หากจะให้มีการจัดอันดับสถิติการเกิดอุบัติเหตุที่มีการเสียชีวิตและบาดเจ็บมากที่สุดของคนไทย เห็นจะไม่พ้นอุบัติเหตุบนท้องถนน ที่แม้แต่องค์การอนามัยโลกหรือ WHO ยังจัดอันดับให้ถนนในประเทศไทยเป็นถนนที่อันตรายที่สุดในอาเซียน โดยวัดจากสถิติการเกิดอุบัติเหตุบนท้องถนน เช่น อุบัติเหตุรถจักรยานยนต์ อุบัติเหตุรถชน หรือแม้แต่การเดินข้ามถนนบนทางม้าลาย ก็เกิดอุบัติเหตุจนมีการเสียชีวิตมาแล้ว
- สถิติอุบัติเหตุบนท้องถนนไทย
- สถิติอุบัติเหตุและการเจ็บป่วยจากการทำงาน
- อุบัติเหตุรอบตัว เกิดจากอะไรได้บ้าง?
วันนี้รู้ใจ จะมาเจาะลึกถึงอุบัติเหตุและการบาดเจ็บที่เกิดขึ้นมากที่สุดของคนไทย ที่ไม่ใช่แค่อุบัติเหตุบนท้องถนนอย่างเดียว มีอุบัติเหตุอะไรบ้างที่เกิดขึ้นบ่อย สาเหตุของการเกิดอุบัติเหตุในประเทศไทย ทั้งนี้ จุดประสงค์ของบทความนี้เพื่อต้องการให้คุณผู้อ่านทุกท่าน มีสติ และใช้ชีวิตด้วยความระมัดระวังเพื่อลด เลี่ยง การบาดเจ็บจากอุบัติเหตุ
สถิติอุบัติเหตุบนท้องถนนไทย
สถิติอุบัติเหตุบนท้องถนนไทยเทียบกับระดับโลก
ข้อมูลจากองค์การอนามัยโลก (WHO) ตามรายงาน Global Status Reports on Road Safety ปีล่าสุดปี 2023 (ใช้ข้อมูลปี 2021) ทุกปีมีผู้เสียชีวิตจากอุบัติเหตุทางถนนกว่า 1.19 ล้านคน หรือคิดเป็น 15 คนต่อแสนประชากร โดย 92% เกิดขึ้นในประเทศรายได้ต่ำและปานกลาง น่าสนใจว่า ภูมิภาคที่มีสัดส่วนการเกิดอุบัติเหตุสูงที่สุด คือ ภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ซึ่งเป็นกลุ่มวัยเด็กและวัยรุ่น 5-29 ปี โดยก่อให้เกิดความสูญเสียมูลค่ากว่า 63 ล้านล้านบาท
สำหรับในประเทศไทย ก็มีผู้เสียชีวิตจากอุบัติเหตุทางถนนถึง 18,218 คน หรือ 25 คนต่อแสนประชากร ซึ่งน่ากังวลในเรื่องอัตราการสวมหมวกกันน็อกและคาดเข็มขัดนิรภัย
- อัตราการสวมหมวกกันน็อกในประเทศไทยยังต่ำ โดยคนขับสวมหมวกกันน็อกค่าเฉลี่ย 52% และคนซ้อนสวมหมวกกันน็อกเพียง 21% ซึ่งต่ำกว่าค่าเฉลี่ยทั่วโลกที่อยู่ 80% และ 70% ตามลำดับ
- อัตราการคาดเข็มขัดนิรภัย ทั้งคนขับและผู้โดยสารค่าเฉลี่ยเพียง 35.7% ในขณะที่ทั่วโลกอยู่ที่ 80% สำหรับคนขับ 70% สำหรับผู้โดยสารข้างหน้า และ 50% สำหรับผู้โดยสารนั่งหลัง
(ที่มา: hfocus.org)
สถิติอุบัติเหตุบนท้องถนนไทยปี 2566
