การเลี้ยงสัตว์เลี้ยง เช่น การเลี้ยงหมาและเลี้ยงแมว กลายเป็นส่วนสำคัญในชีวิตของหลายครอบครัว ไม่ว่าจะเป็นเพื่อนคลายเหงา เป็นผู้ช่วยเหลือผู้สูงอายุ แต่นอกจากเรื่องของสุขภาพและอาหาร หนึ่งในโรคที่น่ากลัวและต้องระวังเป็นพิเศษคือ “โรคพิษสุนัขบ้า” ซึ่งสามารถเป็นอันตรายถึงชีวิตทั้งต่อสัตว์เลี้ยงละเจ้าของ ได้หากไม่ได้รับการรักษาอย่างทันท่วงที
สนใจอ่านแค่บางเรื่อง ก็เลือกได้เลย!
- โรคพิษสุนัขบ้าคืออะไร?
- โรคพิษสุนัขบ้าเกิดจากอะไร?
- โรคพิษสุนัขบ้าติดต่อจากคนสู่คนได้หรือไม่?
- อาการและระยะของโรคพิษสุนัขบ้า
- วัคซีนโรคพิษสุนัขบ้าต้องฉีดกี่เข็ม?
- ฉีดวัคซีนพิษสุนัขบ้าฟรี! มีที่ไหนบ้าง?
- วิธีป้องกันโรคพิษสุนัขบ้า
โรคพิษสุนัขบ้าคืออะไร?
โรคพิษสุนัขบ้า (Rabies) หรือที่เรียกกันติดปากว่า “โรคกลัวน้ำ” เป็นโรคที่เกิดจากเชื้อไวรัสเรบีส์ ซึ่งมีผลกระทบต่อระบบประสาทส่วนกลางของสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนม รวมถึงมนุษย์ด้วย โรคนี้สามารถแพร่กระจายผ่านการกัด ข่วน หรือเพียงแค่ถูกสัตว์ที่ติดเชื้อมาเลียแผล ไม่จำเป็นต้องมีบาดแผลก็สามารถติดเชื้อได้ ไวรัสจะเข้าสู่ร่างกายและเดินทางไปยังสมอง ทำให้เกิดการอักเสบและมีผลกระทบที่รุนแรงต่อระบบประสาท
โรคพิษสุนัขบ้ายังคงเป็นปัญหาสาธารณสุข โดยมีผู้เสียชีวิตทั่วโลกจากโรคนี้สูงถึง 60,000 คนต่อปี ทั้ง ๆ ที่เป็นโรคที่สามารถป้องกันได้ ผู้ป่วยที่ติดเชื้อโรคพิษสุนัขบ้าจะเสียชีวิตทุกราย หากไม่ได้รับการรักษาอย่างทันท่วงที เนื่องจากไม่มีการรักษาโดยตรง ร่วมกับอาการของโรคจะทวีความรุนแรงอย่างรวดเร็ว
โรคพิษสุนัขบ้าเกิดจากอะไร?
สาเหตุหลักของโรคพิษสุนัขบ้ามาจากการติดเชื้อไวรัส “เรบีส์” Rabies virus ซึ่งแพร่กระจายผ่านการกัด ข่วน หรือการสัมผัสน้ำลายของสัตว์ที่ติดเชื้อ
แม้ว่าโรคพิษสุนัขบ้ามักจะพบในสุนัขเป็นส่วนใหญ่ แต่แมวและสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมก็สามารถติดเชื้อและเป็นพาหะของโรคได้เช่นกัน หากแมวที่ติดเชื้อกัดหรือข่วนคนเลี้ยงหรือสัตว์อื่น ๆ ก็สามารถแพร่กระจายเชื้อได้ นอกจากนั้นยังมีสัตว์อื่น ๆ เช่น ค้างคาว ลิง หมาจิ้งจอก แร็กคูน และสกังค์ เป็นต้น
โรคพิษสุนัขบ้าติดต่อจากคนสู่คนได้หรือไม่?
