Roojai

โรคแพนิค ความวิตกกังวลที่ควรรักษา คนเป็นอาจไม่รู้ตัว!

ทำไมความคุ้มครองประกันมะเร็งถึงสำคัญ? (cover) | รู้ใจ

หลายคนอาจจะเคยได้ยินชื่อ โรคแพนิค ศัพท์ด้านการเจ็บป่วยที่ดูเก๋ไก๋ไม่เหมือนใครในปัจจุบันนี้ ความเป็นจริงแล้วสำหรับผู้ที่เจ็บป่วยด้วย อาการแพนิค นั้นถือเป็นเรื่องใหญ่และมันอาจส่งผลต่อการใช้ชีวิตเป็นอย่างมาก

อะไรคือโรคแพนิคและกลุ่มอาการของโรคนี้เป็นอย่างไร สิ่งที่รับรู้กันมาโดยตลอดว่าโรคนี้มันมีความเกี่ยวข้องกับความกลัว แล้วความกลัวแบบไหนคือ “อาการแพนิค” รู้ใจจะพาคุณไปเข้าใจกับอาการป่วยนี้ให้มากขึ้น เพื่อที่คุณจะสามารถรับมือกับมันได้หากเกิดขึ้นกับตัวเอง หรือแม้แต่คนรอบข้างก็ตาม

รู้จักและเข้าใจกับภาวะป่วยในโรคแพนิค

การเจ็บป่วยในรูปแบบของ โรคแพนิค นั้น ทางการแพทย์ได้ระบุนิยามสั้น ๆ เอาไว้ว่าเป็น “ความวิตกกังวลที่ไม่สมเหตุสมผล” อาการป่วยในรูปแบบของ โรคแพนิค (Panic Disorder) คืออาการตื่นตระหนกมากจนเกินไป ทำให้มีผลตามมาต่อการตอบสนองต่อความวิตกกังวลเหล่านั้น เช่น การหวั่นวิตกว่าตนเองเจ็บป่วยมากจนเกินไปจนเกิดการตอบสนองที่ดูเหมือนผิดปกติ เช่น มีอาการปวดหัวเพียงเล็กน้อยแต่เกิดความวิตกกังวลมากคิดว่าตนเองป่วยเป็นโรคมะเร็งสมอง เป็นต้น

บางสถานการณ์อาการแพนิคเกิดขึ้นจากการอยู่ในสภาวะแวดล้อมที่วิกฤตบางอย่าง ทำให้เกิดอาการหวั่นวิตก ควบคุมตัวเองไม่ได้ เช่น ในวงการดำน้ำที่มักเจออาการแบบนี้เป็นประจำคืออาการแพนิคเมื่อหลงทางใต้ทะเลหรือเมื่อเจอกระแสน้ำไหลเชี่ยว นักดำน้ำบางคนจะเกิดอาการแพนิคขึ้นมากะทันหัน ซึ่งทางการแพทย์อ้างว่าอาการเช่นนี้ไม่ถือว่าเป็นอาการเจ็บป่วย สามารถควบคุมตัวเองให้กลับมาอยู่ในภาวะปกติได้ แต่นับว่าเป็นอาการความวิตกกังวลมากเกินควรในอีกรูปแบบหนึ่งเช่นกัน

ทำไมความคุ้มครองประกันมะเร็งถึงสำคัญ? (1) | รู้ใจ

ทีนี้เราจะไปดูกันว่านอกจากเรื่องความกลัวและความวิตกกังวลจนยากจะควบคุมตัวเองได้ โรคแพนิคยังมีอาการอื่น ๆ ที่มักพบอยู่เป็นประจำด้วย ได้แก่

  • อาการใจสั่น หัวใจเต้นแรง
  • เหงื่อออกท่วมตัว เกิดอาการหนาว ๆ ร้อน ๆ
  • หายใจหอบถี่แรง จังหวะการหายใจสั้นและบ่อยครั้งไม่สามารถหายใจยาว ๆ ลึก ๆ ได้
  • อาการวิงเวียน ศีรษะ คลื่นไส้ เกิดอาการอยากอาเจียนแบบไม่ทราบสาเหตุ
  • กลัวไปหมดทุกสิ่ง ซึ่งบางรายถ้าผู้ป่วยมีอาการทางจิตในรูปแบบโฟเบีย (Phobia) จะมีปัญหาตามมาหนักมาก
  • ควบคุมตัวเองไม่ได้ ซึ่งอาการนี้พบบ่อยและเป็นปัญหาพื้นฐานของโรคแพนิค

ทางการแพทย์ระบุรายละเอียดของโรคแพนิคเอาไว้ว่า เป็นภาวะที่ร่างกายมีการเปลี่ยนแปลงฮอร์โมนโดยกะทันหันซึ่งมีผลมาจากสิ่งเร้าจากแวดล้อมรอบข้างทำให้ระบบประสาททำงานผิดปกติไปจากเดิม เหมือนกับไฟฟ้าลัดวงจร ส่งผลให้มีอาการต่าง ๆ ดังที่กล่าวมาข้างต้น อีกทั้งยังมีผลต่อรูปแบบการใช้ชีวิตอีกด้วย

“คุณกำลังป่วยเป็นโรคแพนิคอยู่หรือเปล่า?”

