Roojai

การตรวจภายในควรเริ่มตั้งแต่อายุเท่าไหร่? ความสำคัญและวิธีเตรียมตัว

ความสำคัญของการตรวจภายใน

การตรวจภายในสำหรับผู้หญิง ยังเป็นเรื่องที่หลาย ๆ คนยังรู้สึกว่าไม่กล้า อาย ที่จะไปตรวจ โดยอาจกลัวเจ็บ และยิ่งหากคุณหมอเป็นผู้ชายด้วยยิ่งไม่กล้าไปตรวจเข้าไปใหญ่ แต่สาว ๆ จ๋า อย่ากลัวไปเลย เพราะถ้าละเลยไม่ตรวจเพียงเพราะอาย อนาคตที่ไม่แน่นอนถ้าเกิดโชคร้ายเจอมะเร็งในระยะปลาย ๆ แล้วจะรักษาลำบาก

ในบทความนี้จะพาทุกคนเปิดใจและทำความเข้าใจกับการตรวจภายในใหม่ เพราะการตรวจภายในสามารถช่วยลดความเสี่ยงต่อการเกิดโรคมะเร็งปากมดลูก หรือมะเร็งในผู้หญิงได้ เรามาดูกันว่า การตรวจภายในควรเริ่มตั้งแต่อายุเท่าไหร่ และมีขั้นตอนอย่างไรบ้าง รวมถึงวัยรุ่นหรือสาวท่านไหนที่ยังไม่เคยไปตรวจ รู้ใจมีวิธีเตรียมตัวสำหรับสาว ๆ ที่เพิ่งจะไปตรวจเป็นครั้งแรกมาฝากกันด้วย

สนใจอ่านแค่บางเรื่อง ก็เลือกได้เลย!

การตรวจภายใน คืออะไร?

การตรวจภายใน หรือการตรวจพีวี (Per Vaginal Examination) เป็นการตรวจสุขอนามัยภายในช่องคลอดของเพศหญิง โดยแพทย์จะใช้เครื่องมือที่มีลักษณะเหมือนปากเป็ด สอดเข้าไปที่ช่องคลอดและจะตรวจด้วยมือ เพื่อประเมินความผิดปกติภายในของอวัยวะอุ้งเชิงกราน

การตรวจภายในควรเริ่มตั้งแต่อายุเท่าไหร่?

สำหรับการตรวจภายในของเพศหญิงนั้น อายุที่ควรเริ่มตรวจจะอยู่ที่ประมาณ 21-30 ปี หรือหากมีเพศสัมพันธ์ก่อนอายุที่กล่าวมา สามารถเข้ารับการตรวจได้เลย และแนะนำให้ตรวจทุกปีแม้จะไม่มีอาการใด ๆ เพื่อลดความเสี่ยงต่อการเกิดโรคร้าย

โดยทั่วไปหลังจากการตรวจภายใน จะสามารถทราบผลได้เลยภายในวันที่เข้ารับการตรวจ แต่หากเป็นกรณีตรวจคัดกรองมะเร็งปากมดลูกทั้งวิธีแปปสเมียร์หรือตินเพร็พ จะต้องรอผลจากทางห้องแล็บเป็นเวลาไม่เกิน 7 วัน ทางแพทย์จะโทรแจ้งหรือนัดเข้ามาฟังผลการตรวจ หากพบสิ่งผิดปกติก็จะวางแผนการรักษาต่อไป

สัญญาณเตือนจากร่างกาย ที่บอกให้คุณรีบไปตรวจภายใน

ถ้าหากมีอาการเหล่านี้ ไม่ควรนิ่งนอนใจ ควรไปพบแพทย์โดยด่วน

  • ประจำเดือนมามากหรือมาน้อยจนผิดปกติ หรือมาไม่สม่ำเสมอ
  • มีตกขาวเยอะจนผิดปกติ หรือมีกลิ่น และคัน
  • มีเลือดออกทางช่องคลอด
  • เจ็บหรือมีอาการแสบขณะมีเพศสัมพันธ์
  • ไม่สามารถกลั้นปัสสาวะได้ 
  • คลำบริเวณท้องแล้วเจอก้อน
  • ท้องโตจนผิดปกติ
ตรวจภายใน ใช้สิทธิประกันสังคมได้มั้ย

การตรวจภายในของผู้หญิงสำคัญยังไง?

