบบนพื้นที่แห้งและแข็ง
  3. ตรวจสอบการรับรู้ของผู้ประสบภัย โดยใช้มือทั้ง 2 ข้างเขย่าไหล่และเรียกเสียงดัง ๆ
  4. หากรู้สึกตัว ให้เช็ดตัวให้แห้ง เปลี่ยนเสื้อผ้า และห่มผ้าเพื่อให้ร่างกายอบอุ่น จากนั้นรีบนำส่งโรงพยาบาล
  5. หากไม่รู้สึกตัวและไม่ตอบสนอง ให้ช่วยหายใจ โดยเปิดทางเดินหายใจ โดยการกดหน้าผาก เชยคาง เป่าปากโดยวางปากครอบปากผู้ป่วย บีบจมูก  เป่าลมเข้าให้หน้าอกผู้ป่วยยกขึ้น (เป่าปาก 2 ครั้ง)
  6. ขณะเดียวกัน ให้กดนวดหัวใจด้วยความเร็ว 100 ครั้งต่อนาที สลับการเป่าปาก จนกว่าผู้ประสบภัยจะฟื้นขึ้นมา
  7. หากผู้ประสบภัยเริ่มมีการตอบสนอง ให้นอนตะแคงข้าง หงายศีรษะไปด้านหลัง เพื่อให้น้ำไหลออกทางปาก และใช้ผ้าห่มเพื่อให้ร่างกายอบอุ่น จากนั้นรีบนำส่งโรงพยาบาลทุกกรณี
สถิติจมน้ำในวันลอยกระทง | ประกันอุบัติเหตุ | รู้ใจ

2. บาดเจ็บจากพลุและดอกไม้ไฟช่วงวันลอยกระทง

ในช่วงเทศกาลวันลอยกระทง การเล่นพลุ ประทัด และดอกไม้ไฟ เป็นกิจกรรมที่หลายคนชื่นชอบ แต่รู้มั้ย? ว่ามีความเสี่ยงอันตรายบาดเจ็บรุนแรงอาจเสียชีวิต โดยเฉพาะกับเด็กและวัยรุ่น ตามข้อมูลจากระบบเฝ้าระวังการบาดเจ็บของกรมควบคุมโรค ในช่วง 3 วันของวันลอยกระทง (ก่อน ระหว่าง และหลังวันลอยกระทง) ในปี 2563–2565 พบว่ามีคนได้รับบาดเจ็บรุนแรงจากการเล่นพลุ ประทัด และดอกไม้ไฟ จำนวน 112 คน

โดยกลุ่มอายุที่พบมากที่สุด คือ เด็กและวัยรุ่นอายุ 15–29 ปี รองลงมาเป็นกลุ่มเด็กอายุ 1–14 ปี ซึ่งอวัยวะที่ได้รับบาดเจ็บรุนแรงมากที่สุด คือ ข้อมือและมือ รองลงมาคือ ศีรษะ โดยส่วนใหญ่มีแผลเปิดที่ศีรษะและได้รับบาดเจ็บที่ตา

วิธีปฐมพยาบาลเบื้องต้น เมื่อบาดเจ็บจากพลุและดอกไม้ไฟ

  1. ล้างทำความสะอาดแผลด้วยน้ำสะอาดอุณหภูมิปกติ หรือเปิดน้ำให้ไหลผ่าน ประมาณ 15-20 นาที หรือจนกว่าอาการปวดแสบปวดร้อนจะลดลง
  2. ถอดเสื้อผ้าออกจากบริเวณที่ถูกไฟไหม้ หรือน้ำร้อนลวก ถ้าถอดออกลำบากควรตัดออกเป็นชิ้น ๆ แต่ถ้าเสื้อผ้าติดกับบาดแผลแน่น ก็ไม่ต้องดึงออก แต่ใช้ผ้าสะอาดคลุมแทน
  3. ไม่ควรทาตัวยา ครีม หรือสารใด ๆ ลงบนบาดแผล โดยเฉพาะการใช้น้ำปลา เครื่องปรุง ยาสีฟัน และยาหม่อง เพราะสิ่งเหล่านี้จะทำให้เกิดอาการระคายเคืองต่อบาดแผล เพิ่มโอกาสการติดเชื้อ และทำให้รักษาได้ยากขึ้น
  4. ใช้ผ้าสะอาดบาง ๆ คลุมร่างกายของผู้ป่วยเอาไว้ เพื่อช่วยรักษาอุณหภูมิของร่างกายให้คงที่

3. บาดเจ็บจากไฟไหม้ช่วงวันลอยกระทง

การจุดประทัดในที่ชุมชนแออัด หรือการปล่อยโคมลอย อาจนำพาความอันตรายและเดือดร้อนสู่ตนเองและคนอื่น ๆ ได้ โดยอาจก่อให้เกิดไฟไหม้ได้ ซึ่งก็มีข่าวความสูญเสียออกมาบ่อย ๆ ไม่ว่าจะทรัพย์สิน บาดเจ็บหรือถึงแก่ชีวิต ดังนั้นการไม่จุดโคมลอยในวันลอยกระทงจะเป็นการดีที่สุด