โรคพิษสุนัขบ้า “ไม่สามารถ” ติดต่อจากคนสู่คนได้โดยตรง เนื่องจากเชื้อไวรัสที่ก่อให้เกิดโรคพิษสุนัขบ้า มักจะอยู่ในน้ำลายของสัตว์ที่ติดเชื้อและแพร่กระจายผ่านการกัดหรือข่วนของสัตว์ที่ติดเชื้อเข้าสู่กระแสเลือดของคนหรือสัตว์อื่น ๆ
วิธีปฐมพยาบาลเบื้องต้นเมื่อโดนหมากัด
ให้รีบล้างแผลด้วยน้ำสะอาดและสบู่เป็นเวลา 15 นาที หลังจากนั้นรีบไปพบแพทย์เพื่อรับวัคซีนป้องกันโรคพิษสุนัขบ้า และวัคซีนบาดทะยัก (บางกรณีตามความเห็นแพทย์) และอย่าลืมสังเกตอาการของสัตว์เลี้ยง หมาหรือแมว ว่ามีอาการผิดปกติหรือไม่ตลอด 10 วัน หากพ้น 10 วันไปแล้วไม่มีอะไรผิดปกติก็ปลอดภัย
อาการและระยะของโรคพิษสุนัขบ้า
อาการของโรคพิษสุนัขบ้าจะไม่แสดงทันทีหลังจากได้รับเชื้อ แต่จะเริ่มแสดงอาการประมาณ 3 สัปดาห์ ถึง 3 เดือน หรืออาจใช้เวลาร่วมปีกว่าจะแสดงอาการ โดยแบ่งเป็น 3 ระยะ ดังนี้
- ระยะแรกเริ่ม มีอาการไม่จำเพาะ เช่น มีไข้ ปวดศีรษะ เจ็บคอ หนาวสั่น คลื่นไส้ อาเจียน ปวดเมื่อยตามตัว กระสับกระส่าย นอนไม่หลับ และบางคนอาจเจ็บ คันมากบริเวณที่ถูกสัตว์กัด
- ระยะที่มีอาการทางระบบประสาท ผู้ป่วยจะมีอาการแบ่งเป็น 2 ประเภท คือ
- ภาวะสมองอักเสบ – ผู้ป่วยจะมีไข้ กลัวน้ำ กลัวลม เพ้อ เห็นภาพหลอน นอนไม่หลับ กล้ามเนื้อกดเกร็งหรือกระตุก
- ภาวะอัมพาตแบบกล้ามเนื้ออ่อนแรง – ผู้ป่วยมีอาการกล้ามเนื้อหดตัว และกล้ามเนื้ออ่อนแรง
- ระยะโคม่า หรือ ระยะสุดท้าย ผู้ป่วยจะมีภาวะแทรกซ้อน เช่น ระบบหายใจล้มเหลว หัวใจหยุดเต้น และมักเสียชีวิตภายใน 2 สัปดาห์
วัคซีนโรคพิษสุนัขบ้าต้องฉีดกี่เข็ม?
แม้ว่าโรคพิษสุนัขบ้าจะไม่มีการรักษาโดยตรง แต่ปัจจุบันมีวัคซีนป้องกันโรคพิษสุนัขบ้าที่มีประสิทธิภาพและความปลอดภัยสูง โดยจะแบ่งเป็น 2 กรณี ดังนี้
ฉีดวัคซีนพิษสุนัขบ้าก่อนสัมผัสโรค
เป็นการฉีดเพื่อกระตุ้นร่างกายให้สร้างภูมิคุ้มกันเชื้อพิษสุนัขบ้า โดยจะฉีด 3 เข็มในวันที่ 0, 7, 21 หรือ 28 โดยการฉีดเข้ากล้ามเนื้อหรือฉีดผิวหนัง (ฉีดเข้ากล้ามเนื้อจะสามารถกระตุ้นภูมิคุ้มกันได้ดีกว่า) หลังจากรับวัคซีนครบ 7-10 วัน ร่างกายก็จะสร้างภูมิคุ้มกันที่สูงพอที่จะป้องกันโรคได้แล้ว เป็นวิธีที่แนะนำ เพราะเป็นการป้องกันก่อนเกิดเหตุ
ฉีดวัคซีนพิษสุนัขบ้าหลังสัมผัสโรค
เพื่อกระตุ้นให้ร่างกายรีบสร้างภูมิคุ้มกันโรคขึ้นมา โดยจะมีรายละเอียดที่ต่างกันสำหรับคนที่เคยรับวัคซีน และไม่เคยรับวัคซีนมาก่อน
- คนที่เคยรับวัคซีน – ฉีดกระตุ้น 1-2 เข็ม
- ไม่เคยรับวัคซีนมาก่อน – ต้องฉีดวัคซีน 4-5 เข็มในเวลา 28 วัน และอาจต้องฉีดอิมมูโนโกลบินร่วมด้วยตามระดับความรุนแรงซึ่งแพทย์จะเป็นผู้วินิจฉัย
ฉีดวัคซีนพิษสุนัขบ้าฟรี! มีที่ไหนบ้าง?