ความสำคัญของการตรวจภายในสำหรับผู้หญิง เพื่อเป็นการเช็คความเสี่ยงของการเกิดโรคต่าง ๆ เช่น การติดเชื้อราหรือเชื้อแบคทีเรียในช่องคลอด หรือการติดโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ เช่น หนองใน ซิฟิลิส HPV ซึ่งหากตรวจภายในเป็นประจำทุกปีจะได้ทราบถึงความผิดปกติเช่นนี้ และจะสามารถหาทางรักษาได้อย่างทันท่วงที ก่อนที่มันจะสายกลายไปเป็นโรคที่ร้ายแรงขึ้น 

ตรวจภายใน ราคาเท่าไหร่? ใช้ประกันสังคมได้หรือไม่?

การตรวจภายในของผู้หญิง สามารถไปตรวจได้ที่คลินิกที่รับตรวจภายใน และโรงพยาบาล โดยราคาตรวจภายในสำหรับผู้หญิงจะแตกต่างกันแล้วแต่อาการที่มาพบแพทย์ โดยการตรวจภายในที่คลินิกและโรงพยาบาลเอกชน ส่วนใหญ่ค่าตรวจภายในเริ่มต้นตั้งแต่ 1,000 บาทเป็นต้นไป หากตรวจภายในที่โรงพยาบาลรัฐ ค่าตรวจภายในเริ่มต้นตั้งแต่ 300 บาท  

สำหรับคนที่มีประกันสังคมแล้วมีอาการผิดปกติในร่างกาย เช่น ปวดท้องประจำเดือนมากผิดปกติ ตกขาวผิดปกติ ให้เราไปตรวจที่โรงพยาบาลที่มีสิทธิประกันสังคม หากแพทย์วินิจฉัยว่าควรตรวจภายใน การรักษา หรือจำเป็นต้องมีการอัลตราซาวด์จะถูกส่งไปที่แผนกสูตินารีเวช และสามารถใช้สิทธิ์ได้ โดยประกันสังคมจะครอบคลุมการตรวจรักษา การให้ยา และหัตถการทางการแพทย์ที่จำเป็น แต่หากเป็นการตรวจเพื่อเช็คสุขภาพจะไม่สามารถใช้สิทธิประกันสังคมได้ 

วิธีการเตรียมตัวก่อนตรวจภายใน

  1. งดเข้ารับการตรวจภายในระหว่างการมีประจำเดือน และควรให้ประจำเดือนหมด 7 วันค่อยเข้ารับการตรวจ เพื่อผลการตรวจที่แม่นยำ
  2. งดการมีเพศสัมพันธ์ก่อนการตรวจอย่างน้อย 1-2 วัน  
  3. งดการล้างสวนในช่องคลอด หรืองดการใช้ยาเหน็บก่อนการตรวจ 1-2 วัน 
  4. ก่อนเข้าตรวจควรขับถ่ายให้เรียบร้อย 
  5. ไม่จำเป็นต้องงดน้ำหรืออาหารก่อนการตรวจ 
  6. ไม่จำเป็นต้องโกนหรือแว็กซ์ขนที่อวัยวะเพศ 
  7. ไม่ต้องกังวลระหว่างการตรวจ 

ขั้นตอนการตรวจภายใน

  1. ก่อนการตรวจ แพทย์จะซักประวัติเกี่ยวกับอาการ หรือความผิดปกติก่อน
  2. เปลี่ยนชุดตามที่โรงพยาบาลได้จัดเตรียมไว้ให้ 
  3. เข้าห้องน้ำขับถ่ายและทำความสะอาดให้เรียบร้อย  
  4. ขึ้นนอนบนเตียงขาหยั่ง  
  5. แพทย์จะใช้อุปกรณ์ปากเป็ดโดยการเลือกขนาดตามความเหมาะสม ใส่เข้าไปในช่องคลอดเพื่อตรวจดูความผิดปกติภายในช่องคลอดและปากมดลูก
ค่าตรวจภายใน ราคาเท่าไหร่

โรคภายในของผู้หญิงมีอะไรบ้าง?