วิธีปฐมพยาบาลเบื้องต้น เมื่อบาดเจ็บจากไฟไหม้

  1. ออกจากความร้อนให้เร็วที่สุด หากเสื้อผ้าติดไฟ ให้รีบนำผู้ป่วยไปคลุกกับพื้น
  2. ลดความร้อนให้เร็วที่สุด โดยการล้างด้วยน้ำสะอาดอุณหภูมิปกติบริเวณบาดแผล ห้ามใช้น้ำแข็งหรือน้ำเย็นจัดเด็ดขาด
  3. ปิดแผลด้วยผ้าสะอาด แล้วนำส่งโรงพยาบาลทันที หรือเรียกรถพยาบาลโทร 1669
  4. หากเป็นไฟไหม้บ้านเรือน ให้รีบโทรแจ้ง 199
อันตรายจากพลุ ดอกไม้ไฟ โคมลอยในวันลอยกระทง| ประกันอุบัติเหตุ | รู้ใจ

4. บาดเจ็บจากอุบัติเหตุช่วงวันลอยกระทง

เทศกาลลอยกระทง หลายคนคงออกไปเที่ยวตามงานวัด หรือไปทะเล แม่น้ำ ที่มีการจัดงานมีแสงสีสวยงาม แต่อันตรายจากอุบัติเหตุเกิดขึ้นได้เสมอ เช่น อาจเดินไปเหยียบไม้เสียบลูกชิ้น เดินไปแตะก้อนหิน เดินตกท่อ หรือแม้กระทั่งตอนทำกระทงอาจโดนหมุดตำ มีดบาด เป็นต้น

วิธีปฐมพยาบาลเบื้องต้น

หากเดินไปเหยียบไม้เสียบลูกชิ้นจนทะลุเท้า ห้ามดึงวัตถุที่ปักอยู่ออกเด็ดขาด เพราะจะทำให้เลือดไหลไม่หยุด และอาจเกิดอาการช็อกได้ ให้ล้างแผลรอบ ๆ และรีบนำส่งโรงพยาบาล

5. อุบัติเหตุบนท้องถนนช่วงวันลอยกระทง

จากสถิติในปีที่ผ่านมา พบว่าอุบัติเหตุที่เกิดขึ้นในวันลอยกระทงส่วนใหญ่มาจากอุบัติเหตุบนท้องถนน มีทั้งเมาแล้วขับ, ขับกลางคืนถนนมืด ๆ อันตราย, ขับเร็ว, หรือมอเตอร์ไซค์ปาดไปมาบนถนนรถติด เป็นต้น ซึ่งเป็นกลุ่มอุบัติเหตุที่มีการโทรขอความช่วยเหลือมากที่สุด โดยเฉพาะในวันลอยกระทงวันเดียวมีสายเข้ามามากกว่า 1,500-2,000 ครั้ง 

ซึ่งว่าที่ ร.ต.การันต์ ศรีววัฒนบูรพา ผู้ช่วยโฆษก สพฉ. ได้กล่าวเอาไว้ในเทศกาลลอยกระทงปี 2566 ว่า “ประชาชนส่วนใหญ่เดินทางไปร่วมงานเทศกาลลอยกระทงทำให้มีโอกาสในการเกิดอุบัติเหตุทางการจราจรมากขึ้น ยิ่งในกลุ่มวัยรุ่นที่มีการขับขี่มอเตอร์ไซค์มักจะฝ่าฝืนกฎจราจร เช่น ไม่สวมหมวกกันน็อก ขับเร็ว หรือเมาแล้วขับ ซึ่งเป็นสาเหตุของการบาดเจ็บและเสียชีวิต” ดังนั้นการไม่ประมาท และความปลอดภัยบนท้องถนนเป็นสิ่งสำคัญ โดยเฉพาะหากขับมอเตอร์ไซค์ควรสวมใส่หมวกกันน็อก รักษากฎจราจร และเลี่ยงการเมาแล้วขับ เพื่อลดความเสี่ยงการเกิดอุบัติเหตุ

วิธีรับมือเมื่อพบอุบัติเหตุทางถนน

หากพบผู้ประสบเหตุ ให้ประเมินอาการผู้ป่วย หากมีอาการสาหัส รีบแจ้งเหตุฉุกเฉินโดยให้ข้อมูลที่เป็นประโยชน์อย่างครบถ้วน

  • โทร 1669 เรียกรถพยาบาล
  • โทร 191 แจ้งเหตุด่วนเหตุร้าย
  • โทร 1543 สายตรงทางด่วน (แจ้งเหตุฉุกเฉินบนทางด่วน ทั้งรถเสียหรืออุบัติเหตุ)
มีประกันอุบัติเหตุติดไว้ เทศกาลไหนก็อุ่นใจ | รู้ใจ