ในปี 2566 มีรายงานผู้ประสบภัยเหตุอุบัติเหตุบนท้องถนนถึง 822,798 ครั้ง ตามรายงานของศูนย์ข้อมูลอุบัติเหตุ สร้างวัฒนธรรมความปลอดภัยทางถนน หรือ ThaiRSC โดยมีผู้เสียชีวิต 14,119 คน ผู้ได้รับบาดเจ็บ 808,479 คน และทุพพลภาพ 200 คน โดยส่วนใหญ่เกิดขึ้นในกรุงเทพและปริมณฑลกว่า 26.11% นอกจากนั้น
- ประเภทรถที่เกิดอุบัติเหตุมากที่สุดคือ อุบัติเหตุรถจักรยานยนต์ คิดเป็น 78.55%
- ช่วงอายุที่เกิดอุบัติเหตุมากที่สุด คือ 36 – 60 ปี หรือคิดเป็น 30.30% รองลงมาคือช่วงอายุ 25 – 35 ปีคิดเป็น 22.13%
- เดือนที่เกิดอุบัติเหตุมากที่สุดคือเดือนธันวาคมคิดเป็น 9.66%
- ช่วงเวลาที่เกิดอุบัติเหตุมากที่สุดคือ 14.00-17.59 น. คิดเป็น 23.91%
- จังหวัดที่เกิดอุบัติเหตุมากที่สุดคือกรุงเทพมหานคร เกิด 144,094 ครั้ง
(ที่มา: รายงานสถิติผู้ประสบภัยจากรถทั่วประเทศ – thairsc.com)
ส่อง! สถิติอุบัติเหตุทางถนนปี 2567
ตั้งแต่ต้นปี – 18 กรกฎาคม ผ่านมาแล้วเป็นเวลากว่า 7 เดือน สถิติอุบัติเหตุทางถนนมีผู้เสียชีวิตกว่า 7,884 คน และผู้ได้รับบาดเจ็บ 462,703 คน โดยเป็นเพศชายกว่า 75.75% และเพศหญิง 24.25% และรถที่ผู้บาดเจ็บและเสียชีวิตใช้ ส่วนใหญ่เป็นอุบัติเหตุรถจักรยานยนต์กว่า 82% (ที่มา: thairsc.com) ซึ่งจะเห็นได้ว่าการขับมอเตอร์ไซค์มีความเสี่ยงสูง เพื่อไม่ให้ต้องรับมือค่ารักษาพยาบาลยามบาดเจ็บจากอุบัติเหตุ การทำประกันอุบัติเหตุก็เป็นอีกทางเลือกที่ช่วยเซฟ ประกันอุบัติเหตุส่วนบุคคลที่รู้ใจ เบี้ยเริ่มต้นปีละ 61 บาท ปรับความคุ้มครองตามใจ แถมเลือกเพิ่มความคุ้มครองขับขี่และโดยสารรถมอเตอร์ไซค์ ไปจนถึงการแข่งกีฬาอันตรายได้อีกด้วย
สถิติอุบัติเหตุและการเจ็บป่วยจากการทำงาน
ตามรายงานสถานการณ์การประสบอันตรายหรือเจ็บป่วยเนื่องจากการทำงาน ของสำนักงานประกันสังคม พบว่า การประสบอันตรายหรือเจ็บป่วยเนื่องจากการทำงาน ปี 2566 มีผู้ได้รับบาดเจ็บ 81,509 คน เสียชีวิต 610 คนหรือ 0.75%
- ทุพพลภาพ 14 คนหรือ 0.02%
- สูญเสียอวัยวะบางส่วน 892 หรือ 1.09%
- หยุดงานเกิน 3 วัน 23,948 หรือ 29.37%
- หยุดงานไม่เกิน 3 วัน 56,045 หรือ 68.77%
โดย 3 สาเหตุการเกิดอุบัติเหตุหลัก ๆ ที่ทำให้ลูกจ้างประสบความอันตรายและเจ็บป่วยจากการทำงาน คือ
- อันดับ 1 คือ ถูกสิ่งของตัด บาด ทิ่มแทง รวม 19,702 คน
- อันดับ 2 คือ วัตถุพังทลายหรือหล่นทับ รวม 12,189 คน
- และอันดับ 3 คือ ถูกสิ่งของกระแทกหรือชน รวม 11,837 คน
(ที่มา: สถานการณ์การประสบอันตรายหรือเจ็บป่วยเนื่องจากการทำงาน ปี 2562 – 2566 – sso.go.th)
อุบัติเหตุรอบตัว เกิดจากอะไรได้บ้าง?