คุณอาจกำลังถามตัวเองอยู่ในใจว่า “ฉันป่วยเป็นโรคแพนิคด้วยหรือเปล่านะ?” ซึ่งต้องบอกว่าคุณยังไม่จำเป็นต้องมีความวิตกกังวลมากเกินไป เพราะอาการหวาดวิตก (Panic) รวมไปถึงอาการหวาดกลัว (Phobia) เป็นอาการที่อยู่คู่กับสภาวะทางอารมณ์และความรู้สึกของคุณอยู่แล้วในการใช้ชีวิตประจำวัน เพียงแต่ว่า! “มันมากจนเกินควบคุม” และอาจส่งผลต่อเนื่องในการดำรงชีวิตสำหรับผู้ป่วย จึงเป็นเหตุให้ต้องไปพบแพทย์เพื่อทำการวินิจฉัย หาสาเหตุ และทำการรักษา

แต่อีกประสบการณ์หนึ่งที่ไม่คาดคิดนั่นคือ การใช้ชีวิตร่วมกับผู้ที่ป่วยเป็นโรคแพนิค ซึ่งการป่วยในรูปแบบนี้ไม่มีอาการใดบ่งชี้เลยว่าบุคคลผู้นั้นป่วยเป็นโรคแพนิค จนกระทั่งเกิดภาวะบางอย่างที่สร้างความตระหนกตกใจแก่บุคคลผู้นั้นจึงมีการแสดงพฤติกรรมที่มักถูกเรียกว่า “ควบคุมอารมณ์ตัวเองไม่ได้ออกมา” เช่น ภรรยาป่วยเป็นโรคแพนิค เมื่อสามีปวดหัวเพียงเล็กน้อยแต่ภรรยากลับเห็นเป็นเรื่องใหญ่คอขาดบาดตาย ฟูมฟายเรียกร้องจะให้เอาเฮลิคอปเตอร์มารับสามีไปโรงพยาบาลให้ได้ วุ่นวายไปกันหมดกับคนรอบข้าง

ทำไมความคุ้มครองประกันมะเร็งถึงสำคัญ? (2) | รู้ใจ

เมื่อเกิดความสงสัยว่าตัวเองป่วยเป็นโรคแพนิคหรือไม่ สิ่งที่ดีที่สุดคือเรื่อง “การสังเกต” ที่ต้องอาศัยคนรอบข้าง เพราะโดยส่วนใหญ่แล้วปัญหาภาวะที่เกิดขึ้นจากสภาพจิตใจนั้นยากที่จะยอมรับโดยตัวผู้ป่วยเอง นั่นเพราะบ้านเราปลูกฝังความเชื่อผิด ๆ ว่า ถ้าคุณมีอาการป่วยทางจิต คุณคือคนบ้า ทั้ง ๆ ที่ อาการแพนิค นั้นไม่ได้รุนแรงถึงขนาดนั้น เพียงแต่ว่าหากขาดความรู้ความเข้าใจจะกลายเป็นการสร้างปัญหาจนไม่อาจใช้ชีวิตร่วมกับผู้อื่นได้

ดังนั้น อาการแพนิคอาจเกิดขึ้นกับคุณหรือคนรอบข้างได้ในกรณีที่อยู่ในภาวะวิกฤตบางอย่างที่ยากต่อการควบคุมสถานการณ์ ความจริงแล้วไม่ได้เป็นอาการที่น่ากลัวแค่ต้องทำความเข้าใจในโรคแพนิคนี้ให้มากพอ หากรู้ว่าตัวเองป่วยมีอาการแพนิคเกินไป ให้ยอมรับตัวเองและไปพบแพทย์ หรือหากเกิดขึ้นกับคนรอบข้าง ต้องทำความเข้าใจและพยายามหาทางรักษากันไป

โรคแพนิค มีวิธีการรักษายังไง?

สำหรับการรักษาผู้ป่วยโรคแพนิคในด้านการแพทย์นั้น แพทย์ผู้รักษาจะทำการตรวจอย่างละเอียดทั้งอัตราการเต้นของหัวใจและระดับของไทรอยด์ในเบื้องต้นว่ามีระดับที่ผิดปกติไปจากที่เป็นหรือไม่ ซึ่งถ้าตรวจพบทางกายภาพ (สภาวะอารมณ์) รวมไปถึงชีวภาพ (การตอบสนองของอวัยวะต่าง ๆ ภายในร่างกาย) แล้วพบว่ามีแนวโน้มของการเจ็บป่วยในการเป็นโรคแพนิค แพทย์เฉพาะทางจะเริ่มทำการรักษาในทันที

สำหรับการเจ็บป่วยด้วย โรคแพนิค ทั่วไปนั้น แพทย์จะทำการรักษาในรูปแบบไม่ใช้ยาก่อน ซึ่งเรียกการรักษานี้ว่าเป็นแบบ Cognitive Behavioral Therapy ซึ่งใช้ในการรักษาอาการแพนิคเฉียบพลัน เช่น การช่วยให้หายใจช้าลง การทำสมาธิ การกำหนดลมหายใจให้ร่างกายของผู้ป่วยได้รับความผ่อนคลาย ไม่นานนักอาการแพนิคก็จะหายไปได้