วัคซีนพิษสุนัขบ้าฟรีสำหรับสัตว์เลี้ยง
วัคซีนพิษสุนัขบ้าน้องหมาแมวฟรี จะมีหน่วยงานต่าง ๆ ออกโครงการฉีดวัคซีนพิษสุนัขบ้าฟรีทุกปี เช่น กรมปศุสัตว์กับการฉีดวัคซีนพิษสุนัขบ้าฟรีทั่วประเทศ ซึ่งเกิดขึ้นทุกปี โดยสามารถติดตามข่าวสารได้จากหน่วยงานท้องถิ่น และยังมีโครงการอื่น ๆ ของภาครัฐและเอกชนอีกด้วย หากคุณเลี้ยงหมา เลี้ยงแมว และต้องการฉีดฟรีจึงควรติดตามข่าวสารอยู่ตลอด หรือหากใครไม่สะดวกก็สามารถพาน้องไปรับวัคซีนกับสัตวแพทย์โดยเสียค่าบริการได้เช่นกัน
ประกันสังคมคุ้มครองการฉีดวัคซีนพิษสุนัขบ้ามั้ย?
สำหรับคนที่มีสิทธิประกันสังคม แล้วโดนหมาแมวกัด สามารถใช้สิทธิ์ฉีดวัคซีนฟรี ไม่มีค่าใช้จ่ายและเข้ารับการรักษาได้ที่ รพ.ตามสิทธิประกันสังคมที่เลือกไว้ (วัคซีนก่อนสัมผัสโรคไม่สามารถเบิกได้)
โดยหากเกิดเหตุฉุกเฉินแล้วไปรักษาที่โรงพยาบาลที่นอกสิทธิ์ สามารถสำรองไปแล้วยื่นเรื่องเบิกได้ (เฉพาะเข็มแรก) เข็มต่อไปจะฉีดฟรีต่อเมื่อรักษากับโรงพยาบาลตามสิทธิ์ หากไม่เข้ารักษาตามโรงพยาบาลตามสิทธิ์ก็ต้องจ่ายค่ารักษาด้วยตัวเอง
ประกันอุบัติเหตุคุ้มครองวัคซีนพิษสุนัขบ้ามั้ย?
สำหรับคนเลี้ยงหมาเลี้ยงแมวแล้วถูกกัด หรือถูกสัตว์จรจัดกัด แต่มีการทำประกันอุบัติเหตุไว้แล้วก็อุ่นใจได้ เพราะประกันคุ้มครองค่ารักษาพยาบาลเมื่อสุนัขกัดหรือข่วน รวมไปถึงการฉีดพิษสุนัขบ้าด้วย แม้วัคซีนป้องกันโรคพิษสุนัขบ้าต้องฉีด 4-5 เข็ม ประกันอุบัติเหตุก็จะคุ้มครองทั้งหมดเพราะเป็นการรักษาต่อเนื่องและอยู่ในความคุ้มครองของประกัน แต่การฉีดวัคซีนหรือขั้นตอนการรักษาขึ้นอยู่กับความเห็นของแพทย์ผู้รักษาเท่านั้น
วิธีป้องกันโรคพิษสุนัขบ้า
1. ป้องกันสัตว์เป็นโรค
หากคุณเลี้ยงสุนัขหรือแมวควรพาไปฉีดวัคซีนป้องกันโรคพิษสุนัขบ้า โดยเจ้าของที่เลี้ยงหมาเลี้ยงแมวสามารถพาไปฉีดครั้งแรกเมื่ออายุ 3-4 เดือน และฉีดเข็มต่อไปทุกปีตามกำหนด