นอกจากอุบัติเหตุจากการทำงานและอุบัติเหตุรถชนแล้ว ยังมีอุบัติเหตุรอบ ๆ ตัวที่เกิดขึ้นบ่อย โดยสาเหตุการเกิดอุบัติเหตุ มีดังนี้
1. อุบัติเหตุจากการลื่นล้ม
การหกล้ม ลื่นล้มเป็นสาเหตุอันดับต้นของประเทศไทยในการเกิดอุบัติเหตุ ที่สามารถเกิดได้ทั้งกับเด็กและผู้ใหญ่ อาจเกิดขึ้นในบ้าน นอกบ้าน ไปจนถึงการบาดเจ็บจากการเล่นกีฬาโดยที่อาการบาดเจ็บมีทั้งในระดับเล็กน้อย เช่น ฟกช้ำ ไปจนถึงกระดูกหัก หรือบาดเจ็บร้ายแรง ในการเข้ารับการรักษาในอุบัติเหตุหกล้มนั้น หากมีอาการชาบริเวณใดบริเวณหนึ่ง หรืออาการบาดเจ็บไม่ดีขึ้น ควรพบแพทย์เพื่อตรวจวินิจฉัยถึงอาการบาดเจ็บและทำการรักษา
2. อุบัติเหตุที่เกิดจากของมีคม
เป็นอุบัติเหตุในบ้านที่เกิดขึ้นได้บ่อย เช่น มีดบาด หรือโดนคัตเตอร์บาด แม้จะเป็นอุบัติเหตุเพียงเล็กน้อยที่เกิดขึ้นได้บ่อยในบ้านจนดูเป็นเรื่องปกติ แต่เพื่อความปลอดภัยต้องไม่ลืมว่าทั้งมีดทำครัว หรือคัตเตอร์นั้น ผ่านการใช้งานอะไรไปบ้าง มีสนิมหรือไม่ เพราะบาดแผลเพียงเล็กน้อยแต่อาจทำให้เกิดการติดเชื้อ หรือเป็นบาดทะยักได้ ทำให้การรักษาแผลทั่วไปอาจไม่เพียงพอ อาจต้องพบแพทย์เพื่อทำแผลอย่างถูกต้องและรับวัคซีนป้องกันบาดทะยัก
3. อุบัติเหตุจากการพลัดตกจากที่สูง
การพลัดตกจากที่สูงเป็นทั้งอุบัติเหตุในบ้าน ที่ทำงาน หรือนอกสถานที่ เช่น ตกบันได ตกต้นไม้ หรือสะดุดล้มตรงบันไดเลื่อน โดยอุบัติเหตุเหล่านี้ส่วนใหญ่อาการบาดเจ็บค่อนข้างเร่งด่วนและร้ายแรงพอสมควร โดยมักจะเกิดการบาดเจ็บที่สะโพก ข้อเท้า แขน ขา หลัง เป็นต้น แต่หากเกิดอุบัติเหตุบริเวณต้นคอ หรือส่วนคอ ไม่ควรเคลื่อนย้ายผู้บาดเจ็บเพราะอาจสร้างอาการบาดเจ็บเพิ่มมากขึ้น ควรเรียกกู้ภัยหรือรถพยาบาล และรอให้เจ้าหน้าที่ทำการเคลื่อนย้ายผู้บาดเจ็บตามวิธีการที่ถูกต้องจะดีกว่า
4. อุบัติเหตุจากการถูกสัตว์กัดหรือข่วน
อุบัติเหตุในบ้านสำหรับบ้านที่มีสัตว์เลี้ยง เช่น สุนัข แมว เป็นเรื่องปกติที่เจ้าของจะโดนสัตว์เลี้ยงตนเองข่วน หรืองับ ไม่ว่าจะเป็นจากการเล่นกัน หรือจากการที่สัตว์เลี้ยงตกใจ แต่บาดแผลที่เกิดจากสัตว์เลี้ยงนั้น ส่วนใหญ่เจ้าของจะนิ่งนอนใจเพราะคิดว่าเป็นสัตว์เลี้ยงในบ้าน ไม่น่าจะมีปัญหาอะไร แต่จริงๆ แล้ว การถูกสัตว์เลี้ยงกัด หรือข่วนจนมีเลือดออกควรไปพบแพทย์ทำแผลเพื่อความปลอดภัย และแพทย์อาจมีการพิจารณาฉีดวัคซีน หากซักประวัติแล้วมีความเสี่ยงต่อการติดเชื้อ
อุบัติเหตุและความปลอดภัยเป็นสิ่งที่ต้องตระหนักถึงเป็นอันดับแรก ๆ โดยเฉพาะเมื่อเราอยู่บนความเสี่ยง เช่น การทำงานกับเครื่องจักรใหญ่ การขับขี่มอเตอร์ไซค์ เป็นต้น แม้การทำประกันภัยอุบัติเหตุจะช่วยซัปพอร์ตค่ารักษาพยาบาล แต่จะดีกว่ามั้ยหากเราเตรียมการป้องกันอุบัติเหตุไว้ก่อน แบบนี้นอกจากไม่เสียตังค์ และยังไม่เจ็บตัวอีกด้วย
สามารถติดตามข่าวสาร สาระความรู้เกี่ยวกับสุขภาพ รถยนต์ มอเตอร์ไซค์ รวมถึงประกันภัยออนไลน์ต่าง ๆ จากรู้ใจได้ที่ Facebook Page: Roojai หรือคลิกที่นี่เพื่อเพิ่มเราเป็นเพื่อนใน LINE ได้เลย (Official Line ID: @roojai)
คำจำกัดความ
บาดทะยัก | โรคที่เกิดจากตัวเชื้อโรคที่ชื่อบาดทะยัก เข้าสู่แผลแล้วปล่อยสารพิษออกมาทำลายระบบประสาท ทำให้มีอาการเกร็งที่กล้ามเนื้อ เมื่อเชื้อเข้าสู่ระบบประสาทจะใช้เวลานานหลายเดือนกว่าจะฟื้นตัวจากการติด เชื้อบาดทะยัก |
ทุพพลภาพ | การสูญเสียอวัยวะหรือสมรรถภาพทางร่างกายหรือจิตใจ จนทำให้ความสามารถในการทำงานลดลงหรือไม่สามารถประกอบการงานตามปกติได้ |