หากละเลยหรือไม่เคยตรวจภายในเลยแม้แต่ครั้งเดียว คุณกำลังเสี่ยงต่อการเป็นโรคต่าง ๆ เหล่านี้ 

1. เนื้องอกที่มดลูก

เนื่องอกสามารถพบได้บ่อยโดยเฉพาะในผู้หญิงวัยเจริญพันธุ์ โดยอาการเนื้องอกมีตั้งแต่แบบที่ไม่แสดงอาการ และแบบที่แสดงอาการแต่ไม่ทันสังเกต 

2. เยื่อบุโพรงมดลูกเจริญผิดที่

จะมีลักษณะเซลล์ที่เยื่อบุโพรงมดลูกเจริญเติบโตนอกมดลูก ซึ่งอาการที่แสดงออกส่วนใหญ่จะเป็นอาการปวดท้องประจำเดือนมากจนผิดปกติ 

3. ช่องคลอดเกิดการอักเสบ

เป็นอาการที่สามารถเกิดขึ้นได้กับผู้หญิงทุกวัย ส่วนใหญ่จะพบมากในวัยเจริญพันธุ์ ในช่องคลอดโดยธรรมชาติแล้วจะมีแบคทีเรียทั้งดี เช่น แลคโตบาซิลัส และแบคทีเรียที่ไม่ดี เช่น แอนแอโรบส์ ซึ่งหากมีแอนแอโรบส์มากเกินไปหรือแบคทีเรียในช่องคลอดเกิดการเสียสมดุล ก็เป็นสาเหตุให้เกิดอาการช่องคลอดอักเสบได้เช่นกัน 

4. มะเร็งปากมดลูก

มะเร็งปากมดลูกเป็นสาเหตุการตายอันดับ 1 ของผู้หญิงในประเทศไทย มะเร็งปากมดลูกเกิดจากไวรัสฮิวแมนแปปปิโลมาไวรัส หรือไวรัส HPV ซึ่งจะติดต่อผ่านการมีเพศสัมพันธ์ หากไม่ได้รับการรักษาเชื้อ HPV นี้อาจทำให้เซลล์ที่อยู่บริเวณปากมดลูกเกิดความผิดปกติ และกลายเป็นเซลล์มะเร็งได้ในที่สุด

รู้มั้ย ประกันสังคมมอบสิทธิ์ตรวจคัดกรองมะเร็งปากมดลูกฟรี!

ประกันสังคมมอบสิทธิ์ตรวจคัดกรองมะเร็งปากมดลูกและตรวจเต้านมฟรี นอกจากนั้นยังสามารถตรวจร่างกายอื่น ๆ ฟรีรวม 14 รายการได้อีกด้วย สำหรับการตรวจมะเร็งปากมดลูกและตรวจเต้านมต้องเป็นผู้ประกันตนมาตรา 33 และ 39 ที่อายุ 30 ปี ขึ้นไป โดยสามารถติดตามรายชื่อโรงพยาบาลได้ที่ เว็บไซต์ประกันสังคม

5. มะเร็งรังไข่

สัญญาณของมะเร็งรังไข่ เช่น ตัวผอมแต่ท้องป่อง ปวดท้องบ่อย ๆ แม้ไม่ใช่ช่วงประจำเดือน เหล่านี้เป็นสัญญาณเตือนของอาการมะเร็งรังไข่ โดยจะทำให้เกิดก้อนเนื้อบริเวณรังไข่และจะมีขนาดที่โตขึ้นเรื่อย ๆ จนถึงระยะแพร่กระจาย ซึ่งมักจะกระจายไปตามเยื่อบุช่องท้องและเข้ากระแสเลือดหรือน้ำเหลือง 