ส่วนผู้ป่วยที่มีอาการแพนิคหนักมาก จำเป็นต้องใช้ยาเพื่อการรักษา ทางแพทย์จะจ่ายยาให้ทั้งหมดสองกลุ่มได้แก่ ยากลุ่มต้านความเศร้า เป็นยาสำหรับการปรับระดับเคมีในสมอง ช่วยลดอาการในระยะยาวได้ แต่ว่าต้องทานยาสม่ำเสมอตามแพทย์สั่ง เพราะยาตัวนี้ใช้เวลาพอสมควรกว่าจะออกฤทธิ์ ดังนั้นการขาดช่วงในการทานยาอาจทำให้ภาวะความวิตกกังวลเกิดเหตุกลับมาอีกครั้งก็เป็นได้

ส่วนกลุ่มยาอีกประเภทคือ ยาคลายความวิตกกังวล ซึ่งแพทย์จะจ่ายยานี้เป็นบางครั้งเท่านั้น เพราะถือเป็นยาอันตราย ใช้มากเกินไปอาจเกิดภาวะของการเสพติดยานี้ได้ ดังนั้นการที่จะใช้ยาตัวนี้ต้องเป็นผู้ป่วยที่มีภาวะทางอารมณ์และความรู้สึกหนักมากจึงจะให้ยาชุดนี้รับประทานเพื่อการรักษานั่นเอง

ทำไมความคุ้มครองประกันมะเร็งถึงสำคัญ? (3) | รู้ใจ

คนรอบข้างต้องเข้าใจ เมื่ออยู่กับผู้ป่วยโรคแพนิค

อาการป่วยของโรคแพนิคนั้นไม่มีอาการบ่งชี้ชัดว่าใคร คนไหนที่ป่วยเป็นโรคแพนิค ถ้าคุณใช้ชีวิตอยู่ทั่วไปแทบจะมองไม่ออกเลยว่ามีใครป่วยจนกระทั่งอาการหวาดวิตกจนเกิดเหตุแสดงออกมา เมื่อนั้นจึงรู้ว่าบุคคลใดมีอาการเจ็บป่วยเนื่องจากภาวะ แพนิค จริง ๆ

ซึ่งเมื่อคุณพบว่าตัวเองต้องอาศัยหรือใช้ชีวิตร่วมกับผู้ป่วยโรคแพนิคแล้ว สิ่งที่ทำได้ดีที่สุดคือการทำความเข้าใจกับภาวะ “ความวิตกกังวลที่มากเกินไป” ของเขา วิธีที่ดีที่สุดคือ อยู่ข้าง ๆ ผู้ป่วย แต่ไม่ต้องอ่อนไหวไปตามผู้ป่วย เพราะยิ่งคุณวุ่นไปกับภาวะความวิตกกังวลแล้ว ยิ่งทำให้ผู้ป่วยแย่เข้าไปอีก และในอีกด้าน การไม่ใส่ใจผู้ป่วยโรคแพนิคเลยจะยิ่งสร้างปัญหาทำให้ผู้ป่วยควบคุมอารมณ์ไม่ได้

โดยทั่วไปการทำให้ผู้ป่วยตั้งสติให้ได้ ต้องหาอะไรมาให้ผู้ป่วยทำ ซึ่งวิธีการที่นิยมมากที่สุดคือ การหายใจใส่ถุงพลาสติกเพื่อให้ผู้ป่วยหันมาสนใจกับการพองเข้า-ออก ของทุกพลาสติกและทำให้เจ้าตัวคลายความวิตกกังวลลงไปได้ จากนั้นให้ปรึกษาเพื่อน หรือคนที่มาด้วยว่าผู้ป่วยเคยมีปัญหาเช่นนี้หรือไม่ ซึ่งถ้าเป็นในต่างประเทศที่มีความเข้าใจในเรื่องนี้มักจะพกยามาทานเป็นประจำอยู่แล้ว แต่ถ้าไม่ได้พกมา การพบแพทย์เป็นทางเลือกที่ดีแต่ต้องมีการพูดที่ไม่ทำให้ผู้ป่วยเกิดความวิตกกังวลมากขึ้นไปอีก

อาการแพนิค เกิดจากภาวะทางจิตใจที่ไม่สามารถควบคุมตัวเองได้จากสิ่งเร้ารอบข้างทำให้เกิดความวิตกกังวลมากกว่าปกติ ซึ่งจะต้องได้รับการดูแลด้วยความเข้าใจและทันท่วงที สำหรับอาการแพนิคบางอย่างเกิดขึ้นเพียงชั่วคราวและสามารถหายเองได้ แต่ถ้าเป็นความวิตกกังวลที่เกิดขึ้นจนไม่อาจอยู่ร่วมกับผู้อื่นได้ การไปพบแพทย์เพื่อวินิจฉัยและรักษาถือเป็นทางเลือกที่ดีที่สุด