6. การพลัดหลงช่วงวันลอยกระทง

หากมีเด็กไปด้วยควรจูงมือเด็กอยู่ตลอดเวลาที่ไปลอยกระทง เพราะมักจะมีคนเยอะ เดินเบียดเสียดกัน จึงไม่ควรปล่อยให้เด็กเดินเอง เพื่อเป็นการระวังไม่ให้เกิดการพลัดหลง เด็กถูกหลอกโดยคนอันตราย หรืออุบัติเหตุที่น่ากลัว เช่น พลัดตกน้ำ

วิธีป้องกันเด็กพลัดหลง

  • ควรเขียนชื่อ ที่อยู่ หมายเลขโทรศัพท์ที่สามารถติดต่อได้ และสอดไว้ในกระเป๋าของเด็ก 
  • ถ่ายรูปล่าสุดของเด็ก ซึ่งเป็นชุดที่ใส่ออกจากบ้านในวันนั้นเก็บไว้
  • ใช้อุปกรณ์ช่วยจูง เช่น เป้จูง สายจูงข้อมือเด็กกันพลัดหลง ช่วยให้ลูกไม่ไปไกลกว่าสายตาได้
  • ในกรณีที่เด็กหลงแล้วหาไม่เจอ ไม่จำเป็นต้องรอครบ 24 ชม. สามารถไปแจ้งความที่สถานีตำรวจในพื้นที่ได้ทันที

5 วิธีลอยกระทงอย่างปลอดภัยทั้งครอบครัว

วันลอยกระทงเป็นวันที่หลายครอบครัวใช้เวลาอยู่ด้วยกัน ไม่ว่าจะมานั่งทำกระทงด้วยกัน ไปงานวัด งานเทศกาลด้วยกัน หนึ่งในสิ่งที่ต้องคำนึงถึงมากที่สุดคือในเรื่องความปลอดภัย มาดู 5 วิธีลอยกระทงอย่างปลอดภัย ดังนี้

  1. เลือกสถานที่ลอยกระทงที่ปลอดภัย – เลือกบริเวณที่มีการจัดระเบียบ คนไม่หนานแน่เกินไป และมีเจ้าหน้าที่ตำรวจคอยดูแล
  2. ห้ามเล่นพลุ ดอกไม้ไฟ – เพื่อป้องกันการบาดเจ็บและไฟไหม้
  3. หลีกเลี่ยงเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ – เพื่อให้มีสติอยู่เสมอ เมาไม่ขับ เดินทางกลับอย่างปลอดภัยช่วยลดเสี่ยงอุบัติเหตุบนท้องถนน
  4. ดูแลเด็กอย่างใกล้ชิด – ไม่ปล่อยให้เด็กเล่นน้ำ จุดพลุตามลำพัง และควรให้ลูกอยู่ในสายตาเสมอ
  5. ทำประกันอุบัติเหตุติดไว้อุ่นใจกว่า – อุบัติเหตุไม่ว่าเล็กน้อยหรือใหญ่ ก็ต้องการเข้าถึงการรักษาที่ดี และทันท่วงทีเพื่อลดความทรมานจากการบาดเจ็บ ดังนั้นการมีประกันอุบัติเหตุติดไว้อุ่นใจกว่า เพราะวันที่เกิดอุบัติเหตุ อุ่นใจได้เรื่องค่ารักษาพยาบาล ทำให้เข้าถึงการรักษาที่คุณเลือกได้ ประกันอุบัติเหตุที่รู้ใจ ปรับแต่งแผนได้เอง เริ่มต้นแค่ 61 บาท/ปี

เทศกาลลอยกระทงเป็นหนึ่งในเทศกาลของไทยที่มีทุกปี และเป็นโอกาสอันดีที่เราจะได้ร่วมกันอนุรักษ์ประเพณีไทย แต่ความปลอดภัยต้องมาก่อนเสมอ การปฏิบัติตามคำแนะนำและข้อควรระวัง จะช่วยให้เราสามารถสนุกสนานกับเทศกาลลอยกระทงได้อย่างปลอดภัย ลดเสี่ยงอุบัติเหตุ และร่วมด้วยช่วยกันดูแลสิ่งแวดล้อมให้คงอยู่ต่อไป

สามารถติดตามข่าวสาร สาระความรู้เกี่ยวกับสุขภาพ รถยนต์ มอเตอร์ไซค์ รวมถึงประกันภัยออนไลน์ต่าง ๆ จากรู้ใจได้ที่ Facebook Page: Roojai หรือคลิกที่นี่เพื่อเพิ่มเราเป็นเพื่อนใน LINE ได้เลย (Official Line ID: @roojai)

คำจำกัดความ

เป้จูง เป้จูงจะมีลักษณะเป็นเป้สะพายหลังขนาดเล็กสำหรับเด็ก พร้อมกับมีสายจูงที่ต่อเชื่อมกับเป้ ซึ่งผู้ปกครองสามารถจับเพื่อไม่ให้เด็กเดินออกไปไกลนอกสายตาได้
สายจูงข้อมือเด็กกันพลัดหลง สายรัดที่สวมที่ข้อมือของทั้งเด็กและผู้ปกครอง โดยจะมีลักษณะเป็นสายยืดหดได้ หากเด็กอยู่ใกล้สายจะหดลง พอเด็กออกไปไกลก็จะยืดออกได้