การตรวจร่างกายรวมไปถึงการตรวจภายในทุกปีเป็นเหมือนการป้องกันการเกิดโรค หรือหากมีอะไรที่ผิดปกติเกิดขึ้น จะได้มีการวางแผนรักษาได้ทันท่วงที และอีกหนึ่งอาวุธป้องกันทางการเงินคือ การทำประกันมะเร็งเผื่อเอาไว้ เพราะเราไม่มีทางรู้ได้เลยว่าในอนาคตจะเกิดอะไรขึ้นบ้าง ยิ่งใครที่มีคนในครอบครัวมีประวัติเคยเป็นมะเร็งปากมดลูกมาก่อน ยิ่งควรทำประกันเพราะมีความเสี่ยงมากกว่าคนอื่น ๆ

ตรวจภายใน ตรวจอะไรบ้าง

หากไม่เคยมีเพศสัมพันธ์เลย ต้องตรวจภายในหรือไม่?

หากไม่เคยมีเพศสัมพันธ์เลย แต่ถึงอย่างไรก็ต้องทำการตรวจภายในผู้หญิงอยู่ดี เพราะปัญหาภายในไม่ได้มีแค่มะเร็งปากมดลูกเพียงอย่างเดียว อาจมีความไม่สมดุลเกิดขึ้นภายในระบบสืบพันธุ์ของเราอยู่ก็ได้ นี่จึงเป็นเหตุผลที่ผู้หญิงทุกคนควรตรวจภายในทุกปี  

เชื่อว่าคงได้คำตอบของคำถามที่ว่า การตรวจภายในควรเริ่มตั้งแต่อายุเท่าไหร่? รวมไปถึงความสำคัญ ค่าตรวจภายใน และวิธีการตรวจภายในด้วย ซึ่งสำหรับคนที่ยังกลัว อยากให้เพิ่มความกล้าแล้วลองไปสักครั้งหนึ่ง ตรวจภายในผู้หญิงไม่ใช่เรื่องน่ากลัวหรือน่าอายอย่างที่คิด และผลของการตรวจจะทำให้เรารู้ทันโรคต่าง ๆ ไปจนถึงโรคร้ายที่อาจเกิดขึ้น เช่น มะเร็ง ยังเป็นการเพิ่มโอกาสในการรักษาอีกด้วย 

สามารถติดตามข่าวสาร สาระความรู้เกี่ยวกับสุขภาพ รถยนต์ มอเตอร์ไซค์ รวมถึงประกันภัยออนไลน์ต่าง ๆ จากรู้ใจได้ที่ Facebook Page: Roojai หรือคลิกที่นี่เพื่อเพิ่มเราเป็นเพื่อนใน LINE ได้เลย (Official Line ID: @roojai) 

คำจำกัดความ

ซิฟิลิส เป็นโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ชนิดหนึ่ง ผ่านทางการสัมผัสกับสารคัดหลั่ง ทำให้เกิดการติดเชื้อแบคทีเรียโพนีมา พาลลิดัม
เครื่องมือที่มีลักษณะเหมือนปากเป็ด คีมปากเป็ดหรือที่เรียกว่า Speculum เป็นเครื่องมือที่ไว้สำหรับถ่างหรือขยายช่องคลอด ใช้ในการตรวจภายในสำหรับผู้หญิง
แปปสเมียร์หรือตินเพร็พ เป็นหนึ่งในวิธีการตรวจคัดกรองมะเร็งปากมดลูก โดยแพทย์จะทำการสะกิดชิ้นเนื้อบริเวณที่แพทย์สงสัย นำไปตรวจในห้องแล็บเพื่อค้นหาเซลล์มะเร็งนั่นเอง