และหากพบสัตว์ตายผิดปกติ ให้ส่งซากไปตรวจหาเชื้อโรค โดยในกรุงเทพ สามารถส่งตรวจได้ที่สถานเสาวภา สภากาชาดไทย และต่างจังหวัดส่งที่สำนักงานปศุสัตว์จังหวัดและอำเภอ และสำหรับคนเลี้ยงหมาเลี้ยงแมวหรือใกล้ชิดสัตว์ สามารถฉีดวัคซีนเพื่อป้องกันไว้ตั้งแต่ก่อนสัมผัสโรคได้
2. ป้องกันการถูกกัด
เจ้าของที่เลี้ยงหมาเลี้ยงแมว ไม่ควรปล่อยสัตว์เลี้ยงออกนอกบ้านหรือพาหมาเที่ยวโดยไม่มีคนตามดูแล เพราะอาจถูกสัตว์ที่ติดเชื้อกัดได้ หากต้องพาออกไปให้ใส่สายจูงหรือหากเราไม่ว่างจริง ๆ ก็ให้เลี้ยงหมาในบ้านหรือในรั้วบ้านและระมัดระวังไม่ให้ไปรับเชื้อจากสัตว์อื่น
ที่สำคัญอีกอย่างคือพฤติกรรมของเราด้วย ไม่ควรแหย่ให้สัตว์โมโห, อย่าเหยียบ หาง ขา หรือทำให้สัตว์ตกใจ, อย่าแยกสัตว์ที่กำลังกัดกัน, อย่าเคลื่อนย้ายอาหารขณะสัตว์กำลังกิน และอย่ายุ่งหรือเข้าใกล้สัตว์ไม่มีเจ้าของ
3. ป้องกันหลังถูกกัด
การป้องกันหลังถูกกัดเป็นเรื่องสำคัญ โดยต้องรีบล้างแผลด้วยน้ำและสบู่อย่างเบามือนานอย่างน้อย 15 นาที ใส่ยาฆ่าเชื้อที่บาดแผล เช่น ยาเบตาดีน ไปพบแพทย์เพื่อฉีดวัคซีนป้องกันโรคพิษสุนัขบ้าให้ครบตามกำหนด และหากเป็นไปได้ให้กักพื้นที่สัตว์ที่กัดเพื่อดูอาการ 10 วัน และส่งตรวจหาเชื้อโรคพิษสุนัขบ้า
โรคพิษสุนัขบ้ายังไม่มียารักษาในปัจจุบัน ดังนั้นการป้องกันและการรับการรักษาที่ทันท่วงทีจึงมีความสำคัญมาก คนที่เลี้ยงสุนัขเลี้ยงแมวควรป้องกันสัตว์เลี้ยงโดยการพาไปฉีดวัคซีนพิษสุนัขบ้าทุกปี หากสัมผัสกับสัตว์ที่อาจเป็นพาหะ ควรรีบพบแพทย์เพื่อรับวัคซีนและดูแลอย่างเหมาะสม
สามารถติดตามข่าวสาร สาระความรู้เกี่ยวกับสุขภาพ รถยนต์ มอเตอร์ไซค์ รวมถึงประกันภัยออนไลน์ต่าง ๆ จากรู้ใจได้ที่ Facebook Page: Roojai หรือคลิกที่นี่เพื่อเพิ่มเราเป็นเพื่อนใน LINE ได้เลย (Official Line ID: @roojai)
คำจำกัดความ
วัคซีน | สารที่ฉีดเข้าไปร่างกาย เพื่อกระตุ้นให้ร่างกายสร้างภูมิคุ้มกันต่อโรคต่าง ๆ โดยวัคซีนทำจากเชื้อโรคที่อ่อนแอหรือเชื้อที่ตายแล้ว |
ภูมิคุ้มกัน | ระบบในร่างกายที่ทำหน้าที่ป้องกันและต่อต้านสิ่งแปลกปลอมที่เข้ามาในร่างกาย เช่น เชื้อแบคทีเรีย ไวรัส และสารพิษต่าง ๆ ที่อาจก่อให้เกิดโรค |